หลังจากเคยพูดถึงโชว์ดีๆ ของ มหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ กรุงเทพฯ ครั้งที่ 21 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ไปเมื่อไม่นานมานี้ วันก่อนสุดสัปดาห์ได้มีโอกาสไปชมโชว์ในงานนี้อีกครั้ง คราวนี้เป็นบัลเล่ต์คลาสสิคโดยคณะเครมลิน บัลเล่ต์ เรื่อง The Hunchback of Notre Dame หรือ คนค่อมแห่งนอเทรอดาม และ Swan Lake เลยอยากมาเล่าให้ฟังค่ะ
ต้องบอกว่าดีใจมากที่มีโอกาสได้ดูบัลเล่ต์คลาสสิคของรัสเซียอีกครั้งหลังจากได้เคยดู Swan Lake เมื่อสิบกว่าปีก่อนแล้วยังประทับใจไม่รู้ลืม และดีใจยิ่งกว่าเมื่อเข้าไปในหอประชุมแล้วพบว่า The Hunchback of Notre Dame มีคนดูเกือบเต็ม ส่วน Swan Lake บัตร Sold Out! …ดีใจที่มีคนได้เห็นความสวยงามและได้ซึมซับอะไรที่จรรโลงใจร่วมกัน (ว่าไปนั่นเลย)
The Hunchback of Notre Dame
เข้าเรื่องดีกว่า The Hunchback of Notre Dame (แสดง 15 ต.ค.62) เป็นเรื่องราวของสาวยิปซีแสนสวยกับชาย 3 คน คือ คนตีระฆังหลังค่อม บาทหลวงใจปีศาจ และกัปตันกองธนูที่ไปแต่งงานกับหญิงอื่น …เปิดฉากแรกออกมาอย่างสวยงามด้วยกองทัพนักบัลเล่ต์ในชุดหรูหราหลากสีสัน เราค่อนข้างตื่นตาเพราะเคยชินแต่กับโทนขาวๆ เรียบๆ ของ Swan Lake
ฉากหลักเป็นความทึมของมหาวิหาร Notre Dame สลับกับฉากอื่นๆ โดยมีทัพนักแสดงตบเท้ากันออกมาดำเนินเรื่องราวตามบทบาท ส่วนตัวชอบที่คัดนักแสดงมาได้กลมกลืนกัน ทุกคนเต้นเป็นทีมเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสาวยิปซี กลุ่มหนุ่มสาวในงานเลี้ยง ฯลฯ และชอบมากที่นักแสดงแต่ละกลุ่มมีช่วงเวลาไฮไลต์ที่ได้แสดงฝีมือของตัวเอง
สำหรับนักแสดงนำ ชื่อชั้นระดับนี้เรื่องทักษะนี่คงไม่ต้องพูดแล้ว เต้นสวยเลิศเลอมาก-ก-ก โดยเฉพาะนางเอก เราไม่ได้เรียนด้านนี้มาดูไม่รู้หรอกว่าท่าไหนคือท่าไฮไลต์ แต่ในสายตาคนดูธรรมดา มีหลายพาร์ทมากที่เธอเต้นด้วยท่วงท่าที่สวยงามมากและดูยากมากต่อเนื่องเป็นเวลานาน พอจบท่าคนดูปรบมือรัวและยาวมาก (ช่วงพักครึ่งได้ยินคนที่น่าจะเรียนเต้นมาคุยกันว่าสุดยอด ทำได้ไง ฯลฯ)
อีกอย่างที่ประทับใจคือดนตรีประกอบที่บรรเลงสดได้อย่างไพเราะและมีเพลงหลากหลายจังหวะ หลากหลายอารมณ์สลับกัน ทำให้ไม่มีช่วงที่รู้สึกเนือยเลย แค่ฟังเพลงอารมณ์ก็สวิงจนลืมง่วงแล้วค่ะ เมื่อบวกกับท่วงท่าลีลาของนักแสดง และฉาก-แสง-สีที่ออกแบบมาอย่างดี จึงเป็นอีกโชว์นี้ที่เรียกเสียงปรบมือได้ยาวนาน
Swan Lake
บัลเล่ต์คลาสสิคยอดนิยม Swan Lake เรื่องราวของเจ้าชายซิกฟรีดผู้อาภัพรักและเจ้าหญิงหงส์โอเด็ตผู้น่ารัก (จัดแสดง 19 ต.ค. 62) จัดเป็นเรื่องที่มีชื่อเสียงที่สุดของไชคอฟสกี้ และเป็นสัญลักษณ์ของบัลเล่ต์รัสเซีย
อย่างที่เกริ่นไปว่า Swan Lake คือบัลเล่ตต์คลาสสิคเรื่องแรกที่เคยดูเมื่อสิบกว่าปีก่อน ความรู้สึกที่ได้ดูอีกครั้งยังคงสวยตราตรึงเหมือนเดิม แปลกมากที่เป็นโชว์ที่ดูซ้ำได้โดยไม่รู้สึกเบื่อ เมื่อสิบกว่าปีก่อนเคยรู้สึกถึงความตระการตากับฉากฝูงหงส์เริงระบำอย่างไรก็ยังรู้สึกอย่างนั้น เคยว้าวกับท่วงท่าอ่อนช้อยสวยงามของเจ้าหญิงหงส์แค่ไหนก็รู้สึกเหมือนเดิม ควรค่ากับคำว่า “คลาสสิค” ที่ต่อท้ายชื่อเรื่องจริงๆ
สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปเห็นจะเป็นฉาก แสง สี เสียง ที่สดและอลังการขึ้นตามยุคสมัย แต่ความงามที่คลาสสิคยังคงเดิม เป็นเรื่องที่ดูแล้วดูอีกได้ตลอด ส่วนดนตรีไม่ต้องพูดกันเยอะ เพลงของไชคอฟสกี้ไพเราะเพราะพริ้งเป็นบุญหูอยู่แล้ว ไม่แปลกใจที่บัตร Sold Out เร็ว และเรียกเสียงปรบมือจากผู้ชมได้ยาวนานมาก
ทั้ง 2 เรื่องนี้ควบคุมวงออร์เครสต้าบรรเลงสดพร้อมการแสดงโดยวาทยากรมือรางวัลของรัสเซีย เยฟจินี โวลินสกี ในส่วนของท่าเต้น เรื่อง The Hunchback of Notre Dame ออกแบบท่าเต้นโดย อังเดร เปทรอฟ ส่วน Swan Lake ยังคงการแสดงเวอร์ชั่นดั้งเดิมของ Lev Ivanov/Maruis Petipa แต่มีการสร้างสรรค์ท่าทางขึ้นใหม่โดย Alexander Gorsky และอังเดร เปทรอฟ
สุดท้ายนี้ อยากชวนเพื่อนๆ ทุกคนไปชมการแสดงดีๆ ที่ไม่ได้มีมาบ่อย นอกจากบัลเล่ต์คลาสสิคแล้ว ยังมีการแสดงอื่นๆ ไปจนถึงวันที่ 23 ต.ค.62 ใครสนใจอย่าลังเล ไปจองบัตรกันได้ที่ thaiticketmajor.com โทร.02 262 3456 หรือ ดูรายละเอียดการแสดงที่เหลือในเวอร์ชั่นเต็มพร้อมชมคลิปตัวอย่างได้ที่นี่ คลิก นอกจากนี้ เราเคยพูดถึง การแสดงชุดอื่นๆ ไว้ด้วย อ่านเพิ่มเติมคลิกที่นี่
สำหรับค่าบัตรของการแสดงใน มหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ กรุงเทพฯ ครั้งที่ 21 ส่วนใหญ่เริ่มต้นที่ 1,200 บาท แพงสุด 3,000 บาท ต้องบอกว่าคุ้มค่าสำหรับชมโชว์ที่นักแสดง-นักดนตรีต้องฝึกฝนมาทั้งชีวิต หรือบางโชว์ที่ราคาสูงหน่อยจะเริ่มต้นที่ 1,500-2,000 บาท ซึ่งต่อให้ซื้อบัตรถูกสุดแต่หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยก็ไม่ได้ใหญ่มากนัก สามารถเห็นชัดด้วยตาเปล่าค่ะ (อยากขอบคุณสปอนเซอร์ของงานและสถานเอกอัครราชทูตต่างๆ ที่ทำให้เราได้มีโอกาสชมการแสดงดีๆ ในราคาเอื้อมถึง มา ณ จุดนี้)
หมายเหตุ – ขอแชร์ประสบการณ์ส่วนตัวไว้สำหรับคนที่รู้สึกว่าการแสดงแบบนี้มันยาก ต้องปีนกระไดดู เราเองก็เคยคิดแบบนั้น และช่วงแรกที่ไปดูก็ยังรู้สึกอึดอัดเพราะพยายามทำความเข้าใจ รู้สึกว่าต้องดูแล้วเข้าใจให้ได้ แต่สุดท้ายเราพบว่าแค่ปล่อยสายตา ปล่อยใจ ปล่อยหู ให้เสพความงามตรงหน้าก็เพียงพอแล้ว บางการแสดงเราไม่ได้เข้าใจทั้งหมดแต่มีความสุขกับการชมท่วงท่าลีลาการเต้นของนักแสดง บางเรื่องรู้สึกว่าแค่ได้ฟังดนตรีประกอบก็เป็นสุขใจแล้ว …ใครลังเลอยู่อยากให้ลองดูนะคะ ถ้าลองแล้วไม่ถูกจริตก็ไม่เป็นไร เราจะได้รู้ว่ามันเป็นอย่างไร เราชอบหรือไม่ชอบเพราะอะไร ถือว่าเป็นประสบการณ์ชีวิต
Text: Nicharee W.
Photo: สุภชาติ เวชมาลีนนท์
อ่านข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นี่
ไม่อยากให้พลาด! การแสดงดีๆ ใน มหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ กรุงเทพฯ ครั้งที่ 21