เรื่องเล่าจากสมเด็จพระพี่นางฯ ถึง เจ้านายเล็กๆ ครั้งทรงพระเยาว์

Alternative Textaccount_circle
event
โรงเรียน

ข้าพเจ้าเข้าเรียนโรงเรียนราชินีเมื่อปลายปี 2471 หรือเดือนพฤษภาคม ปี 2472 พอถึงปี 2473 พระองค์ชายก็ได้เข้าชั้นอนุบาล 1 ของโรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย ปี 2474 ข้าพเจ้าขึ้นประถมปีที่ 2 โรงเรียนราชินี พระองค์ชายขึ้นอนุบาล 2 ส่วนพระองค์เล็กเข้าโรงเรียนอนุบาลที่ครูพิเศษภาษาอังกฤษของข้าพเจ้า ชื่อมิสซิสเดวีสเปิดที่บ้าน นักเรียนชั้นนี้ไม่ได้เรียนหนังสือ แต่จะวาดรูป ระบายสีรูป ตัดกระดาษ หัดใช้กาว ฯลฯ พระองค์เล็กเวลานั้นมีพิเศษอยู่อย่างหนึ่ง คือเมื่อตัดกระดาษจะอ้าปากปิดปากไปตามจังหวะที่ตัดไป

มิสซิสเดวีสจัดให้นักเรียนเล็กๆ แสดงอะไรเล็กน้อย เด็กๆ ทำบัตรเชิญส่งให้ญาติพี่น้องด้วย มิสซิสเดวีสจัดเครื่องแต่งกายให้ด้วย เด็กผู้หญิงแต่งเป็นผีเสื้อ เด็กผู้ชายแต่งชุดผ้าเป็นกระต่าย แม่บอกว่าพระองค์เล็กไม่ชอบเลย เมื่อไปกราบบังคมทูลสัมภาษณ์เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2529 ยังรับสั่งว่า “ไม่ชอบเลยรู้สึกว่ามัน ridiculous (ทุเร้ศ ทุเรศ)”

ชั้นอนุบาลของมิสซิสเดวีส (ซ้ายประทับนั่งห้อยแขน) พระองค์เล็ก

บัตรเชิญด้านหน้า และ บัตรเชิญด้านใน

(ที่ 3 จากซ้าย) พระองค์เล็กในชุดกระต่าย

แต่งตัวแบบต่างๆ

สมเด็จย่าเห็นว่าข้าพเจ้าชอบรำละคร จึงประทานเครื่องนาง แต่ข้าพเจ้าไม่ชอบรำเป็นนาง จึงประประทานเครื่องพระ และยังประทานชุดพราหมณ์มาอีกชุด วันหนึ่งนึกสนุกขึ้นมา แต่งกันทั้ง 3 คนและไปถวายสมเด็จย่า ทอดพระเนตรและถ่ายรูปกัน

พระองค์ชายแต่งชุดพราหมณ์ พระองค์เล็กแต่งเครื่องนาง

แข่งขันใครจะทำหน้าตาน่าเกลียดที่สุด

เดินทางไปโลซานน์ 2476

เมื่อถึงโลซานน์แล้ว หลานๆ ทุกคนก็มีจดหมายหรือไปรษณียบัตรไปถวายสมเด็จย่า

ไปรษณียบัตรของพระองค์เล็ก

แม่ถ่ายรูปลูกๆ เพื่อส่งไปถวายสมเด็จย่า

 

พระองค์เล็กขอให้แม่ถ่ายรูปองค์ท่านกับดอกกุหลาบสวยดอกนี้

เมื่อมาถึงโลซานน์ใหม่ๆ แม่ได้เขียนถึงสมเด็จย่า หรือสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าฯ ว่า “….ลูกของหม่อมฉัน หม่อมฉันรักอย่างดวงใจ และหม่อมฉันมีความตั้งใจอยู่เสมอที่จะนำให้ลูกไปในทางที่ถูกที่ดี สำหรับจะได้เป็นประโยชน์แก่ตัวเอง ญาติ บ้านเมืองตัวของหม่อมฉันเองทำประโยชน์อะไรให้บ้านเมืองไม่ได้มาก แต่ถ้าได้ช่วยลูกๆให้ได้รับความอบรม เล่าเรียนในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่บ้านเมืองได้แล้ว หม่อมฉันก็จะรู้สึกอิ่มใจเหมือนกัน”

วันที่ 30 ตุลาคม 2477 แม่ยังเขียนถึงสมเด็จพระพันวัสสาฯ ว่า “…หม่อมฉันรู้สึกว่าตัวเคราะห์ดีมากที่มีลูกฉลาด แต่เด็กฉลาดเลี้ยงยากมากกว่าเด็กโง่เพราะต้องพูดกันมาก และต้องอธิบายกันให้เห็นจริงทุกอย่างถึงจะเชื่อ”

“แม่ไม่เคยชมเราว่าฉลาดหรืองาม จะชมก็เมื่อประพฤติตนดีทำอะไรที่น่าสรรเสริญ เราจึงไม่เหลิง อาจขาดความมั่นใจในตัวเองบ้าง แต่ก็ทราบอยู่เสมอว่าเราเป็นใคร ทำให้เราเป็นผู้ที่นับถือความจริง มีสัจจะ ไม่หลอกใครและไม่หลอกตัวเอง สิ่งที่ช่วยมากในการนี้คือเราไม่ได้มีคนที่มาห้อมล้อมอยู่มากมายตลอดเวลา… มายอ…มาเอาใจ”

ไปรษณียบัตรของพระองค์เล็กและพระองค์ชาย

ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ไม่รู้จักเจ้าเสียจริงๆ ไม่มีใครเรียกเราว่า เจ้าชายหรือเจ้าหญิง เรียกนาย และนางสาว ภาษาฝรั่งเศสไม่มีเด็กชาย เด็กหญิง จึงทำให้เราเหมือนกับคนธรรมดา

พี่น้องก็ช่วยกันหาความรู้โดยการเล่นต่างๆ เช่น เวลารับประทานอาหารจะเล่นทายอะไรกันต่างๆ บางพักจะเป็นเกมภูมิศาสตร์ บางพักก็จะเป็นเกมประวัติศาสตร์ แต่พระเจ้าอยู่หัวและพระอนุชาจะเล่นอะไรหลายอย่าง ซึ่งจะนำประโยชน์มาได้ภายหลัง

การเล่นแบบซนๆ มีบ้างเหมือนกัน เช่น วันหนึ่งแม่ได้ยินเสียงร้องเพลงเอะอะออกมาจากห้องเย็บผ้า เมื่อเปิดประตูเข้าไปก็เห็นสองพระองค์เอากระโปรงที่พาดไว้ที่พนักเก้าอี้ เพื่อจะแก้เมื่อมีเวลา มาสวมเต้นระบำแบบฮาวายจนตะเข็บขาดหมด

แม่ก็ถามว่า ทำไมจึงเอากระโปรงของแม่มาเล่นเช่นนี้ ได้รับคำตอบว่ากระโปรงตกอยู่ที่พื้น นึกว่าไม่ใช้แล้ว แม่เลยปรับเสียคนละ 2 แฟรงค์

ความฉุนเฉียวก็มีบ้างเวลาเล็กๆ อยู่ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงเล่าว่า เมื่อยังอยู่ที่แฟลตถนนทิสโซ่ต์ พระเชษฐากริ้วอะไรไม่ทราบ ทรงทำท่าจะบิดรางให้หักเสีย จึงรีบขออย่าให้ทรงทำเลย ประทานน้องเสียดีกว่า

แต่พระองค์เองบางครั้งพระอารมณ์เสียเหมือนกัน ในจดหมายลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2479 แม่เล่าถวายสมเด็จพระพันวัสสาฯ ว่า ชอบเล่นรถยนต์เล็กๆ แข่งกัน ผู้ใหญ่ก็เข้ามาเล่นด้วย “…เล็กเวลาไม่ชนะออกจะโกรธเสมอ ต้องพยายามอธิบายกันใหญ่โตถึงการเล่นว่าต้องมีแพ้และชนะบ้าง”

แม่บอกว่า สมเด็จพระพันวัสสาฯ พอพระทัย รับสั่งว่า “เหมือนย่า” แม่เขียนต่อไปว่า “นันทดีมาก ถ้าไม่ชนะก็ไม่ว่าอะไร นันทปีนี้รู้สึกดีขึ้นมาก ทำท่าเป็นเด็กโต”

กลับเมืองไทย 2488-2489

เสด็จฯ ถึงดอนเมือง

3 มิถุนายน 2489 เสด็จฯ สำเพ็ง

คราวนี้ข้าพเจ้าไม่ได้ตามเสด็จเพราะได้แต่งงานไปแล้ว และเพิ่งมีบุตรหญิงเมื่อเดือนพฤศจิกายนนี้เอง แต่ได้รับลายพระราชหัตถเลขาจำนวนหนึ่งที่รัชกาลที่ 8 พระราชทานไปที่สวิตเซอร์แลนด์ จึงสามารถเชิญบางตอนมาลงได้

ลายพระราชหัตถเลขาฉบับสุดท้ายที่ทรงมีมา ลงวันที่ 27 และ 29 พฤษภาคม 2489 ทรงเล่าถึงการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ การเลือกสมาชิกวุฒิสภาซึ่งเป็นไปตามความต้องการของพรรคพวกของนายกรัฐมนตรี ต่อจากนั้นมีการตั้งประธานต่างๆ ตั้งนายกรัฐมนตรี และการรับรองผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์……

“…ไม่ทราบว่าทุกอย่างจะพร้อมหรือไม่ หรือว่าจะมีอุปสรรคอีกในนาทีสุดท้าย”

อุปสรรคก็มีขึ้นมาได้จริงๆในวันที่ 9 มิถุนายน 2489 เวลาใกล้ 9 นาฬิกา

พระอนุชา ช่างภาพที่ติดตามทุกหนทุกแห่ง และที่ฝึกอาชีพการเป็นกษัตริย์ไปโดยไม่รู้ตัว

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ยกกวีนิพนธ์ของอัลเฟรด เดอ วีนยี่ นักเขียนฝรั่งเศส…

“ไม่ช้ายอดเขาก็โผล่พ้นเมฆโดยไม่มีโมเสส ฝูงชนต่างซึมเซา โศกสลด โยชวาเดินสู่ดินแดนที่พระผู้เป็นเจ้าทรงให้คำมั่นว่าจะเป็นที่พำนักของชาวยิว ด้วยใบหน้าเคร่งขรึมและซีดหมอง เพราะเป็นผู้ที่พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงเลือกไว้แล้ว” ตามคัมภีร์คริสต์ศาสนา พระเจ้าได้ทรงสั่งให้โมเสสเป็นผู้นำชาวยิวออกจากประเทศอียิปต์ไปสู่อิสราเอล เพราะชาวอียิปต์ไม่ยินดีให้อยู่ในประเทศของเขา เวลาโมเสสจะสนทนากับพระเจ้าจะต้องขึ้นไปบนยอดเขาซึ่งจะมีเมฆปกคลุม จะมีฟ้าแลบฟ้าร้องเพื่อมิให้ใครกล้ามอง”

พระเจ้าได้ตรัสด้วยว่า โมเสสจะนำชาวยิวไปถึงอิสราเอล แต่จะไม่สามารถเข้าไปได้ โยชวาจึงเป็นผู้ที่ต้องทำหน้าที่รับผิดชอบนำชาวยิวเข้าอิสราเอล

ยุวกษัตริย์พระองค์หนึ่งเสด็จสวรรคตไปแล้ว ยุวกษัตริย์อีกพระองค์หนึ่งก็เสด็จขึ้นครองราชย์ต่อไป…

เรียบเรียง: จีราวัจน์ ข้อมูลและภาพ จากหนังสือเจ้านายเล็กๆ ยุวกษัตริย์ ในพระนิพนธ์ของ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ

ในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงขอบใจประชาชน ช่วยงานพระบรมศพด้วยใจ

ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ ในหลวงรัชกาลที่ 9 หาดูยาก อยากให้คนไทยได้ดู

Mind ในความทรงจำ …ความรักสู่งานศิลปะจาก 70 ศิลปิน

ปีติ พระองค์ทีฯ ทรงเป็นจิตอาสา ถวายสมเด็จปู่ ณ เยอรมนี (คลิกชมคลิป)

 

สุดสัปดาห์

keyboard_arrow_up