ไม่เพียงแต่เป็นร็อคสตาร์เท่านั้น ผู้ชายชื่อ อาทิวราห์ คงมาลัย หรือ พี่ตูน บอดี้สแลม สมัยเรียนยังเป็น บัณฑิตเกียรตินิยม อันดับ 1 จุฬาฯ อดีตสจ๊วตที่ฉีกกรอบตัวเองมาเป็นร็อคเกอร์ เคยลงแข่งกีฬาแห่งชาติ เป็นฮีโร่นักวิ่ง เรียกว่าเป็นทุกอย่างจริงๆ สำหรับผู้ชายหลากมิติคนนี้
เรื่องน่ารัก-น่ารู้ของ พี่ตูน บอดี้สแลม
1. หนุ่มนักดนตรีผู้ไม่เคยทิ้งความฝัน จาก ตูน ละอ่อน ถึง ตูน บอดี้สแลม
สมัยเรียนอยู่สวนกุหลาบวิทยาลัย ช่วงมัธยมปลาย พี่ตูนได้รวมตัวกับเพื่อน ตั้งวงดนตรีชื่อ วงละอ่อน ขยันซ้อมขยันเล่นกันด้วยความรักในดนตรี จนวันหนึ่ง สมาชิกจับมือกันเข้าประกวดเวที Hot Wave Music Award ครั้งที่ 1 ซึ่งเป็นเวทีประกวดวงดนตรีนักเรียนมัธยมที่โด่งดังมากที่สุดในยุคนั้น ครั้งนั้นวงละอ่อน คว้ารางวัลชนะเลิศ และทำให้พวกเขาได้มีโอกาสได้เซ็นสัญญากับค่ายเพลงมิวสิค บั๊กส์ ออกอัลบั้ม 2 ชุด
แต่หลังจากนั้นวงก็ยุบ เพราะสมาชิกขอตัวแยกย้ายกันไปเรียน และปฏิบัติภาระหน้าที่ของตัวเอง สมาชิกที่ยังเหนียวแน่น เหลือแค่ ตูน ปิ๊ด (ธนดล ช้างเสวก มือเบส) และเภา (รัฐพล พรรณเชษฐ์ มือกีตาร์) ก็รวมตัวกันสร้างวงใหม่ขึ้นมาในชื่อว่า “บอดี้สแลม” มีความหมายว่าการทุ่มเทอย่างสุดตัว
พี่ตูนได้เคยเล่าถึง เส้นทางดนตรีในช่วงแรกๆ ให้สุดฯ ฟังว่า
“ช่วงประมาณ ม.4 กำลังเล่นดนตรี เริ่มฟังเพลงร็อค ช่วงนั้นเหมือนการค้นพบโลกใหม่ เพราะสมัยอยู่สุพรรณฯ โลกดนตรีเรายังไม่กว้าง ฟังแต่เพลงไทยที่ฮิตๆกัน เพลงลูกทุ่งบ้าง พอมาอยู่กรุงเทพฯ ได้เจอเพื่อนที่เล่นดนตรี ก็ให้เราฟังเพลงเฮฟวี่ รู้สึกว่าฟังอะไรเพลงหนักจัง สุดท้ายก็ต้องฟัง เพราะเป็นนักร้องของวง กลายเป็นชอบไม่รู้ตัว ผมเคยโดนเพื่อนว่า “แม่งร้องเพลงภาษาอังกฤษสำเนียงเจ๊ก” ผมไม่โกรธนะ แต่มันเป็นแรงผลักดัน ให้อยากพิสูจน์ตัวเองว่าเราทำได้ ผมเลยต้องฟังเยอะขึ้น ศึกษารายละเอียด ต้องร้องแบบนี้ ออกเสียงแบบนี้ ดีซะอีกที่เพื่อนว่า ถ้าเขาไม่ว่าเราวันนั้น เราอาจจะร้องเพลงไปโดยที่ไม่ลงรายละเอียดก็ได้” (พี่ตูนให้สัมภาษณ์กับสุดสัปดาห์ เมื่อ มีนาคม 2557)
2. บัณฑิตเกียรตินิยม อันดับ 1 คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ใช้คำว่า “เรียนดี กิจกรรมเด่น” กับผู้ชายคนนี้คงไม่ผิด ความที่มุ่งมั่นกับการเล่นดนตรี มีความฝันที่จะเป็นศิลปิน แต่อีกด้านหนึ่งของการเรียน พี่ตูนเอนทรานซ์ติด คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่เรียนอยู่ ม. 5 เลยนะ และขณะที่ศึกษาในรั้วจามจุรี พี่ตูนก็ไม่บกพร่องกับการเรียน ซึ่งเป็นที่รู้กันว่า การเรียนด้านนิติศาสตร์ ต้องมีวินัยในการอ่านตำรับตำรา ท่องมาตรากฎหมายอย่างมาก
ผลที่ได้รับคือ พี่ตูนสามารถคว้าปริญญาตรี เกียรตินิยม อันดับ 1 มาครอง สร้างความภูมิใจให้กับครอบครัวคงมาลัย และถือเป็นตัวอย่างที่ดี ให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่อีกด้วย
“ผมสอบเทียบตั้งแต่ม. 4 เลย เอ็นท์เกี่ยวกับการออกแบบ วาดรูป อย่าง มัณฑนศิลป์ แต่สอบไม่ติดครับ เพราะผมวาดรูปแย่มาก ผมมาสอบติดอีกทีตอน ม. 5 สมัยเรียนผมเกรดไม่ดี ก็ไปละจ้า… (หัวเราะ) กลัวว่าตอนม. 6 เอ็นท์ไม่ติด แล้วมาคิดเสียดายว่าทำไมไม่ไปตั้งแต่.5 ” (ตูนให้สัมภาษณ์กับสุดสัปดาห์ เมื่อ มีนาคม 2557)
3. สจ๊วตก็เป็นมาแล้ว
ระหว่างที่ตั้งก่อตั้ง วงบอดี้สแลม มาพักใหญ่ แต่ยังไม่ได้มีผลงานเพลงออกมา พอเรียนจบปริญญาตรี พี่ตูนก็ได้ลองไปสมัครเป็นสจ๊วต และสามารถผ่านเข้าเป็นสจ๊วต ให้กับสายการบินกัมพูชาแอร์ไลน์ แม้เส้นทางการทำงานจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง แต่เขายังไม่ละทิ้งความฝันด้านดนตรี การเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ไม่ว่าจะ อินเดีย ซาอุดิอาระเบีย ฯลฯ กลายเป็นความสุข เป็นแรงบันดาลใจในชีวิต และการแต่งเพลงให้เขาอย่างมากนั้นช่วงนั้น บ่อยครั้งเมื่อถึงคิวต้องไปบิน พี่ตูนก็หอบหิ้วกีตาร์ไปด้วย เพื่อเล่นและแต่งเพลง ขณะที่เข้าพักในโรงแรม พี่ตูนเป็นสจ๊วตอยู่ 2 ปี ก็ลาออกมาทำตามฝันด้านดนตรี จนเกิดเป็นวงบอดี้สแลม วงดนตรีร็อคในตำนานของเมืองไทย
4. สุภาพบุรุษนักกีฬา
พี่ตูนชื่นชอบการเล่นกีฬา ทั้งฟุตบอล ปั่นจักยาน ปิงปอง วิ่ง แข่งไตรกีฬา แถมยังเคยก้าวเข้าสู่วงการนักกีฬาอย่างเต็มตัวเต็มรูปแบบ ถึงขั้นได้ลงแข่งจริงจัง ด้วยการเข้าแข่งขันรายการเทเบิลเทนนิสชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย ประจำปี 2554 และ 2555 ได้เข้าร่วมการแข่งขันระหว่างสโมสรอยู่หลายแมชท์ และในปี 2557 เขายังเข้าร่วมการแข่งขัน กีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 42 ที่จังหวัดสุพรรณบุรี โดยเข้าร่วมทีมเทเบิลเทนนิสของจังหวัดเจ้าภาพ และเป็นตัวแทนนักกีฬากล่าวคำปฏิญาณตนในพิธีเปิดด้วย
แข่งขันเทเบิลเทนนิส กีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 42 ที่จังหวัดสุพรรณบุรี
เป็นตัวแทนนักกีฬากล่าวคำปฏิญาณตนในพิธีเปิด กีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 42 ที่จังหวัดสุพรรณบุรี
5. ผู้ชายสายบุญ
ก่อนออกวิ่งเพื่อระดมทุน ทั้งที่บางสะพาน และโครงการ ก้าว ครั้งล่าสุดนี้ พี่ตูนชอบทำบุญอยู่แล้ว (คงมีหลายสิ่งที่เรายังไม่รู้เกี่ยวกับพี่เขาสินะ) เท่าที่รู้กันคือพี่ตูนชอบ สนับสนุนเรื่องทุนการศึกษา เด็กเรียนดีแต่ขาดทุนทรัพย์ ทั้งที่จังหวัดสุพรรณบุรีบ้านเกิด บางสะพานที่เปรียบเหมือนบ้านหลังที่สามของเขา และที่อื่นๆ ด้วย
นอกจาก โครงการก้าวคนละก้าว เพื่อ 11 โรงพยาบาลทั่วประเทศ ระหว่างทางยังมีโครงการเล็กๆ “พี่ตูนช่วยน้องก้าว” โดยช่วงพักกลางวัน จะมีการมอบทุนการศึกษา ให้หนึ่งโรงเรียนที่วิ่งผ่าน เป็นเงินจำนวน 50,000 บาทต่อโรง (เงินส่วนนี้มาจากบริษัท ห้างร้านที่ใจบุญร่วมสนับสนุน) และทุนการศึกษาให้น้องๆ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 อีก 100 ทุนๆละ 10,000 บาท ในส่วนนี้เป็นเงินส่วนตัวของพี่ตูน มอบให้น้องๆ ที่เรียนดีแต่ขาดแคลน เป็นการส่งกำลังใจดีๆ ให้เยาวชนได้ก้าวต่อไปเพื่ออนาคตที่สดใส