ไข้เลือดออก อันตรายกว่าที่คิด!!! พบประสบการณ์วิกฤติ ไข้เลือดออก จากเหล่าคนดัง พร้อมความรู้ที่น่าสนใจของไข้เลือดออกระหว่างมีประจำเดือน ต่างจากไข้ทับระดูอย่างไร ควรดูแลตัวเองแบบไหน …มาติดตามกันค่ะ
เหล่าคนดังพร้อมใจร่วมงาน “ส่งต่อความหวังจากอิงมา ชวนคนไทย ปักหมุด หยุดไข้เลือดออก” เปิดเวทีเล่าประสบการณ์และแนวทางป้องกัน พร้อมติดอาวุธเสริมภูมิคุ้มกันจากโรคร้าย พ้นภัยไข้เลือดออก
ชวนคนไทย ปักหมุด หยุดไข้เลือดออก
ภายในงานนี้มีกรณีศึกษาที่น่าสนใจจาก “น้องไบรท์-พิชญทัฬห์ จันทร์พุฒ” ที่เคยต้องพักจากหน้าจอชั่วคราวหลังป่วยหนักจากโรคดังกล่าว ได้นำทีมดารา “แจม-รชตะ หัมพานนท์” พร้อมตัวแทนครอบครัวที่มีลูกเล็กอย่าง “บีม กวี – ออย อฏิพรณ์ ตันจรารักษ์” พาสองแฝดสุดแสบ “พี่ธีร์ – พี่พีร์” ร่วมงาน “ส่งต่อความหวังจากอิงมา ชวนคนไทย ปักหมุด หยุดไข้เลือดออก” เปิดเวทีเล่าประสบการณ์และแนวทางป้องกัน พร้อมติดอาวุธเสริมภูมิคุ้มกันจากโรคร้าย พ้นภัยไข้เลือดออก
“ก่อนหน้านี้เราไม่เคยคิดมาก่อนว่าโรคไข้เลือดออกจะอันตรายและใกล้ตัวเราขนาดนี้ จนได้มาเกิดขึ้นกับตัวเองจริงๆ ตอนนั้นไบรท์โชคดีที่รีบมาพบแพทย์ก่อนอาการหนัก แต่ก็ยังต้องใช้เวลารักษาอยู่นานเพราะรู้สึกอ่อนเพลียและไม่มีแรงจนต้องพักงานไประยะหนึ่ง หลังจากหายดีเรารู้ตัวเลยว่าต้องระวังและป้องกันให้ดีที่สุดเพราะไม่อยากเจอประสบการณ์แบบนั้นอีกแล้ว วันนี้ในฐานะคนที่เคยป่วยโรคนี้มาก่อน เลยอยากจะมาเป็นส่วนหนึ่งในการชวนทุกคนมาเสริมภูมิคุ้มกัน ด้วยการปฏิบัติตามมาตรการการป้องกันโรคไข้เลือดออกด้วยวิธีต่างๆ รวมถึงการฉีดวัคซีนไข้เลือดออก เพราะโรคนี้สามารถป้องกันได้ค่ะ” น้องไบรท์ ร่วมแชร์ประสบการณ์ตรงหลังเผชิญหน้ากับไข้เลือดออกเมื่อหลายปีที่ผ่านมา
ด้าน บีม-กวี ตันจรารักษ์ ที่ควงคุณแม่ออยและลูกแฝดมาร่วมงาน เผยความกังวลไม่แพ้กันจากการที่มีเด็กเล็กๆ ในบ้าน “ยิ่งเรามีลูกเล็ก ยิ่งต้องระวังโรคติดเชื้อในเด็กหลายโรค โดยเฉพาะไข้เลือดออก ในช่วงหน้าฝนยิ่งสำคัญ เราต้องคอยเก็บขยะและหมั่นดูว่าไม่มีแหล่งน้ำขังที่ยุงจะไปวางไข่ได้ หลายคนอาจมองว่าไข้เลือดออกเป็นเรื่องไกลตัว แต่ความจริงแล้วใกล้ตัวกว่าที่คิดและอันตรายมากยิ่งกับเด็กเล็กๆ ดังนั้นในฐานะพ่อแม่ เราจึงนิ่งนอนใจไม่ได้ พอรู้ว่าไข้เลือดออกสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน ก็ถือว่าเป็นความหวังใหม่ในการป้องกันไข้เลือดออกให้กับเราทุกคนครับ”
ขณะที่ แจม-รชตะ หัมพานนท์ ที่มาร่วมงานนี้เช่นกันกล่าวว่า “ถึงแม้ผมจะยังไม่เคยเป็นไข้เลือดออก แต่จริงๆ แล้วโรคนี้สามารถเกิดได้กับทุกคน ทั้งตัวเราเองและคนใกล้ชิด แต่เราสามารถป้องกันและลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะในปัจจุบันที่วิวัฒนาการทางการแพทย์ได้สร้างความหวังใหม่ให้กับการป้องกันโรคไข้เลือดออก ผมมองว่านอกจากการป้องกันตัวเองในชีวิตประจำวัน อย่างเช่น ผมที่ต้องออกกองถ่ายละครบ่อยๆ ก็สามารถทายากันยุงหรือใส่เสื้อผ้ามิดชิดช่วงพักกอง อีกแนวทางคือการเสริมภูมิคุ้มกันด้วยการฉีดวัคซีนไข้เลือดออกเพื่อไม่ให้พลาดโอกาสสำคัญในชีวิตจากโรคนี้ครับ”
อย่างที่เห็นได้ชัด โรคไข้เลือดออกสามารถพบได้ในทุกเพศทุกวัย และพบมากที่สุดในกลุ่มเด็กอายุ 5-14 ปี แต่พบว่าในวัยทำงานมีการเสียชีวิตสูงสุด ซึ่งกลุ่มเด็กที่ติดเชื้อไข้เลือดออกสามารถสังเกตได้จากอาการ โดยหากมีอาการไข้สูงลอย มีผื่นแดงหรือจุดเลือดออกตามตัว ให้สันนิษฐานว่าอาจติดโรคไข้เลือดออกได้
ทั้งนี้ควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรคโดยเร็ว เนื่องจากไข้เลือดออกทำให้เรามีเกล็ดเลือดต่ำและอาจนำพาไปสู่การช็อกและการสียชีวิตได้หาก เราจึงควรหมั่นป้องกันและเฝ้าระวังโรคไข้เลือดออกด้วยวิธีเหล่านี้
- ปิดภาชนะเก็บกักน้ำให้มิดชิดเพื่อป้องกันการเข้าไปวางไข่ของยุงลาย
- เปลี่ยนน้ำในภาชนะอยู่เสมอเพื่อไม่ให้มีแหล่งน้ำที่ยุงสามารถไปเพาะพันธุ์ได้
- ปล่อยปลากินลูกน้ำในภาชนะใส่น้ำ
- ปรับปรุงสภาพแวดล้อมบริเวณรอบๆ บ้านให้ปลอดโปร่ง
นอกจากวิธีง่ายๆ เหล่านี้ที่เราสามารถทำได้เองที่บ้านแล้ว ปัจจุบันนี้เรายังสามารถลดความเสี่ยงเรื่องไข้เลือดออกได้ด้วยการฉีดวัคซีน ซึ่งเป็นหนึ่งทางเลือกที่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรค โดยเราสามารถเข้ารับการปรึกษาแพทย์หรือสถานพยาบาลใกล้บ้านเพื่อขอรับคำแนะนำในการฉีดวัคซีนได้อีกด้วย
ผู้หญิงอย่าสับสนระหว่าง ไข้เลือดออก ระหว่างมีประจำเดือน กับ ไข้ทับระดู
เนื่องจากช่วงมีประจำเดือน ผู้หญิงอาจมีอาการไข้และอ่อนเพลียร่วมด้วย จึงทำให้ผู้ป่วยหลายรายเข้าใจผิดคิดว่าเป็นไข้ทับระดู ซึ่งค่อนข้างอันตราย สุดสัปดาห์จึงได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับโรคไข้เลือดออกระหว่างมีประจำเดือนมาฝาก
โดยผู้หญิงควรสังเกตตัวเอง หากประจำเดือนมามากผิดปกติ เลือดออกไม่หยุด มีไข้สูง หรือมาผิดเวลาจากปกติ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยพร้อมแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับอาการที่เกิดขึ้น พร้อมรายละเอียดของรอบเดือน เพราะเคยมีกรณีศึกษาที่ผู้ป่วยช็อกจากอาการเสียเลือดมากมาแล้ว ดังเช่นกรณีศึกษา การดูแลผู้ป่วยไข้เลือดออกที่มีประจำเดือน จาก พญ.ประอร สุประดิษฐ ณ อยุธยา ศูนย์ไข้เลือดออก สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี
ตัวอย่างกรณีศึกษา
มีเคสผู้ป่วยไข้เลือดออกเข้ามารักษาตัวที่โรงพยาบาลต่างจังหวัดแห่งหนึ่ง ซึ่งดูจากภายนอกแล้วตรวจไม่พบบริเวณอวัยวะที่มีเลือดออก แต่ต่อมาผู้ป่วยเกิดอาการช็อก เมื่อทำการตรวจสอบหาสาเหตุและซักประวัติเพิ่มเติมจึงพบว่าผู้ป่วยมีประจำเดือนและมีเลือดออกมากผิดปกติ จึงต้องให้การรักษาด้วยการให้เลือดพร้อมเกล็ดเลือดร่วมด้วย
สรุปได้ว่า ขั้นตอนที่สำคัญมากในการดูแลรักษาผู้ป่วยไข้เลือดออกที่อยู่ระหว่างการมีประจำเดือนคือ การซักประวัติการมีประจำเดือนของผู้ป่วยและต้องตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมให้ถูกต้อง รวมถึงการประเมินปริมาตรเลือดประจำเดือนที่สูญเสียไป เพื่อช่วยในการตรวจ ติดตาม และเฝ้าระวังผู้ป่วยในระยะที่เริ่มเข้าสู่ระยะวิกฤต เพื่อประกอบการพิจารณาการเริ่มให้เลือดเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะช็อกรวมถึงภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออก*
จะเห็นได้ว่าอาการไข้เลือดออกระหว่างมีประจำเดือนค่อนข้างอันตรายและชวนให้สับสนกับไข้ทับระดู ดังนั้น ผู้หญิงเราจึงควรหมั่นสังเกตตัวเองและอย่าชะล่าใจ รวมทั้งปฏิบัติตามข้อแนะนำเบื้องต้นในการป้องกันไข้เลือดออก ทั้งเพื่อสุขภาพของตัวเราและคนรอบตัวที่เรารัก
ขอบคุณภาพและข้อมูลจากงาน “ส่งต่อความหวังจากอิงมา ชวนคนไทย ปักหมุด หยุดไข้เลือดออก” จัดโดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร และทาเคดา ประเทศไทย และพันธมิตรความร่วมมือ Dengue-zero ร่วมส่งต่อความหวังจาก “อิงมา” Dengue Virtual Influencer ที่ถูกสร้างขึ้นโดยอิงมาจากสถิติของคนไทยที่ตกเป็นเหยื่อไข้เลือดออกกว่า 1.2 ล้านคนใน 15 ปีที่ผ่านมา
*ข้อมูลตัวอย่างกรณีศึกษาจาก https://www.pidst.net/A1079.html
อ่านบทความที่เกี่ยวกับสุขภาพเพิ่มเติมได้ที่
ผู้บริหารฟาร์มาแคร์เผยทิศทางธุรกิจผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และผลิตภัณฑ์ที่อยากแนะนำคนยุคดิจิทัล
FWD ประกันชีวิต ชูแนวคิด “FWD Health Companion” นิยามใหม่แห่งบริการด้านสุขภาพ
แพทย์แนะ How-to ดูแลสุขภาพหญิงทั้งกาย-ใจ พร้อมทริคเฉพาะสำหรับทุกช่วงวัย
อัพเดททางเลือกในการดูแลสุขภาพและความงามที่เปิดกว้างขึ้น & ปรับให้เหมาะกับตัวเองได้