เนื่องจาก พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นพิธีสำคัญของประเทศไทยที่มีการสืบทอดกันมายาวนานหลายร้อยปี และยังมีขั้นตอนต่างๆ ที่ต้องยึดถือปฏิบัติ จึงนับว่าเป็นโบราณราชประเพณีที่รวมความวิจิตรตระการตาในด้านต่างๆ เอาไว้อย่างมากมาย
ความตระการตาของพิธีทำน้ำอภิเษกเพื่อใช้ใน พระราชพิธีบรมราชาภิเษก
ความวิจิตรของเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
ความวิจิตรแรกของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก คือ พราหมณ์ผู้ทำพิธีจะนำเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ซึ่งเป็นเครื่องแสดงว่าได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ถูกต้องสมบูรณ์แล้ว
โดย เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ ประกอบไปด้วย
พระมหาพิชัยมงกุฎ ที่จะทรงรับมาสวม โดยพระมหาพิชัยมงกุฎเป็นทองคำที่มีการลงยาราชาวดีประดับเพชร เริ่มใช้มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 แรกเริ่มยอดพระมหาพิชัยมงกุฎจะเป็นทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ประดับเพชรเม็ดเล็ก ๆ ต่อมารัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สรรหาซื้อเพชรขนาดใหญ่จากอินเดีย นำมาประดับบนยอดมงกุฎ เรียกว่า “พระมหาวิเชียรมณี”
พระแสงขรรค์ชัยศรี โบราณมีความเชื่อกันว่าพระขรรค์เป็นพระราชศาสตราคู่บ้านคู่เมืองเขมร โดยในสมัยรัชกาลที่ 1 มีชาวประมงไปทอดแหแล้วพบองค์พระขรรค์จมอยู่ใต้ทะเลสาบ ซึ่งยังมีสภาพดีอยู่ ท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (แบน) จึงมีรับสั่งให้พระยาพระเขมรเชิญเข้ามาทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ช่างทำด้ามพระขรรค์หุ้มทองคำลงยาราชาวดีลายเทพนมทำฝักหุ้มทองคำลงยาราชาวดีประดับมณีขึ้น และเชิญเป็นเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ธารพระกร ธารพระกรเป็นเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์มาตั้งแต่รัชกาลที่ 1 เช่นเดียวกัน โดยเป็นไม้ชัยพฤกษ์ หุ้มทองคำ ในส่วนปลายจะทำเป็นสามง่าม
พระวาลวิชนี เป็นพัดใบตาล ซึ่งเดิมสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 จนกระทั่งสมัยรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริว่า ตามพระบาลีไม่ควรจะเป็นพัดใบตาล ควรจะเป็นเครื่องโบกปัดที่ทำด้วยขนจามรี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระแส้จามรีขึ้นเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ต่อมามีการเปลี่ยนไปใช้ขนหางช้างเผือกแทน เรียกว่าพระแส้ขนหางช้างเผือก แต่ก็ไม่อาจเลิกใช้พัดใบตาลได้ จึงโปรดให้ใช้ควบคู่กัน โดยเรียกของสองสิ่งรวมกันว่า “วาลวิชนี ”
ฉลองพระบาท เป็นราชกกุธภัณฑ์สำคัญอันหนึ่งตามแบบอินเดียโบราณในทศรถชาดก ซึ่งฉลองพระบาทจะมีลักษณะเป็นเชิงงอน ทำด้วยทองคำยาราชาวดีฝังเพชร ในพระราชพิธีพระมหาราชครูวามหามุนีจะเป็นผู้สวมถวาย
นอกจากยังมีความตระการตาของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ยังมีอีกหนึ่งขั้นตอนที่สำคัญ คือ การทำน้ำอภิเษก และน้ำสรงมุรธาภิเษก ซึ่งจะใช้ประกอบในพระราชพิธี โดยน้ำอภิเษกนั้น ตามความหมายในพจนานุกรม คำว่าอภิเษก หมายถึงการรดน้ำ ส่วนน้ำสรงมุรธาภิเษก คือน้ำที่แต่งตั้งขึ้นมาในการทำพิธีรดน้ำ ตามความเชื่อของพราหมณ์ ซึ่งมีความเชื่อสืบต่อกันมาว่าน้ำที่จะนำมาใช้ต้องเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์
ดังนั้นจึงมีต้องมีการดำเนินการตักน้ำจากแหล่งน้ำสำคัญทั่วประเทศ เพื่อนำมาใช้ในพระราชพิธี โดยการตักน้ำจะดำเนินการแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ น้ำอภิเษก จะตักจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ของแต่ละจังหวัด ยกเว้นกรุงเทพฯ รวมทั้งสิ้น 76 จังหวัด ในขณะที่น้ำสรงมุรธาภิเษกนั้น จะตักจากแหล่งน้ำทั้งหมด 9 แหล่ง อันได้แก่ เบญจสุทธคงคา หรือแม่น้ำ 5 สายสำคัญของไทย ประกอบไปด้วย แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำราชบุรี แม่น้ำเพชรบุรี และสระน้ำ 4 สระในจังหวัดสุพรรณบุรี (สระเกษ สระแก้ว สระคา สระยมนา)
ทั้งนี้การตักน้ำจากแหล่งน้ำต่างๆ นั้น ยังมีการทำพิธีที่เรียกว่า พิธีพลีกรรมตักน้ำ เป็นพิธีของศาสนาพราหรมณ์ – ฮินดู ซึ่งมีความเชื่อว่าสรรพสิ่งต่างๆ ในโลกล้วนมีเทวดาคอยปกปักรักษา จึงจำเป็นที่ต้องมีการประกอบพิธีพลีกรรมตักน้ำขึ้น เพื่อเป็นการขออนุญาตเทวดาที่คอยรักษาแหล่งน้ำศักดิสิทธิ์ต่างๆ ในการนำน้ำมาทำน้ำสรงมุรธาภิเษก และน้ำอภิเษก เพื่อใช้ประกอบในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยมีการกำหนดวันประกอบพิธีพลีกรรมตักน้ำพร้อมกันทั่วประเทศไปเมื่อวันที่ 6 เมษายน ซึ่งเปิดโอกาสให้ประชาชนมาร่วมพิธีด้วย
หลังจากประกอบพิธีพลีกรรมตักน้ำเสร็จ ก็ดำเนินมาถึงขั้นตอนทำน้ำอภิเษกและน้ำสรงมุรธาภิเษก ซึ่งมีทั้งการจุดเทียนชัยในวันที่ 8 เมษายน เวียนเทียนสมโภชน้ำอภิเษก ในวันที่ 9 เมษายน เสกน้ำอภิเษกในวันที่ 18 เมษายนและแห่เชิญน้ำอภิเษกจากวัดสุทัศนเทพวราราม ไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในวันที่ 19 เมษายน
อนึ่ง ตั้งแต่พิธีพลีกรรมตักน้ำจาก 76 จังหวัดไปจนถึงเสกน้ำอภิเษกนั้น ได้มีการถ่ายทอดสดให้ประชาชนทั่วประเทศได้เห็นถึงความตระการตาของโบราณราชประเพณี
ความวิจิตรและตระการตาของทั้งเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ และพิธีพลีกรรมตักน้ำ ได้สะท้อนให้เห็นความสวยงามของประเพณีไทย มีการสืบสานมาตั้งแต่ครั้งโบราณ พร้อมกับปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ซึ่งในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกน่าจะเป็นหนึ่งในงานสำคัญที่ได้รับความสนใจจากทั่วโลกเฉกเช่นกับที่ผ่านมา
เรียบเรียงข้อมูลจาก คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก, เรื่องบรมราชาภิเษก พระนิพนธ์ พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร
เรื่อง : ImJinah
รูป : คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
ข่าวอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ความเป็นมาของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และการสืบทอดราชประเพณีในสมัย