หากพูดถึงศิลปินดาราที่มีชื่อเสียงและทำงานมากกว่าอาชีพนักแสดงแล้ว อดีตสมาชิกบอยแบนด์ ยูเอชที คุณเปปเปอร์ หรือ ดร.รัฐศาสตร์ กรสูต คงเป็นรายชื่อแรก ๆ ที่คนไทยจะนึกถึง เพราะนอกจากจะเก่งในงานแสดงแล้ว บทบาทของผู้บริหารยังทำได้ดีไม่แพ้กัน อีกทั้งมีดีกรีเป็นถึง รองผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือที่รู้จักกันในชื่อ ดีป้า วันนี้เรามีโอกาสได้สัมภาษณ์กับ “รองฯ เปป” พูดคุยเรื่องภารกิจในการส่งเสริมการพัฒนาทักษะโค้ดดิ้งและทักษะดิจิทัลให้กับคนไทย และบทบาทของ ดีป้า ในการสนับสนุนกิจกรรมด้านเทคโนโลยี
เริ่มแรก รองฯ เปป เล่าว่า เมื่อก่อนมีโอกาสได้ทำงานในวงการบันเทิง โดยเป็นศิลปินและรับงานแสดง แต่โดยส่วนตัวเป็นคนที่สนใจด้านเทคโนโลยีมาตั้งแต่เด็ก รวมถึงมีโอกาสได้ไปศึกษาต่อ และกลับมาทำงานในแวดวงเทคโนโลยีมาโดยตลอด โดยช่วงเปลี่ยนผ่านของ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ กระทรวงไอซีทีเดิม มาเป็น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ได้รับการชักชวนจากผู้ใหญ่ให้มาช่วยงานในส่วนนี้ จึงตอบรับเพราะเป็นความตั้งใจตั้งแต่แรก หากมีโอกาสที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศ และด้วยประสบการณ์ที่เคยเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยมาหลายปี จึงเล็งเห็นว่า การพัฒนาบุคลากรของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาทักษะดิจิทัลจะเป็นส่วนสำคัญที่จะผลักดันให้ประเทศไทยเดินหน้าและเป็นสังคมดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบในอนาคต
โดยหนึ่งในโครงการสำคัญของ รองฯ เปป คือ โครงการ Coding Thailand ซึ่ง ดีป้า หน่วยงานในสังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนดำเนินโครงการ Coding Thailand เพื่อเพิ่มทักษะด้านดิจิทัล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทักษะโค้ดดิ้งที่เป็นพื้นฐานสำคัญ รวมถึงบ่มเพาะเด็กและเยาวชนสู่การเป็นผู้มีทักษะด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล โดยในปี 2561 ดีป้า ได้ร่วมมือกับ Code.org องค์กรไม่แสวงหากำไรจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้วิทยาการคอมพิวเตอร์ในรูปแบบออนไลน์ชั้นนำระดับโลก พร้อมด้วยหน่วยงานพันธมิตรภาคเอกชน อาทิ ไมโครซอฟท์ กูเกิล ฯลฯ พัฒนาแพลตฟอร์มชื่อ CodingThailand.org พร้อมเนื้อหาการเรียนรู้ที่มีผู้เข้าถึงมากกว่า 1 ล้านคน
ถัดมาในปี 2562 ดีป้า ได้ส่งเสริมและสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานให้แก่โรงเรียนนำร่อง 200 โรงเรียนครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศให้มี depa Young Maker Space เพื่อเป็นศูนย์กลางการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนด้านวิทยาการคำนวณ วิทยาการคอมพิวเตอร์ และโค้ดดิ้งพื้นฐาน พร้อมทั้งเสริมแกร่งครูผู้สอนจากโรงเรียนนำร่อง เพื่อนำไปจัดการเรียนการสอนแก่นักเรียนต่อไป และในปี 2563 ยังต่อยอดไปสู่การพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ต้นแบบโดยเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านโค้ดดิ้งแห่งศตวรรษที่ 21 จำนวน 10 แห่ง เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้และพัฒนาทักษะเยาวชน และผู้สนใจ อีกทั้งสามารถเปิดให้ชุมชนหรือโรงเรียนใกล้เคียงอีกด้วย
รองฯ เปป ยังให้ข้อมูลเพิ่มอีกว่า ดีป้า ได้ส่งเสริมให้นักเรียนและครูมีพัฒนาการในหลายส่วนอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2564 ดีป้า สนับสนุนการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ด้าน Coding, STEM, IoT และ AI ไปยังโรงเรียนทั่วประเทศไม่น้อยกว่า 78 แห่ง ซึ่งจะครอบคลุมระดับประถมศึกษา/มัธยมศึกษา ทั้งโรงเรียนในเขตเมือง นอกเมือง รวมถึงโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล และยังรวมไปโรงเรียนเฉพาะความพิการ ส่วนในปี 2565 ตั้งเป้าพัฒนาโรงเรียนอีก 200 แห่งทั่วประเทศ
ทั้งนี้ ดีป้า ยังเคยต่อยอดโครงการ Coding Thailand เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนทั่วประเทศสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ด้าน Coding โดยสร้างการรับรู้และส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านไอดอล ด้วยการนำเกิร์ลกรุ๊ป สุดฮอตอย่าง BNK 48 มาเป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่่ใน CodingThailand x BNK48 the Inspiration Series เพื่อสร้างความเข้าใจและแรงจูงใจในการก้าวสู่โลกแห่งการ Coding ซึ่งในปีนี้ ดีป้า ได้ใช้ตัวแทนจากวง SWEAT16 รวมไปถึงอินฟลูเอนเซอร์จากภูมิภาคต่างๆ มาสอนเรื่องทักษะพื้นฐานของการเรียนโค้ดดิ้ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาษาและคำสั่งของคอมพิวเตอร์ STEM Education, Computational Thinking, Flowchart หรือ Algorithm, Encryption Decryption การเข้ารหัสและการถอดรหัส เป็นต้น เพื่อสร้างการรับรู้ให้น้องๆ Gen Z และเกิดองค์ความรู้ด้านทักษะโค้ดดิ้งไปมากกว่า 2 แสนราย
หากนับตั้งแต่ปี 2561 – 2563 ที่ ดีป้า เริ่มส่งเสริมการเรียนรู้ด้านโค้ดดิ้ง สามารถสร้างการรับรู้และกระตุ้นความสนใจในทักษะโค้ดดิ้งที่จะเป็นทักษะพื้นฐานสำคัญผ่านแพลตฟอร์มมากกว่า 1.32 ล้านคน พัฒนาบุคลากรครูมากกว่า 3,800 คน พัฒนาทักษะเยาวชนมากกว่า 2.99 แสนคน และส่งเสริมให้โรงเรียนเข้าถึงการเรียนการสอนเกี่ยวกับ Coding กว่า 2,250 แห่ง
รองฯ เปป ยังให้มุมมองเกี่ยวกับความสำคัญของการพัฒนาทักษะดิจิทัลว่า ประเทศไทยมีความต้องการบุคลากรที่มีทักษะดิจิทัลจำนวนมาก โดยข้อมูลจากการคาดการณ์อัตราแรงงานที่ต้องการปี พ.ศ. 2563 – 2567 ของสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติพบว่า มีความต้องการแรงงานสูงถึง 29,020 คน ประกอบด้วย 10 อันดับอาชีพดิจิทัลที่ตลาดแรงงานต้องการ ซึ่งครอบคลุมด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูล ซอฟต์แวร์และการประยุกต์ ธุรกิจคอมเมิร์ซและเว็บไซต์ สาขาแอนิเมชัน และการบริหารโครงการสารสนเทศ โดยข้อมูลผู้สำเร็จการศึกษาในสาขาวิชาที่สอดคล้องกับอุตสาหกรรม (S-Curve) ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาและสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ปี 2560 พบว่าผู้สำเร็จการศึกษาด้านดิจิทัลมีเพียง 7,742 คน ซึ่งน้อยมากหากเทียบกับความต้องการในอนาคต
ทั้งนี้ ทิศทางของนานาชาติต่างขับเคลื่อนสังคมเศรษฐกิจด้วยข้อมูลและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ดังนั้นประเทศไทยต้องเร่งพัฒนาทักษะของกำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการในปัจจุบันและอนาคต โดย ดีป้า จะเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญที่จะส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการสร้างกำลังคนดิจิทัลที่มีความพร้อม ทั้งกลุ่มนักศึกษาและบัณฑิตจบใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดหรือภาคอุตสาหกรรม รวมถึงบุคลากรและแรงงานปัจจุบันให้มีความพร้อมด้านทักษะที่เป็นที่ต้องการของภาคอุตสาหกรรม เพื่อป้อนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลได้อย่างทันท่วงที
และ ดร.รัฐศาสตร์ ได้กล่าวปิดท้ายว่า ดีป้า ยังคงเดินหน้าเสริมสร้างและพัฒนาความรู้ ทักษะ และความชำนาญให้กับกำลังคนและบุคลากรด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง เพื่อการยกระดับกำลังคนของชาติให้มีความพร้อมต่อการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ โดยจะบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคเอกชน ทั้งด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและภาคงานธุรกิจ-อุตสาหกรรม ตลอดจนภาคการศึกษา เพื่อระดมกำลังเสริมสร้าง Human Capital ของประเทศให้มีทักษะดิจิทัลตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน และเป็นที่ยอมรับของภาคอุตสาหกรรม หรือได้รับการรับรองตามมาตรฐานประกาศนียบัตรสากล
ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมหรือดูรายละเอียดโครงการฯ ได้ที่ Facebook: depa Thailand, Website: www.depa.or.th, Facebook: CodingThailand by depa หรือเข้าไปเล่นเกมโค้ดดิ้งสนุก ๆ ได้ที่ CodingThailand.org