“ศึกค้างคาวกินกล้วย” ความท้าทายทางการแสดงที่มาพร้อมดนตรีไทยของ พีช พชร

account_circle
event

“ศึกค้างคาวกินกล้วย” (BAT WAR) ภาพยนตร์แนวแอ็กชั่น ดราม่า คอมมาดี้ ที่จะพาทุกคนย้อนยุคไปในอดีตช่วงที่ดนตรีไทยถูกจำกัดการเล่น และเริ่มมีดนตรีสากลเข้ามา เรื่องนี้ได้นักแสดงฝีมือดี 2 คนกลับมาร่วมงานกันอีกครั้งในบทบาทที่ดุเดือดทั้ง “พีช พชร และ เก้า จิรายุ” เป็นผลงานการกำกับของ ภาณุพรรณ จันทนะวงษ์ และ กฤษณะ จิตรเนาวรัตน์ พร้อมด้วยนักแสดงชื่อดังมากมาย ทั้ง โจริญ 4EVE, นิกกี้ ณฉัตร, เจแปน ภาณุพรรณ, หมูเติ้ล หกฉาก และ นาย มงคล

ทักทาย แนะนำตัวกับสุดสัปดาห์หน่อยค่ะ

พีช : สวัสดีครับ พีช พชร นะครับ ในหนังเรื่องศึกค้างคาวกินกล้วย ผมรับบทเป็น “เชิด” เป็นลูกของเซียนขาวครับ ต้องเล่าก่อนว่าเซียนขาว คือในยุคนั้นมันมีคนที่เก่งระนาด แล้วเซียนขาว ก็คือคนที่เก่งมากที่สุดก็ว่าได้ครับ แล้วมันประมาณว่าพ่ออยากให้เชิด มาสานต่อ มารับช่วงต่อสิ่งนี้ แต่ตัวเชิดเองมันไม่อยากทำ เขาเหมือนว่าเขามีวิธีคิดของตัวเองว่าเขาอยากเล่นดนตรี แต่เขาไม่อยากเล่นดนตรีไทย เขาอยากเล่นดนตรีสากล

แล้วในยุคนั้นมีดนตรีสากลแล้วหรือยัง

พีช : มีละครับ แต่ว่าเพิ่งเริ่มต้นเข้ามา แล้วคือในเรื่องนี้อะครับ มันไม่ได้อิงเรื่องราวตามประวัติศาสตร์เป๊ะๆ 100% คือว่าถ้าดูชุดแต่ละคนเนี่ย มันไม่ตรงยุคเลยสักคน แล้วทุกชุดมันจะออกประหลาดๆ หน่อย อย่างเจแปนมันเอากล้องส่องทางไกลไปติดหัวมันเหมือนเป็นเรื่องราวในโลกแต่งขึ้นมาแล้ว ก็โลกในอดีตที่เราเห็นมันเป็นมุมมองของผู้กำกับเอง ถ้าเอาแบบเข้าใจง่ายๆ เรื่องนี้เป็นหนังที่ย้อนยุค แต่ไม่ได้บอกว่ายุคไหนบ้างผสมๆ กัน แต่เป็นยุคที่มีดนตรีไทยแล้ว ส่วนดนตรีสากลเพิ่งเริ่มเข้ามา มันเหมือนพี่เริ่มอ่านนิทานแล้วเจอคำว่า เรื่องมันมีอยู่ว่า… อะไรอย่างนี้ครับ

เล่าถึงคาแรกเตอร์ที่ได้รับ
พีช :
เชิด คือคนที่ไม่ได้อินกับสิ่งที่พ่อบอกให้ทำ เหมือนเชื่อตัวเองมาก ไม่ใช่คนไม่ดีอะไรนะ แต่แค่ว่าเขาไม่ได้อยากเล่นดนตรีไทยก็เลยทะเลาะกับพ่อ แล้วเชิดเป็นคนที่มีไอเดียของการที่… อะไรที่บอกให้ทำเนี่ย กูไม่ทำ! ทุกอย่างจะต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง แล้วเป็นลูกคนเดียว อะไรที่มีคนสั่งให้ทำจะไม่ทำคนแบบนี้ เชิดมีกลุ่มเพื่อนของเขานี่แหละที่ช่วยซัพพอร์ตกันเหลือเกิน มันเป็นแก๊งค์ที่เล่นดนตรีไทยด้วยกันมาตั้งแต่เด็ก เป็นแก๊งเด็กแสบในโรงเรียน คิดเหมือนกันว่าไม่อยากเล่นดนตรีไทย เพราะรู้สึกว่ามันไม่เท่ เล่นดนตรีไทยได้แต่นั่งเล่นเฉยๆ แต่ถ้าดนตรีสากลมันเท่ มันได้ลุกขึ้นเล่นได้ขยับได้โยกตัว ดนตรีร็อกได้ไปเล่นในผับอะไรอย่างนี้ แล้วสุดท้ายมันเกิดเหตุการณ์ที่มันอิงมาจากเรื่องจริงนิดนึง ตรงเหตุการณ์ช่วงที่เราพยายามที่จะคอนโทรลดนตรีไทยให้เป็นสมบัติของชาติ

อันนี้เป็น Reference มาจากเรื่องจริง แต่ไม่ได้เกิดขึ้นจริงตามในเรื่องนะครับ มันมี Reference ว่าช่วงหนึ่งที่เราอยากจะทำ Institutionalise ศิลปะของประเทศให้ถูกสงวนเอาไว้ พอคำว่าถูกสงวน มันเลยเหมือนว่าเขาอยากจะเก็บให้อยู่ในฟอร์มที่มันไม่ได้พลิกแพลงอะไร คือพอได้ยินคำว่าสงวน คือ keep ไว้ เพราะฉะนั้นการ keep ไว้อย่างนั้น มันจำกัดว่า ห้ามทุกคนเล่น มันได้เฉพาะแค่บางคนที่เล่นเท่านั้น เพราะถ้าใครๆ ก็เล่นได้เนี่ย มันคอนโทรล เขาอยากจะคอนโทรลให้ดนตรีเป็นแบบนี้เท่านั้น ทีนี้ช่วงนั้นเลยต้องรับราชการเท่านั้น ถึงจะเล่นได้ในกรอบระเบียบ มันถึงเป็นที่มาว่าทำไมดนตรีไทยความนิยมหายไปเยอะเหมือนกัน เพราะว่าเราไม่ให้คนธรรมดามาเล่นเลย ซึ่งตัวละครในเรื่องนี้ พอมาถึงจุดนึง ที่พ่อเขาที่เคยสอน เคยเล่นดนตรีไทยเก่งมากๆ แต่พ่อไม่ได้รับราชการ ก็ถูกให้เลิก เขาเลยออกมาสู้แทนพ่อ ประมาณว่ามึงมาสั่งพ่อกูได้ไงวะ! เขาก็เลยต้องกลับมาเล่นดนตรี และบอกว่า เฮ้ย! มันไม่ใช่นะ มันเป็นของที่ใครๆ ก็เล่นได้ ก็เกิดเป็นเรื่องขึ้นมา แล้วจริงๆ ในเรื่องนี้ก็ เก้า(จิรายุ ละอองมณี) นี่ล่ะคนที่ทำให้เกิดแบนด์ดนตรีไทยเกิดขึ้น

เราคิดว่าบท เชิด คล้ายกับตัวเราบ้างมั้ย เพราะตัวพีชเองก็มีฟีลรับช่วงต่อกับกิจการที่บ้าน

พีช : ก็ไม่เชิงนะครับ เพราะคนชอบคิดว่า ผมต้องไปทำงานกับที่บ้านแน่ๆ จริงๆ แล้วที่บ้านไม่ได้ซีเรียสเลยว่าต้องมาทำกับที่บ้าน คือเค้าไม่ได้บอกว่าต้องทำ ผมเหมือนเชิดตรงที่เขาเป็นคนที่เขารู้ว่าเขาอยากได้อะไร เขามีภาพชัดเจนมากว่า เขาอยากได้สิ่งนี้นะ แล้วเขาก็ทำเพื่อความต้องการ คือเชิดไม่ได้เป็นคนกเฬวรากอะไร ไม่ใช่คนไม่ดี แต่พ่อจะตีความเขาว่าเป็นแบบนั้น ไม่ทำงานจริงจัง ไม่เล่นดนตรีแบบที่ควรจะเป็น ดูแย่  

เรื่องนี้ต้องเล่นดนตรีไทยด้วยเป็นยังไงบ้าง

พีช : บอกก่อนเลยว่าผมเล่นดนตรีไทยไม่เป็นเลย แล้วในเรื่องนี้คือต้องเล่นเยอะมาก ๆต้องไปเรียนเพิ่มสักพักเลย ผมรู้สึกว่ามันเป็นพราะเจแปนเลย ก็คือทำไม่เลือกเครื่องดนตรีอื่น ชีวิตมันจะง่ายมาก เพราะว่าเครื่องดนตรีประเภทเคาะ  มันเห็นได้ง่ายมากว่าตรงไม่ตรง อย่างกลองถ้าเคาะไม่ลงจังหวะ หรือว่าตีผิดชิ้น คนดูจะรู้ เครื่องตีมันรู้เลยทันทีว่าตีตรงไม่ตรงจุด เลยต้องไปเรียน 3 เดือนล่วงหน้าก่อนถ่าย ซึ่งจริงๆ ถือว่าน้อยมาก แล้วต้องซ้อมทุกวัน ฝึกทุกวัน สำหรับผม ผมถือว่านี่เป็นความท้าทายของหนังเรื่องนี้ ผมว่านี่คือยากที่สุดในเรื่อง   

แล้วคิวบู้ไม่ยากหรอ  
พีช :
ไม่ยากเท่าดนตรีไทย สำหรับผมนี่คือยากที่สุดในเรื่องแล้ว มันคนละสกิลกับดนตรีสากลที่เราเล่นเป็น มันเหมือนซ้าย ขวา ความยากไม่เท่าอันนี้เลยจริงๆ อันนี้คือยากมาก ระนาดมีรายละเอียดการเล่นย่อยๆ อีกเยอะมาก แล้วประเด็นคือ เชิด ต้องเล่นระนาดได้เก่งมากๆ มากขนาดที่ว่า พ่อที่เก่งที่สุดจะให้เป็นผู้สืบทอดคนต่อไป ผมเลยต้องฝึกหนักเพื่อเป็นเชิดให้สมบูรณ์ที่สุด เพราะอย่างตอนเล่นซักซี้ดมันก็ไม่ได้ซีเรียสมาก แต่นี่ต้องมาเล่นเป็นคนเก่งที่สุดในประเทศ แล้วผมกับเก้าต้องแข่งกัน แบบว่าเป็น 2 คนที่เก่งที่สุดในประเทศ คือมันต้องเก่งมากจริงๆ

แล้วร่วมงานกับเก้าอีกครั้งเป็นยังไง

พีช : สนุกดี เหมือนกับได้มาร่วมงานกันอีกครั้งจากซักซี้ดก็10 กว่าปีแล้ว  แล้วมาเจอกันอีกทีต่างคนก็โตขึ้นลักษณะการเล่นก็เปลี่ยน เก้ายังเล่นซีนดราม่าเก่งเหมือนเดิม การทำงานก็ง่ายขึ้นด้วยครับ มันไม่ต้องมามีจังหวะการปรับตัว ทำความรู้จักกันใหม่แล้ว มันคุยกันตรงๆ ได้เลยครับ แบบเมื่อกี๊อยากเล่นแบบนี้ว่ะ เอาใหม่อีกทีมั้ยอะไรแบบนี้ มันง่าย มันสามารถคุยได้เลย บอกกันได้โดยไม่ต้องเกรงใจ ไม่เหมือนกับนักแสดงใหม่ บางทีจะไม่แน่ใจว่า วิธีทำงานเขาเป็นยังไง อาจจะยังไม่กล้าคุยกันแบบนี้

ร่วมงานกับนักแสดงคนอื่นๆ บ้างเป็นยังไง

กับเจแปนก็เป็นครั้งที่สองแล้วนะ ผมว่าทุกคนลืมไปแล้ว หรืออาจจะไม่รู้ว่าผมเคยเล่นเรื่องวัยรุ่นพันล้านกับเจแปน มาเรื่องนี้ก็แสดงด้วยกันอีก แล้วเจแปนก็อยู่ในพาร์ทที่เป็นผู้กำกับด้วยก็สบายใจ มาทำงานเรื่องนี้คือ happy เหมือนรวมๆคนรู้จักมาทำงานกัน นิกกี้ก็เจอตั้งแต่แกรมมี่ เจอที่ GmmTV

แล้วการทำงานกับนางเอก (โจริญ 4eve) เป็นยังไง

พีช : อันนั้นครั้งแรกจริง แต่รู้ว่าเขาคือเกิร์ลกรุ๊ปวงนี้นะ เคยฟังเพลงเขาอยู่ ตอนแรกก็ตื่นเต้นเหมือนกัน แบบน้องวัยรุ่น กำลังดังเลย ก็ตื่นเต้น ทำงานด้วยกันจะเป็นอย่างไร คือเราไม่ค่อยได้เล่นกับนักแสดงที่เด็กขนาดนี้แล้ว พอได้เจอ ผมว่าน้องเขาเป็นคนจริงจังนะ เป็นคนที่ซีเรียสมาก เขาจะซีเรียสกับเรื่องของเขาว่ามันจะดีมั้ย เขาทำได้ดีหรือยัง ทำไม่ดีตรงไหนบ้าง เขาจะนอยด์ง่าย

แล้วเราก็ต้องค่อยๆ ละลายพฤติกรรม

ใช่ๆ เหมือนใช้วิธีการแบบมาเล่นด้วย แล้วก็สอนเขาไปด้วย เหมือนเป็นพี่เลี้ยงในกองถ่าย แบบอยู่ตรงนี้เป็นนี้อย่างนี้ ชวนคุยไป เขาชอบถาม “พี่อันนี้หนูยังทำไม่ดีแบบนี้ต้องทำยังไงให้ดีกว่านี้” ถือว่าดีนะที่เราได้ร่วมงานกับคนตั้งใจทำงาน จริงๆเขาก็มีพ้อยท์ที่ดีนะ พอไม่เครียดแล้ว เราก็ต้องแอบหลอกให้ไปต่อ เพราะพอเขาเครียดเขาจะกลัวไอเดียตัวเอง ไม่รู้ว่าเขาพูดดีมั้ย เขาอยากเล่นเป็นแบบนี้ มันทำดีมั้ย กลัวว่าทำแล้วผู้กำกับจะไม่ชอบ แต่พอหลอกให้เขาเป็นตัวเอง เขาจะทำออกมาได้ดี ชวนคุยไปเรื่อยๆ แล้วบอกถ่ายเลยแอ็คชั่นเลย ต้องทำให้ไม่มีเวลาให้เซ็ท ผมว่าเขาเป็นคนมี Instinct ของตัวเอง  

This image has an empty alt attribute; its file name is Bom240913-004-480x600.jpg

อีกเรื่องที่เป็นจุดเด่นของเรื่องนี้คือ คอสตูม เสื้อผ้าหน้าผม ใช้เวลาทำผมกันนานมั้ยคะ

ของผมไม่นานหรอก แต่คนอื่นก็ใช้เวลาอยู่พอสมควร อย่าง“เก้า”คือทำนาน จะล้างออกยิ่งนานกว่า ต้องสระผมทุก

พอเราเห็นกันเองมีหลุดขำมั้ย

พีช : โอ้ย ขำมาก ตลกมาก ฮากันแบบไม่เหลือ


ใครเป็นคนคิดทรงผม

เจแปนเลย ผมไม่เข้าใจมันเลยนะ ทำไมต้องสร้างความลำบากครั้งนี้ให้กับทุกคน (หัวเราะ)

บรรยากาศในการทำงานบ้างเป็นอย่างไรบ้าง

ผมเจอครบแก๊งค์เกือบทุกฉากเลย ไม่มีเข้าคนเดียวเท่าไหร่ แล้วเรื่องนี้ใช้เวลาถ่ายกันไม่นานด้วย ประมาณ 20 กว่าคิว ไปถ่ายจังหวัดกัน

ตัวพีทเองก็เป็นศิลปินอยู่แล้ว พอต้องมาเล่นหนังเกี่ยวกับดนตรีไทยรู้สึกยังไง ตัดสินใจยากไหม

ตัดสินใจยากมาก คิดเยอะเหมือนกัน ผมไม่อยากทำออกมาแล้วมันไม่ดี ก็เลยบอกไปว่าหนังเกี่ยวกับดนตรีมันไม่ค่อยมีในเมืองไทย ที่มีแล้วดีเลยดังคือ โหมโรง Season Change ซักซี้ด ห่วยขั้นเทพ ก็มีแค่นี้เอง ถ้าเราทำ เราก็จะเป็นเรื่องหนึ่งที่ต้องไปชนกับผลงานที่คนจดจำ แล้วอันนี้เป็นระนาด ซึ่งโหมโรงเป็นหนังดราม่าซีเรียส แต่ของเรามันไม่ซีเรียสเลย แต่สุดท้ายมันคือเราก็ต้องเล่นระนาดเหมือนกัน ถึงในเรื่องจะไม่ได้โชว์การเล่นขนาดนั้น แต่เราก็เตรียมพร้อมมากพอที่จะพูดได้ว่า เราก็ไม่ได้ปล่อยปละละเลยนะ ผมซีเรียสเรื่องนี้มากๆ ตัดสินใจหนักเลย

เหตุผลที่ตัดสินใจรับเล่นคือ…

เจแปนเลย

เจแปนบอกว่าหาคนมารับบท “เชิด” ยากมาก ต้องหาคนที่มีสกิลที่เข้าใจดนตรีด้วย

พีช : เอาจริงป่ะ ก็เพื่อเพื่อนแหละ ทีมงานก็เป็นคนคุ้นเคยกัน ส่วนใหญ่ทำ bikeman มาก่อนก็เลยสนุกดี มีความรู้สึกว่ามาทำงานแล้วสบายใจ ตลกแน่ๆ ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ผมถ่ายอีกเรื่องหนึ่งเพิ่งเสร็จ ตอนนั้นมันเหนื่อยมาก ไม่มีช่วงว่างเลยก็เลยอยากเล่นอย่างอื่นบ้าง ทำอะไรที่สนุกๆ บ้าง แล้วผมชอบไอเดียของเรื่องนี้ ตรงที่ว่ามันได้กลับมาเล่นกับเพื่อนด้วย ไอเดียของดนตรีไทยที่ทำให้มีความคอมมาดี้ก็น่าสนใจดี เพราะภาพดนตรีไทยดูซีเรียส เหมือนเป็นการทดลองด้วย และพออ่านบททั้งหมดก็รู้สึกว่าพ้อยท์ของเรื่องที่อยากจะพูดมันน่ารักดี

This image has an empty alt attribute; its file name is Bom240913-012-480x600.jpg

มีฉากไหนที่ประทับใจบ้าง

พีช : ผมประทับใจตอนที่เจอกับพวกแก๊งค์ ถ่ายในถ้ำที่ไปหาอาจารย์ กูรูโยคีย์ในป่า คือมันตลกมากก แบบตอนถ่ายก็ตลก ฉากนี้ก็ตลก กว่าจะถ่ายกันออกมาได้คือเล่นกันแทบไม่ได้เลยอะ ตลกสุดๆ

เรื่องนี้ตลกทั้งซีน ไดอะล็อก นักแสดง เพื่อนแต่ละคนคาแรกเตอร์มันตลกต่างกันมาก พอมาอยู่รวมกันคือตลกมาก มันเหมือนตลกหกฉากอะครับ ผมมาเล่นเรื่องนี้แล้วมันเหมือนกับผมได้ไปเล่นตลกหกฉาก 3 คนนี้มันเล่นเข้ากันมาก “เก้า”ก็เล่นแบบฝืนธรรมชาติมากๆ คือเล่นจังหวะตลกหกฉาก แต่ตัวมันต้องเข้มๆ ไม่ตลก ตอนถ่ายคือขำมาก พยายามทำเสียงขรึมๆ เสียงเหมือนเก๊กตลอดเวลา

สิ่งที่คนดูจะได้รับกลับไปคืออะไร

ทำให้นึกถึงหนังในช่วงยุค 2000 นะ สไตลิ่งหนังเหมือนเราได้กลับไปดูหนังเรื่องแสบสนิท  ผมรู้สึกว่ามันเป็นแบบสไตลิ่งแบบนั้น หรือคนรุ่นใหม่ๆ ที่เข้ามาดูแล้วจะได้รับความสุข ความสนุกเหมือนกับที่คนรุ่นนั้นได้ดูมา แล้วก็เอาโมเมนท์นี้มาให้คนรุ่นไหม่ได้ม ความสุขจากการไปดูหนัง ผมรู้สึกอย่างนั้นนะ มันเป็นช่วงที่เราขาดหนังแนวไปพักนึงเลยด้วย สำหรับผมเป็นเหมือน Home coming เลยนะ ได้กลับไปดูหนังแบบที่เราโตมา ผมอยากให้คนที่มาดู ได้คิดว่าหนังแนวนี้ยังมีอยู่นะ ใครที่คิดถึงแนวนี้ก็เข้าไปดูได้เลย 

ฝากศึกค้างคาวกินกล้วย
ฝากให้ไปดูหนังเรื่องนี้กันเยอะๆ สนุกมากจริงๆ อย่างที่บอกว่าไปดูแล้วจะได้โมเม้นท์ของหนังคอมมาดี้ยุค 2000 ผมอยากคนรุ่นใหม่ เด็กๆ ไปดูนะ ดูได้ทุกวัยเลยครับ

ขอถามเรื่องคือธุรกิจตอนนี้ด้วย ตอนนี้ทำหลายอย่าง และประสบความสำเร็จอย่างสวยงาม มีแพลนใหม่ๆ มั้ย

มีครับ ก็ยังเกี่ยวกับอาหารอยู่เหมือนเดิม ช่วงเมษาปีหน้าเปิดตัวโปรเจ็กต์ใหม่ ตอนนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการต่างๆ แล้วก็เร็วๆนี้ Khao-so-i จะไปเปิดที่อังกฤษครับ ในช่วงแรกๆ ผมน่าจะต้องไปดูแลก่อน

มีตั้งเป้าไว้มั้ยว่าอายุสักเท่าไรจะเข้าไปช่วยธุรกิจครอบครัว

อืมมม ตอนนี้ยังทำด้วยตัวเองได้อยู่นะ มันยังโอเค เลยยังไม่รู้ว่าจะตอนไหน แล้วผมเองก็ไม่ทราบรูปแบบของทำงานในออฟฟิศเลย ลักษณะที่เป็นระบบระเบียบเราจะทำได้มั้ย เพราะผมเริ่มจากทำเอง สร้างกฏต่างๆ ของเราเองมาตลอด การทำงานแบบบริษัทที่ผมเคยทำ เป็นผมกับเพื่อนทำกันเองมากกว่า เราวางขั้นตอนของเรามาแบบนี้ ผมเลยยังนึกไม่ออกว่า ถ้าต้องไปอยู่ในมายด์เซ็ทที่มีการดีไซน์กันมาก่อนแล้วจะเป็นยังไง เราจะเข้ากับระบบหรือเปล่า เพราะผมก็ไม่เคยทำงานออฟฟิศมาก่อน แต่ถ้าถามว่าทำงานของที่บ้านได้มั้ย ผมก็คิดว่าทำได้ แต่ออกมาดีมั้ยก็อีกเรื่องหนึ่งครับ

Text: Ohhioh

Photo: Naowapoj

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

วีฮาจุน กับ 10 ปี ในวงการบันเทิงที่ค่อยเป็นค่อยไป และสม่ำเสมอ  

สุดสัปดาห์

keyboard_arrow_up