Post-Vacation Blues

วิธีรับมือ Post-Vacation Blues อาการเหี่ยวเฉาไม่พร้อมกลับมาทำงานหลังหยุดยาว

account_circle
event
Post-Vacation Blues
Post-Vacation Blues

หมดเวลาสนุกแล้วสิ! รับมืออย่างไร เมื่อต้องเผชิญกับภาวะ Post-Vacation Blues อาการเหี่ยวเฉาหดหู่หลังหยุดยาว

วันหยุดผ่านไปไวเหมือนโกหก! ช่วงที่วันหยุดใกล้จะจบลงและต้องเตรียมตัวกลับสู่วิถีชีวิตปกติ หลายคนคงจะมีอาการเหี่ยวเฉา เศร้าซึมไม่อยากกลับไปเรียนหรือทำงานจนต้องร้องขอให้หยุดต่ออีกสักวัน รู้หรือไม่ว่าอาการแบบนี้มีคำอธิบายในทางจิตวิทยาด้วย

อาการเหี่ยวเฉาหลังวันหยุดยาวแบบนี้เรียกว่า “Post-Vacation Blues” เป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้หลังจากผ่านช่วงหยุดยาว และหากปล่อยไว้ก็อาจจะเกิดผลกระทบทางด้านจิตใจและการใช้ชีวิตได้ วันนี้เราขอพาไปทำความรู้จักกับอาการนี้และวิธีรับมือกันค่ะ

Post-Vacation Blues อาการเหี่ยวเฉาหลังหยุดยาว

Post-Vacation Blues คือภาวะเหี่ยวเฉา เบื่อหน่าย หดหู่ ไปจนถึงรู้สึกซึมเศร้า หลังจากผ่านช่วงวันหยุดยาว ซึ่งภาวะนี้ไม่ถือเป็นโรคทางจิตเวช ส่วนมากอาการนี้จะเกิดขึ้นเพียงระยะหนึ่งเท่านั้น ก่อนจะหายไปเอง เพราะโดยทั่วไปคนเราสามารถปรับตัวกลับสู่วิถีชีวิตปกติได้

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ทำให้หลายคนปรับตัวกลับสู่วิถีชีวิตเดิมได้ยากก็คือประสบการณ์วันหยุดที่แต่ละคนได้รับ ยิ่งวันหยุดนั้นเต็มไปด้วยความสุขและประสบการณ์ดีๆ ที่น่าจดจำ ในหัวของคุณก็จะยิ่งเปรียบเทียบวันหยุดที่แสนสุขและวันทำงานที่แสนเบื่อหน่ายจำเจ และจะทำให้คุณเอาตัวเองออกจากความรู้สึกหดหู่ได้ยาก

นอกจากอาการหดหู่เบื่อหน่าย ก็ยังรวมไปถึงอาการวิตกกังวล รู้สึกไม่มั่นคงเมื่อต้องกลับไปทำงานหรือเรียนหนังสือ และอาจจะหงุดหงิดง่าย ไม่พอใจกับบางสิ่งบางอย่างในชีวิตประจำวัน ทั้งที่มันก็เป็นชีวิตแบบเดิมก่อนหยุดยาว นอกจากนี้ความเหนื่อยล้าสะสมทั้งในร่างกายและจิตใจก็มีผลกับภาวะเหี่ยวเฉาหลังหยุดยาวเช่นกัน

รับมืออย่างไรเมื่อต้องกลับสู่ความเป็นจริง

แม้คนเราจะสามารถปรับตัวและกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้หลังภาวะ Post-Vacation Blues แต่จะดีกว่าถ้าเรามีวิธีรับมือกับอาการเหล่านี้ก่อนที่มันอาจจะส่งผลกระทบต่อจิตใจและการใช้ชีวิตมากกว่าเดิม

วันแรกๆ หลังหยุดยาว อย่าเพิ่งทำงานหนัก

เคยสังเกตไหมว่าช่วง 2-3 วันแรกหลังหยุดยาวจะเป็นช่วงที่อาการเหี่ยวเฉาเหนื่อยล้าเล่นงานเราอย่างหนัก ดังนั้นช่วงแรกๆ ไม่ควรโหมงานหนักทันที ควรทำงานเบาๆ ไปก่อน เพื่อให้ร่างกายค่อยๆ ปรับตัวกลับสู่ชีวิตประจำวันปกติ

ทำกิจกรรมที่ชอบหรืองานอดิเรก

หากิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ ที่ชอบ หรือทำงานอดิเรกเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจและผ่อนคลายร่างกายจิตใจ เช่น ดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกม ทำสวน หรือหากไม่รู้ว่าจะทำอะไรดี การทำความสะอาดบ้าน เก็บบ้านก็เป็นกิจกรรมผ่อนคลายที่ดีเกินคาด แถมบ้านที่สะอาดน่าอยู่ก็ส่งผลดีต่อสุขภาพจิตอีกด้วย

แชร์ประสบการณ์วันหยุดกับคนรอบข้าง

การได้แชร์ประสบการณ์วันหยุดกับเพื่อน ครอบครัว คนรอบข้าง ก็เป็นอีกวิธีที่ช่วยลดความรู้สึกเหงาและเศร้าได้ การสร้างอัลบั้มภาพรวมความทรงจำช่วงวันหยุด หรือแชร์รูปสวยๆ ลงโซเชียลมีเดียก็เป็นอีกวิธีที่เราจะได้แชร์ความทรงจำต่างๆ กับคนรอบข้างได้

ออกกำลังกายและฝึกสมาธิ

เพื่อขจัดความเหนื่อยล้าสะสมและความรู้สึกเศร้าหมอง การออกกำลังกายและฝึกสมาธิถือเป็นการฟื้นฟูสุขภาพกายและสุขภาพใจที่ง่ายที่สุด หากคุณไม่ใช่คนที่ออกกำลังกายเป็นประจำ การสควอช วิดพื้น หรือเพิ่มความกระฉับกระเฉงเพียงเล็กน้อยก็สามารถกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดและเผาผลาญแคลอรีได้แล้ว ส่วนการฝึกสมาธิ สุดสัปดาห์ขอแนะนำการฝึกสมาธิตามวิถีโยคะที่ฮีลทั้งกายและใจ อ่านเพิ่มเติมที่นี่

ปรับการนอนหลับ

การนอนหลับสำคัญกว่าที่คุณคิด เพราะขณะหลับ สมองของเราจะเกิดกระบวนการการซ่อมแซมและปรับสมดุลของสารสื่อประสาทเพื่อให้กลับสู่ภาวะปกติ ดังนั้นพื้นฐานของสุขภาพที่ดีก็มีส่วนมาจากการนอนหลับที่ดี แนะนำให้นอนหลับให้เพียงพอในช่วง 2-3 วันแรกหลังหมดช่วงหยุดยาว เข้านอนตั้งแต่เวลา 22.00 น. เป็นต้นไป และนอนให้ได้ 7-8 ชั่วโมง

วางแผนทริปใหม่

ในเมื่อตัดใจลำบาก ก็ลองสร้างเป้าหมายใหม่ดู การวางแผนทริปใหม่ก็ไม่ต่างจากการเก็บเงินเพื่อซื้อของบางอย่างที่อยากได้ การมีเป้าหมายจะช่วยเติมไฟและสร้างแรงบันดาลใจได้อย่างไม่น่าเชื่อ ลองแพลนทริปครั้งต่อไป จองตั๋ว จองที่พักเอาไว้ ก็อาจจะเปลี่ยนวันทำงานที่แสนน่าเบื่อให้เป็นการนับถอยหลังสู่ความตื่นเต้นครั้งใหม่ก็ได้

ทั้งหมดคือวิธีรับมือกับ Post-Vacation Blues ที่เราเก็บมาฝาก หากคุณเผชิญกับอาการหม่นเศร้าแบบนี้นานเกิน 2 สัปดาห์ หรือรู้สึกว่าอาการหดหู่กำลังคุกคามสุขภาพกายใจมากเกินไป ควรเข้ารับคำปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้เยียวยาฟื้นฟูจิตใจต่อไป

Sources : โรงพยาบาลวิมุต, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย, โรงพยาบาลสมิติเวช, Bretones, F. D. (2017). Facing the post-holiday blues. Safety Management, October, 13.
Image : Shutterstock
Text : Nattakarn Saekhoo

อ่านบทความแฟชั่น & ไลฟ์สไตล์เพิ่มเติมได้ที่

ซัมเมอร์นี้ไปไหนดี! ปักหมุด 5 ที่เที่ยวหน้าร้อน ที่นักเดินทางตัวยงแนะนำ

เปิด 8 พิกัดมูในฮ่องกง ชวนสัมผัสเสน่ห์ของฮ่องกงผ่านเส้นทางมูเตลู

รวมไฮไลต์ห้ามพลาดใน Ocean Park Hong Kong แลนด์มาร์กที่รวมทั้งสวนสนุก สวนสัตว์ สวนน้ำ และโรงแรมหรู

นั่ง รถไฟ SRT Royal Blossom เปิดประสบการณ์เดินทางหรูหราพรีเมียม

ถอดมายด์เซตสร้าง ‘ความสัมพันธ์ที่เฮลตี้’ ฉบับ เลดี้ปราง

รวมทริคอัปความสุข บูสต์เอเนอร์จี้ และ พัฒนาตัวเอง จากเหล่าคนดัง

ชวนกินตาม มิชลิน ไกด์ เปิดรายชื่อ 20 ร้านใหม่ ที่ได้รับรางวัล บิบ กูร์มองด์ ประจำปี 2568

เปิด ตารางสีมงคล 2568 สีเสื้อมงคล โดย หมอช้าง ทศพร! เสริมความเฮงตลอดปี

Personal Color กับ สีมงคล : คอมโบตามหาสีที่ใช่ ใส่แล้วลุคปัง ดวงรุ่ง

สุดสัปดาห์

keyboard_arrow_up