หอมนสิการ แหล่งท่องเที่ยว จังหวัดสระบุรี ตั้งอยู่เบื้องหน้าเขาพระพุทธบาทน้อย อำเภอแก่งคอย สร้างโดยมูลนิธิ โนอิ้ง บุดด้า เพื่อการปกป้องพระพุทธศาสนา มีวัตถุประสงค์เพื่อการสืบสานวัฒนธรรมและปกป้องพระเกียรติพระบรมศาสดา และปลุกจิตสำนึกที่ดีงามให้แก่ปวงชน ในหอมนสิการแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนนิทรรศการ การเดินทางของพระพุทธเจ้า แสดงประวัติของพระพุทธองค์ในรูปแบบแสง สี เสียง ที่ไม่เคยมีที่ไหนมาก่อน และด้านในเป็นส่วนหอจัตุรัส ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ พระพุทธรูปพระบรมโลกนาถ ขนาดหน้าตัก 30 นิ้ว และภาพปักพระบรมโลกนาถ
โครงการ “หอมนสิการ” เกิดขึ้นตามดำริของอาจารย์อัจฉราวดี วงศ์สกล ประธานมูลนิธิ โรงเรียนแห่งชีวิต ประธานมูลนิธิ โนอิ้ง บุดด้า เพื่อการปกป้องพระพุทธศาสนา ตั้งอยู่ใน อ.แก่งคอย ริมเทือกเขาพระพุทธบาทน้อย อันงดงามตระการตา หอมนสิการมีขนาด 7.4 ไร่ ใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปี นอกจากหอมนสิการจะมีฉากหลังเป็นทัศนียภาพที่งดงามากแล้ว ยังมีนิทรรศการจำลองเส้นทางเดินของพระพุทธเจ้า ในรูปแบบนิทรรศงานร่วมสมัย ที่จะดึงผู้เข้าชมให้เหมือนย้อนเวลาไปที่อินเดีย เมื่อ 2,500 ปีก่อน ที่ด้านในสุดของหอเรียกว่า หอจตุรัส ประดิษฐานสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อการสักการะ ที่จะทำให้ผู้มาเยือนเดินทางกลับไปแบบ ไม่ว่างเปล่า แต่จะได้ข้อคิดในหลักการดำรงชีวิต เป็นเมล็ดพันธุ์แห่งปัญญาที่พระพุทธเจ้าได้ทรงชี้ทางไว้ และยังมีสถานที่เรียนรู้ฝึกสมาธิเบื้องต้นแบบไม่มีพิธีรีตอง เป็นสมาธิชิมลองเพื่อให้สัมผัสความสงบใจ งานทุกส่วนของมนสิการมีสองภาษากำกับ เพื่อรองรับทั้งนักท่องเที่ยว ชาวไทยและชาวต่างชาติ ประสบการณ์ทั้งหมด จะนำมาสู่การไตร่ตรองอย่างแยบคายในหลักการดำเนินชีวิตอย่างมีศีลธรรม การไตร่ตรองโดยแยบคายคือคำแปลของคำว่า “มนสิการ”
หอมนสิการประกอบด้วยกลุ่มอาคารดังนี้ อาคารหอมนสิการ แบ่งเป็นส่วนนิทรรศการ และหอจตุรัส ประดิษฐานสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อสักการะบูชา อาคารนิทรรศการ Spiritual Life แสดงคำสอนของพระบรมศาสดา และห้องฝึกนั่งสมาธิคาเฟ่ Market Place ร้านขายสินค้าชุมชนและสินค้าโดยผู้ปฏิบัติธรรม มุม Snack and Nap เป็นที่ผ่อนคลายกึ่ง Outdoor
สถาปัตยกรรมและการออกแบบภายใน
หอประดิษฐานพระบรมโลกนาถ พระพุทธรูปองค์สีทอง ขนาดหน้าตัก 30 นิ้ว ตลอดจนพระบรมสารีริกธาตุที่เสด็จมาต่างวาระ 18 พระองค์ และ ภาพปัก พระบรมโลกนาถ รูปแบบสถาปัตยกรรมแรกเริ่มทั้งภายนอกและภายใน ออกแบบโดย อ.อัจฉราวดี โดยต้องการให้ตัวอาคาร มีความร่วมสมัย ไม่เป็นแนวประเพณีจนเกินไป ยอดหลังคาได้แรงบันดาลใจมาจากโบสถ์วัดพุทธไธศวรรย์ จ.อยุธยา เป็นศิลปะอยุธยาตอนต้น ผสมผสานศิลปะแบบขอม ด้านหน้าอาคารมีกันสาดมีลวดลายอาคารแบบนีโอคลาสสิก ทางเดินด้านในช่วงนิทรรศการเป็นอุโมงค์โค้งมนแบบอุโมงค์ทางเดินริมฝั่งแม่น้ำ Arno ด้านหน้าของ Uffizi Museum ที่ฟลอเรนซ์ อิตาลี จากนั้นได้เชิญคุณนาคนิมิตร สุวรรณกูฏ ซึ่งเป็นทายาทของศิลปินชั้นครูระดับตำนาน คุณไพบูลย์ สุวรรณกูฏ ผู้เป็นศิษย์รุ่นแรกและใกล้ชิดกับศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี มาต่อยอด รับหน้าที่เป็นศิลปินและผู้ออกแบบลวดลายสถาปัตยกรรม และให้คำปรึกษาตกแต่งภายใน คุณนาคนิมิตรผูกลวดลายตัวอาคารให้มีความเป็นสากล โดยการผสมผสานลวดลายสไตล์อินเดีย สไตล์วิกตอเรีย และสุโขทัย เพื่อให้มีรูปแบบเฉพาะของมนสิการ
ทุกขั้นตอนของโครงการ ตั้งแต่แนวคิด รูปแบบ ไปจนถึงวัสดุการก่อสร้าง ดีไซน์ ทั้งภายนอกและภายใน ผ่านการพิจารณาอย่างละเอียดและเข้มงวด รวมทั้งเดินทางไปดูสถาปัตยกรรม โบราณสถานที่เมืองชัยปุระ ประเทศอินเดีย เพื่อนำมาเป็นแนวคิดในการออกแบบหอมนสิการ อาจารย์อัจฉราวดี ได้อธิบายถึงเหตุที่ต้องลงมาดูเองทุกขั้นตอนว่า “ความต้องการ คือ เมื่อผู้เข้าชมได้เห็นและก้าวเข้ามาในบริเวณนี้ จะสัมผัสได้ทันทีถึงความสง่างามและความร่วมสมัย ที่น้อมใจของผู้ที่ได้พบเห็น เกิดความนอบน้อมต่อพระบรมศาสดาอย่างสูงสุด” ในส่วนนิทรรศการจำลองการเดินทางของพระพุทธเจ้า เป็นส่วนสร้างสรรค์ภาพและโพรดักชัน ได้ทีมงานระดับมืออาชีพมาช่วย โดยผลงานบางส่วนเป็นของ คุณจิระวุฒิ ศิริจันทร์ อดีตช่างภาพใหญ่ของนิตยสาร IMAGE และ คุณโบวี่ อัฐมา ชีวนิชพันธ์ นักแสดง ที่ร่วมเป็น หัวหอกผลักดันภาพร่างให้เป็นความจริง
ทางเดินนิทรรศการ เส้นทางเดินของพระพุทธเจ้า (The Buddha’s Path: An Exhibition Passageway)
จุดแรกที่ผู้มาเยือนจะได้สัมผัส คือ ทางเดินนิทรรศการ “เส้นทางเดินของพระพุทธเจ้า” นิทรรศการร่วมสมัย “Journey to the Life of Buddha” วิถีแห่งความเสียสละกว่าที่ พระพุทธองค์จะทรงบรรลุเป็นพระพุทธเจ้า ที่จะปลุกจิตสำนึกในธรรมแท้ ผ่านการจัดแสดงแบบ Interactive อันเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ด้วยงานศิลปะร่วมสมัย ภาพ แสง สี เสียงบรรยาย และวิดีโอสื่อผสมระดับภาพยนตร์ ให้ได้ซึมซับผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 นำพาผู้เข้าชมย้อนสู่ครั้งพุทธกาล บอกเล่าเรื่องราวของเจ้าชายสิทธัตถะ ที่ทรงกำเนิดมาอย่างสมบูรณ์พร้อม แต่กลับปรารถนาค้นหาหนทางแห่งการพ้น จากความทุกข์ ทรงมีความพากเพียรและความเสียสละอย่างยิ่งยวด กว่าจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ฝั่งนิทรรศการขาออก จะนำผู้ชมกลับมาสู่ยุคปัจจุบัน ให้ได้พิจารณาใช้ชีวิตบนเส้นทางแห่งความดีงาม ส่วนที่น่าสนใจอย่างมาก คือ ห้องพุทธกาล ช่วงที่ 5 ที่กล่าวถึงการ “หนี” จากพระราชวังเพื่อออกผนวช บำเพ็ญเพียรค้นหาทางรอดจากกงล้อแห่งวัฏสงสาร กับช่วงที่ 6 “การทรมานร่างกายครั้งประวัติศาสตร์” ที่จัดแสดงหุ่นขี้ผึ้ง (เสมือนจริง) พระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา ตามความเชื่อในแบบลัทธิดั้งเดิม จนพระวรกายผ่ายผอม เพื่อค้นหาธรรมแห่งการพ้นไป และช่วงที่ 7 “การค้นพบทางหลุดพ้น และ ความจริงอันสูงสุดของสรรพสิ่ง”
กราบสักการะพระบรมสารีริกธาตุ พระพุทธรูป และ ภาพปักพระบรมโลกนาถ
ณ หอจตุรัสอันศักดิ์สิทธิ์ และงดงามอร่ามด้วยสีทอง ตัดกับผ้าไหมสีแดงที่ตกแต่งอย่างละเอียด ประณีต เป็นที่ประดิษฐาน “พระบรมโลกนาถ” พระพุทธรูปขนาดหน้าตัก 30 นิ้ว ปิดทองคำบริสุทธิ์งดงามผุดผ่อง โดยหนึ่งใน มวลสารที่ใช้หล่อพระพุทธรูป คือ มวลสารดินจากกุสินารา และทองคำบริสุทธิ์ เป็นมวลสารหลัก ซึ่งพิธีเททอง หล่อพระ จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ ณ บริเวณหน้าหอมนสิการ องค์พระบรมโลกนาถนั้น เป็นพระพุทธรูปศิลปะแบบอินเดีย ที่มีลักษณะเสมือนจริงกับมนุษย์ เพื่อให้ผู้บูชาสามารถน้อมจิตได้ใกล้ชิดพระพุทธองค์ในแบบกายเนื้อมนุษย์มากยิ่งขึ้น ต่างจะพระพุทธรูปที่เรามักพบเห็นและนิยมสร้างในประเทศไทย พระพักตร์ของพระบรมโลกนาถมีความงดงามและสงบเย็น พระเนตรเปี่ยมด้วยความเมตตา ยังความสงบเมื่อได้มอง
ภายในหอยังเป็นที่ประดิษฐานองค์พระบรมสารีริกธาตุ ที่เสด็จมาด้วยพุทธปาฏิหาริย์ใน 3 วาระ รวมทั้งสิ้น 18 พระองค์ และยังมีภาพปักพระบรมโลกนาถ ที่ปักโดย สุวลักษณ์ เสนานุช มีขนาดความกว้าง 67.2 ซม. สูง 85.6 ซม. จำนวนฝีเข็มกว่า 651,000 ฝีเข็ม ใช้ไหมทั้งหมด 49 สี โดยปักครั้งละ 3 เส้น (ปกติทั่วไปจะใช้ 2 เส้น) มีความหมาย คือ พระรัตนตรัย เส้นที่ 1 แทนพระพุทธ เส้นที่ 2 แทนพระธรรม และเส้นที่ 3 แทนพระสงฆ์ ซึ่งผู้ปักภาพบริกรรม คำว่า “นิพพาน” ทุกฝีเข็ม และถือศีล 8 ตลอดระยะเวลาการปัก 8 เดือน
นิทรรศการ “Spiritual Life” เพื่อความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องต่อพระพุทธศาสนา
ด้านนอกหอมนสิการ มีอาคารจัดแสดงนิทรรศการ “Spiritual Life” เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องต่อพระพุทธศาสนา ซึ่งถูกรังสรรค์ขึ้นมาเพื่อให้ความรู้ในหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า หลักการประพฤติปฏิบัติที่ถูกต้องต่อพระบรมศาสดาและพระพุทธสัญลักษณ์ และมีอาคารสอนและปฏิบัติสมาธิ โดยอาจารย์สอนสมาธิ จัดสอนฝึก นั่งสมาธิเบื้องต้นให้กับผู้ที่สนใจ
หอมนสิการจะเปิดให้เข้าชมในวันที่ 30 กันยายน 2565 เป็นต้นไป
เปิดบริการ
อังคาร – ศุกร์ : 10.00 – 17.00 น.
เสาร์ – อาทิตย์ : 09.30 – 18.00 น.
(หยุดทุกวันจันทร์)
ค่าเข้าชม คนไทย 20 บาท คนต่างชาติ 50 บาท
เด็ก นักเรียน นักศึกษา ผู้สูงวัย ผู้พิการ นักบวช เข้าฟรี *ค่าเข้าชมนี้เพื่อช่วยสนับสนุนค่าน้ำค่าไฟ
หอมนสิการ : 63/3 หมู่ 10 ต.สองคอน อ.แก่งคอย จ.สระบุรี
โทรศัพท์ : 095 760 0885 แผนที่เดินทาง : https://maps.app.goo.gl/8EcesozVyF8E8efr8?g_st=ic