“หล่อ” “น่ารัก” “ฉะฉาน” “หลงรัก” คือความรู้สึกที่คนดูมีต่อพิธีกรประจำรายการ The Mask Singer ซึ่งก็คือ กันต์ กันตถาวร ตอนนี้งานในฐานะผู้ดำเนินรายการเริ่มแซงหน้างานการแสดง มีหลายสิ่งจากการพูดคุยกันที่เราก็เพิ่งรู้ว่าเขามีมุมแบบนี้ด้วยหรือ และเรียกว่าผ่านชีวิตมาพอสมควร ความกล้าเล่าของเขาทำให้รู้สึกว่าเขาไม่มี “หน้ากากนักแสดง” ที่ใช้ปกปิดเรื่องบางเรื่องในชีวิตที่ถ้าเป็นคนอื่นอาจจะไม่เล่า
กันต์ กันตถาวร
มีคำพูดบอกว่า คุณคือตัวตายตัวแทนในการทำหน้าที่พิธีกรแทนคุณปัญญา นิรันดร์กุล
“โห (อุทานออกมา) คงไม่ขนาดนั้นหรอกครับ สำหรับพี่ตา-ปัญญา ผมว่าเป็นเลเจนด์ไปแล้ว คงไม่มีใครแทนได้ ผมว่าทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุดก็พอแล้ว รายการที่ผมรับผิดชอบอยู่ตอนนี้หนึ่งในนั้นคือรายการ แฟนพันธ์แท้ Super Fan ซึ่งพี่ตาเคยทำจนกลายเป็นตำนานเกมโชว์ของเมืองไทย พอได้มาทำรู้สึกกดดันมาก ต้องทำการบ้านเยอะ แต่ก็ดีใจ เพราะเป็นรายการที่ดูตั้งแต่เด็ก ใครได้ทำถือเป็นความภูมิใจในชีวิต
“สิ่งที่ผมทำคือทำการบ้านหนักมาก ผมย้อนดูรายการนี้ตั้งแต่เอพิโสดแรกจนถึงเอพิโสดสุดท้าย ทำแม็พปิ้ง จดเลกเชอร์ ดูพิธีกรคนเดิมว่าเราควรเอาจุดดีจุดไหนของเขามาใช้แล้วผสมให้เป็นตัวเอง ผมว่ารายการควรออกมาสนุกสนาน เพราะจริงๆ แล้วตัวผมเองในชีวิตประจำวันก็เป็นแบบนั้น ไม่ต่างจากที่เห็นในรายการ เพียงแต่ด้วยการแสดงละคร ไม่ว่ากี่เรื่องต่อกี่เรื่องมีน้อยมากที่ผมได้เล่นบทคอมเมดี้ แต่คอมเมดี้ในละครก็ไม่ใช่คอมเมดี้ในชีวิตจริง
“ถ้าถามว่าผมเป็นคนแบบไหน ผมก็จะบอกว่า ผมเป็นคนตลด ขี้เล่น กวนตีน อยู่กับเพื่อนๆ ผมต้องการเสียงเฮฮาและความจรรโลงใจในการใช้ชีวิต ณ โมเมนต์นั้น นั่นคือตัวตน แต่ด้วยคอนเทนต์รายการมันจะต้องมีความคม ความชัดเจนทั้งน้ำเสียงและเนื้อหา ต้องมีการคิดอยู่ตลอดเวลา ต้องฟังให้เยอะว่าคนที่ร่วมรายการพูดอะไร แล้วดึงเนื้อหาที่เขาพูดออกมาให้คนดูเข้าใจให้ได้ นี่คือสิ่งที่เราต้องเติมเข้าไปพร้อมกับความเป็นตัวเองที่มีอยู่”
เขาว่าสิ่งที่ยากที่สุดในการทำงานคือการปลุกตัวเองให้ตื่นในตอนเช้า
“ผมใช้วิธีตั้งนาฬิกาปลุก 3 รอบ ถ้าต้องออกจากบ้านหกโมงครึ่ง ผมจะตั้งไว้เลย หกโมง หกโมงห้านาที หกโมงสิบนาที ผมไม่ค่อยมีปัญหากับการตื่นสักเท่าไหร่ รู้ว่าการพักผ่อนไม่พอทำให้เพลีย สิ่งที่ครอบครัวสอนจนผมเป็นผมทุกวันนี้คือตรงเวลา รับผิดชอบหน้าที่ของตัวเอง และไม่ทำความเดือดร้อนให้คนอื่น ผมเป็นคนตรงเวลาจัดมาด ถ้านัดแปดโมง เจ็ดโมงครึ่งผมถึงแล้ว แต่อย่าเพิ่งยุ่งกับผมนะผมจะเดินดื่มกาแฟของผมไป พอแปดโมงผมถึงจะเข้าไปนั่งให้แต่งหน้า
“เรื่องความรับผิดชอบต่อหน้าที่ตัวเองก็เช่นกัน อย่างบท ถ้าได้มาแล้วหน้าฉากต้องไม่ถือ เขาจ้างเราเล่นละครเราก็ต้องทำการบ้าน เตรียมตัวมาให้พร้อม ถ้ามาถือบทหน้าฉากใครก็เล่นได้หรือเปล่า ผมรู้สึกว่านี่คือการรับผิดชอบหน้าที่ตัวเอง และเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อเพื่อนร่วมงานด้วย เราจะได้ไม่เป็นจุดบกพร่อง ไม่ใช่ว่าเราไม่พร้อมอยู่คนเดียวแล้วทำให้ทีมต้องทำงานเหนื่อยขึ้น การเคารพผู้อื่นเป็นสิ่งที่สำคัญมาก
“ผมเลยรู้สึกว่าไม่ว่าใครก็เท่าเทียมกันหมด อย่าถือว่าตัวเองเป็นดารานักแสดง ทีมงานเขาเหนื่อยกว่าอีก กองถ่ายนัดนักแสดงเจ็ดโมง ทีมงานต้องมาตั้งแต่หกโมง นักแสดงเลิกสี่ทุ่ม กว่าทีมงานจะได้กลับบ้านก็เที่ยงคืน เพราะฉะนั้นผมจะไม่งอแง เราต้องรับผิดชอบตัวเอง ผมให้เกียรติทุกคน ไม่ดูถูกคน คนไทยเราพอไม่พูดตรงๆ มันเลยเกิดการนินทาเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นผมพูดตรงๆ ดีกว่า เพียงแต่ว่าตอนนี้ไม่อารมณ์ร้อนแล้วเท่านั้นเอง ไม่ปะทะ เพราะผมปะทะมาเยอะแล้ว ต่อยคนมาเยอะ โดนเขาต่อยมาก็เยอะ ผมเคยเป็นนักเลง นี่ผมพูดจริงๆ”
เหมือนจะได้ยินข่าว
“ใช่ครับ ล่าสุดก็ขี่จักรยานออกจากบ้าน กำลังจะคุยกับเพื่อนเรื่องงานแต่ง มีรถขับมาชนจักรยานผมแล้วไม่จอด ณ ตอนนั้นพูดในมุมของกฎหมายคือมันไม่ถูกต้อง จะปล่อยไว้ได้อย่างไร แล้วซอยนั้นเป็นซอยบ้านผม ผมรู้อยู่แล้วว่าซอยบ้านผมเป็นซอยตัย ผมขี่ตามอยู่เกือบสองกิโล พอตามทันก็กระชากประตูให้เขาออกมา ถามว่าชนแล้วทำไมไม่จอด เขาบอกว่าเขาไม่รู้ “ไม่รู้ได้ไง สีจักรยานของผมยังติดอยู่ที่ตัวรถคุณเลย ไม่รู้จริงหรือ” ผมรู้สึกว่าเขาขับหนี แต่เขาบอกว่าเขาไม่รู้เรื่อง พอคุยเรื่องนี้กับแฟนของผมและคุณพ่อคุณแม่ เขาก็บอกว่าถ้าอีกฝ่ายมีปืนล่ะ แต่จังหวะนั้นยอมรับว่าไม่ทันคิด แค่คิดว่ามันไม่ถูกต้อง
“ผมคิดว่าตัวเองเป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง เพียงแต่อาชีพที่ผมทำมันต้องผ่านกล้อง ผ่านเลนส์ แต่จริงๆ ผมก็คนปกติ ผมไม่อยากทำตัวให้ไม่ปก เพราะแค่คนมองเราก็ดูไม่ปกติอยู่แล้ว เราต้องยอมรับตรงนี้ก่อน ดารานักแสดงและคนที่ทำงานในวงการบันเทิงจะดูเป็นคนที่ไม่ปกติขึ้นมาอีกหนึ่งสเต็ปสำหรับคนทั่วไป “เฮ้ย ดารา” (ทำเสียงสูง) เพราะฉะนั้นผมเลยอยากทำตัวให้ปกติที่สุดเท่าที่ทำได้ จริงๆ ผมก็กินข้าว ดื่มน้ำ สังสรรค์กับเพื่อนเหมือนพวกคุณนั่นแหละครับ แล้วผมก็พูดกูมึงเหมือนพวกคุณด้วย เพียงแต่พวกเราพยายามที่จะไม่ทำอะไรที่มันเกินเลยในสิ่งที่จะออกไปสู่พับลิก ต้องคิดก่อน ซึ่งนี่เป็นความรับผิดชอบที่ดารานักแสดงควรมีก่อนจะมาเรียกร้องขอเป็นคนปกติ”
เวลาขี้เกียจถ่ายรูป บอกกับคนที่มาขอถ่ายไหม
“บอกครับ ไม่ต้องเป็นดาราหรอก คิดว่าถ้าเป็นคุณ นั่งกินข้าวอยู่แล้วมีคนตั้งกล้องถ่ายรูป คุณไม่รู้สึกอะไรหรือ เป็นใครก็รู้สึก เพียงแต่เราต้องเคารพสิทธิ์ซึ่งกันและกัน เวลาไปงานแล้วมีคนอยากถ่ายรูปเราเป็นเรื่องที่ดี เพราะเขาไม่ได้เจอเราทุกวัน การที่เขาขอถ่ายรูปแปลว่าเขาชื่นชอบ ติดตามผลงาน แต่ถ้าอยู่ดีๆ มาฉุดกระชากลากถู ยอกว่า “มาถ่ายก่อนๆ” ผมว่าเกินไป หรือถ้าเจอตอนกินข้าวอยู่ ผมก็จะบอกว่าผมกินข้าวอยู่ ไม่สะดวกครับ “พี่รีบไหมครับ” ถ้าเขาบอกว่ารีบ ผมหยุดกินก่อนก็ได้ แล้วถ่าย แต่ถ้าบอกไม่รีบ ผมขอกินให้เสร็จก่อนแล้วจะถ่ายด้วย ทุกอย่างถ้าคุยกันมันจยิ้มแล้วจบ
“แต่ถามว่ารู้สึกอย่างไรกับสิ่งที่ต้องแลกนี้ ผมรู้สึกปกติ เพราะเราเข้ามาเอง ไม่ได้มีใครกระโดดถีบเราเข้ามาทำ มันเหมือนต้นทุนที่คุณต้องจ่าย ยิ่งมีชื่อเสียงมากเท่าไหร่ก็ยิ่งเป็นที่จับจ้องมากเท่านั้น ในทางตรงกันข้ามถ้าคุณทำเรื่องที่ไม่ดีก็จะเจอสิ่งที่ตรงกันข้ามเช่นกัน เป็นสิ่งที่คนทำงานตรงนี้ต้องรู้อยู่แล้ว ไม่ใช่ว่ามาเรียกสิทธิ์นี้ตอนหลัง แต่สุดท้ายแล้วเรื่องของจิตใจมันคือคนเหมือนกัน เพียงแต่งานของเรามันทำให้เราใหญ่โตมากกว่าคนปกติเท่านั้น”
ยัง ยังฟินไม่พอ ต่อที่หน้าถัดไปเลยค่า