KTC PR Press Club

KTC PR Press Club แจกไอเดียเที่ยวแบบฉบับ “เริงพระนครตะลอนสยามอารยะ”

Alternative Textaccount_circle
event
KTC PR Press Club
KTC PR Press Club

เรารู้จักกรุงเทพมหานครมากว่า 240 ปี แต่ก็ยังมี “ความลับ” ที่หลายคนยังไม่รู้จักซ่อนอยู่ KTC PR Press Club เลยจัดทริปอาสาพาไปไขความลับฉบับพาเดินสายเที่ยวคอนเซ็ปต์ “The Secret of พระนคร” อย่างต่อเนื่อง

ล่าสุดกับทริป The Secret of พระนคร ตอน “เริงพระนครตะลอนสยามอารยะ”ที่ KTC จะพาเราไปย้อนอดีตตามรอย 5 จุดเช็คอิน ที่ควรค่าแก่การตามไปเก็บร่องรอยความเจริญก้าวหน้าของบ้านเมือง และการพัฒนาสยามสู่ความเป็นอารยประเทศในช่วงรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6

หอวชิราวุธานุสรณ์

ม.ล.ปิ่น มาลากุล ได้ริเริ่มก่อตั้งหอวชิราวุธานุสรณ์ขึ้นเพื่อฉลองวันพระบรมราชสมภพครบ 100 ปีของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในวันที่ 1 มกราคม 2524 และเพื่อเป็นแหล่งค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับรัชกาลที่ 6 ที่มีทั้งต้นฉบับ ลายพระราชหัตถ์ พระราชประวัติ พระราชนิพนธ์ พระราชกรณียกิจ ตั้งอยู่บริเวณภายในรั้วหอสมุดแห่งชาติ เป็นอาคารทรงไทย 4 ชั้น มีพื้นที่ที่เราสามารถเข้าไปเก็บบันทึกความทรงจำล้ำค่า

KTC PR Press Club

แต่ไฮไลท์ที่ทำเอาเราฟังวิทยากรเล่าเพลินมากคือ การเป็นแหล่งค้นหาข้อมูลนามสกุลพระราชทาน 6,432 นามสกุล ที่ทรงพระราชทานแก่ขุนนาง พ่อค้า ประชาชน รวมถึงพระบรมรูปหุ่นในห้องปรศราม ซึ่งจำลองแบบมาจากห้องทรงพระอักษร ที่มีหนังสือส่วนพระองค์ของจริงให้เห็นกันใกล้ๆ

KTC PR Press Club
พระที่นั่งไพชยนต์มหาปราสาท พระที่นั่งองค์ประธานของหมู่พระมหาปราสาทในพระราชวังพระวัชรินทร์
ราชนิเวศน์ของเมืองจำลองประชาธิปไตยดุสิตธานี ที่มีการจำลองแบบจากพระที่นั่งดุสิตมหา
ปราสาทในพระบรมมหาราชวังให้ชมกันชัดๆ
KTC PR Press Club

ร้านเช่งชง

อีกหนึ่งตำนานร้านเครื่องหนังยุคแรกที่เปิดดำเนินกิจการมากว่า 126 ปี (ตั้งแต่ พ.ศ. 2439) งานนี้คุณอาจฤทธิ์ ประดิษฐบาทุกา ทายาทรุ่นที่ 4 ของเซ่งชง หรือ “หลวงประดิษฐบาทุกา” ที่ได้รับความเมตตาในการพระราชทานราชทินนามจากรัชกาลที่ 6 และได้นำมาใช้เป็นนามสกุลสืบต่อมา เล่าความเป็นมาของตระกูลที่ตัดฉลองพระบาทให้รัชกาลที่ 6 และต้นกำเนิดร้านเครื่องหนังที่สร้างงานถวายราชสำนัก กองเสือป๋า และเครื่องหนังประกอบทหารมากองทัพบก รวมถึงการตัดเย็บเครื่องหนัง อานม้า ในงานพระราชพิธีพระบรมศพของในหลวงรัชกาลที่ 9

KTC PR Press Club

เดอะ ระวีกัลยา แบงค็อก (The Raweekanlaya Bangkok)

เรือนโบราณศิลปะโคโลเนียลของคุณทัต พึ่งบุญ ณ อยุธยา แม่นมของรัชกาลที่ 6 และเป็นมารดาของเจ้าพระยารามราฆพ และพระยาอนิรุทเทวามหาดเล็กคู่พระทัย ที่ตอนนี้มีห้องอาหาร “เดอะ ระวีกัลยา ไดนิ่ง” ให้บริการอาหารไทย เน้นวัตถุดิบออร์แกนิคจากธรรมชาติตามฤดูกาล

พร้อมเรียนรู้เรื่อง “น้ำปรุง” น้ำหอมที่มีมาแต่โบราณ สันนิษฐานว่าเริ่มใช้กันในพระบรมมหาราชวังก่อน โดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่เจ้านายในวังนิยมใช้เป็นน้ำหอมประจำพระองค์ รวมถึงบรรดาลูกหลานขุนนางผู้ใหญ่ที่เข้ามาถวายตัวรับราชการ ซึ่งแต่ละตำหนักจะมีกลิ่นอันเป็นเอกลักษณ์

งานนี้ “ครูเอ๋” ทิวาพร เสกตระกูล ผู้แทนครูภูมิปัญญาท้องถิ่น เจ้าของแบรนด์เทวาภิรมย์ มาสาธิตการทำ “น้ำปรุง” เครื่องหอมไทยชั้นสูงที่ได้มาจากการสกัดกลิ่นหอมของดอกไม้หลายชนิดอีกด้วย

บ้านพิบูลธรรม

อาคารงามสองแผ่นดินสร้างสมัยรัชกาลที่ 5 กับรัชกาลที่ 6 (ปัจจุบันเป็นกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน) เดิมชื่อ “บ้านนนที” ตามชื่อวัวพระนนทิการ ซึ่งเป็นเทวพาหนะของพระอิศวร และเป็นตราประจำเสนาบดีกระทรวงวัง

บ้านนี้รัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานให้เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (หม่อมราชวงศ์ปุ้ม มาลากุล) เสนาบดีกระทรวงวัง ในขณะที่ท่านดำรงตำแหน่งเป็นพระยาอนุรักษราชมณเทียรในพ.ศ. 2440 ต่อมาพ.ศ. 2456 รัชกาลที่ 6 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานเงินให้สร้างตึกอีกหลัง เพื่อจะเสด็จมาประทับชั่วคราวในพ.ศ. 2463 และเนื่องจากเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดียังดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากรด้วย แล้วในกรมฯ มีนายช่างชาวอิตาเลียนรับราชการอยู่หลายคน ท่านจึงให้มาช่วยออกแบบก่อสร้างตกแต่งบ้าน โดยมีนายแอร์โกเล มันเฟรดี เป็นผู้ออกแบบ และนายคาร์โล ริโกลี ชาวอิตาเลียน เป็นผู้วาดภาพสีปูนเปียกตอนสำคัญในวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ บนเพดานและฝาผนังในห้องต่างๆ

สถานีรถไฟกรุงเทพ

คุ้นเคยกันดีกับชื่อเรียกว่า “หัวลำโพง” สถานที่ประวัติศาสตร์ของวิวัฒนาการกิจการรถไฟไทยตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ชาวคณะไปเช็คอินที่ “พิพิธภัณฑ์รถไฟไทย” ที่มีของหาชมยากอย่างตู้เก็บตั๋วและเครื่องแสตมปัตั๋วแข็งที่ไม่มีใช้ในปัจจุบัน ชุดเครื่องครัวในรถเสบียงและโรงแรมรถไฟ แผนที่ทางรถไฟ และป้ายเตือนต่างๆ ก่อนไปชมสถานีรถไฟหลักและเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย

ทั้งหมดนั้นสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ด้วยสถาปัตยกรรมตะวันตกแบบอิตาเลียน-เรอเนสซองส์ ที่ประดับอาคารบางส่วนด้วยหินอ่อนและลวดลายปูนปั้น โดดเด่นด้วยโดมโค้งประดับกระจกขนาดใหญ่ดูสวยงามที่สุดในประเทศขณะนั้น ซึ่งคล้ายคลึงกับสถานีรถไฟแฟรงก์เฟิร์ตในประเทศเยอรมนี

เอาจริงที่ดูเหมือนใครๆ ก็คุ้นเคยกับหัวลำโพง แต่น้อยคนที่จะรู้จักความเป็นมาอย่างลึกซึ้ง จึงอยากจะป้ายยาให้มาตามรอย แล้วจะอิ่มใจ ทั้งได้เที่ยวและได้ซึมซับรอยอดีตที่ถือเป็นอีกหนึ่งความภูมิใจของกรุงเทพมหานคร และของประเทศไทย

ขอบคุณภาพบางส่วนจาก : KTC PR Press Club

วันเดย์ทริป! KTC พาย้อนกาลเก่า เล่าเรื่องผ่านวรรณกรรมวัดงามช่วงรัชกาลที่ 4

สุดสัปดาห์

keyboard_arrow_up