6 ละครสะท้อนสังคม มากกว่าความบันเทิงยังแฝงข้อคิด

Alternative Textaccount_circle
event

เบื่อละครน้ำเน่า ตบตีแย่งชิง หรือซีรี่ย์แนวโรแมนติกกันบ้างหรือเปล่า สุดฯ อยากชวนมาดูละครดีๆ ซีรี่ย์เด็ดๆ ที่ช่วยตีแผ่เรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงในสังคม ไม่เฉพาะแต่ละครไทยเท่านั้นนะ ซีรี่ย์เกาหลีก็ทำแนวนี้เหมือนกัน มาดูกันว่า ละครสะท้อนสังคม ทั้งไทยและเกาหลีที่ทั้งดีและสนุก มีเรื่องอะไรบ้าง

 

ละครสะท้อนสังคม ไทย-เกาหลี

 

ละครไทย

ข้ามสีทันดร ไม่พูดถึงไม่ได้สำหรับละครน้ำดีที่กำลังออนแอร์อยู่ในช่วงนี้ แม้ข้ามสีทันดรจะเคยมีการสร้างมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่เนื้อเรื่องก็ยังไม่ล้าสมัย สามารถสะท้อนสภาพสังคมในแต่ละยุคได้เป็นอย่างดี เรื่องราวของ “เดือนสิบ” หญิงสาวที่มีความทุกข์อยู่ในอก เนื่องจากน้องชายของเธอติดยา เพราะคบเพื่อนไม่ดี เธอได้พบกับ “เที่ยงวัน” ชายหนุ่มซึ่งเคยมีประสบการณ์ติดยามาก่อน แต่สามารถเลิกมันได้ เขาพยายามจะช่วยเหลือเธอและน้อง ทว่าสภาพสังคมและครอบครัวของทั้งคู่ต่างกัน ความอบอุ่นที่ได้รับจากพ่อแม่ไม่เหมือนกัน ซึ่งเป็นปัจจัยใหญ่ ที่ทำให้ “ดวล” น้องชายของเดือนสิบยังไม่สามารถตัดขาดจากยานรกได้เสียที

ท่ามกลางภารกิจยากเข็ญประหนึ่งข้ามมหานทีสีทันดร (ตามชื่อเรื่อง) ความรู้สึกดีๆ ของเดือนสิบและเที่ยงวันก็ค่อยๆ ก่อตัวขึ้น

ละครสะท้อนสังคม

 

เส้นสนกลรัก อีกหนึ่งละครน้ำดีจากช่อง 3 บอกเล่าเรื่องราวของ “โขง” ชายหนุ่มนักสังคมสงเคราะห์ ผู้ซึ่งเคยมีปมในอดีต เขามาเจอกับ “เหมียว” หญิงสาวในชุมชนแห่งหนึ่ง เธอต้องทำงานโรงงานเพื่อหาเงินเลี้ยงปากท้อง เพราะแม่ติดการพนัน หนำซ้ำยังหลงสามีใหม่ที่พยายามจะฉวยโอกาสกับเหมียวทุกครั้งที่อยู่ตามลำพัง เหมียวจำต้องหนีออกจากบ้านไปอยู่กับเพื่อน แล้วยังโดนตราหน้าว่าแย่งสามีแม่ จนได้โขงเข้ามาช่วยเหลือ จึงทำให้ชีวิตเธอเหมือนมีที่พึ่ง

นอกจากเรื่องราวของปัญหาครอบครัวแล้ว ละครเส้นสนกลรักยังสะท้อนถึงปัญหาการพรากผู้เยาว์ ธุรกิจผิดกฎหมาย การค้ามนุษย์ และยาเสพติดอีกด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงในสังคมไทยมาทุกยุคทุกสมัย หากแต่ยังไม่มีใครตีแผ่อย่างจริงจัง เอาใจช่วยให้เรตติ้งพุ่งสูงๆ นะคะ

ละครสะท้อนสังคม

 

ล่า อย่าดูละครเรื่องนี้เพื่อความสะใจ นั่นเป็นแค่ของแถมฉาบฉวย เพราะแท้ที่จริง “ล่า” ต้องการสะท้อนให้เห็นถึงสภาพสังคมเน่าเฟะและความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายที่ไม่สามารถเอาผิดคนร้ายได้เสมอไป “มธุสร” จึงต้องลงมือลงโทษคนผิดด้วยตัวเอง เรื่องราวเกิดขึ้นเมื่อมธุสรทะเลาะกับสามีและต้องการหย่า สามีของเธอเรียกร้องทรัพย์สินมากมายจนเธอแทบไม่เหลืออะไร แต่ก็เต็มใจหอบ “ผึ้ง” ลูกสาว ไปอยู่ด้วยกัน แต่ย่านที่อยู่ใหม่ของเธอมีทั้งยาเสพติด โสเภณี การพนัน และนักเลงมากมาย

วันร้ายคืนร้ายมธุสรและผึ้งบังเอิญไปพัวพันกับการส่งยาเสพติดของแก๊งชายฉกรรจ์ 7 คนที่ชอบมามั่วสุมในซอย สองแม่ลูกถูกสั่งเก็บ เพราะเบื้องหลังของคนร้ายทั้ง 7 คือนักการเมืองใหญ่ ชายโฉด 7 คนกลับรุมข่มขืนเธอและลูก จนผึ้งเสียสติ กระบวนการในชั้นศาลไม่อาจเอาผิดคนร้ายบางส่วนได้ เธอจึงตัดสินใจ “ล่า” เพื่อลงโทษพวกมันอย่างสาสม

ละครสะท้อนสังคม

 

ซีรี่ย์เกาหลีสะท้อนสังคม

Witch’s Court ซีรี่ย์แนวสืบสวนสอบสวนที่มีจุดขายไม่เหมือนใคร เนื้อเรื่องเกี่ยวกับการพิพากษาคดีและมีข้อกฎหมายเต็มไปหมด มาอีดึม เป็นอัยการสาวที่ไร้ศีลธรรม เธอสร้างหลักฐานเพื่อโจมตีคนอื่น เบิกความเท็จ เพื่อให้ตัวเองชนะคดี มาอีดึมเป็นอัยการมา 7 ปี เธอใช้วิธีรุนแรงเพื่อให้เธอชนะมาตลอดจนวันหนึ่งเธอถูกย้ายไปที่หน่วยงานพิเศษเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเพศ

เธอได้พบกับอัยการจินอุค แล้วมุมมองของเธอต่อรูปคดีต่างๆ ก็ได้เปลี่ยนไป มาอีดึมไม่เคยรู้มาก่อนว่าแม่ของเธอถูกอุ้มหายไป เพราะเป็นพยานสำคัญของคดีล่วงละเมิดทางเพศโดยนักการเมืองท้องถิ่นผู้มีอิทธิพล แม่ของมาอีดึมเลยถูกจับตัวไปขังไว้ในโรงพยาบาลโรคจิต ซึ่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลนั้นก็คือแม่ของจินอุคนั่นเอง

เนื้อเรื่องของ Witch’s Court เป็นเรื่องราวชวนคิดตาม แม้จะเครียด แต่สนุกและสะท้อนสังคมเกาหลีเรื่องผู้ชายเป็นใหญ่ การล่วงละเมิดทางเพศกลายเป็นสิ่งที่ถูกละเลย ผู้มีอิทธิพลสามารถใช้เงินเพื่อปิดปากใครก็ได้ ซึ่งตอนนี้ก็กลายเป็นประเด็นที่เกิดใหญ่โตในประเทศเกาหลี ดูแล้วได้ความรู้เยอะเลย

 

Pinocchio ตีแผ่สังคมนักหนังสือพิมพ์และสื่อมวลชนได้เป็นอย่างดี ว่ามีทั้งฝั่งที่ดีและฝั่งที่เอาแต่ผลประโยชน์ เรื่องราวของกีฮามยอง ผู้อาศัยอยู่กับครอบครัวที่มีพ่อเป็นนักดับเพลิง วันหนึ่งเกิดเรื่องไม่คาดคิดขึ้นเมื่อเพลิงไหม้ทำให้นักดับเพลิงทั้งหมดเสียชีวิต ยกเว้นพ่อของกีฮามยองที่หายตัวไป นักข่าวที่ต้องการขายข่าวให้ดังพากันใส่สีตีไข่ เสนอข่าวแบบผิดๆ จนทำให้พ่อของเขาต้องตกเป็นจำเลยสังคม และแม่ก็พาเขาไปจบชีวิตที่ทะเล

แต่ฮามยองก็รอดชีวิตและได้รับอุปการะจากชายที่คิดว่าเขาคือลูกชายที่สาบสูญ ฮามยองปกปิดตัวตนไว้ และได้อยู่ครอบครัวเดียวกับอินฮา ที่เป็นโรคพิน็อกคิโค คือไม่สามารถพูดโกหกได้ ทั้งคู่ได้มาเป็นนักข่าวในเขตเดียวกัน นั่นทำให้อินฮารู้ว่าการเป็นนักข่าวทำให้เธอไม่สามารถพูดความจริงทั้งหมดได้ ส่วนฮามยองนั้นมาเป็นนักข่าวเพื่อต้องการล้างมลทินให้กับพ่อ แล้ววันหนึ่ง คดีไฟไหม้ครั้งนั้นก็ต้องถูกรื้อขึ้นมาใหม่ ทั้งคู่ต้องเผชิญกับทั้งเงื่อนงำ ความจริง และบาดแผลในอดีตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

Pinocchio ตีแผ่เบื้องลึกเบื้องหลังของการนำเสนอข่าวของสื่อ ที่สามารถเลือกจรรโลงสังคมได้ และสามารถทำลายชีวิตของคนได้เช่นกัน

ละครสะท้อนสังคม

 

Romantic Doctor Teacher Kim ได้รับการตอบรับจากผู้ชมดีไม่น้อยเลย เพราะนำเสนอเรื่องราวแวดวงแพทย์ในแง่มุมที่แตกต่างจากเรื่องอื่น

คิมซาบู ศัลยแพทย์ผู้มีฝีมือ เขาเคยใช้ชื่อว่า พูยงจู มาก่อน จนวันหนึ่งเขาโดนผู้อำนวยการโรงพยาบาลหักหลังด้วยการเอาชื่อของเขาไปผ่าตัดให้กับคนไข้ พอเกิดความผิดพลาด ความผิดจึงตกอยู่ที่เขา พูยงจูจึงต้องเปลี่ยนชื่อเป็นคิมซาบู แล้วย้ายไปยังโรงพยาบาลเล็กๆ ซึ่งที่นั่นเขาได้ใช้วิชาชีพของเขาช่วยชีวิตคนมากมาย แต่ชีวิตการแพทย์ของเขาก็ต้องขาดความสงบอีกครั้ง เมื่อถูกยื่นข้อเสนอให้ผ่าตัดเจ้าของคาสิโนผู้มีผลประโยชน์ทางธุรกิจกับผู้บริหารโรงพยาบาลกอแด

เนื้อเรื่องพูดถึงเนื้อหาในโรงพยาบาลล้วนๆ และมีความรู้ทางการแพทย์มากมาย นำเสนอมุมมองของแต่ละตัวละครที่ต่างมีปมอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น อีกทั้งยังตีแผ่เรื่องราวของจรรยาบรรณของแพทย์ และผลประโยชน์ทางธุรกิจของวงการแพทย์ ซึ่งส่งผลต่อความเป็นความตายของคนไข้ เป็นซีรี่ย์ที่ดูสนุกและให้ข้อคิดได้ดีมากอีกเรื่องหนึ่งทีเดียว

ละครสะท้อนสังคม

 

สุดฯ เชื่อว่าทั้งละครและซีรี่ย์ทุกเรื่อง ต่างสร้างมาเพื่อนำเสนอเรื่องราวที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมทั้งสิ้น อาจจะมากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไป ขอปรบมือให้ทีมงานผู้สร้างสรรค์ละครและซีรี่ย์ดีๆ ทุกคน และเป็นกำลังใจ ให้สร้างผลงานดีๆ ออกมาให้พวกเราดูกันอีกเยอะๆ เลยค่ะ

 

ภาพจาก www.dramabeans.com , www.soompi.com , www.thebitbag.com , www.sanook.com , gossipstar.mthai.com

TEXT : Ploychompoo

 

เรื่องราวที่น่าสนใจอื่นๆ

อีกไม่กี่วัน! จากหนังสั้นธีสิส สู่ซีรี่ย์ที่หลายคนรอคอย The Gifted นักเรียนพลังกิฟต์

5 คู่รองในซีรี่ย์เกาหลี เคมีดี ดูแล้วฟินเฟร่อ #แอบเผลอลืมคู่หลักไปเลย

รวมฉากฟินในซีรี่ย์จีน Sweet Dreams จิกเตียงทะลุ! #ฉากฆ่าคนโสด (มีคลิป)

สุดสัปดาห์

keyboard_arrow_up