การดูแลสุขภาพ คือสิ่งสำคัญที่ไม่ควรรอจนสายเกินแก้ สุดสัปดาห์ ขอรวมสาระ สุขภาพ ต่างๆ ที่รู้ตั้งแต่ตอนนี้จะดีที่สุด
โรคต้อกระจก อายุเท่าไหร่ก็เป็นได้
ต้อกระจก (Cataracts) คือโรคต้อตาชนิดหนึ่งที่เกิดจากความเสื่อมของเลนส์ดวงตา ทำให้เลนส์ตาเกิดความขุ่นมัว ส่งผลให้ประสาทตารับแสงได้ไม่เต็มที่จนเกิดอาการมองไม่ชัดหรือตาพร่ามัว โดยต้อกระจกเป็นโรคต้อที่พบได้มากที่สุด ซึ่งมักจะพบในช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไป และจะเริ่มรบกวนการมองเห็นมากขึ้นเมื่ออายุ 60 ปีขึ้นไป แต่คนที่อายุน้อยๆ ก็อย่าเพิ่งชะล่าใจ เพราะต้อกระจกสามารถเกิดได้กับทุกคน ทุกวัย ขึ้นอยู่กับความเสื่อมของเลนส์ดวงตาที่ช้าเร็วไม่เท่ากัน
ข้อมูลจาก พญ.จิรนันท์ ทรัพย์ทวีผลบุญ จักษุแพทย์ แพทย์ผู้ชำนาญการโรคต้อหิน ศูนย์จักษุ รพ.วิมุต เปิดเผยว่า มีปัจจัยเสี่ยงบางอย่างที่ทำให้เป็นต้อกระจกได้ เช่น การสูบบุหรี่จัด การใช้ยาสเตียรอยด์ มีโรคประจำตัวที่กระทบดวงตา เคยผ่าตัดตา หรือเคยประสบอุบัติเหตุบริเวณดวงตามาก่อน
นอกจากนี้อีกหนึ่งตัวร้ายที่กระตุ้นให้เกิดต้อกระจกได้ก็คือ รังสี UV นั่นเอง โดยเฉพาะรังสี UVA จะส่งผลต่อการเสื่อมของเลนส์ตาโดยตรง เพราะไปกระตุ้นให้เกิดสารอนุมูลอิสระที่ทำให้โปรตีนในเลนส์ตาเสื่อมสภาพและจับตัวเป็นก้อน หรือที่เราเห็นเป็นความขุ่นในดวงตา ดังนั้นใครที่อยู่กลางแดดเป็นประจำควรสวมแว่นกันแดดอยู่เสมอ และต้องเป็นแว่นกันแดดที่ได้มาตรฐาน มีการฉาบสารป้องกันรังสี UV
โรคงูสวัด โรคร้ายที่วัย 50+ ต้องระวัง
รู้หรือไม่ว่า โรคงูสวัด เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดเดียวกับอีสุกอีใส ใครที่เคยเป็นอีสุกอีใสตอนเด็กๆ ไม่ควรชะล่าใจ เพราะแท้จริงแล้วเชื้อไวรัสไม่ได้หายไปไหน แต่ยังคงแฝงตัวอยู่ในปมประสาท และสามารถกลับมาแสดงตัวอีกครั้งเมื่ออายุเพิ่มขึ้น โดยจะมาในรูปแบบของงูสวัดนั่นเอง
อาการของงูสวัดจะแบ่งเป็น 2 ระยะ ระยะแรกจะมีอาการปวดแสบปวดร้อน มีตุ่มน้ำใสขึ้นตามร่างกายและทำให้เกิดแผล ส่วนระยะที่ 2 เป็นระยะหลังจากแผลหาย จะมีอาการปวดตามปลายประสาท ซึ่งอาการปวดจะยิ่งรุนแรงในผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีโรคร่วม และอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว เช่น การติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังจนเกิดแผลเป็นถาวร หากเกิดที่ดวงตาอาจทำให้สูญเสียการมองเห็น หรือหากเกิดที่ใบหน้าอาจส่งผลให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับระบบประสาทบนใบหน้าได้ ในบางกรณีอาจนำไปสู่การเป็นโรคเส้นเลือดในสมองหรือกล้ามเนื้อหัวใจตาย
นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ สถาบันบำราศนราดูร ได้แนะนำแนวทางป้องกันโรคงูสวัดไว้ 2 ทาง คือการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ออกกำลังกายและพักผ่อนให้เพียงพอ กับอีกทางคือการรับวัคซีนป้องกันเพื่อลดโอกาสเกิดโรค และหากเป็นโรคก็ช่วยลดความรุนแรงได้ โดยปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด 2 ชนิด ได้แก่ วัคซีนชนิดไม่ใช่เชื้อเป็น สามารถใช้ได้ตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป รวมถึงผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปที่มีความเสี่ยงต่อโรคงูสวัดมากกว่าปกติ และวัคซีนชนิดเชื้อเป็นสำหรับผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป
มะเร็งปากมดลูก ป้องกันได้
มะเร็งปากมดลูก เป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 2 ในผู้หญิงไทยรองจากมะเร็งเต้านม ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อไวรัส HPV (Human Papilloma virus) โดยปัจจุบันพบผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกรายใหม่ประมาณ 9,100 รายต่อปี และพบว่าผู้หญิงไทยเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกเฉลี่ย 13 คนต่อวัน อย่างไรก็ตามเราสามารถป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ด้วยการฉีดวัคซีน HPV ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ซึ่งฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9 ปีขึ้นไป และอีกวิธีหนึ่งคือการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ซึ่งผู้หญิงจำนวนมากหลีกเลี่ยงการตรวจคัดกรองเนื่องจากความเขินอาย ขาดความรู้ หรือกลัวความไม่สะดวกสบาย
พญ. ฐิติพรรณ ชยวงศ์รุ่งเรือง สูตินรีแพทย์เฉพาะทางจาก happybirth clinic กล่าวถึงความสำคัญของการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกว่า “มะเร็งปากมดลูก เป็นโรคมะเร็งที่สามารถป้องกันได้ และการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอเป็นหนึ่งในวิธีการป้องกันมะเร็งปากมดลูกที่ดี และสามารถลดอัตราการเสียชีวิตของผู้หญิงจากโรคมะเร็งปากมดลูกได้กว่า 80%”
ยกของหนัก ก้มบ่อย เสี่ยงโรคกระดูกสันหลังเสื่อม
โรคกระดูกสันหลังเสื่อม เป็นอีกอาการที่มักถูกเข้าใจผิดว่าเกิดกับคนอายุเยอะเท่านั้น แต่ความจริงแล้วใครๆ ก็มีโอกาสเป็นได้ และยิ่งมีพฤติกรรมเสี่ยงอย่างการยกของหนัก ก้มตัวบ่อย ขยับคอมาก ก็ยิ่งเร่งให้โรคกระดูกสันหลังเสื่อมเกิดขึ้น อาการของกระดูกสันหลังเสื่อมมีตั้งแต่อาการปวดหลัง ปวดร้าวลงขา และหนักที่สุดคือเส้นประสาทอาจถูกกดทับจนมีอาการอ่อนแรงหรือควบคุมการขับถ่ายไม่ได้ ที่น่ากังวลกว่านั้นคือ หากกระดูกสันหลังเสื่อมกดทับเส้นประสาทจนมีอาการอ่อนแรงเป็นเวลานาน แม้จะผ่าตัดรักษาก็ไม่สามารถกลับมาใช้งานได้ดีเหมือนเดิม
โรคกระดูกสันหลังเสื่อม คือภาวะความเสื่อมตามอายุที่มากขึ้น ซึ่งพบได้บ่อยในผู้ที่มีอายุเริ่มตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป หรือเป็นภาวะความเสื่อมจากการใช้งานหนักสะสมเป็นเวลานาน ซึ่งความเสื่อมของโรคนี้หมายถึงความเสื่อมของบริเวณตัวกระดูกสันหลัง หมอนรองกระดูก ข้อต่อ และเนื้อเยื่อเส้นเอ็นรอบกระดูกสันหลัง
นพ.วรายุทธ แสงสุวรรณ ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ แพทย์ชำนาญการด้านกระดูกสันหลัง รพ.วิมุต อธิบายว่า “อาการของโรคกระดูกสันหลังเสื่อมนั้นแตกต่างกันขึ้นกับตำแหน่งของตัวโรค ในคนไข้ที่มีกระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อมอาจจะมีอาการปวดบริเวณคอ ปวดร้าวไปที่แขน อาจจะมีอาการชาหรืออ่อนแรงร่วมด้วย ในบางคนจะมีการใช้งานมือลำบากมากขึ้นเช่น เขียนหนังสือลำบากขึ้นลายมือเปลี่ยนไป ติดกระดุมเสื้อลำบาก เป็นต้น หากเป็นมากจะมีอาการเดินลำบาก เดินไม่ถนัดเหมือนเดิม และอาจจะกลั้นอุจจาระปัสสาวะไม่ได้ ส่วนคนไข้ที่มีกระดูกสันหลังช่วงเอวเสื่อมอาจจะมีอาการปวดบริเวณเอว และมีอาการปวดร้าวลงขา ในบางรายอาจจะมีอาการชาหรืออ่อนแรงขา และกลั้นอุจจาระปัสสาวะไม่ได้เช่นเดียวกัน ซึ่งใครที่พบอาการเหล่านี้ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษาก่อนอาการจะรุนแรงขึ้น”
แม้ว่าโรคกระดูกสันหลังเสื่อมจะทำให้ใช้ชีวิตยากขึ้น แต่ก็ไม่อยากให้ทุกคนกังวลเกินไปจนไม่กล้าทำอะไร เราต้องเข้าใจก่อนว่าร่างกายย่อมมีความเสื่อมตามอายุ แต่ที่สำคัญคือการรู้จักดูแลตัวเอง และคอยสังเกตร่างกายให้ดี เพื่อจะได้ตรวจวินิจฉัยและเข้ารับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ
ทริคน่ารู้เพิ่มเติม : แมกนีเซียม จำเป็นต่อความแข็งแรงของร่างกาย
สาระ สุขภาพ สำคัญที่ควรรู้อีกอย่างคือ แมกนีเซียม เป็นแร่ธาตุที่มีความสำคัญต่อการทำงานของร่างกายมากกว่าที่คุณคิด แมกนีเซียมมีส่วนช่วยในการทำงานของเอนไซม์มากกว่า 300 ชนิด ซึ่งช่วยให้ระบบต่างๆ ทำงานได้อย่างปกติ ทว่าคนส่วนใหญ่กลับมีอาการขาดแมกนีเซียมโดยไม่รู้ตัว หากคุณมีปัญหาเรื่องการนอนหลับ ร่างกายอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ปวดหัวไมเกรน รวมถึงเป็นตะคริว กล้ามเนื้อชา นี่อาจเป็นสัญญาณว่าคุณกำลังขาดแมกนีเซียม
แมกนีเซียมมีประโยชน์ต่อร่างกายหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น ช่วยทำให้ระบบประสาทและสารสื่อประสาททำงานเป็นปกติ ป้องกันและลดอาการปวดไมเกรน ช่วยลดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อและหลอดเลือด ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายและลดความวิตกกังวล ช่วยลดอาการปวดท้อง อ่อนเพลีย หงุดหงิดก่อนมีประจำเดือน ช่วยลดความเสี่ยงของโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง ป้องกันการสูญเสียมวลกระดูก ต้านการอักเสบและช่วยซ่อมแซม DNA และเพิ่มประสิทธิภาพในการออกกำลังกาย
โดยแมกนีเซียมเป็นแร่ธาตุที่ร่างกายไม่สามารถผลิตเองได้ ต้องได้รับจากการรับประทานอาหาร อาทิ
- พืชตระกูลถั่ว เมล็ดพืช หรือธัญพืช เช่น อัลมอนด์ เม็ดมะม่วงหิมพานต์
- ผักใบเขียว เช่น ผักโขม คะน้า บรอกโคลี
- ปลาที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3 เช่น ปลาทูน่า ปลาแมคเคอเรล ปลาแซลมอน
- นมและผลิตภัณฑ์จากนม
- ดาร์กช็อกโกแลต
Sources : โรงพยาบาลวิมุต, กิฟฟารีน, happybirth clinic, สถาบันบำราศนราดูร, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล, โรงพยาบาลสมิติเวช ชลบุรี
Image : Shutterstock
Text : Nattakarn Saekhoo
อ่านบทความแฟชั่น & ไลฟ์สไตล์เพิ่มเติมได้ที่
ซัมเมอร์นี้ไปไหนดี! ปักหมุด 5 ที่เที่ยวหน้าร้อน ที่นักเดินทางตัวยงแนะนำ
เปิด 8 พิกัดมูในฮ่องกง ชวนสัมผัสเสน่ห์ของฮ่องกงผ่านเส้นทางมูเตลู
รวมไฮไลต์ห้ามพลาดใน Ocean Park Hong Kong แลนด์มาร์กที่รวมทั้งสวนสนุก สวนสัตว์ สวนน้ำ และโรงแรมหรู
นั่ง รถไฟ SRT Royal Blossom เปิดประสบการณ์เดินทางหรูหราพรีเมียม
ถอดมายด์เซตสร้าง ‘ความสัมพันธ์ที่เฮลตี้’ ฉบับ เลดี้ปราง
รวมทริคอัปความสุข บูสต์เอเนอร์จี้ และ พัฒนาตัวเอง จากเหล่าคนดัง
ชวนกินตาม มิชลิน ไกด์ เปิดรายชื่อ 20 ร้านใหม่ ที่ได้รับรางวัล บิบ กูร์มองด์ ประจำปี 2568
เปิด ตารางสีมงคล 2568 สีเสื้อมงคล โดย หมอช้าง ทศพร! เสริมความเฮงตลอดปี
Personal Color กับ สีมงคล : คอมโบตามหาสีที่ใช่ ใส่แล้วลุคปัง ดวงรุ่ง
แจกโพยแต่งตัวตาม อนงค์ จาก หนึ่งในร้อย สาวสวย รวย เปรี้ยวแห่งพระนคร