แต่ละวันเราอยู่กับคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือมากไปหรือเปล่า ถ้าไม่แน่ใจ แนะนำว่าให้สังเกตตัวเองดูค่ะว่าเรามีอาการปวดตึงที่ข้อนิ้วบ้างมั้ย ถ้าใครเคยรู้สึกปวดตึง หรือเกร็งค้างในบางวูบ นั่นแปลว่า อาการ นิ้วล็อก เริ่มถามหาแล้วนะคะ อย่าปล่อยไว้จนลุกลาม เพราะอาจจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ถึงขั้นต้องผ่าตัด มาป้องกันและรักษากันแต่เนิ่นๆ ดีกว่าค่ะ
นิ้วล็อก ไม่ใช่เรื่องเล็ก
จริงๆ อาการนิ้วล็อกเกิดขึ้นได้กับทุกคน ส่วนใหญ่จะเป็นช่วงอายุ 40-60 ปี แต่ตอนนี้เมื่อคนเราติดมือถือมากขึ้น และทำอะไรซ้ำๆ เป็นเวลานาน หรือแม้แต่การแบกของหนักๆ ก็ทำให้เกิดอาการนิ้วล็อกได้ตั้งแต่อายุยังน้อย ทางที่ดีคือต้องป้องกันไว้ก่อน ด้วยการบริหารนิ้วอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เส้นเอ็นและข้อไม่ยึด วิธีก็ไม่ยากเลยค่ะ
- แช่น้ำอุ่น น้ำอุ่นจะช่วยยืดเส้นเอ็น ทำให้การอักเสบของกล้ามเนื้อลดลง และยังช่วยทำให้เลือดไหลเวียนดีขึ้นด้วย แค่แช่มือลงในน้ำอุ่น (อย่าร้อนจัดนะ) พร้อมทั้งกำและแบมือสลับกันไปด้วย เป็นเวลา 5 นาที ทำทุกวันทั้งตอนเช้าและตอนเย็น จะช่วยผ่อนคลายนิ้วมือ และลดอาการนิ้วล็อกได้
- กำๆ แบๆ ระหว่างวัน ทำตอนไหนก็ได้ แล้วแต่สะดวก แค่ค่อยๆ กำมือช้าๆ งอนิ้วมือและข้อนิ้วมาจนเป็นกำปั้น บีบให้แน่น แล้วค่อยๆ คลายออก ทำซ้ำกี่ครั้งก็ได้ หรือจะหาตัวช่วยเป็นขวดน้ำทรงกลม กระป๋อง ผ้าขนหนู หรือลูกบอลยางก็ได้ เส้นเอ็นจะได้ยืดเหยียดเต็มที่ ไม่มีอาการนิ้วล็อกแน่นอน
- นวดมือวันละ 5 นาที โดยใช้นิ้วโป้งกดบริเวณจุดต่างๆ ดังนี้ เหนือข้อมือด้านใน เนินอุ้งมือ กลางฝ่ามือ ข้อนิ้วมือทุกข้อ กดจุดละ 10-15 วินาที ทำซ้ำจุดละ 3 ครั้ง
แต่ถ้าเกิดอาการนิ้วล็อกแล้ว ก็ต้องรีบรักษานะคะ อย่านิ่งนอนใจ รีบไปหาคุณหมอ
- กินยา โดยสามารถกินยาต้านอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เช่น ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ยานาพรอกเซน (Naproxen) แต่ย้ำว่าต้องปรึกษาแพทย์ก่อนนะคะ เพื่อความปลอดภัย
- พักการใช้มือ โดยเฉพาะกิจกรรมที่ใช้นิ้วเยอะๆ ออกแรงที่มือมากๆ หรือต้องแบกของหนักๆ งดไปเลย หากจำเป็นให้ทำแล้วพัก อย่าทำซ้ำๆ ติดต่อกันเป็นเวลานาน ถ้าเป็นไปได้ให้งดกิจกรรมเหล่านั้นเป็นเวลา 3-4 สัปดาห์
- ประคบเย็น ในกรณีที่ไม่ได้ปวดร้ายแรง หรือนิ้วล็อกเล็กน้อย การประคบเย็นจะช่วยลดอาการปวดบวมได้ดีระดับหนึ่งเลย ลองประคบเย็นสักประมาณ 10 – 15 นาที ทุกๆ 1 ชั่วโมง พอเริ่มหายปวดหายบวมค่อยลดความถี่ลง
- ใส่อุปกรณ์สำหรับดามนิ้ว ถ้าใครเป็นนิ้วล็อกแล้วไปพบคุณหมอมาแล้ว คุณหมอจะให้ใส่ที่ดามนิ้วเอาไว้ตอนกลางคืน เพื่อที่เวลานอนนิ้วจะได้เหยียดตรง ช่วยป้องกันไม่ให้นิ้วเกร็งหรืองอเข้าไปเองขณะที่กำลังหลับ สำหรับคนที่ไม่มีอาการนิ้วล็อกร้ายแรงมาก วิธีนี้ก็ช่วยให้อาการทุเลาได้ดี
อย่าปล่อยให้นิ้วล็อกกลายเป็นเรื่องใหญ่ลุกลามจนต้องผ่าตัด เพราะนอกจากจะเป็นปัญหาต่อการใช้ชีวิตประจำวันแล้ว ยังต้องเสียเงินทองเพื่อการรักษาไปอีก ปรับพฤติกรรมใหม่ แล้วรักษานิ้วล็อกกันตั้งแต่เนิ่นๆ นะคะ
ภาพจาก www.searchhomeremedy.com , www.quickmedical.com , www.zliving.com
TEXT : Ploychompoo
เคล็ดลับความงามย่อยง่าย ใช้ได้จริง ยังมีอีกเพียบค่ะ
เทคนิค ใส่ส้นสูง ให้ปัง ใส่ได้นาน ไม่เมื่อย ไม่ปวด