“โรงพยาบาลคูน” หรือ KOON Palliative Care Specialised Hospital โรงพยาบาลเฉพาะทางด้าน Palliative care หรือ การดูแลรักษาแบบประคับประคองแห่งแรกของประเทศไทยเกิดขึ้น โดยการริเริ่มของ พญ.นิษฐา เอื้ออารีมิตร หรือ คุณหมอแนต อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินหายใจ และเวชบำบัดวิกฤต ซึ่งได้ศึกษาเพิ่มเติมเรื่องการดูแลแบบ Palliative care จึงมีประสบการณ์ดูแลคนไข้ ในฐานะแพทย์โรคปอด แพทย์ ICU และแพทย์ Palliative care เป็นระยะเวลาอีก 7 ปี จากทั้งในโรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้าและโรงพยาบาลเอกชัย โดยการก่อตั้งโรงพยาบาลคูน คุณหมอแนตใช้แนวคิด Be near, be around, be with ที่เน้นการรักษาคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ผู้ป่วยและครอบครัว เพื่อการมีช่วงเวลาที่มีคุณภาพร่วมกัน ด้วยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญดูแลผู้ป่วยทั่วไป และผู้ป่วยระยะสุดท้าย
“แม้เราจะมีความรู้ ตั้งใจดูแลคนไข้ให้ดีที่สุดอย่างไร เราก็ไม่สามารถรักษาให้ทุกคนรอดชีวิตได้” จากแรงผลักดันนี้ ทำให้คุณหมอแนตเริ่มศึกษาเรื่อง Palliative โดยในประเทศไทยมีผู้ป่วยเพียง 3% ที่ได้รับการรักษาแบบประคับประคอง เพราะคนจำนวนมากไม่รู้จักหรือมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ซึ่งความจริงแล้วถ้าผู้ป่วยเข้าสู่การดูแลดังกล่าวนี้ได้เร็วเท่าไหร่ ก็จะยิ่งเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ผู้ป่วยได้มากขึ้นเท่านั้น
ในโอกาสเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ได้รับเกียรติจากพลเรือเอก สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ ประธานกรรมการ บริษัท เอกชัยการแพทย์ จำกัด (มหาชน) เข้าร่วมงาน พร้อมด้วย นพ.อำนาจ เอื้ออารีมิตร กรรมการและผู้อำนวยการโรงพยาบาลเอกชัย กล่าวต้อนรับ พร้อมกันนี้ในงานมีการจัดเสวนาเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจแก่สาธารณชนในหัวข้อ “ความสำคัญของ Palliative Care สำหรับการสร้างบริการทางการแพทย์ให้สมบูรณ์ของประเทศ” โดย รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และ พญ.นิษฐา เอื้ออารีมิตร ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการ โรงพยาบาลคูน พร้อมมีแขกรับเชิญพิเศษ “คุณแหม่ม” คัทลียา แมคอินทอช ให้เกียรติ เข้าร่วมงาน ณ โรงพยาบาลคูน ถนนพระราม 2 เมื่อเร็วๆ นี้
จากการเสวนาหัวข้อ “ความสำคัญของ Palliative Care สำหรับการสร้างบริการทางการแพทย์ให้สมบูรณ์ของประเทศ” รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวถึงทิศทางของ Palliative care ในประเทศไทยว่า “ปัจจุบันคนไทยมีความเข้าใจในเรื่อง Palliative care มากขึ้น เห็นได้จากการที่นิตยสาร economist ได้จัดเรตติ้งในหัวข้อ Quality of dead ของแต่ละประเทศทั่วโลก เมื่อปี 2015 ซึ่งประเทศไทยติด 1 ใน 80 ประเทศที่ได้รับการจัดอันดับ โดยอยู่ในอันดับที่ 44 ซึ่งปัจจัยความสำเร็จของ Palliative care ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ อันดับ 1 ประชาชนและองค์กร NGO ที่ต้องช่วยกัน ขณะนี้เรามีภาคส่วนต่าง ๆ ที่ให้ความรู้ และความเข้าใจในเรื่อง Palliative care ซึ่งไม่ได้หมายถึงความพ่ายแพ้ ไม่ใช่การดูแลที่หมดหวัง การหยุดการรักษา หรือเป็นการเร่งให้ผู้ป่วยตายเร็วขึ้น แต่เป็นการดูแลอย่างเหมาะสมในทุกมิติ โดยมุ่งเน้นการเพิ่มคุณค่าชีวิต และคุณค่าของการรักษา ทำให้คนไข้มีความหวังในการรักษาที่เหมาะสมจนกระทั่งจากไป
“อันดับที่สองคือ การทำให้ Health care Worker คนที่อยู่ในระบบสร้างโครงสร้างขึ้นมา เพื่อให้ Palliative care เป็น Standard care ที่ควรจะมีในประเทศไทย ซึ่งในขณะนี้ก็อยู่ในมาตรฐานการดูแล เพียงแต่อาจจะยังไม่ได้เป็น Priority และอันดับสามสำคัญมาก คือ เรื่องกฏหมาย ซึ่งนักการเมือง และนักกฏหมายต้องพยายามขับเคลื่อนกฏหมายที่เกี่ยวกับความตายฉบับหลังสุดที่ออกมาคือเรื่อง Living will เมื่อ 14 ปีที่แล้ว และปัจจุบันนี้ไม่มีการเคลื่อนไหวอีกเลย ซึ่งทั้งสามส่วนนี้เราต้องช่วยกันขับเคลื่อน จึงจะประสบความสำเร็จได้ในที่สุด”
รศ.นพ.ฉันชายยังได้ยกตัวอย่างเหตุการณ์ความสูญเสียครั้งสำคัญของสหราชอาณาจักรซึ่งเป็นประเทศอันดับต้นๆ ที่เห็นความสำคัญของ Palliative care ว่า “จากข่าวการสวรรคตของควีนอลิซาเบธที่ 2 ซึ่งพระองค์ทรงเป็นที่รักของชาวอังกฤษและผู้คนทั่วโลก มีข้อความจากสำนักพระราชวังบักกิงแฮม ประโยคหนึ่งที่ว่า Her majesty is comfortable ซึ่งเป็นคีย์เวิร์ดที่แสดงให้เห็นว่า สิ่งที่ทุกคนกังวลคือ พระองค์ท่านจะทรงทุกข์ทรมานหรือไม่ คำว่า comfortable นั้น ผมคิดว่าเป็นคียเวิร์ดของ Palliative care ที่เป็นการรักษาที่มีเป้าหมายในการมุ่งเน้นการเพิ่มคุณภาพชีวิตของคนไข้ โดยเป็นการดูแลแบบครบวงจร ทั้งในแง่ของร่างกาย จิตใจ และความเชื่อ”
แพทย์หญิงนิษฐา เอื้ออารีมิตร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลคูน กล่าวว่า โรงพยาบาลคูน หรือ KOON Palliative Care Specialised Hospital เป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางที่ให้การดูแลรักษา แบบประคับประคองหรือ Palliative care แห่งแรกของประเทศไทย มุ่งเน้นคุณภาพชีวิตของคนไข้ และครอบครัว เป็นการดูแลที่ครอบคลุมทั้งกาย ใจ สังคม และจิตวิญญาณ เน้นการจัดการอาการ ไม่สุขสบายต่างๆ อย่างเข้มข้น ส่งผลให้คนไข้มีกำลังใจที่จะใช้ชีวิตต่อไป โดยมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างสถานที่ดูแลคนไข้แบบใกล้ชิดและให้ความรู้สึกถึงความเอาใจใส่และอบอุ่นเป็นพิเศษ
โดยหัวใจหลักของการดูแลแบบ Palliative care นั้น พญ.นิษฐากล่าวว่า “หลายคนอาจจะมองว่าในช่วงท้ายของชีวิตเรา ซึ่งอาจป่วยด้วยโรคร้าย จะสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้อย่างไร แต่หากเราได้รับการดูแลที่ถูกต้อง ก็สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ อาการไม่สุขสบายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากตัวโรคได้ โดยเราจะจัดการอาการไม่สุขสบายต่าง ๆ ให้แก่คนไข้ รวมทั้งเราจะดูแลครอบครัวของคนไข้ด้วย เพราะเรารู้ดีว่าในครอบครัวหนึ่งหากมีคนเจ็บป่วยเกิดขึ้น ไม่ได้เป็นเรื่องของบุคคลนั้นเพียงคนเดียว แต่คนที่รักที่อยู่รอบตัวผู้ป่วย ย่อมมีความรู้สึกเครียดและกังวลเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่ง Palliative care ก็จะเข้ามาดูแลความกังวลต่าง ๆ เหล่านี้ของครอบครัวด้วยเช่นกัน”
“ประชาชนทั่วไปมักมองว่าการดูแลแบบ Palliative care เหมาะสำหรับคนไข้มะเร็ง ซึ่งเป็นโรคอันดับแรก ๆ ที่ทุกคนนึกถึง แต่ก็มีโรคร้ายแรงอื่น ๆ เช่น โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ซึ่งอาการจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ กระทั่งคนไข้หายใจด้วยตัวเองไม่ได้ ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ หรือโรคอัลไซเมอร์ โรคเส้นเลือดในสมองตีบหรือแตก ซึ่งถือเป็นโรคร้ายแรงที่รักษาไม่หายขาด และมีโอกาสที่อาการจะเป็นมากขึ้นในอนาคต การมีโอกาสได้วางแผนกับครอบครัวตั้งแต่วันแรก ๆ ที่เริ่มเจ็บป่วย และได้รับฟังความต้องการที่แท้จริงของคนไข้ ว่าในวันที่มีอาการเพิ่มขึ้น เขาอยากให้เราดูแลแบบไหนที่ตรงกับความต้องการของเขา ซึ่งเราสามารถวางแผนล่วงหน้าไว้ได้เลย สำคัญที่สุดคือ การให้ความเห็นร่วมกันระหว่างผู้ป่วย คนในครอบครัว และแพทย์ เพื่อที่จะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อคนไข้
“การดูแลรักษาแบบ Palliative care ไม่ได้เร่งให้เขาตายเร็วขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน เราไม่ได้ยื้อให้ความตายยาวนานออกเช่นกัน แต่มีหน้าที่ซัพพอร์ตเขาเพื่อให้การเดินทางของเขาราบรื่นที่สุด เพราะฉะนั้นหลายเคสที่มีโอกาสได้ดูแล ก็ได้จากไปท่ามกลางคนที่เขารัก ได้มีเวลาช่วงสุดท้ายที่สวยงามร่วมกันกับครอบครัว ซึ่งตรงนี้ไม่ใช่แค่การรักษาคนไข้ แต่จะเป็นภาพจำของครอบครัวคนไข้ที่ได้รับการดูแลรักษาที่ดี เพื่อให้เขาไม่มีความทุกข์ในจิตใจที่คั่งค้าง” พญ. นิษฐากล่าวสรุปถึงการดูแลรักษาแบบ Palliative care ที่ไม่เร่ง แต่ไม่ยื้อ สามารถแพลนได้ และออกแบบช่วงเวลาสุดท้ายของตัวเองได้อย่างมีความสุข
โรงพยาบาลคูนเป็นโรงพยาบาลขนาด 30 เตียง ที่เชี่ยวชาญด้านการรักษาแบบประคับประคอง ซึ่งเป็นหลักการรักษาที่ได้รับการยอมรับระดับสากล โดยให้คำปรึกษา และวางแผนการรักษาผู้ป่วยร่วมกับ คนในครอบครัว เพื่อให้ทุกฝ่ายมีคุณภาพชีวิต ความสุขที่เพิ่มขึ้น โดยใช้หลักการดูแลรักษา ทั้งเชิงกายภาพร่างกายด้วยมาตรฐานโรงพยาบาล ร่วมกับการดูแลเรื่องสภาพจิตใจทั้งผู้ป่วยและคนในครอบครัว ไปพร้อมๆ กัน ถือเป็นโรงพยาบาลที่มีอัตลักษณ์เฉพาะตัว ที่พร้อมด้วยห้องพักที่ให้ความรู้สึกอบอุ่น ผ่อนคลาย เหมือนอยู่บ้าน ให้บรรยากาศที่แตกต่างจากโรงพยาบาล โดยมีบุคลากรทางการแพทย์ และทีมงานผู้เชียวชาญดูแลผู้ป่วยทั่วไปและผู้ป่วยระยะสุดท้าย รวมทั้งต้องการยกระดับคุณภาพรักษา แบบประคับประคองของวงการแพทย์ในประเทศไทย ให้มีมาตรฐานทัดเทียมกับระดับสากล
บุคลากรของโรงพยาบาลประกอบไปด้วยแพทย์ พยาบาล ผู้ช่วยเหลือคนไข้ นักกิจกรรมบำบัด นักกายภาพบำบัด นักจิตบำบัด นักดนตรีบำบัดและสหสาขาอื่นๆ อีกมากมาย ในอัตราส่วนระหว่างบุคลากรต่อคนไข้ที่มากเป็นพิเศษเพื่อการดูแลที่ใกล้ชิดและอบอุ่น พร้อมทักษะการฟังเชิงลึก หรือ deep listening เพื่อที่จะได้สื่อสารให้เข้าใจกับทั้งคนไข้และครอบครัวถึงสิ่งที่ต้องการอย่างแท้จริง อันจะนำไปสู่การดูแลที่เหมาะสมที่สุดแก่คนไข้และครอบครัว
ในส่วนชื่อของโรงพยาบาล “คูน” มาจาก ต้นคูน หรือ ต้นราชพฤกษ์ ซึ่งนอกจากเป็นต้นไม้ ประจำชาติแล้ว ต้นคูนยังมีลักษณะพิเศษอีกอย่างหนึ่ง คือ ช่วงที่สวยงามที่สุดที่เห็นดอกเหลืองบานสะพรั่งเต็มต้นเป็นช่วงที่ใบกำลังร่วงโรย เปรียบเสมือนกับชีวิตคน แม้ในช่วงที่กำลังร่วงโรย ถ้าเรา“เลือก” ที่จะเป็น “ต้นคูน” เราก็สามารถสร้างช่วงเวลาที่สวยงามที่สุดได้เช่นกัน
ด้านการออกแบบอาคารโรงพยาบาล ยังเน้นเข้าถึงธรรมชาติ เรียบง่าย กว้างขวางด้วยพื้นที่สีเขียวใช้โทนสีและตบแต่งภายในให้อบอุ่นเหมือนอยู่บ้าน โดยทีมมืออาชีพด้านการออกแบบ ที่เคยออกแบบอาคารกุมารเวช จนได้รับรางวัลระดับนานาชาติ โรงพยาบาลคูน ตั้งอยู่ในซอยวัดยายร่ม (พระราม2 ซอย 33) ห่างจากถนนหลักพระราม 2 เพียง 500 เมตร ติดตามข่าวสาร และรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรงพยาบาลได้ทาง Facebook : Facebook.com/koonhospital Instagram : Instagram.com/koonhospital Line : @koonhospital และ Email : [email protected] หรือโทร 02 405 3899