พระราชพิธีบรมราชาภิเษก, สมัยสุโขทัย, สมัยอยุธยา, สมัยธนบุรี, สมัยรัตนโกสินทร์, ประวัติศาสตร์ไทย

ความเป็นมาของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และการสืบทอดราชประเพณีในสมัยรัตนโกสินทร์

Alternative Textaccount_circle
event
พระราชพิธีบรมราชาภิเษก, สมัยสุโขทัย, สมัยอยุธยา, สมัยธนบุรี, สมัยรัตนโกสินทร์, ประวัติศาสตร์ไทย
พระราชพิธีบรมราชาภิเษก, สมัยสุโขทัย, สมัยอยุธยา, สมัยธนบุรี, สมัยรัตนโกสินทร์, ประวัติศาสตร์ไทย

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ถือว่าเป็นหนึ่งประเพณีสำคัญของประเทศไทยที่ได้มีการสืบทอดกันมายาวนานกว่าหลายร้อยปี และเนื่องในโอกาสอันเป็นมงคลยิ่งที่กำลังจะมาถึงในเดือนพฤษภาคม 2562 นี้ สุดสัปดาห์จึงขออนุญาตนำเกร็ดความรู้ที่น่าสนใจเกี่ยวกับ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก และการสืบทอดราชประเพณีในสมัยรัตนโกสินทร์ มาฝากคุณผู้อ่านค่ะ

การสืบทอด พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน

ดังที่เราทราบกันดีว่า ในช่วงวันที่ 4 – 6 พฤษภาคมนี้ พสกนิกรชาวไทยจะได้ร่วมถวายพระพรในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในหลวงรัชกาลที่ 10 อย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ดี คุณผู้อ่านเคยสงสัยกันไหมคะว่า ในอดีตพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้นมีลักษณะเป็นอย่างไร และที่มาที่ไป สาเหตุที่ต้องจัดพระราชพิธีนี้ขึ้นมาเป็นเพราะอะไร

หากย้อนกลับไปในสมัยโบราณ พระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้นมีมาตั้งแต่ก่อนสมัยสุโขทัยเป็นราชธานี สันนิษฐานกันว่าได้รับอิทธิพลจากคติของอินเดีย โดยพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ถือเป็นโบราณราชประเพณีที่ต้องกระทำ เพื่อความเป็นพระมหากษัตริย์อย่างสมบูรณ์

ขั้นตอนในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

ขั้นตอนในพระราชพิธีอย่างละเอียดนั้น ไม่มีหลักฐานอย่างแน่ชัดว่ามีขั้นตอนอย่างไรบ้าง พบเพียงหลักฐานที่ปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ ๒ หรือจารึกวัดศรีชุม ตรงกับสมัยสุโขทัย ช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 มีเพียงว่า “…พ่อขุนผาเมืองจึงอภิเษกพ่อขุนบางกลางหาวให้เมืองสุโขทัย ให้ทั้งชื่อตนแก่พระสหายเรียกชื่อศรีอินทรบดินทราทิตย์…”

นอกจากนี้ ข้อมูลจากคณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกระบุว่า “มีการพบหลักฐานจากบันทึกในศิลาจารึกวัดป่ามะม่วงเป็นภาษาไทย และภาษาเขมร กล่าวถึงเครื่องราชกกุธภัณฑ์ในพิธีบรมราชาภิเษกพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไทย) ว่ามี มกุฎ พระขรรค์ชัยศรี และเศวตฉัตร” 

ืพระราชพิธีบรมราชาภิเษก, สมัยสุโขทัย, สมัยอยุธยา, สมัยธนบุรี, สมัยรัตนโกสินทร์, ประวัติศาสตร์ไทย

ในขณะที่สมัยอยุธยา ปรากฏหลักฐานจากคำให้การของชาวกรุงเก่าที่พูดถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษกไว้ว่า
“…พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาจึงโปรดให้เอาไม้มะเดื่อนั้น มาทำตั่งสำหรับประทับสรงพระกระยาสนานในการมงคล เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นต้น พระองค์ย่อมประทับเหนือพระที่นั่งตั่งไม้มะเดื่อ สรงพระกระยาสนานก่อนแล้ว (จึงเด็จไปประทับพระที่นั่งภัทรบิฐ) มุขอำมาตย์ถวายเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ คือ มหามงกุฎ 1 พระแสงขรรค์ 1 พัดวาลวิชนี 1 ธารพระกร 1 ฉลองพระบาทคู่ 1”

อนึ่ง หลังจากการย้ายราชธานีมาที่กรุงธนบุรี ก็ยังคงไม่มีหลักฐานใดๆ ที่บอกเล่าเกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกมากนัก มีเพียงข้อมูลจากคณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ระบุเพิ่มเติมว่า 

“เนื่องจากไม่มีหลักฐานปรากฏ จึงมีการสันนิษฐานว่าด้วยสภาพบ้านเมืองที่ยังอยู่ในภาวะสงคราม น่าจะมีการจัดพิธีแบบสังเขป โดยทำตามแบบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ แห่งกรุงศรีอยุธยา”

ข้อมูลจากคณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ยังกล่าวต่อมาถึงในสมัยรัตนโกสินทร์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้ประดิษฐานพระบรมราชจักรีวงศ์ และทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธีปราบดาภิเษกแต่โดยสังเขปในปี พ.ศ.2325 เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลการจัดพระราชพิธีราชาภิเษก พระองค์จึงได้รับสั่งให้ข้าราชการ ทำการค้นหาและตรวจสอบตำราว่าด้วยการราชาภิเษกในสมัยอยุธยา แล้วนำมาเรียบเรียงเป็นตำรา ชื่อว่า ตำราราชาภิเษกครั้งกรุงศรีอยุธยาสำหรับหอหลวง เป็นตำราที่เกี่ยวกับการราชาภิเษกที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่พบหลักฐานในประเทศไทย

หลังจากได้มีการรวบรวมแบบแผนของพระราชพิธีจนสมบูรณ์แล้ว รวมถึงมีการบัญญัติพระราชมณเฑียรสถานที่ใหม่ขึ้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกให้สมบูรณ์ตามราชประเพณี เมื่อปี พ.ศ. 2328 ซึ่งเป็นแบบแผนที่สืบมาเพื่อความเป็นพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์ ดังความใน จดหมายเหตุพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่กล่าวไว้ว่า

..ตามราชประเพณีในสยามประเทศนี้ ถือเปนตำราแต่โบราณว่า พระมหากระษัตริย์ซึ่งเสด็จผ่านพิภพ
ต้องทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกก่อน จึงจะเปนพระราชาธิบดีโดยสมบูรณ์ ถ้ายังมิได้ทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอยู่ตราบใด
ถึงจะได้ทรงรับรัชทายาทเมื่อเสด็จเข้าไปประทับอยู่ในพระราชวังหลวง ก็เสด็จอยู่เพียงณที่พักแห่งหนึ่ง
พระนามที่ขานก็คงใช้พระนามเดิม เปนแต่เพิ่มคำว่า “ซึ่งทรงสำเร็จราชการแผ่นดิน” เข้าข้างท้ายพระนาม แลคำรับสั่งก็ยังไม่ใช้    พระราชโองการ
จนกว่าจะได้สรงมุรธาภิเษก ทรงรับพระสุพรรณบัฏจารึกพระบรมราชนามาภิธัยกับทั้งเครื่องราชกกุธภัณฑ์จากพระมหาราชครูพราหมณ์ผู้ทำพิธีราชาภิเษกแล้ว
จึงเสด็จขึ้นเฉลิมพระราชมณเฑียร ครอบครองสิริราชสมบัติสมบูรณ์ด้วยพระเกียรติยศ
แห่งพระราชามหากระษัตริย์แต่นั้นไป…”

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก, สมัยสุโขทัย, สมัยอยุธยา, สมัยธนบุรี, สมัยรัตนโกสินทร์, ประวัติศาสตร์ไทย

ความแตกต่างของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จากอดีตถึงปัจจุบัน

ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า พระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้นถือว่าเป็นพระราชพิธีที่สำคัญอย่างมากต่อพระมหากษัตริย์ รวมถึงพสกนิกรชาวไทยทุกคน ซึ่งจวบจนถึงปัจจุบันก็ได้มีการปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ถึงแม้ว่าในสมัยรัชกาลที่ 2 และรัชกาลที่ 3  จะมีแบบแผนพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเฉกเช่นเดียวกับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช อย่างไรก็ดี ตามข้อมูลจากจุลสารการจัดองค์ความรู้ สำนักพระราชวัง ได้ระบุว่า 

“ในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้มีการรับวัฒนธรรมจากตะวันตกมาใช้ในพระราชพิธี นั่นคือ ทรงรับคติการสวมพระมหาพิชัยมงกุฎ และโปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มพระราชพิธีสงฆ์ มีน้ำอภิเษก ทั้งน้ำพระพุทธมนต์และน้ำพระเทพมนต์ รวมถึงกำหนดให้มีการบำเพ็ญพระราชกุศลสมโภชเครื่องราชกกุธภัณฑ์ในวันคล้ายวันบรมราชาภิเษกทุกปี เรียกว่าวันฉัตรมงคล (ดั่งที่ปฏิบัติกันมาจนถึงปัจจุบัน) ซึ่งพระราชพิธีเหล่านี้ได้มีการสืบทอดต่อมาในรัชกาลที่ 5 – 7”

นอกจากนี้ จากข้อมูลของทางคณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ยังทำให้เราได้ทราบข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า ในแต่ละยุคนั้นมีการใช้ชื่อเรียกพิธีไม่เหมือนกัน ขณะที่ปัจจุบันเรียกว่า พระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นกลับเรียกว่าพระราชพิธีราชาภิเษก หรือ พิธีราชาภิเษก เช่นเดียวกับสมัยอยุธยา

ขั้นตอนพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

ในส่วนของขั้นตอนของพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้น มีด้วยกันทั้งหมด 4 ขั้นตอน นั่นคือ การเตรียมพระราชพิธี พระราชพิธีเบื้องต้น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก และพระราชพิธีเบื้องปลาย ซึ่งแต่ละขั้นตอนก็มีกระบวนการที่ค่อนข้างละเอียด จึงต้องมีการตระเตรียมเป็นอย่างดี และใช้ระยะเวลาในการจัดเตรียมตามสมควร ตามที่สื่อต่างๆพากันรายงานความคืบหน้าในการจัดเตรียมพระราชพิธีให้ประชาชนทราบเป็นระยะ ไม่ว่าจะเป็น การเดินทางไปตักน้ำจากแหล่งน้ำสำคัญตามสถานที่ต่างๆ ในแต่ละภาคของประเทศไทย รวมไปถึงการเชิญชวนให้พี่น้องชาวไทยร่วมสวมใส่เสื้อสีเหลือง ตั้งแต่เดือนเมษายน – กรกฎาคม เป็นต้น

ส่งท้ายกันด้วยเกร็ดเล็กๆน้อยๆ นั่นคือพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 12 ของพระราชพิธีในราชวงศ์จักรี หลายท่านอาจจะสงสัยว่า ทำไมจำนวนพระราชพิธีจึงมีมากกว่าจำนวนรัชกาล ใช่ไหมคะ

เหตุผลที่เกินนั้นก็คือ เนื่องจากบางรัชกาลมีการประกอบการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 2 ครั้ง ได้แก่ รัชกาลที่ 1 รัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 6 ทั้งนี้มีเพียงรัชกาลที่ 8 ที่ไม่ได้ประกอบการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เนื่องจากทรงเสด็จสวรรคตก่อนค่ะ

 

TEXT : ImJinah เรียบเรียงข้อมูลจาก คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และจุลสารการจัดองค์ความรู้ สำนักพระราชวัง

PHOTO : คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

 

 

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

เผยวิธีการคัดเลือกชื่อ รัชศกเรวะ รัชสมัยใหม่ของญี่ปุ่น ทั้งเข้มข้นและลับสุดยอด

ราชวงศ์ญี่ปุ่นเตรียมก้าวเข้าสู่รัชกาลใหม่ 1 พฤษภาคมนี้ ก่อนที่จะมีพิธีราชาภิเษกในเดือนตุลาคม

ตราสัญลักษณ์ที่ถูกต้องสำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

 

สุดสัปดาห์

keyboard_arrow_up