เชื่อว่าผู้อ่านจำนวนไม่น้อย อาจไม่ทราบว่า มหาวิทยาลัย ที่ตนเองกำลังศึกษาเล่าเรียนหรือสำเร็จการศึกษามายาวนานแล้วนั้น มีประวัติความเป็นมาที่เกี่ยวกับ ในหลวงรัชกาลที่9
มีมหาวิทยาลัยใดบ้างที่ได้รับพระราชทานชื่อจาก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่9 เรามีคำตอบ…
-
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (พ.ศ. 2510)
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในหลวงร. 9 ได้มีพระบรมราชโองการประกาศใช้พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยแห่งแรกในภาคใต้ของประเทศไทย และได้พระราชทานชื่อมหาวิทยาลัยว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ตามพระนามฐานันดรศักดิ์ของสมเด็จพระบรมราชชนก กรมหลวงสงขลานครินทร์ โดยมีคณะคณะศึกษาศาสตร์และคณะวิศวกรรมศาสตร์ เป็นคณะแรกตั้ง และนับเป็นมหาวิทยาลัยแบบหลายวิทยาเขตแห่งแรกของไทยที่เป็นระบบหลายวิทยาเขตตั้งแต่แรกเริ่มก่อตั้ง โดยมีวิทยาเขตแห่งแรกที่ ปัตตานี ตามด้วย หาดใหญ่ ภูเก็ต สุราษฏร์ธานี และตรัง
-
มหาวิทยาลัยมหิดล (พ.ศ. 2512)
เป็นสถาบันที่มีที่มาจากการเป็นโรงเรียนแพทย์ ณ โรงพยาบาลศิริราช ชื่อว่า โรงเรียนแพทยากร ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2432 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จนกระทั่งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2486 จึงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ และเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512 ในหลวงร. 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนาม มหิดล อันเป็นพระนามของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ใช้แทนชื่อมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ จึงเป็นที่รู้จักในนาม มหาวิทยาลัยมหิดล นับแต่นั้นเป็นต้นมา
-
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (พ.ศ. 2514)
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า พ.ศ. 2514 โดยได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานนามอันศักดิ์สิทธิ์และเป็นมงคลยิ่งว่า สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ตามพระบรมนามาภิไธยแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และ ทรงพระมหากรุณาธิคุณมีพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระตรา พระมหามงกุฎมาเป็นสัญลักษณ์แห่งสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าด้วย
-
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (พ.ศ. 2517)
ในปี พ.ศ. 2516 ก่อนหน้าเหตุการณ์ 14 ตุลา ท่ามกลางการปกครองที่เข้มงวดรุนแรงของรัฐบาลทหารในขณะนั้น เพื่อความคล่องตัวในการพัฒนาโครงสร้าง การบริหาร และการเรียนการสอนที่จำกัดไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยและการขยายตัวที่มีความหลากหลายวิชาชีพ ท้ายที่สุดมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้สถาปนาขึ้นเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2517 โดยนามของมหาวิทยาลัย ได้รับพระราชทานนามจาก ในหลวงร. 9 ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ เมื่อ 6 มีนาคม พ.ศ. 2517 โดยพระราชทานชื่อเต็มและความหมายของชื่อดังกล่าว
-
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (พ.ศ. 2521)
มีการสถาปนาสถาบันอุดมศึกษาของรัฐแบบไม่จำกัดรับแห่งที่ 2 ของประเทศ โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานนามว่า มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ตามพระนามเดิมของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศ เป็น กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา และพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้พระราชลัญจกรในรัชกาลที่ 7 ซึ่งเป็นรูปพระแสงศรสามองค์ นำมาประกอบกับเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของ กรุงสุโขทัย เป็นตราประจำมหาวิทยาลัย
-
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (พ.ศ. 2531)
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล เป็นระบบมหาวิทยาลัยของรัฐในประเทศไทย สังกัด สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ปัจจุบันมีอยู่ 9 แห่งทั่วประเทศ ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2518 ในชื่อ วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา ต่อมาในปี พ.ศ. 2531 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อใหม่ว่า สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล และได้ยกสถานะเป็นมหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2548 ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล พ.ศ. 2548
-
มหาวิทยาลัยนเรศวร (พ.ศ. 2533)
มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ ตั้งอยู่ในจังหวัดพิษณุโลก ก่อตั้งเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2533 ภายหลังจากการยกฐานะขึ้นจากวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โดยชื่อ มหาวิทยาลัยนเรศวร นั้น ได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อสดุดีและเฉลิมพระเกียรติแด่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช วีรกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา เนื่องด้วยพระองค์ประสูติที่เมืองพิษณุโลก และทรงเคยดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระมหาอุปราชครองเมืองพิษณุโลกมาก่อน
-
มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (พ.ศ. 2535)
ในปี พ.ศ. 2510 ชาวนครศรีธรรมราช เริ่มรณรงค์เรียกร้องให้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยในจังหวัดนครศรีธรรมราช จนกระทั่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2531 ให้จัดตั้งวิทยาลัยนครศรีธรรมราช สังกัด มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และอนุมัติให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2534 จากนั้นในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชบัญญัติจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และพระราชทานชื่อว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อันเป็นสร้อยพระนามในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
-
มหาวิทยาลัยราชภัฏ (พ.ศ. 2535)
มหาวิทยาลัยราชภัฏ เป็นกลุ่มมหาวิทยาลัยที่พัฒนามาจากโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ที่ตั้งอยู่ในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคของประเทศ ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น วิทยาลัยครู หลังจากนั้น ได้รับพระราชทานนาม ราชภัฏ จากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ให้เป็นชื่อประจำสถาบัน พร้อมทั้ง พระราชทาน พระราชลัญจกรเป็นตราประจำมหาวิทยาลัย โดยในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยราชภัฏ มีอยู่ทั้งสิ้น 38 แห่ง ทั่วประเทศ
10 . มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช (พ.ศ. 2553)
มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช (เดิมชื่อ มหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานคร) เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของกรุงเทพมหานคร ก่อตั้งขึ้นวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 จากนั้น หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในสมัยต่อมา ได้ขอพระราชทานนามมหาวิทยาลัยว่า มหาวิทยาลัยภูมิพล เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2552 และต่อมาพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามมหาวิทยาลัยว่า มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2554 และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2556
นับเป็นเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดไม่ได้แก่พสกนิกรชาวไทยจริงๆ
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก Apisit Kaewprasert, teenmthai, sanook
เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ
เรื่องเล่าจากสมเด็จพระพี่นางฯ ถึง เจ้านายเล็กๆ ครั้งทรงพระเยาว์
ครูส่วนพระองค์ กับความทรงจำที่มีต่อในหลวง ร.8 และ ร.9
ทั่วประเทศสดุดี ถวายพระเกียรติในหลวง รัชกาลที่9 ครั้งสุดท้าย