อาการ นอนกรน ดูจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ทั่วไป จนทำให้เราอาจละเลยอาการนี้ไป แต่แท้จริงแล้ว นี่อาจจะเป็นสัญญาณเตือนภัยบางอย่างที่ร่างกายพยายามบอกเราอยู่ก็เป็นได้
หลายคนคงกำลังเผชิญกับอาการ นอนกรน หรือมีคนใกล้ตัวนอนกรนอยู่บ้าง แต่รู้หรือไม่ว่าอาการที่ดูเป็นเรื่องปกติธรรมดา แท้จริงแล้วอาจเป็นการส่งสัญญาณเตือนภัยบางอย่างของร่างกายก็ได้ สุดสัปดาห์มีโอกาสไปร่วมงานแถลงข่าวเปิดตัวนวัตกรรมแก้ไขปัญหาการนอนกรนที่จัดขึ้นโดยโรงพยาบาลวิมุต และได้เก็บเกร็ดความรู้เกี่ยวอาการนอนกรน และ ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ มาฝากกันค่ะ
อาการ นอนกรน คืออะไร
อาการนอนกรน เกิดจากกล้ามเนื้อในช่องคอ โคนลิ้นมีการหย่อนไปปิดทางเดินหายใจส่วนต้น ทำให้ภายในช่องคอแคบลง ออกซิเจนจึงผ่านลำคอได้ยากขึ้น เกิดการเสียดแทรกเป็นเสียงครืดคราดในลำคอ
ภาวะนอนกรนพบได้ในทุกอายุ โดยมักจะพบในผู้ใหญ่และพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง โดยเฉพาะคนที่มีน้ำหนักตัวมาก และเมื่อทางเดินหายใจแคบลงก็มีความเสี่ยงที่ร่างกายจะหยุดหายใจได้ ซึ่งการนอนกรนระดับรุนแรงจนมีการหยุดหายใจร่วมด้วย เรียกว่า Obstructive Sleep Apnea หรือ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น
ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ (Obstructive Sleep Apnea)
โดยธรรมชาติแล้ว ร่างกายจะไม่ยอมหยุดหายใจนาน แต่จะพยายามปลุกเราให้ตื่นขึ้นมาเรื่อยๆ เป็นผลให้การนอนหลับไม่ดี ไม่สงบ ซึ่งผลกระทบในระยะสั้น คือ ร่างกายจะมีอาการง่วงเหงาหาวนอน อ่อนเพลีย หงุดหงิดง่าย ความสามารถในการทำงานต่างๆ แย่ลง และเมื่อเกิดขึ้นเป็นประจำก็จะส่งผลต่อสภาพร่างกายและจิตใจ รวมถึงความเสี่ยงต่อโรค อาทิ ความดันโลหิตสูง หัวใจล้มเหลว ภาวะหัวใจห้องบนผิดปกติ เบาหวานชนิดที่ 2 โรคหลอดเลือดสมอง ภาวะซึมเศร้าและโรคอ้วน
การหยุดหายใจ 10 วินาที นับเป็น 1 ครั้ง สำหรับผู้ใหญ่ ถ้าหยุดหายใจ 5 ครั้งต่อชั่วโมงแปลว่าร่างกายผิดปกติ แต่ถ้าหยุดหายใจอย่างน้อย 30 ครั้งต่อชั่วโมงแปลว่าผิดปกติเข้าขั้นรุนแรง ควรพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยโรคและรักษาต่อไป
การรักษาและแก้ไข
สำหรับการรักษาและแก้ไขปัญหาการนอนกรน สามารถเริ่มได้จากการปรับพฤติกรรม ลดน้ำหนัก ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ควบคุมอาหาร หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่อดนอน ลองปรับท่านอนเป็นการนอนตะแคงก็จะช่วยลดอาการนอนกรนลงได้บ้าง
ทุกวันนี้ก็มีอุปกรณ์ที่คิดค้นมาเพื่อแก้ปัญหานี้โดยตรง แต่การใช้งานอุปกรณ์เหล่านี้ต้องอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์เท่านั้น
และที่สำคัญที่สุดคือ หมั่นสังเกตอาการของตนเองและคนรอบข้างเป็นประจำ หากพบอาการผิดปกติ เช่น นอนกรน แล้วมีอาการสะดุ้งเฮือก นอนเต็มที่แต่ตื่นมาก็ยังง่วง มีอาการปากแห้ง คอแห้งและเจ็บคอเมื่อตื่นนอน ปวดศีรษะหลังตื่นนอน ควรจะพบแพทย์ทันที ถ้าซักประวัติแล้วเข้าเกณฑ์ที่จะเป็นภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ก็ควรจะตรวจด้วยการทำ Sleep Test เพิ่มเติม เพื่อวิเคราะห์การทำงานของร่างกายระหว่างนอนหลับโดยละเอียด และหาแนวทางการรักษาที่เหมาะสมต่อไป
ขอขอบคุณ ข้อมูลและรูปภาพจาก โรงพยาบาลวิมุต
Text: Nattakarn Saekhoo
อ่านบทความสุขภาพเพิ่มเติม
สร้างกล้ามเนื้อ ปรับบุคลิก เปิดประสบการณ์พิลาทิสกับกูรูชื่อดัง ณ The Moonlight Hall จิม ทอมป์สัน
เก้า สุภัสสรา – ครูจิมมี่ ยุทธนา ร่วมแชร์แนวทางในการสร้างสุขภาวะที่ดี
สสส. ชวนคนไทยลดโซเดียม แก้ปัญหาติดเค็มระดับชาติภายในปี 68
รับมือ “ความว้าวุ่น” อารมณ์ใหม่ใน Inside Out 2 ที่ป่วนชีวิตเราทุกคน