วังสระปทุม บ้านแห่งรักและผูกพันของในหลวง ร.9

Alternative Textaccount_circle
event

เป็นที่รู้กันว่าปัจจุบัน วังสระปทุม เป็นที่ประทับของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี แต่ในอดีตเมื่อ 80 กว่าปีก่อนนั้น วังแห่งนี้ นับเป็นที่ประทับแห่งแรกของครอบครัวราชสกุลมหิดล เป็นบ้านหลังแรกในเมืองไทยของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร บ้านที่พระองค์ทรงรัก ผูกพัน และเต็มไปด้วยความทรงจำงดงาม

รู้จัก วังสระปทุม

“วังสระปทุม” ริมถนนพญาไท แห่งนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระราชทานที่ดินให้เป็นที่สร้างวังของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์ พระราชโอรสในพระองค์ที่ประสูติแต่สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า แต่ยังมิได้มีการสร้างวังขึ้น ณ ขณะนั้น เนื่องจากสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์ได้เสด็จไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ

หลังจากการเสด็จสวรรคต ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าได้เสด็จออกมาประทับนอกพระบรมมหาราชวัง ทรงเริ่มสร้างพระตำหนักขึ้น ณ วังสระปทุม และเสด็จประทับเป็นการถาวรตลอดพระชนม์ชีพ พร้อมด้วยสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์และครอบครัว ปัจจุบันวังสระปทุมเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

บริเวณโดยรอบวังในสมัยก่อนนั้น เดิมเป็นที่สวน สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า โปรดให้ปลูกพืชผักหลายชนิด เช่น กล้วย มะม่วง ขนุน เป็นต้น โดยทรงนำผลผลิตต่าง ๆ ที่ได้นั้นสำหรับตั้งโต๊ะเสวย รวมทั้งพระราชทานผลผลิตทางการเกษตรเหล่านั้น ไปยังวังเจ้านายต่าง ๆ ส่วนที่เหลือ เช่น ใบตอง เชือกกล้วย กล้วยสุก ได้นำออกจำหน่ายได้รายได้ปีหนึ่งๆ เป็นเงินหลายร้อยบาท โดยส่วนหนึ่งพระองค์ทรงใช้สำหรับเลี้ยงดูข้าราชบริพาร และทะนุบำรุงวังสระปทุม

สำหรับพื้นที่ส่วนที่เป็นที่ประทับของ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นั้น ประกอบด้วยพระตำหนักและเรือนต่างๆ ดังนี้

พระตำหนักใหญ่ เป็นตำหนัก 2 ชั้น ก่ออิฐถือปูน ทาสีเหลืองทั้งองค์พระตำหนัก สร้างขึ้นโดยสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ซึ่งพระองค์มีพระราชดำริ ในการสร้างพระตำหนักองค์นี้ ทั้งเรื่องทิศทางการวางตำแหน่งของอาคารและห้องต่างๆ โดยพระองค์ทรงใช้ก้านไม้ขีด หางพลูเรียงเป็นรูปร่างห้อง และให้หม่อมเจ้าจันทรนิภา เทวกุล เขียนร่างเอาไว้ และส่งให้สถาปนิกออกแบบถวายตามพระราชประสงค์ พระตำหนักใหญ่นี้ จึงได้รับแสงแดดและมีการถ่ายเทอากาศได้ดี ห้องทุกห้องได้รับลมเสมอกัน หลังจากสร้างพระตำหนักเสร็จแล้ว สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าได้เสด็จประทับ ณ พระตำหนักแห่งนี้ตลอดพระชนมายุ

วังสระปทุม ในหลวงรัชกาลที่9 ในหลวง รัชกาลที่9

พระตำหนักใหญ่ ตั้งอยู่เกือบกลางของวังสระปทุม ทาสีเหลืองสวยงามทั้งองค์พระตำหนัก

พระตำหนักเขียว เป็นพระตำหนักแรกที่สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่ประทับภายในวังสระปทุม สร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2459 พระองค์จึงได้เสด็จประทับ ณ พระตำหนักแห่งนี้ พระตำหนักเขียวตั้งอยู่บริเวณริมคลองแสนแสบ เป็นพระตำหนักก่ออิฐถือปูน ทาสีเขียว เคยใช้เป็นที่ประทับของพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ เช่น พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีและสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี พระมเหสีและพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยเสด็จมาประทับเมื่อสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดียังทรงพระเยาว์

พระตำหนักใหม่ หรือ พระตำหนักสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงสงขลานครินทร์ หลังจากสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงสงขลานครินทร์ทรงสำเร็จการศึกษาจากสหรัฐอเมริกา พระองค์ได้เสด็จมาประทับที่วังสระปทุมเป็นการถาวร ดังนั้น สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า โปรดให้สร้างพระตำหนักแห่งนี้ เพื่อใช้เป็นที่ประทับของพระราชโอรส โดยสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงสงขลานครินทร์ ทรงให้หม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์ กฤดากร ซึ่งทรงเคยรู้จักเมื่อประทับอยู่ต่างประเทศ เป็นสถาปนิก โดยเริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ.2467 รูปแบบของพระตำหนักมีลักษณะเป็นแบบอังกฤษ สร้างอย่างประณีตและอยู่สบาย ชาววังเรียกพระตำหนักแห่งนี้ว่า “พระตำหนักใหม่” อันเป็นที่ประทับของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงสงขลานครินทร์จนกระทั่งสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ.2472 และเป็นที่ประทับของ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สมเด็จย่า) ตราบจนพระองค์สวรรคตในปี พ.ศ.2538

วังสระปทุม ในหลวงรัชกาลที่9 ในหลวง รัชกาลที่9

พระตำหนักใหม่ (รูปถ่ายในอดีต)

พระองค์เล็ก เล่นอยู่องค์เดียว ณ วังสระปทุม

วังสระปทุม ที่เต็มไปด้วยความอบอุ่น ความรัก และความสนุกสนานเมื่อครั้งทรงพระเยาว์

บ้านหลังแรกในเมืองไทยของพ่อ

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงรักและผูกพันกับวังสระปทุม เนื่องจากเป็นที่ประทับแห่งแรกในประเทศไทย หลังจากเสด็จฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชชนก สมเด็จพระบรมราชชนนี พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ จากประเทศสหรัฐอเมริกานิวัติประเทศไทย ณ ขณะนั้นทรงมีพระชนมพรรษาเพียง 1 พรรษาเท่านั้น กระทั่งเมื่อพระองค์มีพระชนมพรรษา 2 พรรษา สมเด็จพระบรมราชชนกสิ้นพระชนม์ ทรงได้รับการอภิบาลจากสมเด็จพระบรมราชชนนี และสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทั้งด้านการศึกษาและการอบรมให้มีพระอุปนิสัย และพระราชจริยวัตรอันงดงาม ตราบเมื่อทรงเจริญพระชนมพรรษา และทรงครองสิริราชสมบัติ จึงทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ประเสริฐ

เมื่อครั้งทรงเยาว์ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จะเสด็จฯ เฝ้าสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าทุกวัน ทำให้สมเด็จย่าของพระองค์ทรงพระสำราญยิ่งนัก เมื่อได้อยู่ใกล้ชิดพระราชนัดดาทั้งสาม กระทั่งพระราชนัดดา เสด็จฯ ไปศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ขณะที่พำนักอยู่ต่างแดนนั้น สมเด็จพระราชชนนี ก็ทรงเขียนบอกเล่าเรื่องราวและเหตุการณ์ต่างๆเกี่ยวกับ “พระราชนัดดา” ทั้ง 3 พระองค์ ให้ทรงรับทราบอยู่เสมอมิได้ขาด และในบางครั้ง “จดหมาย” ที่ส่งมาจากแดนไกล ก็มีลายพระหัตถ์โย้เย้อันเปี่ยมด้วย “ความรักและคิดถึง” ของพระราชนัดดาส่งถึง “สมเด็จย่า” ให้ได้ทรง “ชื่นพระทัย”

เมื่อเสด็จฯ นิวัติประเทศไทยมาอีกครั้งเมื่อพระชนมพรรษา 11 พรรษา และเมื่อย้ายไปประทับที่พระตำหนักสวนจิตรลดา พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร  เสด็จฯ มาเฝ้าสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าสม่ำเสมอเช่นเคย

ปล่อยนกเนื่องในวันประสูติครบ 2 พรรษา ของพระองค์เล็ก 5 ธันวาคม 2472

เฝ้าสมเด็จย่า เนื่องในวันประสูติครบ 3 พรรษา ของพระองค์เล็กในวันที่ 5 ธันวาคม 2473

สมเด็จย่าทรงประทานของขวัญมากมายที่ทรงแก้ประทานเอง

พระองค์เล็กโผกอดและจูบสมเด็จย่า

พระองค์ชายให้อะไรพระองค์เล็กก็ไม่ทราบ ทรงชอบมาก

พระองค์เล็กทรงนุ่งผ้าลายของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ

สมัยนั้นวังสระปทุมนับว่าอยู่ชานเมือง อากาศยังบริสุทธิ์ พระราชชนนีอยากให้โอรส-ธิดา ได้อยู่กลางแจ้งให้มากที่สุด ทรงจัดที่ทาง สิ่งก่อสร้าง และอุปกรณ์ให้ สิ่งแรกที่สร้างคือ ที่เล่นทราย เป็นกรอบไม้สี่เหลี่ยมมีทรายอยู่ข้างใน

พระองค์เล็กสนุกกับการเล่นทราย

ไม่ช้าการเล่นในกองทรายก็รู้สึกว่าไม่สนุกนัก เพราะเมื่อเอาน้ำเทลงในทรายน้ำก็ซึม จึงย้ายกันออกมาเล่นข้างนอก ขุดคลองในดิน นำน้ำมาใส่ให้ไหลในคลองแล้ววิ่งไปเก็บกิ่งไม้ที่พุ่ม นับเป็นการสัมผัสครั้งแรกกับงานชลประทานและการปลูกป่าของในหลวงรัชกาลที่ 9

 

 

ทรงเก็บกิ่งไม้มาปลูกไว้ริมคลองที่ขุด

ครอบครัวมหิดล เสด็จฯ นิวัติประเทศไทยอีกครั้ง ครานั้น พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระชนมายุ 11 พรรษา

สมเด็จย่ากับพระราชนัดดายุวกษัตริย์ทั้ง 2 พระองค์

 พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และพระบรมวงศานุวงศ์

 

ไปรษณียบัตรพระองค์ชายถึงสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

ไปรษณียบัตรพระองค์เล็ก ถึงสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เคยทูลถามพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเมื่อครั้งทรงพระเยาว์ว่าทรงจำอะไรได้บ้าง ในหลวงทรงมีรับสั่งว่า ของเล่นก็เอาเศษไม้มาต่อกันเป็นรถลาก แสดงให้เห็นเด่นชัดว่าทรงมีพระอุปนิสัยที่ไม่สุรุ่ยสุร่าย สำหรับมุมโปรดภายในวังสระปทุม ในหลวงทรงโปรดทุกมุม เพราะวังสระปทุมแห่งนี้ คือบ้านที่มีเต็มไปด้วยความรัก ความอบอุ่น และความทรงจำที่งดงามของพระองค์เสมอ

พิธีแห่งความรักครั้งสำคัญในวังสระปทุม

“พิธีอภิเษกสมรส” ระหว่างสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์ (พระยศขณะนั้น) และคุณสังวาลย์ ตะละภัฏ (พระยศขณะนั้น) จัดขึ้น ณ วังสระปทุม เมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ.2463 โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นองค์ประธาน และพระราชทานน้ำสังข์ นอกจากนี้ยังมีการจดทะเบียนเป็นหลักฐานตามแบบแผนของทางการราชสำนักด้วย

พิธีอภิเษกสมรสของ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์ และหม่อมสังวาลย์ มหิดล ณ อยุธยา (พระยศขณะนั้น)

“พระราชพิธีราชาภิเษกสมรส” ระหว่างสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (พระยศขณะนั้น) และหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร (พระยศขณะนั้น) จัดขึ้นในวันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2493 ณ พระตำหนักใหญ่ วังสระปทุม โดยสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าทรงเป็นองค์ประธาน ในการนี้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงลงพระปรมาภิไธยในทะเบียนสมรส และโปรดให้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ลงนามในทะเบียนนั้น พร้อมทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ราชสักขีลงนามในทะเบียนนั้นด้วย

หลังจากนั้น สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เสด็จออกในพระราชพิธีถวายน้ำพระพุทธมนต์เทพมนต์ แด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และทรงรดน้ำพระพุทธมนต์เทพมนต์แด่หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ในการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสตามโบราณราชประเพณี ต่อมา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้อาลักษณ์อ่านประกาศสถาปนา หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ขึ้นเป็น “สมเด็จพระราชินี”

สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงเป็นประธานในพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ณ พระตำหนักใหญ่ วังสระปทุม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ฯ ทูลเกล้าฯ ถวายดอกไม้ธูปเทียนเครื่องราชสักการะ

 สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ประทานน้ำพระพุทธมนต์ เทพมนต์ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระราชทานน้ำพระพุทธมนต์ เทพมนต์แก่หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ตามโบราณราชประเพณี

จากนั้น สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงเจิมพระนลาฎพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และทรงเจิมหน้าผากหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ตามลำดับ เวลานั้น ทรงมีพระราชดำรัสกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ด้วยว่า “เอ้า ! หันออกไปยิ้มกับผู้คนที่เขามางานซิ เขาอุตส่าห์มากันเต็มๆ ออกไปให้เขาเห็นหน่อย”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส

ทะเบียนสมรส และของที่ระลึกเป็นหีบบุหรี่เงินขนาดเล็ก ประดับอักษรพระนามาภิไธยย่อ ภ.อ. และ ส.ก

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

เรื่องเล่าจากสมเด็จพระพี่นางฯ ถึง เจ้านายเล็กๆ ครั้งทรงพระเยาว์

เรื่องที่ต้องรู้ ภาพที่ต้องดู เรื่องของพ่อ ลูกขอจดจำ

ครูส่วนพระองค์ กับความทรงจำที่มีต่อในหลวง ร.8 และ ร.9

 10 ชื่อมหาวิทยาลัยพระราชทานจากในหลวงร.9 ที่หลายคนอาจยังไม่รู้

 

 

 

 

 

สุดสัปดาห์

keyboard_arrow_up