เป็นทราบกันดีว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำริในการจัดตั้งโครงการและมูลนิธิต่างๆ มากมายเพื่อช่วยเหลือประชาชนคนไทยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และหนึ่งในเรื่องที่ทรงใส่พระทัยเป็นพิเศษเห็นจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับน้ำ ทั้งนี้เพราะน้ำเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต โดยเฉพาะในประเทศเกษตรกรรมอย่างบ้านเรา ดังที่ทรงมีพระราชดำรัสว่า น้ำคือชีวิต
ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่จะมีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเกี่ยวกับน้ำมากมาย และหนึ่งใน โครงการฯ ที่สุดสัปดาห์อยากจะกล่าวถึงคือ มูลนิธิอุทกพัฒน์
มูลนิธิอุทกพัฒน์หนึ่งในความห่วงใยที่ทรงมีต่อชาวไทย
มูลนิธิอุทกพัฒน์มีที่มาจากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงมีรับสั่งให้ทำโครงการเกี่ยวกับเรื่องการจัดการน้ำชุมชน ตั้งแต่ปี 2547
โดยมีการประกวดการจัดการน้ำชุมชนและโครงการเยาวชนรักษ์น้ำ (Junior Water ChallengeProgram ) ที่ทำติดต่อกันมายาวนานจนกระทั้งในปี 2554 ทางคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ทูลเกล้าถวายเงินจำนวนหนึ่งเนื่องในวโรกาสที่ทรงมีพระชนมายุครบ 84 พรรษา พระองค์ท่านได้พระราชทานเงินจำนวนนี้พร้อมดอกเบี้ยเพื่อให้จัดตั้งมูลนิธิอุทกพัฒน์ เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2555 โดยให้เน้นเรื่องการจัดการน้ำชุมชนเป็นหลัก
ภารกิจของมูลนิธิอุทกพัฒน์ จะเน้นเรื่อง การจัดการน้ำ ชุมชนเพื่อการเกษตรและการอุปโภคบริโภคซึ่งสาเหตุที่เน้นเรื่องดังกล่าวนั้น ดร. รอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิฯ ได้เล่าให้เราฟังว่า
“ประเทศไทยพัฒนาระบบชลประทานได้แค่ 27 ล้านไร่ ในขณะที่พื้นที่นอกเขตชลประทานยังมีอีก 140 ล้านไร่ เท่ากับว่ามีพื้นที่นอกเขตชลประทานถึงร้อยละ 80 ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นรอยต่อระหว่างป่ากับเขตชลประทาน คือ ภูเขาเป็นพื้นที่ป่า ต่ำลงมาเป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน จากนั้นจึงจะเป็นเขตชลประทานซึ่งอยู่ใกล้เมือง อันที่จริงตามกฎหมายแล้ว องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นจะเป็นผู้ดูแลพื้นที่ตรงนี้ แต่ว่าที่ผ่านมาขาดการอบรม ขาดการให้ความรู้ ว่าให้หน้าที่แล้วเขาจะทำอย่างไรต่อ
“ทางมูลนิธิฯ นี้ก็จะเข้าไปเสริม เพราะว่าลักษณะการทำงานของเรานั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ท่านทรงรับสั่งให้เป็นลักษณะของการ ‘สร้างตัวอย่างและส่งต่อให้ราชการ ให้นำไปขยายผล’ ซึ่งตรงนี้พระองค์ท่านได้ทรงถือปฏิบัติอยู่ตลอดเมื่อครั้งยังคงพระชนม์ชีพอยู่
“เนื่องจากพื้นที่นอกเขตชลประทานมีมากถึงร้อยละ 80 ดังนั้น ถ้าสามารถแก้ปัญหาเรื่องการจัดการน้ำได้ ก็จะสามารถแก้ปัญหาเรื่องน้ำของประเทศไทยได้สำเร็จ และยังช่วยลดการบุกรกพื้นที่ป่าได้อีกทางหนึ่งด้วย
“คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจเรื่องการจัดการน้ำ มักคิดว่าประเทศไทยมีปัญหาความแห้งแล้ง ทั้งที่จริงแล้วค่าฝนเฉลี่ยของประเทศไทยอยู่ที่ปีละ 1,250 มิลลิเมตร ในขณะที่ค่าฝนเฉลี่ยของทั้งโลกอยู่ที่ปีละ 1,000 มิลลิเมตร หรือค่าฝนเฉลี่ยของอิสราเอลอยู่ที่ปีละ 100 มิลลิเมตรด้วยซ้ำก็ยังจัดการได้
“ภาพที่เราเห็นจนชินตาคือส่วนใหญ่บริเวณที่เกิดปัญหาภัยแล้งก็มักจะมีปัญหาน้ำท่วมด้วย เพราะที่ผ่านมาเมื่อประสบปัญหาภัยแล้งเราก็จะแก้ไขโดยการเก็บกักน้ำอย่างเดียว เพราะไม่กังวลเรื่องน้ำท่วม แต่ผลสุดท้ายปีไหนน้ำมากก็เจอปัญหาน้ำท่วม ซึ่งก็คือความไม่สมดุลสร้างปัญหาและความเสียหายเรื่อยมา ดังนั้น เราต้อง “จัดการน้ำ” ให้ได้ ซึ่งต้องเริ่มจากการมีข้อมูลและมีความเข้าใจที่เพียงพอ จึงจะทำให้สร้างสมดุลได้เมื่อมีความสมดุล ความเสียหายไม่เกิด ความเจริญก้าวหน้าก็เกิด”
(ติดตามอ่านเรื่องการจัดการน้ำที่ดี ได้ที่หน้า 2 ค่ะ)