“ต่อ-สกาย” คนรุ่นใหม่หัวใจพอเพียง กับความสุขที่แท้จริง ณ ตำบลควนรู
สองพี่น้องคนหล่อฯ ต่อ-ธนภพ ลีรัตนขจร กับ สกาย - วงศ์รวี นทีธร ขอวางไม้แบดจาก Project S The Series ตอน Side by Side ชั่วคราว แพ็คกระเป๋าคนละใบเดินทางมาถึงสงขลาเพื่อทำดี สัมผัส ความพอเพียงในอีกบริบท และพบคำตอบของคำถามที่สงสัยมานานแล้วว่า…ความสุขที่แท้จริงมันเป็นยังไง
ครั้งนี้เป็นการเดินทางมาทำภารกิจที่สงขลาครั้งแรกของโครงการคนหล่อ ขอทำดีก็ว่าได้ สุดฯ เองก็ตื่นเต้นเบา ๆ ว่า เวลาสั้น ๆ 2 วัน 1 คืนนี้จะแพลน กิจกรรมอะไรให้ต่อกับสกายได้สัมผัสความพอเพียงได้อย่างเต็มที่และเหนื่อย กันให้สะใจ ณ จุดนี้ไม่ได้จะแกล้งกันแต่อย่างใด หากเป็นการรีเควสต์ของ น้องสกายที่ยื่นข้อเสนอมาเองตั้งแต่จบกิจกรรมของปี 9 ว่า “ปีหน้าผมมาอีก นะครับ…ขอหนัก ๆ เหนื่อย ๆ ลุยน้ำ ลุยป่า ลุยโคลน จัดเต็มให้ผมได้เลย” อู้หู…เรียกร้องมาขนาดนี้ พี่จัดให้ด้วยความเอ็นดูเลยจ้า… (ว่าแต่ถาม “ต่อ” ยัง??)
ชาวนาหน้าใสหัวใจมุ้งมิ้ง
สายการบินไทยสมายล์พาคนหล่อและทีมงานเดินทาง มาถึงสงขลาตรงเวลาเป๊ะ ทุกคนแข็งขันพร้อมทำดีสุด ๆ เราเริ่มงานทันที โดยมุ่งตรงสู่ตำบลควนรู อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา ที่เรารู้มาว่าทุกหมู่บ้านในตำบลควนรูเป็น ชุมชนเข้มแข็ง เพราะมีการน้อมนำหลักเศรษฐกิจพอเพียง มาปรับใช้ให้เข้ากับพื้นที่ วิถีชีวิต และวัฒนธรรมอย่าง น่าชื่นชม
พี่น้องในตำบลควนรูมีอาชีพหลักคือทำนา อาชีพเสริม คือทำสวนยางพารา เลี้ยงสัตว์ หากใครไม่มีพื้นที่ทำการ เกษตรก็จะหันมาประกอบอาชีพประมงหรือค้าขาย ต้อง บอกว่าชาวบ้านที่นี่ทำนากันจริงจังมาก นาข้าวกว่า 4 พันไร่ ณ ตำบลควนรูแห่งนี้คือแหล่งผลิตข้าวที่สำคัญของจังหวัด เลยทีเดียว
ต่อ - สกาย มาปักหมุดจุดแรกที่ “ศูนย์เรียนรู้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง ต้นแบบ บ้านหนองเสาธง” เปรียบเหมือนศูนย์การเรียนรู้ของคนในชุมชนรวมถึง หน่วยงานและสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ที่นี่มีกิจกรรมให้ศึกษาหลายอย่าง เช่น แปลงข้าว ธนาคารข้าว ธนาคารต้นไม้ ธนาคารน้ำ ฯลฯ มองไปรอบ ๆ ศูนย์ เราจะเห็นที่นากว้างสุดลูกหูลูกตาชวนให้ปลอดโปร่งใจ กำลังมองทุ่งนาสีเขียวสบายตาหันมาอีกที สองคนหล่อฯของเราก็เดินมาด้วยความมุ่งมั่นกับคอสตูม พร้อมเปื้อนพร้อมเหนื่อย!!!
เพราะเกรงว่าเด็กเมืองกรุงจะทำนาไม่เสร็จก่อนพระอาทิตย์ตก งานนี้เลยต้องมีพี่นุสร รุ่งพรหม เกษตรกรตัวจริงมาช่วยเป็นพี่เลี้ยงประกบ เริ่มจากถอนต้นกล้าแล้วสลัดดินโคลนที่รากออกด้วยการตีเบา ๆ ที่ข้อเท้าก่อนจะมัดรวมกัน เป็นมัด ๆ จังหวะดีไปนิดหนึ่งทั้งคู่เลยมีการสะบัดโคลนใส่หน้าตัวเองเบา ๆ เอาน่ะ คิดซะว่าพอกหน้าใสด้วยโคลนธรรมชาติแล้วกันเนอะ หลังจากได้ต้นกล้ามากพอแล้ว ขั้นต่อไปก็จะนำต้นกล้าไปปักดำในพื้นที่นา ให้เป็นแนวเป็นแถว ใช้ต้นกล้า 3 - 5 ต้นในการปัก และทิ้งระยะห่างประมาณ 1 ฟุต ถ้าปักชิดไปต้นข้าวจะเบียดเสียดแย่งอาหารกันและแตกกอได้น้อย ช่วงแรกต่อ - สกายอาจจะดูงก ๆ เงิ่น ๆ ไปบ้าง แต่หลังจากนั้นทั้งคู่ก็ดูจะอินสุด ๆ ปักอย่างขะมักเขม้นจนต้นกล้าหมด สกายหันมาบอกพี่ ๆ “ใครว่าดำนาง่ายครับ ทำนาน ๆ เหมือนหลังจะยอกนะเนี่ย…” (หัวเราะ)
ปลูกเอง สีเอง กินเอง ขายเอง
ชาวบ้านควนรูไม่เพียงแต่จะปลูกข้าวเองเท่านั้น แต่ที่ชุมชนบ้านหนองโอนตำบลควนรู อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา ยังมีการรวมตัวกันตั้งโรงสีข้าวชุมชนบ้านหนองโอนขึ้นมาเองด้วย คุณลุงไพบูลย์ หนูราช เล่าว่า “โรงสีที่นี่รับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรในพื้นที่กิโลกรัมละ 15 - 20 บาท (ถ้าขายให้พ่อค้าคนกลางหรือช่วงราคาข้าวตกต่ำราคาจะอยู่ที่ประมาณ 8 บาทเท่านั้น) จากนั้นก็จะกำจัดความชื้น เก็บเข้าโกดัง แล้วจึงเข้าสู่กระบวนการสีข้าว แพ็คถุงระบบสุญญากาศทำให้ได้ราคาสูงถึง 60 - 80 บาท ถ้าใครอยากจะสีเอง ขายเอง ก็สามารถเข้ามา ใช้บริการได้ทุกวัน ซึ่งค่าบริการสีข้าวสำหรับสมาชิกกระสอบละ 5 บาท และ คนทั่วไป 10 บาทเท่านั้น ชาวบ้านที่นี่จึงได้กินข้าวคุณภาพ ขายก็ได้กำไรมาก เพราะต้นทุนการผลิตไม่สูง และมีรายได้จากการขายข้าวที่แน่นอน”
ด้วยวิธีนี้แม้จะมีช่วงราคาข้าวตกต่ำพี่น้องที่นี่ก็ยังไม่เดือดร้อน เพราะพึ่งพา ตนเองได้ เมื่อชุมชนแข็งแรงก็เริ่มมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวสารตามมา เช่น ข้าวสังข์หยด ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ จนข้าวสารของชุมชน บ้านหนองโอนได้รับการยกระดับให้เป็นสินค้าโอทอปแห่งแรกของจังหวัดสงขลา ได้รับมาตรฐาน อย. และเครื่องหมายฮาลาลอย่างถูกต้อง คนหล่อฯฟังแล้ว ปรบมือให้รัว ๆ เลยทีเดียว
ดำนาจนเหงื่อหยดไปหลายแหมะแล้ว สองคนหล่อฯได้รับอนุญาตให้ไปพักช่วย น้า ๆ ป้า ๆ สีข้าว จากนั้นก็ตวงข้าวใส่ถุงละ 1 กิโลกรัมและแพ็คด้วยระบบ สุญญากาศ น้องสกายตวง พี่ต่อแพ็ค เป็นภาพที่น่าเอ็นดูมาก ๆ
มาถึงสงขลาอีกสิ่งที่ต้องมาทำความรู้จักก็คือ “ขนมดู” ซึ่งคนหล่อฯขอบุกครัวบ้าน คุณป้าจันทนา ศีวิโรจน์ ประธานกลุ่มขนมไทยบ้านหนองโอน เพื่อไปชิมขนมดูซึ่งเป็นขนมพื้นบ้านของชาวสงขลา เดี๋ยวนี้หากินยากมาก แต่วิธีทำคุณป้าบอกว่า “ไม่ยาก” โดยใช้วัตถุดิบท้องถิ่น นั่นก็คือ “ข้าว” เป็นหลักว่าแล้วคุณป้าก็ค่อย ๆ สอนต่อ - สกายทีละขั้น ขนมดูป้าจันทนาจะหอมข้าวไรซ์เบอร์รี่ หวานมันกำลังดี เห็นเอวพลิ้ว ๆ ของต่อตอนกวนแป้งและมือที่ทำไป ชิมไปของสกายแล้ว เชื่อเถอะว่าอร่อยจริง คอนเฟิร์ม!!!
ยังมีอีกหนึ่งภารกิจสำคัญที่คนหล่อฯมุ่งมั่นมาจาก กทม.ก็คือการทำบ้านปลา ณ ฟาร์มทะเลบ้านโคกเมือง แต่ก่อนไปใช้แรงงานกลางทะเล พี่ ๆ ใจดีเลี้ยง มื้อกลางวันสุดพิเศษต่อและสกายด้วย “ปิ่นโตร้อยสาย อาหารร้อยอย่าง” ประเพณีน่ารักของสงขลาที่แต่ละบ้านจะนำปิ่นโตกับข้าวมาคนละเถาเพื่อมาแบ่ง กันกิน มักจะมีตอนเทศกาลหรือรับรองแขกพิเศษที่มาเยือน
ตามติดภาระกิจของสองหนุ่ม ต่อ-สกาย ได้ที่หน้า 2