บอดี้สแลม กับมิตรภาพที่เริ่มจากเด็กหน้าห้องและเด็กหลังห้อง

Alternative Textaccount_circle
event

อัลบั้มที่ 7 “วิชาตัวเบา” 

ว่าด้วย “วิชาตัวเบา” อัลบั้มที่ 7 ทำไมถึงใช้ชื่อนี้คะ มีแรงบันดาลใจมาจากอะไร 

ตูน:         ชื่อทุกอัลบั้มมีความหมายของมัน เรารู้สึกว่า คำว่า “วิชาตัวเบา” มีความเป็นเราในช่วงหลังๆ มาก ด้วยสถานการณ์ ด้วยประสบการณ์ อายุ หรืออะไรก็ตามที่ผ่านมา มันทำให้เราเรียนรู้ และจัดแจงกับมันได้มากขึ้น ทั้งเรื่องงาน เรื่องส่วนตัว จัดแจงกับอารมณ์ของตัวเองได้ดีขึ้น จัดแจงกับทุกสิ่งที่เข้ามาในชีวิตได้ดีขึ้น แม้จะไม่ได้ดีที่สุด แต่เรารู้สึกปล่อยมากขึ้น เบาขึ้นในบางจังหวะของชีวิต เหมือนเรากำลังได้เข้ามาเรียนรู้ “วิชาตัวเบา” เป็นเทอมแรก แล้วรู้สึกติดใจจนกระทั่งอยากใช้ชื่อนี้เป็นชื่ออัลบั้มที่ 7

ดนตรีและเรื่องราวในอัลบั้ม เป็นเหมือนไดอารี่เพลงในแต่ละช่วงชีวิตของบอดี้สแลมอยู่แล้ว เราจะพูดในเรื่องที่เรารู้สึก สังเกตว่าอัลบั้มแรกๆ เราจะพูดเรื่องหนุ่มสาวเยอะหน่อย มีเจือความฝันเล็กน้อย อัลบั้มต่อๆ มาก็เพิ่มสัดส่วนของเพลงที่จริงจังมากขึ้น เพลง “ความเชื่อ” ในอัลบั้ม Believe เพลง “โทน” ที่พูดถึงทหาร ในอัลบั้มคราม อย่างอัลบั้มวิชาตัวเบา เราก็ได้ร้องสิ่งที่เราเป็นในวัยเกือบ 40 เราชอบที่จะเป็นแบบนี้ วงดนตรีบอดี้สแลม เหมือนคนๆ หนึ่ง ที่โตและแก่ไปตามวัย

โอม:       เราเปิดจ็อบอัลบั้มนี้กันประมาณ กุมภาพันธ์-มีนาคม 2560 ซึ่งอัลบั้มก็จะพร้อมให้ทุกคนเป็นเจ้าของได้ช่วงปลายเดือนมกราคมนี้ครับ

ตูน:         ปกติเราจะการหยุดทัวร์คอนเสิร์ต ลดการรับงานมาเพื่อทำอัลบั้ม อย่างชุดที่แล้ว ดัม-มา-ชา-ติ หยุดไปเลย 1 ปี แล้วก็ทำเดโม่ แต่งเพลง เข้าห้องอัด แต่ชุดนี้เราอยากลองทัวร์คอนเสิร์ตไปด้วย แต่งเพลงไปด้วย ลองจัดการบริหารชีวิตอีกรูปแบบหนึ่ง

ปิ๊ด:         เสริมเรื่องดนตรี อีกนิดนึง ชุดนี้ต่างกับชุดที่แล้ว อย่างแรกคือ ทัวร์ไปด้วยทำงานไปด้วยอย่างที่ตูนบอก อีกอย่างหนึ่งคือ เป็นชุดแรกที่เราเซ็ตห้องอัดขึ้นมาจากโรงรถบ้านตูน เพราะปกติเราจะเช่าห้องอัดทำงาน ก็จะมีระยะเวลาการเช่า ต้องทำงานแข่งกับเวลา แต่อัลบั้มนี้ ณ โรงรถบ้านตูน เราเอาคอมพ์วาง ซื้ออุปกรณ์มาเซ็ตเอง ทำเดโม่ ถึงเวลาก็อัดมาสเตอร์กันที่โรงรถนั่นแหละ เลยทำงานกันแบบไม่ต้องมีเวลามาเป็นข้อจำกัด

และการที่ทำอัลบั้มไปด้วย ทัวร์ไปด้วยเราก็เอาสิ่งที่ทำการบ้าน หรือไลน์ดนตรีไปลองเล่นบนเวทีจริงๆเลย เพื่อดูว่าเหมาะกับการเล่นหรือเหมาะ เหมือนทุกคนได้ปล่อยของเต็มที่

ชัช:       มีผมคนเดียวทำงานแข่งกับเวลา กลองไม่สามารถอัดในโรงรถได้ 10 เพลง อัด 3 วัน ร่วงเลยครับ (หัวเราะ)

สุชัฒติ จั่นอี๊ด (ชัช) กลอง

ทุกเรื่องล้วนมีเรื่องราว มีที่มา

ระหว่างทางการทำงาน และการเดินทาง มีเรื่องราวอะไรที่ทำให้เกิดเป็นเพลงขึ้นมาบ้างมั้ยคะ 

โอม:       “แสงสวรรค์” เลยครับ ต้องให้ตูนเล่า

ตูน:         เพลง “แสงสวรรค์” ที่หลายคนน่าจะได้ฟังกันแล้ว มันมาจากหลายอย่างเลย ซึ่งหลายคนทราบดีว่าปลายปี 60 ผมวิ่งจากเบตงไปแม่สาย ระว่างทางมันมีช่วงที่รู้สึกว่า จิตใจเราไปนะ แต่ร่างกายไม่ไปกับเรา โชคดีที่ผมติดกีตาร์โปร่งตัวเล็กๆ ไปด้วย ในวันที่ร่างกายอ่อนแอที่สุด เจ็บที่สุด ผมหยิบกีตาร์ขึ้นมาเล่นแล้วได้เพลงนี้มา พร้อมทั้งคอนเซปต์คร่าวๆ เกี่ยวกับการหยุด การยอมแพ้ การล้มบ้างในบางวัน แต่เมื่อเรามองเป้าหมายใหญ่เราจะคิดได้ว่า เออ… มันคุ้มที่จะแพ้ จะหยุด จะถอยบ้าง เพื่อพิชิตความสำเร็จ ผมว่าทุกคนเคยเป็น เคยรู้สึกเหมือนเพลงนี้ บางทีการพ่ายแพ้ระหว่างทางเหมือนเสียศักดิ์ศรี แต่มันจำเป็นนะที่ต้องรู้จักการแพ้บ้างและทบทวนตัวเองบ้าง

 โอม:      เพลง “ครึ่งๆ กลางๆ” เกิดขึ้นระหว่างทัวร์คอนเสิร์ตที่จังหวัดเชียงราย มันจะมีร้านหนึ่งที่ไปเล่น 2 รอบ 2 โชว์ เล่นวันเว้นวัน แล้ววันพักเนี่ย ตูนให้น้องที่เป็น Sound Engineer ประจำวงเซ็ตของไว้ในห้องพัก แล้วเรียกผมเข้าไปเล่นเปียโน แล้วก็ร้องเพลงกัน

ตูน:         คือผมมีเมโลดี้มาแล้ว แต่คิดว่าอยากให้มันไม่ใช่แค่กีตาร์โปร่งธรรมดา อยากได้ยินเสียงเปียโนกับเมโลดี้นี้ เลยให้เขาเซ็ตดู แล้วทำเดโม่กันในโรงแรม ก็เป็นเหมือนดราฟท์แรกแล้วพี่อ๊อฟ บิ๊กแอส โปรดิวเซอร์ก็มาช่วยเพิ่มเติมลดทอนอีกที

ส่วนมิวสิกวิดิโอได้ร่วมงานกับพี่อุ๋ย นนทรีย์สักที เวลาดูหนังของพี่เขาทีไร ผมเสียน้ำตาทุกครั้ง พอไปชวนแล้วพี่อุ๋ยก็บอกว่าคันไม้คันมือเพราะไม่ได้กำกับเอ็มวี.มานานน่าจะเกิน 10 ปี เนื้อหาเป็นเหมือนหนังสั้น แล้วนักแสดงต้องการที่เล่นคนเดียวแล้วเอาอยู่ สื่อสารและเข้าใจในอารมณ์ของเพลง พระเอกมีช้อยส์เดียวเลยว่าต้องเป็นพี่อนันดา

Body Slam Fest คอนเสิร์ตครั้งใหญ่ที่จะทำให้ใกล้บอดี้สแลมมากที่สุด

เชื่อว่าแฟนๆ ตื่นเต้นและรอคอนเสิร์ตใหญ่ Body Slam Fest วิชาตัวเบา Live in ราชมังคลากีฬาสถาน มีทีเด็ดอะไรที่พอจะเล่าให้ฟังได้บ้าง 

ตูน:         ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นได้ทุกวันนี้ ที่เรามานั่งโม้ให้ทุกคนฟังได้ ก็เกิดจากแฟนเพลง พวกเขาทำให้เรามีแรงเดินทางมา 16-17 ปี เราสามารถทำอัลบั้มที่ 7 เสร็จ สามารถที่จะคิดจะฝันมีคอนเสิร์ตสองรอบ M150 Presents Body Slam Fest วิชาตัวเบา Live in ราชมังคลากีฬาสถาน วันที่ 9 และ 10 กุมภาพันธ์ ก็เพราะแฟนๆ ทุกคนที่ช่วยประคับประคองพวกเรามา

ปิ๊ด:      ต้องเตรียมพร้อมร่่างกายสุดๆ

โอม:       ผมว่าตูนวิ่งไปแกรมมี่ทุกวัน (หัวเราะ)

ปิ๊ด:         นอกจากดนตรี เรื่องไอเดียก็ช่วยกันในทีม และพวกเราก็ต้องเตรียมร่างกายให้พร้อมเป็น 2 เท่า

ตูน:         สองเดือนก่อนถึงวันคอนเสิร์ต มันจะเหมือนเราเข้าค่าย ต้องมีตารางชัดเจนว่าต้องซ้อม ต้องออกกำลังกาย มันเป็นโอกาสที่เราได้โฟกัสกับร่างกายตัวเองด้วย บางทีอาจเป็นจุดเปลี่ยนให้เราแข็งแรงมากขึ้น

โอม:       ทุกคนต้องบรรจุตารางการออกกำลังกายไว้ในตารางของทุกคน

ยอด:      ที่ผ่านมาจะมีคอนเสิร์ตใหญ่ทีไร ผมจะไม่สบายทุกครั้ง รู้สึกแย่มาก ครั้งนี้จะดูแลตัวเองให้ดี อย่างตอนคอนเสิร์ต G16 ผมเป็นลมครับ ภาพหลังๆ นี่จำอะไรไม่ได้เลย อายุเราเริ่มเยอะขึ้นต้องใส่ใจเรื่องสุขภาพแล้ว

ตูน:       คอนเสิร์ตที่ราชมังคลาฯ ครั้งนี้ สำหรับผมเหมือนการแก้แค้นนะ คอนเสิร์ต Live in คราม ที่ราชมังคราฯ เมื่อ 9 ปีก่อน วันนั้นขึ้นไปด้วยสภาพ 50% เพิ่งออกจากโรงพยาบาล ผ่านความบอบช้ำจากกระดูกต้นคอเคลื่อน สภาพร่างกายเพิ่งฟื้น จิตใจช่วงนั้นยอมรับว่าดาวน์มาก โยกคอไม่ได้เต็มที่ แต่วันนั้นผมก็เต็มที่สุดเท่าที่ทำได้ ครั้งนี้ผมสุขภาพดีแล้ว ถ้าใช้ศัพท์บ้านๆ การกลับไปราชมังคลาครั้งนี้ เราจะไปแก้แค้น (หัวเราะ)

ปิ๊ด:         ตอนนั้นทุกคนห่วงตูนหมด ผมและคนอื่นๆ เห็นมันโยกคอ เคลื่อนตัวแล้วได้แต่คิดว่า “มึงอย่านะๆ ยังเหลืออีก 18 เพลงนะ” (หัวเราะ) แต่เข้าใจตูนนะว่าตอนนั้นต้องไปให้สุด

ตูน:         ตอนนั้นคือเบรกแตกครับ (ยิ้ม)

ชัช:          “Body Slam Fest วิชาตัวเบา Live in ราชมังคลากีฬาสถาน” ชื่อก็บอกว่าเป็น Festival บรรยากาศข้างในสนามเป็นคอนเสิร์ตโชว์และโปรดักชั่นคุณภาพ บรรยากาศด้านนอกเหมือนงานฉลอง

ตูน:         คืออยู่กันมา 16-17 ปี เราก็มีมุมมากมายที่อยากเล่าผ่านมิติอื่นๆ มากันได้แต่เที่ยงวัน มีบูธเล่าประวัติความเป็นมา เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับวง มีเวทีเล็กๆ ให้วงดนตรีหน้าใหม่ได้โชว์ และด้วยความที่แฟนเพลงเรามีหลากหลายวัย ตั้งแต่เด็กน้อยไปจนถึงผู้ใหญ่ และ ผุ้สูงวัย เราจัดโซนอำนวยความสะดวก มีแฟมิลี่โซน มีโซนสำหรับผู้พิการ จะได้ไม่ต้องขึ้นไปสเต็ปที่สูงๆ อยากให้ทุกคนในครอบครัวมีความสุขร่วมกัน

โอม:       มีของที่ระลึกจากวง มีอาหารเจ้าอร่อยประจำวง คือเราไปตามจังหวัดต่างๆ เราก็จะมีร้านอร่อยประจำจังหวัดที่ต้องไปกินทุกครั้ง ซึ่งเราได้เชิญเขามาออกร้านที่งานด้วย

ตูน:         โชว์ของพวกเราก็อยากให้มาเห็นของจริง แสง สี เสียง เวที ตั้งใจทำมาอย่างเต็มที่ ต้องมาเห็นที่ราชมังคลาฯ เท่านั้น ผมว่ามันพิเศษมาก ต่างจากการทุก DVD เล่าตรงนี้มันจะแห้งๆ นะ ไม่รู้สิ อยากจะชวนให้ทุกคนมา (ยิ้ม)

 

มักได้ยินพี่ตูนพูดคำว่า “ไม่มีทุกคนไม่บอดี้สแลม” อยู่เสมอ ความรู้สึกกับประโยคจากใจที่อยากอธิบายให้แฟนๆ ฟังคือ….

ตูน:         ผมมักจะพูดประโยคนี้อยู่ตลอด และรู้สึกแบบนี้จริงๆ บอดี้สแลมจะเดินทางมาถึงทุกวันนี้ไม่ได้ถ้าไม่ได้รับการสนับสนุน และความรักจากแฟนเพลง แฟนเพลงคอยมอบพลังดีกลับมาให้เราเสมอ เวลาไปทัวร์คอนเสิร์ต ความสุขที่ได้ก็คือแฟนเพลงที่มาเชียร์เราในแต่ละวัน ระยะหลังๆ มานี้เรามีแฟนเพลงกลุ่มใหม่ๆ แบบที่ไม่เคยเห็นเด็กน้อยเท่านี้มาก่อน หรือคนอายุเยอะแบบนี้มาก่อน เขาก็ฟังเพลงบอดี้สแลม มาดูคอนเสิร์ตเราด้วย เห็นแล้วก็รู้สึกดีจัง

ปิ๊ด:         ไม่นานมานี้ เด็กน้อยวิ่งมาหา “พี่ๆ ผมอยากร้องเพลงแสงสุดท้าย” ผมอัดคลิปไว้ด้วย โคตรน่ารักเลย

ตูน:       อายุมากสุด ก็มากกว่า 50-60 ปี รุ่นคุณย่า คุณยายก็เห็นบ่อย วันก่อนไปเล่นงานภายในบริษัท มีคุณป้าคนหนึ่งมาบอกว่า “เนี่ย ป้าไม่เคยดูมาก่อนเลย นี่ครั้งแรกนะ” แล้วเขาดูมีความสุขมากๆ เกาะรั้วดูหน้าเวทีตั้งแต่ต้นจนจบ แต่งตัวร็อคมาเลย คุณป้าอาจจะร้องไม่ได้ทุกเพลง แต่ร้องเพลง “แสงสุดท้าย” ได้ เราเป็นคนเล่น เห็นแล้วมีความสุขมาก แฟนเพลงมีความสุข พวกเรามีความสุข ทำให้รู้สึกว่า ดนตรีเป็นสิ่งวิเศษมากอย่างนี้นี่เอง

Text: AuAi Photo: sudsapda

The road song ของพี่น้องสายดนตรี ปาล์มมี่ พี่ตูน Bodyslam

ตูน Bodyslam  ผู้ชายหลากมิติ กับ 11 เรื่องน่ารัก-น่ารู้ (มีคลิป)

 

 

สุดสัปดาห์

keyboard_arrow_up