น้ำคือชีวิต คุณูปการเรื่องน้ำ ของในหลวงรัชกาลที่ 9

Alternative Textaccount_circle
event

การจัดการน้ำที่ดี = คุณภาพชีวิตที่ดี

เพราะน้ำคือชีวิต… โดยเฉพาะในประเทศเกษตรกรรมอย่างเมืองไทย เมื่อการเพาะปลูกได้ผลดีก็ส่งผลให้ชาวบ้านมีความเป็นอยู่ที่ดี มีความสุขอย่างพอเพียงและเพียงพอ

“อย่างที่จังหวัดแพร่ ปีที่แล้วฝนตกไม่มากแต่เมื่อจัดการน้ำได้ดี ชาวบ้านก็สามารถทำการเกษตรในฤดูแล้งได้ ทั้งที่บริเวณนั้นอยู่นอกเขตชลประทาน และสิ่งที่ก้าวหน้าไปมากคือชาวบ้านรู้จักกักเก็บน้ำที่ใช้แล้วจากการเกษตรเอาไว้กลับมาใช้ใหม่

“ในปีที่ผ่านมามูลนิธิอุทกพัฒน์ ได้ดำเนินงานกับ 932 หมู่บ้าน ซึ่งมูลนิธิไม่ได้ใหญ่แต่สามารถทำได้ เพราะมีชุมชนที่ต้นแบบอยู่ 60 ชุมชนที่คอยเป็นพี่เลี้ยงให้กับ 932 หมู่บ้าน มูลนิธิใช้วิธีสร้างเครือข่ายขึ้นมา ประโยชน์ที่ได้รับใน ปีที่ผ่านมา(2557-2559) คือ แม้จะเกิดปัญหาภัยแล้ง แต่ชุมชนเกือบทั้งหมดนี้ไม่ขาดแคลนน้ำ มีเพียงร้อยละ 5ที่ขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรแต่ยังมีน้ำอุปโภคบริโภค ส่วนพื้นที่ที่เหลือยังทำการเกษตรได้ เพราะแหล่งน้ำมีน้ำเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะชาวบ้านปฏิบัติตามพระกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่ว่า เดือนพฤศจิกายนต้องกักเก็บน้ำให้ได้ร้อยละ 80

“เมื่อมีการกักเก็บน้ำในแหล่งน้ำของตนเองทำให้จากเดิมประกอบอาชีพได้ปีละ 6 เดือน (เมืองไทยมีฤดูฝนประมาณ 5-6 เดือน)  ตอนนี้ประกอบอาชีพได้ปีละ 12 เดือน  รายได้เพิ่มขึ้นอีก 1 เท่าต่อปี ตัวอย่างที่น่าชื่นชมคือ ชุมชนดงขี้เหล็ก จ.ปราจีนบุรี ซึ่งอยู่นอกเขตชลประทานได้เรียนรู้การจัดการน้ำ จึงมีน้ำเพียงพอที่จะปลูกไม้ประดับส่งออกไปสิงคโปร์และตะวันออกกลาง นอกจากนี้ยังร่วมมือกับโรงพยาบาลอภัยภูเบศวร์ที่ดงบังปลูกสมุนไพรขายด้วย ทำให้มีรายได้เฉลี่ยต่อปีเกินกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว (กว่า 2 แสนบาทต่อครัวต่อปี)”

 

การจัดการน้ำ “เด็กทำได้-ผู้ใหญ่ทำดี”

การจัดการน้ำนั้น เป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่เราคิด เพราะไม่เพียงส่งผลดีต่อภาคการเกษตรเท่านั้น หากยังส่งผลดีต่อการดำเนินชีวิตของเราทุกคน แม้แต่เด็กๆ ดังเช่น 2 โครงการที่ดร.รอยล ยกตัวอย่าง คือ

“โครงการแก้ปัญหาเรื่องน้ำเสียของโรงเรียนเสรีสุวิทย์ ซึ่งทำที่บึงหนองบอนซึ่งเป็นแก้มลิงแห่งแรกๆ ที่ทางราชการทำถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มีขนาดใหญ่ ประมาณ 200-300 ไร่ และโรงเรียนก็อยู่บริเวณรอบๆ นั้น แต่เนื่องจากบึงอยู่ใกล้กับกองขยะที่อ่อนนุช ทำให้น้ำรอบๆ บึงเน่าเสีย ต้องมีการบำบัดก่อนผันเข้าบึงหนองบอน ทางโรงเรียนจึงทำโครงการเยาวชนรักษ์เข้าประกวดกับทางมูลนิธิ

“ปรากฏว่านอกจากได้เรื่องสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังทำให้เด็กเข้าใจเรื่องการจัดการและแก้ปัญหา จากการแก้ปัญหาเรื่องน้ำเสีย ก็มาแก้ไขเรื่องเกรดของตัวเอง บางคนที่แต่เดิมเกเรก็แก้ไขเกรดจาก 1 มาเป็น 3 กว่าๆ ได้ ทำให้เห็นว่ากิจกรรมเหล่านี้ดึงความสามารถของเด็กออกมา ทำให้เกิดเป้าหมาย เกิดโอกาสที่จะได้ใช้ความคิดความรู้” ดร.รอยลกล่าวถึงการพัฒนาของเด็กๆ ในโครงการพร้อมเล่าต่อว่า

“อีกตัวอย่างคือเมื่อครั้งที่ศูนย์บริหารจัดการน้ำจังหวัดแพร่ ได้เป็นเจ้าภาพในการจัดอบรมให้กับจังหวัดในภาคเหนือเรื่องการสร้างฝาย ปรากฏว่าผู้ใหญ่ที่เข้ารับการอบรมคิดว่าการสร้างฝายเป็นเรื่องเล่นๆ  ก็ไม่ได้เอาใจใส่เท่าที่ควร แต่สำหรับเด็กเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับเขา จึงเอาใจใส่จดจำได้หมด เมื่อถึงเวลาลงมือทำจริงๆ เด็กจึงต้องมาแนะนำผู้ใหญ่ เห็นได้ชัดว่าเด็กๆ ภูมิใจ ที่สำคัญเริ่มเข้าใจว่าพวกเขามีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ต่อชุมชน และต่อครอบครัวอย่างไร”

 

จากบทสนทนาสั้นๆ ที่ทางดร.รอยลได้เล่าให้เราฟัง ทำให้เห็นภาพได้อย่างชัดเจนว่า การจัดการน้ำที่ดีช่วยให้ประชาชนชาวไทยทุกคนแม้แต่เด็กๆ ได้มีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้อย่างไร ซึ่งทั้งหมดนี้มีจุดเริ่มต้นมาจากสายพระเนตรที่ยาวไกลและความห่วงใยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงมีต่อปวงชนชาวไทยนั่นเอง

 

สำหรับผู้ที่สนใจเกี่ยวกับมูลนิธิสามารถติดตามได้ที่ www.utokapat.org

 

 

เรื่องราวที่น่าสนใจอื่นๆ

9 คำพ่อสอน : คุณธรรมในสังคม

แอ่วเหนือสูดลมหนาวที่ “มูลนิธิโครงการหลวง”

นางฟ้าตัวจริง ! 5 ดาราหญิงน้ำใจงาม ช่วยสังคมแบบไม่ห่วงภาพพจน์

5 ดารายอดกตัญญู ได้ดีเพราะรู้คุณ!

สุดสัปดาห์

keyboard_arrow_up