แพทย์แนะ How-to ดูแลสุขภาพหญิงทั้งกาย-ใจ พร้อมทริคเฉพาะสำหรับทุกช่วงวัย

Alternative Textaccount_circle
event

     รพ. วิมุต ผุดแคมเปญใหญ่ “The Power of Women” รับเทรนด์ SHEconomy เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนให้หญิงไทยทุกคนมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงยิ่งขึ้น พร้อมเชิญแพทย์ให้ความรู้ด้านสุขภาพผู้หญิงทั้งกายใจ

โรงพยาบาลวิมุต เปิดแคมเปญ “The Power of Women” อย่าให้การใช้ชีวิตต้องสะดุดเพราะเรื่องสุขภาพ เร่งส่งต่อพลังความเป็นที่สุดของผู้หญิงด้วยการนำเสนอนวัตกรรมทางการแพทย์และบริการเฮลแคร์ในแบบองค์รวมสำหรับผู้หญิงทุกวัย เดินหน้าเจาะตลาดกำลังซื้อผู้หญิง พร้อมหนุนเทรนด์ตัวแม่ (SHEconomy) หรือเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยผู้หญิง ซึ่งเป็นหนึ่งในเมกะเทรนด์มาแรง

     โดยโรงพยาบาลวิมุต คาดจะมียอดผู้ใช้บริการในกลุ่มผู้หญิงเพิ่มขึ้นอีก 30% หลังปล่อยแคมเปญ พร้อมเร่งปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของตลาดและสังคม ชี้ผู้หญิงมีกำลังซื้อมหาศาลและเป็นกลุ่มที่พร้อมลงทุนกับการดูแลร่างกายและจิตใจของตนเองในทุกช่วงของชีวิต โดยเฉพาะในการลงทุนเรื่องสุขภาพ

SHEconomy เมื่อผู้หญิงมีบทบาททางเศรษฐกิจมากขึ้น

The Economist Intelligence Unit องค์กรวิจัยในสหรัฐฯ คาดว่าในปี 2573 กำลังซื้อของผู้หญิงทั่วโลกจะเติบโตอย่างก้าวกระโดดไปอยู่ที่ราวๆ 46 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หลังจากที่ในปี 2557 มีมูลค่าอยู่ที่ 18 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับเติบโตเฉลี่ยปีละ 6.0% โดยเทรนด์ SHEconomy ที่กำลังมาแรงมีปัจจัยหนุนจาก 3 ปัจจัยด้วยกันคือ

1) ตลาดผู้หญิงในกลุ่ม Millennials ที่มีกำลังซื้อสูงและกล้าใช้จ่าย

2) บทบาทของผู้หญิงที่เด่นชัดขึ้นในตลาดแรงงาน ทำให้สามารถสร้างรายได้มากขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีต

3) ผู้หญิงมีส่วนสำคัญในการตัดสินใจและกำหนดการจับจ่ายใช้สอยในครัวเรือน

โดยสำหรับในประเทศไทย ข้อมูลล่าสุดจากสำนักทะเบียนกลางยังชี้ว่า สัดส่วนประชากรในไทยมีผู้หญิงมากกว่าผู้ชายมากขึ้นในหลายปีที่ผ่านมา โดยปี 2565 มีผู้หญิงมากกว่าผู้ชายราว 1.59 ล้านคน สำหรับภาพรวมจำนวนผู้เข้ามาใช้บริการในโรงพยาบาลวิมุตนั้น ในปี 2566 จนถึงปัจจุบันพบว่ามีสัดส่วนผู้ใช้บริการเป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชายสูงถึงประมาณ 20% ซึ่งในปี 2565 ก็มีอัตราเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 20% เช่นเดียวกันที่มีผู้ใช้บริการผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ทั้งนี้โดยส่วนใหญ่ยังคงเน้นไปที่การตรวจสุขภาพเป็นอันดับ 1 รองลงมาเป็น ศูนย์สูตินรีเวช เป็นอันดับ 2 และแผนกฉุกเฉิน เป็นอันดับ 3 จึงเป็นที่มาของแคมเปญดังกล่าว

The Power of Women

นายแพทย์สมบูรณ์ ทศบวร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวิมุต กล่าวว่า “โรงพยาบาลวิมุตยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการเสริมสร้างสุขภาพที่ดีให้แก่ผู้หญิงทุกช่วงวัยผ่านการเปิดตัวแคมเปญ “The Power of Women” เพื่อร่วมขับเคลื่อนที่สุดแห่งพลังและศักยภาพในตัวผู้หญิง ให้ทุกคนได้ใช้ชีวิตที่มีคุณค่าและพัฒนาตนเองในทุกมิติบนรากฐานของสุขภาพกายและใจที่สดใสแข็งแรง ที่รพ. วิมุต เราพร้อมไปด้วยทีมสูตินรีแพทย์และแพทย์ผู้ชำนาญการในสาขาอื่นๆ เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย พร้อมในบรรยากาศส่วนตัวเป็นกันเองและบริการที่ใส่ใจ เราพร้อมดูแลสุขภาพผู้หญิงในแบบองค์รวม (Holistic Care) ตั้งแต่ช่วงวัยรุ่นไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ อาทิ การฉีดวัคซีน HPV เพื่อป้องกันมะเร็งปากมดลูก การดูแลความพร้อมตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ตลอดจนการมีบุตร การให้คำปรึกษาสำหรับสตรีก่อนแต่งงานและก่อนตั้งครรภ์ บริการฝากครรภ์และคลอดบุตร ทั้งการคลอดธรรมชาติและผ่าตัดคลอด บริการตรวจหาโรคดาวน์ซินโดรม (Down’s syndrome) โดยการเจาะเลือดคัดกรอง (NIPT Test) บริการอัลตราซาวนด์ทั้งแบบ 2 มิติ และ 4 มิติ การตรวจคัดกรองความเสี่ยงโรคมะเร็ง การผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็ก (MIS) ตลอดจนการดูแลรักษาโรคที่ผู้หญิงสูงวัยต้องเผชิญ เช่น ปัญหาในเรื่องฮอร์โมน โรคกระดูกพรุน หรือมีปัญหาเรื่องทางเดินปัสสาวะ

เตือน “มะเร็งเต้านม-มะเร็งปากมดลูก” คือภัยสุขภาพหญิง

หนึ่งในสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของผู้หญิงไทยคือมะเร็ง จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขปี 2565 พบว่า หญิงไทยป่วยด้วยโรคมะเร็งเต้านมมากที่สุด จำนวน 38,559 ราย รองลงมาคือ มะเร็งปากมดลูก จำนวน 12,956 ราย โดยโรคมะเร็งเต้านมนับเป็นภัยเงียบใกล้ตัว เนื่องจากในระยะแรกมักจะไม่แสดงอาการ ไม่เจ็บ ไม่ปวด เมื่อพบอาการผิดปกติมักอยู่ในระยะที่ก้อนมีขนาดใหญ่ขึ้นและลุกลามไปทั่วแล้ว ซึ่งเสี่ยงต่อการเสียชีวิต ซึ่งการคัดกรองและตรวจพบมะเร็งเต้านมในระยะแรกจะช่วยให้การรักษามีโอกาสประสบความสำเร็จได้มากที่สุด ส่วนมะเร็งอันดับสองที่พบในหญิงไทยอย่าง “มะเร็งปากมดลูก” ส่วนใหญ่จะพบในผู้หญิงวัย 30 -55 ปี ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสชนิด Human Papillomavirus หรือเอชพีวี (HPV) ในระยะแรกจะไม่แสดงอาการผิดปกติหรืออาจมีอาการเพียงเล็กน้อย เช่น มีภาวะเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดหรือตกขาวผิดปกติเรื้อรัง ดังนั้นการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอทำให้สามารถตรวจพบความผิดปกติได้ตั้งแต่ระยะแรกเริ่มและการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อ HPV เป็นวิธีการป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูกที่ดีที่สุด

The Power of Women

แพทย์หญิงพรรณลดา ฉันทศาสตร์รัศมี สูตินรีแพทย์ ศูนย์สูตินรีเวช โรงพยาบาลวิมุต กล่าวถึงโรคมะเร็งในผู้หญิงว่า “ในทุกๆปีมีผู้หญิงจำนวนมากที่ตรวจพบและเสียชีวิตจากโรคมะเร็งทางนรีเวช ไม่ว่าจะเป็นมะเร็งเต้านมที่พบบ่อยที่สุด มะเร็งปากมดลูกที่พบมากรองลงมา มะเร็งรังไข่ หรือมะเร็งมดลูก ซึ่งเป็นโรคที่สามารถรักษาได้หากตรวจพบตั้งแต่ในระยะแรก ศูนย์สูตินรีเวช โรงพยาบาลวิมุต เชื่อมั่นว่าวิธีป้องกันการเกิดโรคที่ดีที่สุด คือการดูแลสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจของผู้หญิงตั้งแต่วัยเด็ก วัยผู้ใหญ่ ตลอดไปจนถึงวัยหมดประจำเดือน ซึ่งไม่เพียงช่วยให้มีสุขภาพดีในระยะยาว แต่ยังช่วยป้องกันการเกิดโรคได้ด้วย โดยวางแผนการดูแลสุขภาพตาม 3 ช่วงวัยหลัก คือ

1) วัยเด็กก่อนมีประจำเดือน แนะนำให้กินอาหารครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เสริมสร้างพัฒนาการให้เหมาะสมแต่ละช่วงวัย นอกจากนี้ยังแนะนำให้รับวัคซีนที่เด็กไทยควรได้รับตามคำแนะนำของแพทย์  โดยเฉพาะวัคซีน HPV เพื่อป้องกันมะเร็งที่เกิดจากเชื้อ HPV เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด มะเร็งทวารหนัก มะเร็งในช่องปากและลำคอ ซึ่งฉีดได้ทั้งเด็กหญิงและชายตั้งแต่อายุ 9 ปีขึ้นไป เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด

2) วัยเจริญพันธุ์ หรือวัยที่มีประจำเดือนแล้ว เมื่อถึงวัยอันสมควรแนะนำให้ตรวจภายใน ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกและคัดกรองมะเร็งเต้านมอย่างสม่ำเสมอ ที่สำคัญควรสังเกตความผิดปกติในร่างกาย หากพบความผิดปกติควรปรึกษาแพทย์ทันที

3) วัยหมดประจำเดือน วัยนี้ต้องตรวจสุขภาพทุกปี รวมถึงตรวจภายในอย่างสม่ำเสมอ ที่สำคัญควรสังเกตสัญญาณเตือนก่อนวัยทอง อาทิ ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ หงุดหงิดง่าย ร้อนวูบวาบ หมดอารมณ์ทางเพศ เป็นต้น เพื่อให้รู้เท่าทันตนเอง บอกเล่าให้คนใกล้ตัวเข้าใจ และรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจไปด้วยกัน”

The Power of Women

แนะผู้หญิง “ดูแลสุขภาพใจ” ควบคู่

นอกจากโรคทางกายแล้ว สุขภาพใจก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญของผู้หญิง กรมสุขภาพจิต เผยคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปป่วยเป็นโรคซึมเศร้าถึง 1.5 ล้านคน โดยในปัจจุบันผู้ป่วยซึมเศร้าในประเทศไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้น ซึ่งองค์การอนามัยโลกชี้ว่าเพศหญิงมีแนวโน้มเป็นโรคนี้มากกว่าผู้ชาย 2 เท่า เนื่องจากเพศหญิงเป็นเพศที่มีการเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมนมากกว่าเพศชาย ทั้งในช่วงที่มีประจำเดือน ช่วงตั้งครรภ์ ตลอดจนอาการซึมเศร้าหลังคลอด นอกจากนี้ผู้หญิงยังต้องเผชิญความคาดหวังจากสังคมและปัญหาในครอบครัวอีกด้วย

แพทย์หญิงเพ็ญชาญา อติวรรณาพัฒน์ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านจิตเวช ศูนย์สุขภาพใจ โรงพยาบาลวิมุต เผยว่า “สุขภาพใจก็ไม่ต่างกับสุขภาพกายที่ควรเริ่มต้นดูแลตั้งแต่วัยเด็กจนโต โดยมี เทคนิค 4 ล ให้ผู้หญิงทุกคนนำไปปฏิบัติได้ง่ายๆ ดังนี้ ล แรก คือ เลิกคิดลบ คิดบวก พยายามมองด้านดี ๆ ของสิ่งต่าง ๆ ช่วยให้เรามีสติในการจัดการอุปสรรคและปัญหาได้ ล สอง คือ เลิกเปรียบเทียบกับคนรอบตัว เพราะทุกคนมีชีวิตแตกต่างกัน ความสุขและความทุกข์ของแต่ละคนย่อมแตกต่างกันไปด้วย รวมถึงการมีสติในการใช้โซเชียลมีเดียที่อาจทำให้เรารู้สึกแย่กับตนเองโดยไม่รู้ตัว ล สาม คือ เลือกเพื่อนและคนรอบข้างที่ดีที่พร้อมรับฟัง ปัญหาบางเรื่องเพียงได้มีคนรับฟังและให้กำลังใจก็จะช่วยให้เรารู้สึกดีขึ้นได้ ล สี่ คือ เลือกสร้างความสุขให้ตัวเอง ด้วยกิจกรรมที่ชอบเพื่อให้ผ่อนคลายจากความเหนื่อยล้าและความเครียดในแต่ละวัน”

อมิตา-ทาทา ยัง ตัวแทนผู้หญิงที่ทั้งเก่ง มั่นใจ และเปี่ยมด้วยพรสวรรค์รอบด้าน บอกเคล็ดลับในการดูแลตนเองไว้ว่า “หลายคนอาจทราบว่าเมื่อก่อนทาทามีปัญหาด้านสุขภาพหลายอย่างพร้อมกันเลย ตอนนั้นเราทุกข์มาก ๆ แต่ที่ผ่านมาได้เพราะเราดูแลจิตใจให้เข้มแข็งควบคู่ไปกับการรักษาปัญหาสุขภาพอย่างต่อเนื่อง ทาทาอยากจะบอกผู้หญิงทุกคนให้เชื่อมั่นในศักยภาพของตนเอง พยายามพัฒนาตนเองให้เก่งขึ้นในทุกๆ วัน และสำหรับผู้หญิงส่วนใหญ่ที่คอยดูแลใส่ใจคนรอบข้างเป็นอย่างดีมาโดยตลอด ทาทาอยากให้อย่าลืมหันมาใจดีกับตนเองบ้าง อย่าลืมดูแลสุขภาพและดูแลความสุขของตัวเราเองด้วยนะคะ”

นอกจากนี้สุดสัปดาห์ยังได้มีโอกาสสัมภาษณ์แพทย์หญิงทั้ง 2 ท่านเพิ่มเติม เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพกายและสุขภาพใจ เพื่อหาคำตอบปัญหาสุขภาพของผู้หญิงในยุคนี้อีกด้วย

วิธีดูแลสุขภาพกายและสุขภาพใจสำหรับ Working Women แบบง่ายๆ

ในเรื่องของสุขภาพกายแพทย์หญิงพรรณลดา ฉันทศาสตร์รัศมี แนะว่า “ปัจจุบันผู้หญิงส่วนใหญ่ที่เป็น Working Women จะไม่ค่อยมีเวลาดูแลตัวเองสักเท่าไหร่ สิ่งที่อยากแนะนำให้ทำคือ การหมั่นสังเกตอาการของร่างกายอยู่สม่ำเสมอ หากสังเกตแล้วว่าร่างกายมีความผิดปกติ อยากให้เข้ามาปรึกษาทีมแพทย์ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ค่ะ”

ด้านสุขภาพใจแพทย์หญิงเพ็ญชาญา แนะนำว่า “ในสมัยนี้ผู้หญิงอาจจะต้องแบกรับความรู้สึกที่ถูกคาดหวังมากยิ่งขึ้น เนื่องจากสมัยก่อนผู้หญิงถูกคาดหวังให้ทำงานในบ้าน แต่ปัจจุบันต้องทำงานทั้งในบ้านและนอกบ้าน และสมัยก่อนบางครอบครัวอาจมีลูกมากถึง 8 คน จึงทำให้พ่อแม่ไม่เกิดความคาดหวังมากเท่าปัจจุบัน แต่สมัยนี้ครอบครัวส่วนใหญ่จะมีลูกประมาณ 2 คน จึงทำให้เกิดความกดดันและความคาดหวังมากยิ่งขึ้นจากญาติผู้ใหญ่ ในบางครอบครัวอาจจะเลี้ยงลูกแบบ Golden child หรือการเลี้ยงลูกแบบฮ่องเต้น้อย องค์หญิงน้อย หรือลูกรักนั่นเอง ซึ่งทำให้ Golden child ต้องถูกบีบบังคับให้มีความแข่งขันสูง ต้องทำงานประสบความสำเร็จ ผิดหวังไม่ได้และต้องทำให้พ่อแม่ภูมิใจ เพราะเป็นคนที่พ่อแม่คาดหวังว่าจะต้องเก่งทุกอย่าง สิ่งนี้จึงส่งผลให้ Working Women หลายคนมีความเครียดในการใช้ชีวิตเพิ่มขึ้นค่ะ”

วิธีเพิ่มพลังบวก ในวันนั้นของเดือน

ในเรื่องของสุขภาพกาย แพทย์หญิงพรรณลดา กล่าวว่า “อาการทางกายเราควรเริ่มต้นปรับตั้งแต่ ด้านอารมณ์ ความคิด ร่วมกับการดูแลสุขภาพโดยการออกกำลังกายอย่างเสมอ จะช่วยลดอาการจากวันนั้นของเดือนได้ดีค่ะ แต่หากสำรวจตัวเองแล้วว่าอาการที่เป็นอยู่มันหนักมากจนรู้สึกว่าทนไม่ไหว หมออยากแนะนำให้เข้ามาปรึกษาทีมแพทย์ เพื่อรับคำแนะนำว่าควรใช้ยาอะไรร่วมด้วยเพื่อลดอาการเหล่านั้นค่ะ”

แพทย์หญิงเพ็ญชาญาเสริมในด้านของสุขภาพใจว่า“เนื่องจากการเป็น PMS (Premenstrual Syndrome) คืออาการผิดปกติที่จะเกิดขึ้นก่อนมีประจำเดือน 1-2 สัปดาห์ ที่นอกจากจะทำให้ร่างกายรู้สึกแปรปรวนแล้ว ร่างกายของสาวๆ หลายคนอาจจะเกิดความรู้สึกร้อนวูบวาบได้ ดังนั้นในเรื่องของอารมณ์ เราควรพยายามหลีกเลี่ยงในการเข้าไปดูอะไรที่เคร่งเครียด ควรเลือกฟังเพลงที่ทำให้เรารู้สึกผ่อนคลาย หรือไปพบปะสังสรรค์กับเพื่อน หากเราต้องใช้ชีวิตและทำงานต่อ เราควรจะโฟกัสที่งานและเตรียมตัวเองให้พร้อมเพื่อรับมือ นอกจากนี้การเลือกกินอาหารที่ดีและการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเป็นอีกวิธีที่สามารถช่วยได้ค่ะ ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ เราไม่จำเป็นต้องรอให้ถึงวันนั้นของเดือนก็สามารถทำได้เพื่อเสริมสุขภาพจิตให้ดีได้ค่ะ หากใครที่มีอาการปวดท้องหนัก สิ่งนี้อาจเป็นอุปสรรคที่ทำให้เรารู้สึกหงุดหงิดระหว่างวันได้ เราจึงจำเป็นต้องพกยาพอนสแตนติดตัวเอาไว้ในช่วงนั้น”

ความเสี่ยงต่อโรคต่างๆ ระหว่างผู้หญิงโสดและผู้หญิงมีคู่

แพทย์หญิงพรรณลดา กล่าวถึงโรคทางกายว่า “ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของฮอร์โมนเพศ สำหรับผู้หญิงที่ตั้งครรภ์หรือมีลูกจะมีความเสี่ยงในเรื่องของมะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ และมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกน้อยกว่าคนโสด เนื่องจากผู้หญิงที่ตั้งครรภ์และให้นมบุตร ฮอร์โมนในร่างกายจะเปลี่ยนแปลง ร่างกายจึงพักการผลิตฮอร์โมนที่ทำให้เกิดในเรื่องของมะเร็ง เพราะหลักการหลักๆ ของสาเหตุการเกิดมะเร็งจะเกิดจากการตกไข่ซ้ำๆ เกือบปี แต่พอตั้งครรภ์แล้วรังไข่และเยื่อบุโพรงมดลูกของสาวๆ จะได้พัก ความเสี่ยงที่จะเกิดจึงน้อยกว่าค่ะ”

ในเรื่องของสุขภาพใจแพทย์หญิงเพ็ญชาญากล่าวว่าในปัจจุบันยังไม่มีวิจัยที่บ่งบอกได้ชัดเจนว่า ผู้หญิงโสดและผู้หญิงมีคู่มีความเสี่ยงต่างกันค่ะ เพราะความเครียดของทั้งสองสถานะมีได้คนละแบบ แต่ที่มีวิจัยจริงๆ จะไม่ใช่แค่ความเสี่ยงของเพศหญิงอย่างเดียว แต่รวมไปถึงเพศชายด้วยค่ะ สำหรับคนโสด เมื่อมีอาการป่วยอาจจะมีกำลังใจที่เข้าถึงได้น้อยกว่า จึงทำให้อาจรู้สึกโดดเดี่ยว ทำให้อัตราการเกิดอาการซึมเศร้าและเกิดการทำร้ายร่างกายตัวเองเพิ่มมากขึ้น ส่วนคนที่แต่งงานแล้วอาจจะขึ้นอยู่กับว่าเราได้คู่ชีวิตแบบไหน เพราะบางคู่ชีวิตอาจทำให้อีกคนรู้สึกป่วยทางใจมากขึ้นได้ค่ะ”

สำหรับผู้หญิงคนไหนที่ไม่ค่อยมีเวลาดูแลตัวเอง แล้วรู้สึกสนใจอยากตรวจสุขภาพทั้งกายและใจในเบื้องต้นแต่ไม่รู้ว่าจะต้องเริ่มตรวจจากตรงไหน สุดสัปดาห์รวมการตรวจสุขภาพแบบเฉพาะที่หลักๆ ที่เหมาะกับสาวๆ มาให้แล้วค่ะ

  1. การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก (ThinPrep และ HPV), มะเร็งเต้านม (อายุต่ำกว่า 35 ปี)
  2. การตรวจสุขภาพทางเดินอาหาร
  3. การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่
  4. การฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก
  5. การตรวจภาวะหมดประจำเดือนในวัยทอง (สำหรับผู้หญิงอายุ 45 ปีขึ้นไป)
  6. การตรวจการคัดกรองภาวะกระดูกพรุน (สำหรับผู้หญิงอายุ 45 ปีขึ้นไป)
  7. การเข้ารับคำปรึกษาจากจิตแพทย์ (โรคไบโพลาร์, ภาวะซึมเศร้า, ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด, โรควิตกกังวลในวัยทำงาน)

สุดสัปดาห์เชื่อว่าไม่ว่าเราจะมีอายุที่มากหรือน้อยก็ตาม หากสุขภาพของร่างกายของเราไม่ดี อาจจะทำให้ประสิทธิภาพในการใช้ชีวิตและการทำงานของเราลดน้อยลงได้ ดังนั้นเราควรรีบสำรวจร่างกายของตัวเองเพื่อป้องกัน รักษา และหันมาใส่ใจตัวเองให้มากขึ้นกันนะคะ

ติดตามอ่านข่าวกิจกรรมและบทความไลฟ์สไตล์อื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นี่

KTIS มุ่งขับเคลื่อนองค์กรด้วย “นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์”

รพ.วิมุต สร้างสุขภาพในฝันหลังวัย 50+ แคมเปญใหญ่ ViMUT Healthy 50 Plus

การผสมผสานที่ลงตัวระหว่างแพทย์แผนไทยกับศาสตร์สปาบำบัด

dwp ชวนเปิดประสบการณ์แห่งความผ่อนคลายกลางกรุง ที่ Mövenpick BDMS Wellness Resort Bangkok

ริคฟิกซ์หน้าเป๊ะ รักษาริ้วรอยแบบไม่โป๊ะ

หมอเพชร Fiora Clinic กับเทคนิคการเติมเต็ม&ปรับรูปหน้าที่ไม่เหมือนใคร

อัพเดททางเลือกในการดูแลสุขภาพและความงามที่เปิดกว้างขึ้น & ปรับให้เหมาะกับตัวเองได้

การท่องเที่ยวฮ่องกง แจกแพลนเที่ยว 3 อีเวนต์ฮ่องกงมาแรงส่งท้ายปี 2023!

เปิด 30 เมนูเด็ดจาก 10 ร้านที่ต้องแวะชิมก่อนเดินทาง ที่ คิง เพาเวอร์ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ


สุดสัปดาห์

keyboard_arrow_up