เรื่องเล่าจากสมเด็จพระพี่นางฯ ถึง เจ้านายเล็กๆ ครั้งทรงพระเยาว์

Alternative Textaccount_circle
event

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงพระนิพนธ์หนังสือ “ เจ้านายเล็กๆ – ยุวกษัตริย์” พระราชประวัติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 และ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ ระหว่าง พ.ศ. 2468-2489

นับเป็นพระนิพนธ์ที่มีความสำคัญยิ่งในด้านประวัติศาสตร์ และจิตใจสำหรับชาวไทยทุกยุคทุกสมัยยิ่งนัก ทุกตัวอักษร ควรค่าแก่การอ่านและรับรู้ สุดฯ คัด-ย่อบางส่วนจากหนังสือ “เจ้านายเล็กๆ – ยุวกษัตริย์” ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความทรงจำอันงดงาม มาถ่ายทอดต่อ เพื่อน้อมรําลึกถึง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี 

ความตอนหนึ่งในงานพระนิพนธ์ เจ้านายเล็กๆ-ยุวกษัตริย์ โดยสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงเขียนคำนำไว้ว่า “เจ้านายเล็กๆ-ยุวกษัตริย์ ไม่ได้เป็นหนังสือเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่เป็นหนังสือที่พี่เขียนให้น้องที่จะครบ 5 รอบ ในวันที่ 5 ธันวาคม 2530 เพื่อที่จะระลึกด้วยกันถึงทุกข์สุขสมัยที่เป็นเด็กและเยาวชนด้วยกัน โดยแบ่งให้ผู้อื่นได้ทราบด้วย”

ปารีส-โลซานน์ 2469

”เมื่อเราเล็กๆ ในวันเกิดของแต่ละคน แม่มักจะพาไปถ่ายรูปที่ร้าน และนอกจากจะถ่ายรูปคนที่มีวันเกิดแล้ว บางครั้งยังจะถือโอกาสถ่ายรวมกันทั้งครอบครัว…. ในวันเกิดของข้าพเจ้า วันที่ 6 พฤษภาคม แม่ก็ไปรับมาจากชองโซเลย์ (สถานรับเลี้ยงเด็ก) เพื่อไปร้านถ่ายรูปที่มีชื่อเสียงของโลซานน์ ชื่อ “ลาลองซี”

เจ้านายเล็กๆ

รูปถ่ายที่ร้านลาลองซี

สหรัฐอเมริกา 2469-2471

เหตุการณ์ครั้งสำคัญในครอบครัวของเรา คือการเกิดลูกคนที่สาม พระโอรสองค์ที่สองของทูลกระหม่อมฯ (สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก) ประสูติวันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม 2470 เวลา 8.45 น. โรงพยาบาลเมานท์ออเบอร์น (Mount Auburn) หลังจากพระโอรสประสูติได้ไม่ถึง 3 ชั่วโมง ทูลกระหม่อมฯ ทรงรีบส่งโทรเลขถวายสมเด็จพระพันวัสสาฯ ว่า “ลูกชายเกิดเช้าวันนี้ สบายดีทั้งสอง ขอพระราชทานนามทางโทรเลขด้วย”

สมเด็จพระพันวัสสาฯ เสด็จไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงมีลายพระหัตถ์ ลงวันที่ 14 ธันวาคม พระราชทานนามหลานชาย ชื่อ ภูมิพลอดุลเดช สังเกตได้ว่า คำว่า “อดุลเดช” สะกดไม่เหมือนปัจจุบัน ซึ่งเขียน “อดุลยเดช” อันที่จริงพระนามเริ่มเขียน “อดุลเดช” แต่ต่อมาเขียนกลับไปกลับมา และในที่สุดนิยมใช้แบบที่ 2

ข้าพเจ้าอยากเห็นน้องใกล้ๆ และอยากแตะต้อง แต่ที่โรงพยาบาลให้ดูเพียงหลังกระจกที่กั้นห้องเด็กไว้ เมื่อกลับมาบ้านแล้ว ข้าพเจ้าถามแหนน (พระพี่เลี้ยง) ว่า “น้องคนใหม่นี้พูดไทยได้หรือเปล่า”

ทูลกระหม่อมฯ กับพระโอรสพระองค์เล็ก บนดาดฟ้าบ้าน

 ลอนดอน-โลซานน์-กลับเมืองไทย 2471

เมื่อถึงยุโรปแล้ว เราได้พักอยู่ที่โรงแรมหนึ่งในลอนดอนชื่อเคนซิงตัน พาเลซ แมนชั่น อยู่ใกล้สวนเคนซิงตัน เด็กๆได้ไปในสวนสาธารณะบ่อยๆ บางครั้งทูลหม่อมฯ ก็เสด็จไปด้วย

แม่เล่าว่า ในสมัยนั้นพระองค์อานันทฯ ซนมากจึงต้องให้ใส่ที่รัดตัว มีสายสองข้างคล้ายๆกับสายบังเหียน โดยมากเมื่ออยู่ในบ้านจะเอาสายไปผูกไว้กับขาโต๊ะ พระองค์ชายก็ยอมให้ผูกอย่างดี วันหนึ่งแหนน พี่เลี้ยงของข้าพเจ้า คงลืมผูก ท่านก็ถามขึ้นมาเองว่า… “วันนี้ ทำไมไม่ผูก”

 พระองค์อานันทฯ ซนมาก ต้องให้ใส่ที่รัดตัวมีสายสองข้างคล้ายสายบังเหียน

ต่อมาทั้งครอบครัวก็ไปโลซานน์ พักที่โรงแรมมองตานาดังที่เคยมาแล้ว ลูกทั้ง 3 คนถูกส่งไปชองโซเลย์ (สถานรับเลี้ยงเด็ก) พร้อมทั้งแหนนด้วย ทูลกระหม่อมฯ และแม่จึงทรงสามารถเดินทางไปประเทศต่างๆ อย่างสะดวก แต่เสด็จมาเยี่ยมลูกๆ บ้าง

 

ข้าพเจ้าแปลกใจว่า น้องชายไม่มีฟัน แต่ก็รับประทานสวีบัก (Zwieback ขนมปังชนิดหนึ่ง) ได้ แม่อธิบายว่า เมื่ออมๆ เลียๆ แล้วขนมปังก็นุ่มไปเอง

วันประสูติครบ 3 ขวบของพระองค์อนันทฯ วันที่ 20 กันยายน แม่มารับไปถ่ายรูปที่ร้านตามเคย ร้านชื่อ De Jongh (เมืองโลซานน์ )

ถือโอกาสถ่ายรูปครอบครัว

พฤศจิกายน ทูลกระหม่อมฯ ได้เสด็จออกเดินทางกลับเมืองไทยโดยเรือญี่ปุ่นชื่อ “คาชีมามารู” พร้อมทั้งครอบครัว มาถึงกรุงเทพฯ วันที่ 13 ธันวาคม 2471

กรุงเทพฯ 2471-2476

แม่จากประเทศไทยไปเกือบสามปีครึ่ง ทูลหม่อมฯ ก็ไม่ได้ประทับเมืองไทยมาสองปีครึ่ง ส่วนน้องสององค์ยังไม่เคยเห็นแผ่นดินไทยเลย “เราเข้าไปอยู่ในตำหนักที่ทูลหม่อมฯ ทรงสร้างตั้งแต่ปี 2469 ตำหนักนี้สร้างอย่างประณีตและอยู่สะดวกสบาย ชาววังเรียกว่า…ตำหนักใหม่

ส่วนแม่ก็มีงานมากในการจัดระเบียบให้ลูก 3 คน พระองค์เล็กยังเดินไม่ได้ ตอนแรกๆ จึงถูกผูกไว้บ่อยๆ ในรถเข็นที่นำมาด้วยจากต่างประเทศ บางวันก็ปูเสื่อให้นั่งเล่นองค์เดียว หรือกับพี่ชาย

พระองค์เล็กประทับในรถเข็น

แม่เล่าว่า พระองค์เล็กถึงแม้ว่าจะยังเดินไม่ได้ ก็มีวิธีขององค์เองในการข้ามถนนหน้าบ้าน ที่เป็นกรวดแหลมๆ ท่านจะโก้งโค้ง เอามือและเท้าแตะพื้น และเดินสี่เท้าแบบนี้ไป แทนที่จะคลานให้เจ็บเข่า

ในสมัยนั้นวังสระปทุมยังนับว่าอยู่ชานเมือง อากาศยังบริสุทธิ์แม่จึงอยากให้ลูกๆได้อยู่กลางแจ้งให้มากที่สุด ท่านจัดที่ทาง สิ่งก่อสร้าง และอุปกรณ์ให้ทีละเล็กทีละน้อย สิ่งแรกที่สร้างขึ้นคือที่เล่นทราย เป็นกรอบไม้สี่เหลี่ยมมีทรายอยู่ข้างใน แบบเดียวกับที่เห็นได้ในสวนสาธารณะในต่างประเทศ

บางวันปูเสื่อให้นั่งเล่นองค์เดียว

หรือเล่นกับพี่ชาย

ทูลกระหม่อมฯ สิ้นพระชนม์วันที่ 24 กันยายน 2472 ข้าพเจ้าจำวันนั้นได้ดี ข้าพเจ้ากำลังเล่นอยู่ที่หน้าตำหนักโดยเดินอย่างดังๆ บนขอบถนนมิใช่กลับมาจากโรงเรียนดังที่เคยเขียนไว้ใน “แม่เล่าให้ฟัง” เพราะเวลานั้นยังไม่ได้ไปเรียนเต็มวัน น้องสององค์ยังไม่ทราบเรื่องเลย เพราะแม่คงคิดว่าเล็กเกินไปที่อธิบายให้เข้าใจได้ เราได้ไว้ทุกข์ให้ทูลกระหม่อมฯ หนึ่งปีเต็ม

วันที่ 5 ธันวาคม 2472 พระองค์เล็กครบ 2 ขวบ

ตะกร้าของขวัญที่ได้รับตอนเช้า พระองค์เล็กเป็นน้องที่ใจดี แบ่งของให้พี่

วิธีการขอบใจคือการจูบ

เดินคนเดียวเหมือนเด็กโตๆ

เจ้านายเล็กๆ ที่ไม่มีทูลกระหม่อมพ่อแล้ว

“เราได้เลี้ยงสัตว์กันหลายชนิด สุนัขตัวแรกนั้น ข้าพเจ้าตั้งชื่อว่าเจ้าบ๊อบบี้ ถึงแม้ว่าจะเป็นสุนัขไทย คงเป็นเพราะแหม่มคนหนึ่งเป็นผู้ให้ข้าพเจ้า ตัวที่สองชื่อเป็นไทยแล้วชื่อ นรินทร์ ตัวนี้ไปมีลูกกับสุนัขในวัง ข้าพเจ้าก็ตามไปขอลูกมาตัวหนึ่ง ให้ชื่อว่าเหมือน เพราะหน้าตาเหมือนพ่อของมันถึงขาจะสั้นไปหน่อย

นอกจากนั้น ยังมีกระต่ายและนกซึ่งอยู่ในกรงสูงๆ ขนาดคนเข้าไปยืนได้…มีนกขุนทองตัวหนึ่งด้วย” วันหนึ่งนกตัวนี้หลุดไปจากกรงเล็กของมัน ขึ้นไปเกาะอยู่บนต้นไม้ และพูดซ้ำๆ “แหมพระองค์เล็กคะ” เป็นเสียงแหนน และ “พระองค์ชาย… พระองค์ชาย” เป็นเสียงห้าวๆ และห้วนๆ

พระองค์เล็กกับเหมือน

สุดสัปดาห์

keyboard_arrow_up