เขื่อน ภัทรดนัย และมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยฯ ชวนถกถึงประตูสู่โอกาสของชาว LGBTQIAN+ ที่ยังขาดการมองเห็น

account_circle
event

เนื่องในโอกาสที่ Kiehl’s (คีลส์) เปิดตัวโครงการ “Kiehl’s Open Door” ต้อนรับ Pride Month เปิดประตูสู่โอกาสเพื่อสนับสนุนกลุ่มเยาวชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ เราจึงมีโอกาสได้ร่วมฟังเสวนาจากคุณเขื่อน – ภัทรดนัย เสตสุวรรณ นักจิตบำบัดชื่อดัง และคุณฮั้ว – ณชเล บุญญาภิสมภาร รองประธานมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน สองพันธมิตรของโครงการ ที่มาพูดคุยถึงประเด็นปัญหาต่างๆ ที่กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศต้องเผชิญ รวมไปถึงสิ่งที่คนในชุมชน LGBTQIAN+ ต้องการจะบอกให้สังคมได้ตระหนัก

…มาร่วมทำความรู้จักกับโครงการจาก Kiehl’s และพูดคุยถึงประเด็นน่าสนใจต่างๆ กันค่ะ

Kiehl’s (คีลส์) แบรนด์สกินแคร์จากนิวยอร์ก เปิดตัวโครงการ “Kiehl’s Open Door” เปิดประตูสู่โอกาส เพื่อสนับสนุนกลุ่มเยาวชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ สร้างโอกาส ส่งเสริมศักยภาพ และผลักดันให้พวกเขาเจริญเติบโตในสังคม โดยทางแบรนด์ได้ร่วมเฉลิมฉลองขบวนไพรด์ในอเมริกามาตั้งแต่ปีค.ศ.2004 และยังสนับสนุนองค์กรต่างๆ ที่ทำงานเพื่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศมามากว่า 20 ปี แต่ปีนี้เป็นปีแรกที่ Kiehl’s เปิดตัวโครงการ Kiehl’s Open Door ในไทย ซึ่งมีการปรับโครงการให้เข้ากับบริบทของสังคมไทย และร่วมมือกับพันธมิตรที่สำคัญอย่างมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน (The Foundation of Transgender Alliance for Human Rights : Thai TGA) ในการดำเนินโครงการ นอกจากนี้ยังได้คุณเขื่อน – ภัทรดนัย เสตสุวรรณ นักจิตบำบัดและอินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังผู้ขับเคลื่อนความเท่าเทียมของมนุษย์ มาร่วมเป็นกระบอกเสียงให้กับโครงการอีกด้วย

(จากซ้าย) คุณริชาร์ด, คุณฮั้ว ณชเล, คุณเขื่อน ภัทรดนัย, คุณอรอนงค์

เป้าหมายของโครงการคือการเปิดประตูสู่โอกาสหรือ Proud & Open ด้วยการเสริมสร้างความภาคภูมิใจ 3 ประการ ได้แก่

  1. Proud & Empowered สนับสนุนความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ของตัวเอง และยังส่งมอบพลังบวกให้กับสังคมแห่งความหลากหลาย
  2. Proud & Nourished ส่งมอบความภูมิใจ ด้วยโอกาสในการพัฒนาศักยภาพและทักษะทั้ง Hard Skill (ทักษะในด้านอาชีพ) และ Soft Skill (ทักษะทางสังคม) เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างอาชีพอย่างมีประสิทธิภาพ
  3. Proud & Inspired สนับสนุนการสร้างแรงบันดาลใจให้กับกลุ่มเยาวชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นปัญหาหรือสถานการณ์ที่กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศกำลังเผชิญยังมีอีกหลายประเด็นที่ไม่ได้รับการมองเห็นมากพอ วันนี้เราจะไปสำรวจประเด็นปัญหาเหล่านั้นผ่านการเสวนาพูดคุยร่วมกับคุณเขื่อน ภัทรดนัยและคุณฮั้ว ณชเล รองประธานมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน กันค่ะ

ประตูสู่โอกาสที่มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยฯอยากเปิด

ฮั้ว – ณชเล บุญญาภิสมภาร รองประธานมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน

ในสังคมปัจจุบัน กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศยังคงถูกกีดกันเพราะอคติต่างๆ ทำให้คนกลุ่มนี้เข้าถึงโอกาสได้น้อยกว่าที่บุคคลคนหนึ่งสมควรจะได้รับ คุณฮั้วได้พูดคุยถึงโครงการและนโยบายต่างๆ ที่ทางมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยฯ กำลังดำเนินการและตั้งใจจะทำในอนาคตซึ่งจะช่วยเปิดประตูโอกาสอีกหลายบานให้กับคนในชุมชนสีรุ้ง ไม่ว่าจะเป็น

ประตูสู่โอกาสในการจ้างงาน

กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศยังถูกปิดกั้นโอกาสในการจ้างงานอยู่ ประตูบานนี้จึงเป็นอีกหนึ่งบานสำคัญที่ควรจะต้องเปิดรับคนในชุมชน LGBTQIAN+ มากขึ้น

“มีงานวิจัยของ World Bank Thailand ประมาณปี 2017-2018 เผยให้เห็นว่าคนที่เป็นทรานส์เจนเดอร์กว่า 77% มักจะถูกปฏิเสธการจ้างงาน ในขณะเดียวกันคนที่เป็นเลสเบี้ยนหรือเป็นเกย์ประมาณ 47-49% ก็ถูกปฏิเสธการจ้างงาน เราเลยมองว่ามันเป็นโอกาสที่ดีที่จะทำงานกับ Kiehl’s เพื่อพัฒนาทักษะฝีมืออาชีพ เพิ่มทางเลือกให้กับคนๆ หนึ่งที่ไม่ได้โอกาสในการทำงานได้มีทักษะและนำไปต่อยอดได้”

ประตูสู่สวัสดิการที่ควรได้รับ

ในขณะที่บางประเทศมีสวัสดิการเกี่ยวกับการข้ามเพศ แต่คนข้ามเพศในประเทศไทยกลับไม่ได้รับการช่วยเหลือคุ้มครองที่สมควรได้รับในฐานะประชาชน เรื่องนี้จึงเป็นอีกประเด็นที่ควรจะได้รับการมองเห็นเพื่อนำไปพัฒนาเป็นนโยบายต่อไป

“มูลนิธิเราพยายามทำงานเพื่อไปบอกกระทรวงสาธารณสุขว่าคนข้ามเพศจะต้องจ่ายทุกบาททุกสตางค์เอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องฮอร์โมน การผ่าตัดแปลงเพศ ตอนที่เราไปทำงานที่อเมริกา ถ้าเรามีประกันสุขภาพ รัฐจ่ายให้เราหมดเลยตั้งแต่หัวจดเท้า ดังนั้นในไทยนอกจากเราจะหางานยากแล้ว เรายังต้องเอาเงินที่เก็บมาตลอดชีวิตไปใช้จ่ายในสิ่งที่สำคัญกับเรามาก โดยที่เราไม่เคยได้รับการคุ้มครองจากทางภาครัฐเลย

ประตูสู่ความรักของครอบครัว

ในสังคมไทยปัจจุบันยังมีหลายครอบครัวที่ไม่เข้าใจหรือปฏิเสธบุตรหลานที่มีความหลากหลายทางเพศ การสร้างความเข้าใจจะทำให้คนในครอบครัวโอบรับบุตรหลานของเขากลับมาอีกครั้ง เปิดประตูสู่ความรักให้กับบุตรหลานที่เป็น LGBTQIAN+ เพื่อให้เขาได้อยู่ในครอบครัวที่มีทั้งความรักและความเข้าใจ

“มูลนิธิเรามีการสร้างเครือข่ายผู้ปกครองที่มีบุตรหลานหลากหลายเพศ จากการไปพูดคุยกับผู้ปกครองใน 4 ภูมิภาคทั่วประเทศไทย ถามว่าการที่เขามีลูกเป็น LGBTQIAN+ เขารู้สึกยังไง แล้วถ้าเราจะมีคู่มือให้กับพ่อแม่คนอื่นๆ อยากให้คู่มือนี้เป็นอย่างไรบ้าง สิ่งที่เราค้นพบคือพ่อแม่หลายคนรู้สึกผิดที่มีลูกเป็น LGBTQIAN+ ดังนั้นคู่มือที่เราออกแบบ เราไม่ได้ใส่ข้อมูลจำนวนมาก เพราะเวลาเราเห็นหนังสือเราก็กลัวที่จะอ่านละ สิ่งที่เราใส่เข้าไปคือแมสเสจที่บอกว่าคุณไม่ได้ผิด เริ่มต้นจากตรงนั้นแล้วคุณจะเปิดประตูให้สิ่งที่เรียกว่าความรักและการยอมรับที่มีต่อบุตรหลานที่มีความหลากหลายทางเพศ

ประตูสู่การเป็นตัวเอง

ในขณะที่กฎหมายสมรสเท่าเทียมเป็นที่รับรู้ทั่วกันในสังคม ยังมีอีกหนึ่งกฎหมายที่สำคัญสำหรับชุมชน LGBTQIAN+ ซึ่งหลายคนยังไม่รู้จัก นั่นคือกฎหมายรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ ที่จะทำให้บุคคลสามารถเลือกคำนำหน้าชื่อหรือตัวระบุเพศได้ตรงตามเจตจำนงของตัวเอง

ในต่างประเทศ ถ้าคุณเป็นนอนไบนารี่แล้วไม่อยากอยู๋ในกล่องของความเป็นเพศ คุณก็สามารถเลือกเป็น Gender X ได้ ไม่ต้องเลือกนายหรือนางสาว ซึ่งเร็วๆนี้ ประมาณเดือนกรกฎา เราจะเอากฏหมายนี้เข้ารัฐสภาเพื่อที่จะดำเนินตามกระบวนการทางนิติบัญญัติให้เป็นกฏหมายของประเทศต่อไป

“เวลาเราไปโรงพยาบาล เขามีข้อมูลเราหมดแล้ว เวลาเราไปโรงพยาบาลครั้งแรก แพทย์ก็ต้องเอกซเรย์เราทุกอย่าง ดังนั้นไม่จำเป็นต้องมีคำนำหน้าชื่อเพราะแพทย์มีข้อมูลเราหมดแล้ว เพื่อนจากสิงคโปร์เป็นผู้ชายข้ามเพศบินมาผ่าตัดหน้าอกที่ไทย จ่ายไปสองแสน แต่พอดูที่ป้ายเท่านั้นแหละ ป้ายบอกว่า Miss เรารู้สึกว่าทำไมเพื่อนเราต้องจ่ายเงินจำนวนมากเพื่อผ่าตัดหน้าอก แต่ได้รับการปฏิบัติที่ไม่เคารพความเป็นบุคคลของเรา เราคิดว่าเป็นปัญหาที่ควรได้รับการแก้ไข”

ประตูสู่การช่วยเหลือผู้มีอัตลักษณ์อื่นๆ ในสังคม

การเป็น LGBTQIAN+ เป็นเพียงอัตลักษณ์หนึ่งของบุคคลเท่านั้น เพราะในความเป็นจริง บุคคลคนหนึ่งย่อมมีอัตลักษณ์อื่นๆ ทับซ้อนอยู่ด้วย ไม่ว่าจะการเป็นผู้สูงอายุ การเป็นผู้มีความบกพร่องทางการได้ยิน ซึ่ง LGBTQIAN+ ที่เป็นกลุ่มเปราะบางยังขาดการมองเห็นอยู่มาก การช่วยเหลือ LGBTQIAN+ ที่มีอัตลักษณ์ทับซ้อนอื่นๆ จึงเป็นอีกสิ่งที่ควรลงมือทำอย่างเร่งด่วน

“เราคิดว่าจริงๆ แล้วยังมีประตูจำนวนหลายบานมากที่เราควรจะต้องเปิดเพื่อจะทำงานกับบุคคลซึ่งเป็นคนที่มีความเปราะบาง เราใช้คำว่าเปราะบางเพราะคนในสังคมมีหลายอัตลักษณ์ การเป็นคนข้ามเพศเป็นแค่อัตลักษณ์เดียว แต่เรายังมีคนข้ามเพศอีกจำนวนมากที่เป็นคนพิการ คนข้ามเพศจำนวนมากที่ไม่มีบัตรประชาชน 13 หลัก คนข้ามเพศจำนวนมากที่เป็นผู้สูงอายุด้วย คนข้ามเพศหรือคนที่มีความหลากหลายทางเพศที่เป็นเด็กแบบนี้ค่ะ หากเราดีไซน์ตัวโครงการหรือนโยบายที่ไปจับกลุ่มคนที่มีอัตลักษณ์ที่หลากหลาย และเป็นอัตลักษณ์ที่อาจจะไม่ได้เข้าถึงทรัพยากร มันก็จะไปตอบโจทย์คนกลุ่มนั้นๆ”

“จากการทำงานเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ฮั้วได้ไปเจอผู้หญิงข้ามเพศที่พัทยาที่เป็นคนสูงอายุอายุมากกว่า 50 ปี แล้วก็นอนอยู่ใต้สะพานจำนวนมาก เพราะสมัยเป็นสาว คุณทำงานพัทยาได้เต็มที่ คุณส่งเงินกลับบ้าน แต่คุณไม่สามารถกลับบ้านได้ เพราะที่บ้านไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยของคุณ ฉะนั้นมีคนจำนวนมากกลายเป็นคนเร่ร่อนและเป็นคนสูงอายุ”

“ฮั้วรู้จักผู้หญิงข้ามเพศหลายคนที่มีความพิการทางการได้ยิน หากเขาใช้ภาษามือแล้วเขาต้องเข้าคอร์สกับเรา เราจะทำยังไงให้เขาสามารถเข้าถึงตัวทักษะหรือบริการตรงนี้ได้ แล้วไม่ใช่คนที่ใช้ภาษามือในประเทศไทยจะรู้จักคำที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางเพศ เพราะคนที่ใช้ภาษามือบางครั้งเขาไม่เข้าใจคำว่า gender หรือ sexuality หรือภาษาที่เกี่ยวข้องกับ LGBTQIAN+ โดยตรง หากเราต้องการทำงานกับคนที่มีอัตลักษณ์ที่หลากหลายแบบนี้ เราต้องเข้าใจความต้องการเฉพาะด้านของแต่ละคน”

สุขภาพจิต ประตูอีกบานที่สำคัญไม่แพ้ทักษะไหนๆ

นอกจากประตูโอกาสที่ทางมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยฯ กล่าวถึงแล้ว อีกประเด็นที่สำคัญไม่แพ้กัน นั่นก็คือ สุขภาพจิต ซึ่งเป็นประเด็นที่คุณเขื่อนในฐานะนักจิตบำบัด ต้องการจะผลักดันให้กลุ่ม LGBTQIAN+ ได้ตระหนักรู้ถึงอารมณ์ความรู้สึกที่ตนเองกำลังเผชิญอยู่ และเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิตมากขึ้น

เขื่อน – ภัทรดนัย เสตสุวรรณ นักจิตบำบัดและอินฟลูเอนเซอร์ชื่อดัง

ประตูสู่การตระหนักรู้ถึงสุขภาพจิต

แม้ว่าเรื่องของสุขภาพจิตจะเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงบ่อยๆ ในหลายปีมานี้ แต่ในความจริงแล้วคนในสังคมยังขาดการตระหนักรู้ถึงสุขภาพจิตและสภาพจิตใจของตัวเองเป็นอย่างมาก หากจะทำให้คนคนหนึ่งเติบโตได้อย่างแข็งแรงและใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้ในสังคม สิ่งที่ขาดไปไม่ได้เลยคือการตระหนักรู้เรื่องของสุขภาพจิต

“จากสถิติปีที่แล้ว ในคอมมูนิตี้มีคนที่มีความคิดฆ่าตัวตายอยู่ที่ 49% ส่วนคนที่ลงมือทำไม่ว่าจะสำเร็จหรือไม่อยู่ที่ 17% และที่น่ากลัวคือคนที่มีความคิดแบบนี้อายุประมาณ 17-24 ปี เรื่องแบบนี้มันเกิดขึ้นจากหลายอย่างมาก เช่น นอนไบนารี่ 87% เคยโดน abuse แต่ไม่กล้าขอความช่วยเหลือ หลายคนมองว่าผู้ชายไม่น่าโดน abuse หรอก แต่ความจริง 40% ของเกย์โดน abuse แล้วไม่กล้าขอความช่วยเหลือ เกิดสภาวะซึมเศร้า เลสเบี้ยนกว่า 60% ก็โดน รวมไปถึงทรานส์เจนเดอร์ประมาณ 72% ก็โดน abuse แล้วไม่รู้ว่าสุขภาพจิตคืออะไร ขอความช่วยเหลือยังไง เขื่อนรู้สึกว่าตอนนี้ทั่วโลกยังไม่ค่อยปลอดภัยในการใช้ชีวิต เขื่อนมองว่าการมี professional skills เป็นเรื่องเจ๋งมากเพราะคนเราทำงานได้ต้องมีสกิล มีคนสอน มีคนไกด์ แต่พอมีสกิลแล้ว ประตูอีกบานที่อยากให้เปิดก็คือสุขภาพจิต จิตใจ ซึ่งเขื่อนมองว่าสำคัญมาก ซึ่งตรงนี้ Kiehl’s ก็เริ่มทำแล้ว

ประตูสู่การบริการด้านสุขภาพจิต

สิ่งที่ต้องทำหลังจากให้ความรู้ สร้างการตระหนักรู้เรื่องสุขภาพจิตแล้ว ก็คือทำให้บุคคลเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิตมากขึ้น หากรู้ว่าตนเองมีสภาพจิตใจเป็นอย่างไร แต่ไม่สามารถเข้าถึงบริการใดๆ ได้ ก็ไม่อาจสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

“สิ่งที่สำคัญที่สุดเขื่อนว่า accessibility (การเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิต) เลยครับ สมมติรู้ว่าที่บ้านไม่รักแล้ว ที่บ้านไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัย เป็น LGBTQIAN+ แล้วยังไงต่อ ถ้าเข้าถึงบริการไม่ได้ มีความรู้เรื่องสุขภาพจิตไปก็ทำอะไรไม่ได้ ถ้าเราเห็นคอนเซ็ปต์ เห็นทุกอย่างว่าโรคซึมเศร้าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ รู้ว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้า มี awareness มีความรู้ แต่ไม่มี accessibility ก็ทำอะไรไม่ได้อยู่ดี เพราะฉะนั้นเขื่อนว่าสิ่งที่ควรทำและมูฟต่อไปคือเรื่อง accessibility สำคัญมากครับ

และนี่เป็นมุมมองบางส่วนที่คนในชุมชน LGBTQIAN+ ต้องการจะบอกให้คนในสังคมตระหนักรู้ เราหวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งต่อความเข้าใจต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ เพื่อช่วยกันสร้างสรรค์สังคมที่ปลอดภัยสำหรับทุกคนไปด้วยกัน

ขอขอบคุณ ภาพจาก Kiehl’s

Text : Nattakarn Saekhoo

สุดสัปดาห์

keyboard_arrow_up