ห้องใต้หลังคามิวเซียมสยาม

เปิดประสบการณ์ ‘เส้นทางพาชมห้องใต้หลังคามิวเซียมสยาม’ ห้องนี้มีอะไรมากกว่าที่คิด พลาดแล้วจะคุยกับเขาไม่รู้เรื่อง

Alternative Textaccount_circle
event
ห้องใต้หลังคามิวเซียมสยาม
ห้องใต้หลังคามิวเซียมสยาม

มิวเซียมสยาม ชวนนับถอยหลัง ก้าวสู่ 100 ปีของอาคารประวัติศาสตร์ สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ หรือมิวเซียมสยาม พร้อมกันในวันที่ 12 ตุลาคม 2565 จึงถือโอกาสเฉลิมฉลองหนึ่งศตวรรษของอาคาร ผ่านกิจกรรมต่างๆ ตลอดทั้งปี มีทั้ง การถ่ายทอดความรู้ บริบทแวดล้อม บุคคลสำคัญที่เกี่ยวข้อง และอื่นๆ เพื่อความรู้ความเข้าใจของผู้เข้าชม ให้ตระหนักถึงคุณค่ามรดกภูมิปัญญาและวัฒนธรรมของชาติ รวมทั้งเกิดแรงบันดาลใจในการรักษาอาคารทางประวัติศาสตร์และคงไว้ซึ่งสถาปัตยกรรมอันสวยงาม ภายใต้โครงการ ‘ร้อยปีตึกเรา’ ที่ประกอบด้วยกิจกรรมหลักๆ คือ

1.นิทรรศการหมุนเวียน ‘ตึกเก่าเล่าใหม่’ นิทรรศการที่ว่าด้วยประวัติความเป็นมา แนวคิดทางสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมของอาคาร รวมถึงบริบททางประวัติศาสตร์และสังคม ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของผู้คนและอาคารหลังนี้ในช่วงระยะเวลาหนึ่งร้อยปี 2.กิจกรรม ‘เสาร์สนามไชย Saturday Happening’ การเปิดพื้นที่การเรียนรู้ด้วยกิจกรรมหลากหลายที่เหมาะสมกับคนทุกช่วงวัยด้วยความรื่นรมย์ที่มิวเซียมสยามทุกวันเสาร์ต้นเดือน (เริ่มตั้งแต่เมษายน-พฤศจิกายน) โดยมีกิจกรรม Talk & Workshop : งานเสวนา , Kidscovery Zone : พื้นที่กิจกรรมสำหรับให้เด็กได้สนุกกับงานโครงสร้างและสถาปัตยกรรม , Reenactment Show : การแสดงของกลุ่มจำลองประวัติศาสตร์ , Literature Reading : การอ่านวรรณกรรมร่วมสมัยกับตึกเก่า , Music@Museum ดนตรีมีเรื่องเล่า ฟังดนตรีร่วมสมัยกับตึกร้อยปี และ Trail in the Building : กิจกรรมเส้นทางนำชมตึกมิวเซียมสยามด้วยเทคนิคพิเศษ

ห้องใต้หลังคามิวเซียมสยาม

โดยหนึ่งในกิจกรรมย่อยที่น่าสนใจจาก ‘เสาร์สนามไชย Saturday Happening’ ที่ผู้เข้าชมอาจนึกไม่ถึงก็คือ Attic Tour : การพาชมห้องใต้หลังคามิวเซียมสยาม ซึ่ง คุณวรกานต์ วงษ์สุวรรณ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายนิทรรศการและกิจกรรม ได้พูดถึงจุดประสงค์หลักของเทรลห้องใต้หลังคาว่า…“อาคารมิวเซียมสยามแห่งนี้ เดิมทีในสมัยโบราณเคยเป็นกระทรวงพาณิชย์มาก่อน ตัวอาคารเป็นสถาปัตยกรรมแบบยุโรป เริ่มสร้างเมื่อ พ.ศ.2463 สร้างเสร็จ พ.ศ.2465 ปัจจุบันได้รับการปรับปรุงให้เป็น ‘สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ’ หรือมิวเซียมสยาม ซึ่งจะมีอายุครบ 100 ในเดือนตุลาคมนี้ เราจึงเฉลิมฉลองด้วยการจัดนิทรรศการและกิจกรรม โดยกิจกรรมที่จัดก็คือ ‘เสาร์สนามไชย Saturday Happening’ ซึ่งจะเปิดพื้นที่การเรียนรู้ด้วยกิจกรรมที่หลากหลาย และหนึ่งในกิจกรรมย่อยที่เราอยากให้คนที่เข้ามาที่มิวเซียมสยามได้มีส่วนร่วมก็คือ ‘เทรลห้องใต้หลังคา’ วัตถุประสงค์ของกิจกรรมนี้ก็เพื่อเปิดประสบการณ์ให้ผู้คนได้มาชมพื้นที่พิเศษนี้ หรือมีโอกาสได้มาเดินดู ได้มาเห็นห้องใต้หลังคาอาคารหลังใหญ่ที่ออกแบบโดยสถาปนิกมีชื่อ ได้เห็นถึงโครงสร้างขนาดใหญ่และพื้นที่ที่กว้างขวาง ซึ่งในยุคที่ตึกนี้เคยเป็นกระทรวงพาณิชย์มาก่อนนั้น ห้องใต้หลังคาเคยใช้เป็นที่เก็บเอกสารและอุปกรณ์สำนักงานมาก่อน นอกจากนี้ผู้ชมจะได้เข้าใจแนวคิดของสถาปนิกจากโครงสร้างที่มองเห็น รวมถึงเข้าใจการออกแบบในบริบทของประวัติศาสต์อีกด้วย”

ห้องใต้หลังคามิวเซียมสยาม

คุณวรกานต์ บอกว่า เมื่อขึ้นไปที่ห้องใต้หลังคา ผู้ชมจะได้เห็นสภาพจริงของห้องใต้หลังคาแบบยุโรปที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งคนไทยอาจไม่คุ้นเคยนัก เนื่องจากเมืองไทยเป็นเมืองร้อน นอกจากนี้ยังได้ทราบถึงประโยชน์หลักๆ ของห้องใต้หลังคา ที่ออกแบบมาเพื่อช่วยกันความร้อนให้กับตัวอาคาร และห้องต่างๆ ซึ่งเป็นห้องทำงานตามชั้นของอาคาร แม้แต่ระเบียง หน้าต่าง และกันสาด สถาปนิกผู้ออกแบบก็ได้คำนึงถึงสภาพอากาศร้อนชื้นและมีฝนตกบ่อยของเมืองไทยด้วยเช่นกัน

“ห้องใต้หลังคายังมีส่วนสำคัญหลักๆ ในการซ่อมบำรุงของอาคาร เช่น สามารถขึ้นไปซ่อมหลังคา ซ่อมกันสาด และอื่นๆ ได้ นอกจากนี้ผู้ชมยังจะได้ดูโครงสร้างที่แท้จริงของห้องใต้หลังคาในวาระพิเศษนี้ด้วย ทั้งยังจะได้เห็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ในยุคนั้นที่นำเข้ามาใช้ในการก่อสร้าง ซึ่งเมื่อ 100 ปีก่อนคนไทยเพิ่งรู้จักการใช้เทคนิคคอนกรีตเสริมเหล็ก จึงนำมาใช้กับการก่อสร้างอาคารนี้เป็นรุ่นแรกๆ เลย จึงช่วยให้โครงสร้างของอาคารแข็งแรง ไม่ทรุดหรือแตกร้าวง่าย รวมทั้งการใช้วัสดุสมัยใหม่อย่างปูนซีเมนต์ ที่เพิ่งมีการสร้างโรงงานผลิตปูนในยุคนั้นด้วย

สิ่งที่น่าตื่นเต้นอีกอย่างคือเรื่อง ‘กระเบื้องมุงหลังคา’ เชื่อว่าคนส่วนใหญ่จะไม่ค่อยทราบว่า กระเบื้องมุงหลังคาที่เราเห็นกันอยู่นั้น แต่ละแผ่นมีน้ำหนักเท่าไร (หนัก 3.8 กก. อาคารนี้ใช้กระเบื้องทั้งหมด 4 พันกว่าแผ่น) หรือกระเบื้องว่าว (รูปร่างคล้ายว่าวจุฬา) นั้นเป็นอย่างไร นี่เป็นการบ่งบอกให้รู้ว่าสถาปนิกยุคนั้นจะต้องออกแบบโครงการตัวอาคารได้แข็งแรงมากๆ เพื่อการรองรับน้ำหนักต่างๆ ซึ่งแม้เป็นสิ่งที่ผู้คนอาจมองเห็น แต่ก็ไม่เคยคิดถึงเรื่องเหล่านี้เลย หรืออย่างพื้นของห้องใต้หลังคาก็น่าสนใจ เพราะสร้างโดยการใช้อิฐเรียงๆ ไว้ จากนั้นจึงราดด้วยปูนซีเมนต์ทับอีกที พื้นห้องใต้หลังคานี้จึงมีความแข็งแรง ช่วยป้องกันน้ำรั่วซึม ป้องกันความร้อนและอัคคีภัยได้ โดยไฟที่ไหม้จะไม่ลามลงไปยังห้องชั้นล่าง หรือชั้น 3 ซึ่งเมื่อก่อนเป็นชั้นเก็บรวบรวมเอกสารและมีคนนั่งทำงาน จึงช่วยให้มีเวลาเตรียมตัวหนีไฟเพื่อความปลอดภัยได้”

          คุณวรกานต์ เสริมว่า สำหรับเส้นทางการเดินชมในมิวเซียมสยาม เมื่อเดินเข้าประตูมา ผู้ชมสามารถแวะชมการจัดแสดงอื่นๆ ไล่เรียงไปตามเส้นทางที่มิวเซียมสยามแนะนำไว้ก่อนได้ และหากต้องการเทรลห้องใต้หลังคาก็ให้เดินขึ้นไปที่ชั้น 3 ซึ่งได้ออกแบบบันไดไว้ให้สามารถเดินขึ้นไปถึงที่ห้องใต้หลังคาได้เลย ซึ่งช่วงนี้จะไม่ได้ปิดประตูไว้ ผู้ชมจะได้รับรู้ถึงโครงสร้างและฟังก์ชั่นที่สถาปนิกตั้งใจออกแบบไว้เพื่อให้ห้องใต้หลังคานี้สามารถระบายความร้อนและระบายลมได้ ทั้งในส่วนของประตูห้องใต้หลังคาและช่องลมที่เจาะไว้

ห้องใต้หลังคามิวเซียมสยาม

“สิ่งที่ผู้ชมจะได้จากการเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ อย่างแรกคือ จะได้เห็นห้องใต้หลังคาซึ่งเป็นส่วนที่พิเศษของอาคาร อย่างที่สอง จะได้รับรู้ความพิเศษเหล่านี้ด้วยประสบการณ์ของตัวเอง ทั้งในแง่ของสถาปัตยกรรม เรื่องของวิธีการออกแบบ การนำความรู้ความเข้าใจในสภาพภูมิอากาศเมืองไทยของผู้ออกแบบมาปรับใช้กับอาคาร ซึ่งถือว่าอาคารนี้เป็นสมาร์ทบิวดิ้งที่รวมไว้ซึ่งภูมิปัญญาและความทันสมัยในยุคนั้น ทั้งในแง่ของเทคนิคการก่อสร้าง การใช้วัสดุ และความรู้ความใส่ใจในเรื่องภูมิอากาศในบ้านเรา รวมถึงส่วนที่พิเศษอื่นๆ อย่างตรงพื้นที่ทำเป็นแผ่นอิฐโค้ง หรือการสร้างบันไดที่ไม่มีเสารองรับ เป็นต้น ซึ่งความพิเศษทุกอย่างนี้ เราจะพูดเชื่อมโยงให้เห็นถึงเทคโนโลยีและวิธีการออกแบบของสถาปนิกในยุคนั้น เพื่อให้ผู้ชมได้ทราบถึงที่มาที่ไป โดยใช้ห้องใต้หลังคาเป็นตัวอย่างให้มองเห็นภาพรวมได้ชัดเจนยิ่งขึ้น”

ผู้สนใจสามารถเข้าชมกิจกรรม ‘เสาร์สนามไชย Saturday Happening’ ได้ทุกวันเสาร์แรกของเดือน ตั้งแต่วันนี้ถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2565 วันละ 5 รอบคือ 11.00 น. / 13.00 น. / 15.00 น. (รอบภาษาอังกฤษ) / 17.00 น. / 19.00 น. มิวเซียมสยามเปิดให้เข้าชมตั้งแต่ 10.00-20.00 น.ทุกวัน ติดตามรายละเอียดกิจกรรมต่างๆ และลงทะเบียนจองคิวเข้าชมล่วงหน้าทางออนไลน์ผ่านทาง Facebook Fanpage : Museumsiamfan และเว็บไซต์ www.museumsiam.org

สุดสัปดาห์

keyboard_arrow_up