รับมือ “ความว้าวุ่น” อารมณ์ใหม่ใน Inside Out 2 ที่ป่วนชีวิตเราทุกคน

account_circle
event

Inside Out 2 ภาพยนตร์ภาคต่อที่กลับมาพร้อมอารมณ์ใหม่ที่ซับซ้อนขึ้น จะทำอย่างไรเมื่อ “ความ ว้าวุ่น วิตกกังวล” ส่งผลกับชีวิตเราจนยากจะควบคุม

Inside Out ภาคแรกกลายเป็นภาพยนตร์แอนิเมชันในดวงใจของใครหลายคนด้วยเนื้อหากินใจที่ถ่ายทอดผ่านตัวละครสุดน่ารัก และในปีนี้ Inside Out กลับมาพร้อมความเปลี่ยนแปลงแต่ยังน่าประทับใจไม่แพ้เรื่องราวในภาคแรก โดย Inside Out 2 บอกเล่าเรื่องราวของไรลีย์ที่โตขึ้นจากภาคแรกหนึ่งปีและกำลังก้าวเข้าสู่วัยรุ่น ซึ่งทำให้อารมณ์และความต้องการของเธอซับซ้อนขึ้นกว่าที่เคย 

เหล่าตัวละครที่สื่อถึงอารมณ์พื้นฐานในจิตของไรลีย์ ได้แก่ ลั้นลา (Joy) เศร้าซึม (Sadness) ฉุนเฉียว(Anger) หยะแหยง (Disgust) และกลั๊วกลัว (Fear) จึงต้องเผชิญกับ 4 อารมณ์ใหม่สุดป่วน ได้แก่ ว้าวุ่น (Anxiety) อิจฉา (Envy) เขิ้นเขินอ๊ายอาย (Embarrassment) และเฉยชิล (Ennui/Boredom) ที่เข้ามาอยู่ร่วมกันในศูนย์บัญชาการทางอารมณ์ เรื่องราวจะดำเนินให้เห็นว่าไรลีย์และอารมณ์ทั้ง 9 ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในช่วงวัยที่โตขึ้น จนเกิดเป็นการผจญภัยที่น่าเอาใจช่วยไปจนจบ

ตัวละครใหม่ใน Inside Out 2 (จากซ้าย) ว้าวุ่น, อิจฉา, เขิ้นเขินอ๊ายอาย, อองวี

*เนื้อหาต่อจากนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์ Inside Out  2

เชื่อว่าหลายคนที่เข้าไปดูคงรู้สึกเหมือนภาพยนตร์กำลังสะท้อนชีวิตของตัวเองเลยทีเดียว โดยเฉพาะตอนที่ “ว้าวุ่น” เข้ามามีอิทธิพลกับความคิดและการตัดสินใจของไรลีย์ค่อนข้างมาก ซึ่งเราต่างก็ทราบดีว่าความว้าวุ่นวิตกกังวลไม่ได้มีอิทธิพลแค่ตอนวัยรุ่นเท่านั้น แต่ยังคงมีอิทธิพลกับเราแม้จะเติบโตจากวันนั้นมามากแล้ว เราจึงอยากชวนทุกท่านไปทำความรู้จักกับอารมณ์ใหม่หน้าคุ้นอย่างความว้าวุ่นให้มากขึ้น และวิธีการรับมือเบื้องต้นอย่างเหมาะสมกัน

ปัญหาก็เยอะซะด้วย ทีนี้ก็ “ว้าวุ่น (Anxiety)” เลย

เคยไหมที่รู้สึกกลัวหรือกังวลใจในสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น คาดเดาต่างๆ นานาไปก่อนแม้เหตุการณ์นั้นยังมาไม่ถึง อาการว้าวุ่น วิตกกังวล (Anxietyแบบนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับเราทุกคนเป็นปกติ ประโยชน์ของมันคือทำให้เราตื่นตัวและพร้อมรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ และช่วยป้องกันเราจากความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ แต่ในอีกมุมหนึ่ง ความวิตกกังวลที่มากเกินไปก็สามารถพัฒนาเป็นโรควิตกกังวลและกลับมาทำร้ายเราได้

โรควิตกกังวลเป็นโรคทางจิตที่พบได้มากที่สุดโรคหนึ่ง คนที่เป็นโรควิตกกังวลจะรู้สึกกลัวหรือกังวลเกินเหตุ ส่งผลต่อความคิด สภาพจิตใจและร่างกายจนกระทบกับการใช้ชีวิตของตัวเอง โรควิตกกังวลสามารถแบ่งย่อยเป็นโรคอื่นๆ ได้อีกหลายประเภท เช่น โรคแพนิก โฟเบีย PTSD ฯลฯ แต่ในบทความนี้เราจะมาเจาะลึกกันที่โรควิตกกังวลทั่วไป (Generalized Anxiety Disorder)

“โรควิตกกังวลทั่วไป” อาการมันเป็นยังไง

คนที่เป็นโรควิตกกังวลทั่วไปจะมีความกังวลมากเกินไปและมีความกังวลอยู่เป็นประจำต่อเนื่องเป็นเวลาหลายเดือน อีกทั้งยากที่จะควบคุมความกังวลของตัวเอง เรื่องที่กังวลมักจะเป็นเรื่องชีวิตประจำวันหรือเหตุการณ์ในแต่ละวัน เช่น เรื่องเงิน เรื่องงาน ครอบครัว สุขภาพ เป็นต้น โดยความวิตกกังวลที่มากเกินไปจะส่งผลต่อร่างกาย ตั้งแต่ทำให้รู้สึกหงุดหงิด เครียด กระสับกระส่าย คลื่นไส้ ปวดท้อง ใจสั่น มีปัญหาในการโฟกัสสิ่งที่ต้องทำ มีปัญหาในการนอน และอาจมีปัญหาในการตัดสินใจ เพราะวิตกกังวลจนไม่กล้าเสี่ยง ไม่กล้าตัดสินใจไปเลย

ทำยังไงให้เลิกกังวล

สาเหตุของอาการวิตกกังวลมีอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยทางสังคม จิตใจ หรือร่างกาย ใครๆ ก็เป็นโรควิตกกังวลได้ อาการวิตกกังวลมักจะเกิดขึ้นตั้งแต่วัยเด็กหรือวัยรุ่นและมีผลต่อเนื่องจนโตเป็นผู้ใหญ่ ทางที่ดีในการหลีกเลี่ยงอาการนี้ควรเริ่มจากการปลูกฝังและให้ความรู้ทั้งเด็กและผู้ปกครองตั้งแต่เนิ่นๆ สร้างภูมิคุ้มกันด้านจิตใจให้แข็งแรง เป็นทางหนึ่งที่สามารถป้องกันโรควิตกกังวลเมื่อโตขึ้นได้ อย่างไรก็ตามหากเราพ้นวัยที่จะปลูกฝังให้มีภูมิคุ้มกันตั้งแต่เนิ่นๆ แล้ว เราก็ควรรู้วิธีรับมือกับอาการวิตกกังวลเบื้องต้นไว้ โดยเริ่มจากการดูแลและใส่ใจตัวเองด้วยวิธีต่อไปนี้

สังเกตอารมณ์ของตัวเอง

ก่อนจะรับมือกับความวิตกกังวลได้ เราต้องรู้ก่อนว่าเรากำลังรับมือกับอะไร สังเกตอารมณ์ อาการ และความเครียดของตัวเองเป็นประจำ รู้เท่าทันอารมณ์ของตัวเองเพื่อที่จะจัดการกับความรู้สึกได้อย่างเหมาะสม โดยการ

  • ลองลิสต์ความกังวลความเครียดของตัวเองออกมาเป็นข้อๆ 
  • จำแนกแต่ละข้อว่าเรากำลังกังวลเรื่องอะไรอยู่ ข้อไหนเป็นปัญหาปัจจุบันที่ทำให้เรากังวลแปลว่ามันมีหนทางในการแก้ไข เรายังควบคุมมันได้ และข้อไหนเป็นเหตุการณ์ที่ยังไม่เกิดขึ้น เป็นการกังวลไปก่อน คิดไปก่อน 

ที่ต้องลิสต์ออกมาเพราะความกังวลแต่ละแบบต้องการวิธีรับมือที่ต่างกัน การสังเกตอารมณ์แล้วจำแนกแยกแยะความคิดของตัวเองจะช่วยให้เราได้มองเห็นความคิดในหัวที่มันยุ่งเหยิงไปหมด ค่อยๆ คลี่คลายมันออกแล้วหาวิธีจัดการที่เหมาะสม

ผ่อนคลายกล้ามเนื้อด้วย Progressive Muscle Relaxation

การผ่อนคลายกล้ามเนื้อจะช่วยลดความตึงเครียดทางร่างกายและทางความคิดได้ โดยแนวคิดการผ่อนคลายกล้ามเนื้อแบบ Progressive Muscle Relaxation คือการเกร็งกล้ามเนื้อแต่ละส่วนไว้ประมาณ 5 วินาทีให้รู้สึกถึงความตึง ก่อนจะคลายออกประมาณ 10 วินาที ทำไปทีละส่วนของร่างกาย ไล่ตั้งแต่หน้าผาก คอ ไหล่ หน้าท้อง มือ แขน ขา จนไปถึงเท้า แนะนำว่าควรจะทำในท่าทางที่ผ่อนคลายที่สุด และอยู่ในบรรยากาศที่สงบผ่อนคลาย เพื่อให้กระบวนการทั้งหมดมีประสิทธิภาพมากขึ้น

รับประทานอาหารที่ดีและนอนให้เป็นเวลา

รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพให้ครบ 5 หมู่ และรับประทานให้เป็นเวลา ควบคู่ไปกับการนอนให้เพียงพอ เป็นการลดความเครียดทางร่างกาย และสร้างสุขภาพที่ดีเพื่อเป็นพื้นฐานให้เรารับมือกับปัญหาทางจิตใจได้ดีขึ้นหากมีปัญหาในการนอน ให้สร้างบรรยากาศการนอนที่เหมาะสมกับการนอนหลับ เช่น ห้องนอนมืด เงียบสงบ และเย็นกำลังดี รวมทั้งหลีกเลี่ยงการเล่นโทรศัพท์มือถือ ดูทีวีก่อนนอน

ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

ไม่ว่าจะออกกำลังกายจริงจังอย่างโยคะ ว่ายน้ำ หรือแค่เดินระยะสั้นๆ ทุกวันก็ถือว่าเป็นการออกกำลังกายที่ดี การที่ร่างกายได้ขยับเคลื่อนไหวย่อมดีกว่าการนั่งหรือนอนอยู่ที่เดิมๆ นานๆ แล้วเปิดโอกาสให้ตัวเองตกอยู่ในวังวนความกังวล

ทั้งหมดนี้คือวิธีรับมือเบื้องต้นเมื่อเผชิญหน้ากับความวิตกกังวล ไม่ว่าจะเป็นความวิตกกังวลปกติหรือโรควิตกกังวลทั่วไป บางข้ออาจเป็นเรื่องยากสำหรับบางคน แต่หากลองทำทีละเล็กละน้อยติดต่อกันอย่างน้อย 1 เดือน ทั้งหมดนี้จะกลายเป็นนิสัยใหม่ของเราไปโดยปริยาย อย่างไรก็ตาม ถ้าการรับมือเบื้องต้นด้วยตัวเองยังไม่เพียงพอที่จะจัดการกับความวิตกกังวล แนะนำให้ปรึกษากับนักจิตบำบัดหรือจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาวิธีเยียวยาที่เหมาะสมกับต่อไป

นอกจากนี้ พึงเข้าใจว่าความกังวลไม่ใช่สิ่งที่จะกำจัดให้หายไปจากความคิดของเราได้ เพราะหากมองมุมกลับ มันก็เป็นอารมณ์หนึ่งที่ช่วยปกป้องเราจากอันตราย พร้อมรับสถานการณ์ในวันข้างหน้า เป็นอารมณ์หนึ่งที่ต้องอยู่กับเราไปตลอดชีวิตไม่ต่างจากอารมณ์อื่นๆ ดังนั้นสิ่งที่เราต้องทำคือการอยู่ร่วมกับความวิตกกังวลแบบไม่ให้กลายเป็นความทุกข์ ใช้ประโยชน์จากมัน และไม่ปล่อยให้ความวิตกกังวลทำร้ายสุขภาพกายและใจของเรา

เช่นเดียวกันกับอีก 3 อารมณ์ใหม่ที่มามีบทบาทใน Inside Out 2 ได้แก่ ความอิจฉา ความเขินอายไม่กล้าแสดงออก และความเฉยชิลเบื่อหน่าย ทั้งหมดก็เป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน มีสาเหตุมาจากปัจจัยทางร่างกาย จิตใจ สังคม การเลี้ยงดู ไม่ต่างจากความวิตกกังวล และถ้ามีมากเกินไปก็สามารถทำร้ายสุขภาพกายสุขภาพจิตของเราได้เช่นกัน การจัดการกับอารมณ์ทุกรูปแบบจึงต้องเริ่มจากการรู้เท่าทันอารมณ์ของตัวเองก่อน เพื่อที่จะรับมือกับมันได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหมือนที่ไรลีย์และเหล่าอารมณ์ทั้ง 9 ในจิตของเธอ ได้เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับทุกอารมณ์อย่างเหมาะสมนั่นเอง

ขอขอบคุณ ข้อมูลและภาพจาก Disney Thailandกรมสุขภาพจิตโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์World Health OrganizationGovernment of Western Australia Department of HealthNational Institute of Mental HealthAnxiety Canada, Pexels

Text : Nattakarn Saekhoo

อ่านบทความสุขภาพเพิ่มเติม

สร้างกล้ามเนื้อ ปรับบุคลิก เปิดประสบการณ์พิลาทิสกับกูรูชื่อดัง ณ The Moonlight Hall จิม ทอมป์สัน

เก้า สุภัสสรา – ครูจิมมี่ ยุทธนา ร่วมแชร์แนวทางในการสร้างสุขภาวะที่ดี

สสส. ชวนคนไทยลดโซเดียม แก้ปัญหาติดเค็มระดับชาติภายในปี 68

สุดสัปดาห์

keyboard_arrow_up