วันนี้สุดฯ จะพาไปย้อนเวลาด้วยการ ตามรอยมหากวีเอก เส้นทางนิราศของสุนทรภู่ มหากวีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ตามเส้นทางคลองบางกอกน้อย – คลองอ้อมนนท์ – เมืองนนทบุรี ..แหล่งท่องเที่ยวที่เต็มไปด้วยเรื่องเล่าใกล้กรุงฯ
โดยจะพาไปสัมผัสที่มาของชื่อแต่ละย่าน เรื่องราววัดวาอาราม และแหล่งภูมิปัญญางานช่างฝีมือ ที่วัดดุสิดารามวรวิหาร ชุมชนบ้านบุ วัดศรีสุดารามวรวิหาร วัดบางอ้อยช้าง และวัดชลอ โดยในทริปนี้สุดฯ ได้ร่วมทริปกับทาง ktc และมีอาจารย์ธานัท ภุมรัช นักประชาสัมพันธ์ กลุ่มงานพัฒนาการท่องเที่ยว ส่วนการท่องเที่ยว สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร เป็นวิทยากรตลอดทริปค่ะ
ตามรอยมหากวีเอก ณ วัดดุสิดารามวรวิหาร
“…ถึงอารามนามวัดประโคนปัก ไม่เห็นหลักลือเล่าว่าเสาหิน เป็นสำคัญปันแดนในแผ่นดิน มิรู้สิ้นสุดชื่อที่ลือชา…..” สุนทรภู่ได้แต่งขึ้นตอนที่จะเดินทางผ่านวัดนี้เพื่อไปอยุธยาในนิราศภูเขาทอง ‘วัดดุสิดารามวรวิหาร’
สุดฯ ได้ฟังประวัติวัดจากวิทยากรว่า วัดนี้เดิมชื่อวัดเสาประโคน ซึ่งหมายถึงเสาที่ใช้ปักหลักเขตแดนของบ้านเมือง และที่นี่เคยมีเสาประโคนปักอยู่บริเวณใกล้ๆ กับพระอุโบสถด้วยค่ะ
สุดฯ ยังได้มาชมความงามของพระอุโบสถ และได้รู้มาว่าภาพวาดฝาผนังที่นี่เป็นที่เดียวในไทยที่มีภาพราหูตามดวงอาทิตย์ ใครมาที่นี้ก็อย่าลืมลองหาดูนะคะว่าอยู่ตรงไหน หลังจากที่กราบไหว้พระเสร็จแล้ว หลวงพ่อที่นี่ยังใจดีให้พรกับพวกเราที่ไปกราบไหว้พระด้วยค่ะ
ชุมชนบ้านบุ
“…ยลย่านบ้านบุตั้ง ตีขัน ขุกคิดเคยชมจันทร์แจ่มฟ้า …” บทหนึ่งในนิราศสุพรรณที่สุนทรภู่ได้บรรยายถึง ‘ชุมชนบ้านบุ’ ชุมชนเก่าแก่ริมคลองบางกอกน้อย เป็นชุมชนที่มีชื่อเสียงด้านหัตถกรรมโบราณที่สืบทอดวิชาจากบรรพบุรุษซึ่งอพยพมาจากกรุงศรีอยุธยาเมื่อกว่า 200 ปีมาแล้ว นั่นคือ “ขันลงหิน” ภาชนะที่นิยมใช้กันในสมัยก่อนนั่นเอง
เมื่อมาถึงคุณป้าก็ได้เตรียมน้ำเย็นๆ ใส่ขันไว้ต้อนรับพวกเราด้วย ถึงแม้จะเป็นน้ำใส่อุทัยทิพย์ธรรมดาๆ แต่เมื่อได้กินจากขัน รู้สึกชื่นใจมากค่ะ จากนั้นคุณป้าก็พาชมขั้นตอนต่างๆ ในการทำขันลงหิน และฟังบรรยายขั้นตอนการตีขันลงหินซึ่งเหลืออยู่เพียงแห่งเดียวในประเทศไทยที่โรงงานขันลงหินเจียม แสงสัจจา ตามกรรมวิธีแบบดั้งเดิมอย่างใกล้ชิด
บอกเลยว่าเมื่อมาเห็นขั้นตอนกว่าจะมาเป็นขันมันไม่ง่ายเลยค่ะ คุณป้า คุณลุง จนกระทั่งคุณยายต้องทำงานท่ามกลางไอร้อนจากเตาไฟและอากาศที่ร้อนมากๆ ค่ะ
ที่น่าเป็นห่วงคือปัจจุบันไม่มีเด็กรุ่นใหม่มาสืบสานการทำขันลงหินแล้ว เพราะเป็นอาชีพที่มีความละเอียดอ่อน และต้องใช้ความอดทน พอได้ฟังดังนั้นแล้วก็รู้สึกเสียดายหัตถกรรมไทยที่สวยงามนี้มากๆ ค่ะ
หากใครมีโอกาสก็สามารถแวะเข้ามาชม มาช่วยกันอุดหนุนได้นะคะ หรือถ้าใครสนใจอยากสืบสานงานให้คงอยู่ต่อไป ก็มาเรียนที่นี่ได้เลย
วัดศรีสุดารามวรวิหาร
“วัดปะขาวคราวรุ่นรู้ เรียนเขียน ทำสูตรสอนเสมียน สมุดน้อย เดินระวางระวังเวียน หว่างวัดปะขาวเอย เคยชื่นกลืนกลิ่นสร้อย สวาทห้อง กลางสวน” นี่เป็นบทหนึ่งที่สุทรภู่ได้กล่าวไว้ในนิราศสุพรรณเกี่ยวกับ ‘วัดศรีสุดารามวรวิหาร’ หรือวัดชีปะขาว
ประวัติของวัดศรีสุดารามแห่งนี้สร้างสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งต่อมาในรัชกาลที่ 1 สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ พระพี่นางเธอของรัชกาลที่ 1 ได้ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์ ครั้นเวลาล่วงมาน้ำเซาะตลิ่งพังจนถึงหน้าพระอุโบสถ รัชกาลที่ 4 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระอุโบสถใหม่แทน
มีรูปปั้นสุนทรภู่ตั้งอยู่ริมคลองด้วย เพราะว่าที่นี่เคยเป็นสำนักเรียนของสุนทรภู่ตอนเด็กนั่นเอง
วัดบางอ้อยช้าง
“บางอ้อยช้างโอ้ช้างที่ร้างโขลง มาอยู่โรงรักป่าน้ำตาไหล พี่คลาดแคล้วแก้วตาให้อาลัย เหมือนอกไอยราร้างฝูงนางพังฯ” บทหนึ่งที่ปรากฏอยู่ในนิราศพระประธม ‘วัดบางอ้อยช้าง’
สุดฯ ได้ย้อนอดีตฟังเรื่องราวของวัดบางอ้อยช้างว่า เมื่อก่อนชื่อบางอ่อช้างที่มาจากหนึ่งในต้นไม้ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ เป็นต้นไม้ที่สามารถรักษาโรคของช้างได้ พร้อมชื่นชมภาพจิตรกรรมฝาผนังในอุโบสถซึ่งเขียนขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 9 ด้วยศิลปะสีอะครีลิคโทนร้อนอันวิจิตรสวยงาม ที่นี่ยังมีความเชื่อว่ามีมนตร์บังตา เพราะว่าไม่เคยถูกตีแตกเลยสักครั้งเดียวด้วย
จากนั้นเราก็มาปิดท้ายด้วยการชม “พิพิธภัณฑ์วัดบางอ้อยช้าง” ที่ทางวัดรวบรวมของเก่าแก่ ของสำคัญในชุมชน มาจัดแสดงไว้ให้เป็นมรดกล้ำค่าของชุมชน และเป็นแหล่งเรียนรู้แก่ประชาชนทั่วไป
วัดชลอ
“วัดชลอใครหนอชลอฉลาด เอาอาวาสมาไว้อาศัยสงฆ์ ช่วยชลอวรรักษาว่าพี่รักทรง ให้มาลงเรือร่วมพรมที่นอน” ซึ่งสุนทรภู่ได้เขียนไว้ในนิราศพระประธมเมื่อผ่านหน้าวัดชลอคราวไปพระประธม
สุดฯ ได้เดินทางมาถึงที่สุดท้าย ‘วัดชลอ’ ที่ได้ชื่อนี้เพราะวัดตั้งอยู่ตรงทางโค้งของคลองบางกอกน้อยพอดี เรือที่ขับผ่านมาจะต้องชะลอเพื่อไม่ให้เรือชนนั่นเอง วัดนี้สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย ในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ สุดฯ ได้มีโอกาสชมอุโบสถหลังเก่าสมัยอยุธยาที่มีฐานอุโบสถแอ่นโค้ง “แบบท้องเรือสำเภา” พร้อมกับสักการะ “หลวงพ่อดำ” และ “หลวงพ่อมงคลแสนสุข” แล้วปิดท้ายด้วยการชมความงดงามของ “โบสถ์เรือสุพรรณหงส์” ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วย
การเดินทางในวันนี้ทั้งอิ่มบุญ และความสุขไปพร้อมๆ กัน ได้สัมผัสวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์ของคนแต่ละพื้นที่ได้เป็นอย่างดี ใครที่สนใจอยากมาเที่ยวแบบสุดฯ ก็เดินทางย้อนเวลาตามรอยกันมาได้เลย รับรองว่าจะได้รับทั้งความประทับใจและบุญกลับไปแน่นอน
text pondpaphat
photo ณัฐนนท์ ณ นคร
ขอบคุณ ktc , สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร
อ่านบทความไลฟ์สไตล์อื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นี่ค่ะ
“Sit-down Dinner” ดื่มดำกับมื้อค่ำสุดพิเศษสไตล์คอนเทมโพรารีออลเดย์ไดนิง @ Harrods
เกียวโต โยชิโนะ ร้านอาหารของผู้ชายอบอุ่น จากความตั้งใจ ของ อู๋-ธนากร
Stay with Nimman สเตย์ที่นี่ไม่มีผิดหวัง
SāN ร้านอาหารกึ่งคาเฟ่ที่บอกเล่าเรื่องราววัฒนธรรมความอร่อย 3 สัญชาติ