tvN & JTBC สองช่องเคเบิลที่มาแรงที่สุดในเกาหลี
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมารายการจากช่องเคเบิลได้กลายเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับสาวกซีรีส์เกาหลีโดยเฉพาะซีรี่ย์จากช่อง tvN และ JTBC ที่นับวันเรตติ้งก็ยิ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ บางเรื่องงานเกรดพรีเมี่ยมถึงขั้นแซงช่องสาธารณะ จนบริการสตรีมมิ่งเจ้าดังต่างแย่งกันซื้อลิขสิทธิ์ไปฉาย ขอบอกว่าช่องสาธารณะหลักอย่างMBC, SBS และ KBS มีหนาวแน่นอน
เมื่อครั้งกระแส Korean Wave เริ่มเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่ 17 ปีที่แล้ว ซีรี่ย์ดังส่วนใหญ่ที่เราอินกันอย่าง Full House, My Girl, Jewel in the Palace (แดจังกึมจอมนางแห่งวังหลวง), Princess Hours หรือวาไรตี้แห่งชาติ Running Man ล้วนมาจากช่องสาธารณะ เพราะเป็นช่องทีวีที่อยู่คู่วงการสื่อของเกาหลีมาหลายสิบปี ช่วงนั้นทั้ง MBC, SBS และ KBS ต่างก็แข่งขันกันผลิตรายการดีๆ มาให้ช่องในต่างประเทศซื้อลิขสิทธิ์ไปฉาย แต่พอเวลาผ่านไปอะไรๆ ก็เปลี่ยนแปลง ช่องทางการเสพสื่อก็เปลี่ยนไปตามยุคสมัย เกิดทีวีปะทะออนไลน์ งานวิจัยบอกว่ามีเพียงคนอายุ 65 ปีขึ้นไปที่ยังคงเกาะติดดูทีวีอยู่ ส่วนคนอายุ 18–34 ปีแทบไม่เปิดทีวีดูกันแล้วละค่ะ และฮีโร่ที่มากอบกู้สื่อทีวีก็คือช่องเคเบิ้ลนั่นเอง
ถ้าถามว่าช่องเคเบิลมาช่วยยังไง เราต้องรู้ก่อนว่าที่เกาหลีเขาไม่มีซีรี่ย์ลงในเว็บเหมือนบ้านเราที่มีละครให้ดูเต็มเรื่องในยูทิวบ์ผ่านบัญชีออฟฟิเชียลของสถานีต่างๆ ถ้าอยากดูละครก็ต้องเปิดสมาร์ททีวีดูเท่านั้นค่ะ (หรือดูย้อนหลังผ่านเว็บไซต์/แอพ) แต่ลำพังช่องทีวีสาธารณะที่ให้ดูฟรี ไม่เสียตังค์ คนุร่นใหม่ยังไม่ค่อยดูแล้วช่องเคเบิ้ลจะเหลือเหรอคะ ด้วยเหตุนี้เคเบิลทีวีของเกาหลีจึงมีการปรับตัวให้เท่าทันโลกปัจจุบัน และเพื่อความอยู่รอด พวกเขาคิดว่าจะทำยังไงให้คนรุ่นใหม่ที่เมินโทรทัศน์หันกลับมาสนใจมันอีกครั้ง ผู้นำการปฏิวัติครั้งนี้มี 2 บริษัทที่ผลงานเข้าตาคนดู นั่นก็คือ tvN กับ JTBC เห็นชื่อแล้วหลายคนคงร้อง “อ๋อ” เพราะคุ้นหน้าคุ้นตากันดีเวลาเปิดดูซีรี่ย์ โดยเฉพาะช่วง 4 ปีที่ผ่านมาเราจะเห็นโลโก้ของสองบริษัทนี้ในซีรี่ย์อยู่บ่อยๆ
เมื่อลองดูประวัติของทั้งคู่จะพบว่า tvN เพิ่งเติบโตมาได้ 12 ปีเท่านั้น ส่วน JTBC เริ่มออกอากาศครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2011 ถือว่ามีอายุน้อยมากแค่ 7 ปีกว่าๆ แต่สองช่องนี้กลับผลิตรายการสร้างชื่อมากมายทั้งในและนอกประเทศภายในระยะเวลาไม่นาน โดยผู้เข้าชิงฝั่ง tvN ได้แก่ ซีรีส์ตระกูล Reply (1988, 1994, 1997), Signal, Goblin , Youn’s Kitchen ฟาก JTBC ส่ง Strong Woman Do Bong Soon, Misty, Something in the Rain, Knowing Brothers เข้าประกวด นี่แค่ยกตัวอย่างนะคะ สองช่องนี้เขายังมีรายการดีๆ อีกเยอะ ยกสิบนิ้วนับก็ไม่พอ หลายๆ เรื่องได้รับความนิยมมหาศาล จนเรตติ้งทะยานเทียบช่องสาธารณะ สำหรับเคเบิ้ลทีวี เรตติ้ง 2% ก็นับว่าสูงแล้วแต่ Reply 1988 ของช่อง tvN ประสบความสำเร็จทั้งคำวิจารณ์ รางวัล และเรตติ้ง โดยตอบจบของเรื่องสามารถทำเรตติ้งทั่วประเทศได้มากถึง 18.8% ทำสถิติเป็นละครที่ทำเรตติ้งสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ช่องเคเบิ้ลเกาหลี
แม้การวัดผลความนิยมของช่องเคเบิ้ลกับช่องสาธารณะจะทำได้ยาก เพราะยังไง๊ยังไงฟรีทีวีก็มีเรตติ้งสูงกว่าอยู่ร่ำไป แต่ในเชิงการยอมรับจากผู้ชม นาทีนี้คงไม่มีใครปฏิเสธแล้วว่าพวกเขาเป็นหนึ่งในช่องโทรทัศน์ที่มีศักยภาพเทียบเท่าช่องโทรทัศน์เจ้าหลักจริงๆ แล้วอะไรคือกุญแจแห่งความสำเร็จของช่องเคเบิ้ลทีวีเกาหลี คำตอบอยู่ที่ทุกคนแล้ว ถ้ายังนึกไม่ออก จะบอกให้ก็ได้ค่ะ 😀
พลังของคนรุ่นใหม่
ใครจะเข้าใจเราได้เท่าคนวัยเดียวกัน tvN เป็นบริษัทในเครือ CJ E&M องค์กรที่เต็มไปด้วย ‘คนรุ่นใหม่’ มีอายุเฉลี่ยไม่เกิน 35 ปีและมีประสบการณ์ในวงการบันเทิงอยู่ระหว่าง 1-3 ปีเท่านั้น นับว่าน้อยกว่าทีมงานจากสถานีโทรทัศน์เจ้าอื่นมาก แต่คนกลุ่มนี้แหละคือผู้กล้าที่ทำอะไรแหนวกขนบเดิมๆ เหมือนที่ อีด็อกแจ กรรมการบริหาร tvN ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว The Korea Times ถึงข้อดีของคนรุ่นใหม่ไว้ว่า “พวกเราสามารถปล่อยไอเดียสร้างสรรค์ได้อิสระกว่าสถานีโทรทัศน์เจ้าใหญ่ที่มีแต่พวกหน้าเก่าๆ” โลกหมุนไปข้างหน้า แต่ความคิดและความเชื่อของคนเก่าคนแก่บางคนยังอยู่ที่เดิมทำให้ความคิดถูกตีกรอบ ดังนั้นทีมงานคนรุ่นใหม่ย่อมสร้างสรรค์ผลงานออกมาได้ตรงใจผู้บริโภครุ่นใหม่ได้ดีที่สุด
คอนเทนต์แตกต่าง
คนรุ่นใหม่ชอบความตื่นเต้นท้าทาย ไม่ชอบอะไรจำเจ เสน่ห์ของซีรี่ย์จากช่องtvN และ JTBC คือการนำเสนอเนื้อหาสดใหม่แตกต่างจากคอนเทนต์ในท้องตลาดทั่วไป ใครเป็นแฟนของสองช่องนี้คงสังเกตได้ว่าซีรี่ย์ของพวกเขาไม่ได้เน้นขาย ‘เลิฟไลน์’ ล้วนๆ แต่จะมีความเรียล หรือเน้นความสมจริงควบคู่ไปกับเนื้อหาของเรื่องด้วย ที่สำคัญคือต้องตอบโจทย์คนทุกเพศทุกวัยและทุกกลุ่มตัวอย่าง เช่น เรื่อง Reply 1988และ Misaeng ของช่องtvN โดย Reply 1988 มีฉากหลังเป็นปี 1988 ซึ่งทำให้ผู้ใหญ่ที่ชมได้หวนรำลึกถึงความหลัง ขณะที่เด็กรุ่นใหม่ก็ได้ศึกษาเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ ส่วน Misaeng ก็เจาะลึกชีวิตมนุษย์เงินเดือนได้สมจริงสุดๆ น่าติดตามแม้จะไม่มีเลิฟไลน์ ขณะเดียวกันคอนเทนต์ของช่องเคเบิ้ลก็ยังคงยึดซีรี่ย์แนวโรแมนติกไว้ และกล้าที่จะแตกต่างอย่าง Something in the Rain ของช่อง JTBC เป็นซีรี่ย์รักอบอุ่นที่สอดแทรกประเด็น #MeToo ซึ่งถือเป็นประเด็นอ่อนไหวในสังคมเกาหลี และช่องหลักคงไม่กล้าตีแผ่อย่างนี้ ด้านวาไรตี้ก็มีความแปลกใหม่ อีดงฮี โปรดิวเซอร์ของ JTBC ให้สัมภาษณ์กับ The Korea Times ว่า “เขาหยิบจับสิ่งธรรมดารอบตัว อย่างการทำอาหารหรือร้องเพลงมาสร้างสรรค์ให้เข้ากับเทรนด์ใหม่ๆ” เช่น รายการ Let’s Eat Dinner Together ที่จับคนดังมานั่งกินข้าวเย็นและคุยเล่นกัน
ดาราแม่เหล็ก
ทั้งtvN และ JTBC สามารถดึงดาราระดับแม่เหล็กของวงการหลายคนมาร่วมงานได้ ไม่ว่าจะเป็น กงยู อีดงอุค พัคแฮจิน คิมนัมจู ซนเยจิน พัคโบยอง โดยเฉพาะ กงยู ซนเยจิน และ คิมนัมจู ที่ตัดสินใจรับเล่นให้สองช่องนี้ ทั้งที่ห่างหายไปจากจอแก้วนาน 5-6ปี พวกเขาเคยให้สัมภาษณ์ถึงเหตุผลในการเลือกเล่นซีรี่ส์ว่า “ชอบความหลากหลาย และสดใหม่ของเนื้อหา” เดี๋ยวนี้เราจึงเห็นดาราตัวพ่อตัวแม่หลายคนหันมารับงานจากช่องเคเบิ้ลมากขึ้น ด้วยความที่อยู่ในวงการมาหลายปี เล่นบทคล้ายๆ เดิมมาก็หลายเรื่อง ย่อมมีเบื่อกันบ้าง พวกเขาอยากท้าทายความสามารถของตัวเองให้ผู้ชมเห็น นอกจากนี้ ช่องเคเบิ้ลยังเป็นเวทีแจ้งเกิดให้ดาราหน้าใหม่และไอดอลหลายคน ทั้ง ฮเยริ และ พัคโบกอม จาก Reply 1988 (tvN) จองแฮอิน จาก Prison Playbook (tvN) และ Something in the Rain (JTBC)
ไม่แปลกใจเลยที่ผู้ชมรุ่นใหม่หันมาดูเคเบิ้ลทีวีมากขึ้น เห็นทีช่องสาธารณะเกาหลีคงต้องทำอะไรสักอย่างแล้วล่ะค่ะ แต่ยังไงคนที่ได้ประโยชน์ก็คือคนดูอยู่ดี ยิ่งเขาแข่งกัน เราก็จะมีซีรี่ส์สนุกๆ ให้ดูไม่รู้จบ ^^
Text : ดาโซ
Photo : aminoapps.com/ThePinsta/soompi/gong-jicheol.tumblr.com/Dramabeans/ businesstimes.com.sg / korea.iyaa.com / tenasia
ติดตามเรื่องราวดีๆ มีสาระได้อีกเพียบที่นี่!
5 ฉากโรแมนติกกลางสายฝน จากซีรี่ย์เกาหลี #ใต้ร่มคันนี้มีความรัก