พญ.นันทกา เทพาอมรเดช

พญ.นันทกา เทพาอมรเดช หมอผ่าตัดสมอง เพียงหนึ่งเดียวของโรงพยาบาลยะลา

Alternative Textaccount_circle
event
พญ.นันทกา เทพาอมรเดช
พญ.นันทกา เทพาอมรเดช

พญ.นันทกา เทพาอมรเดช คือผู้ได้รับรางวัล ชูเกียรติ อุทกะพันธุ์ ปี 2562 ในฐานะ หมอผ่าตัดสมอง เพียงหนึ่งเดียวของโรงพยาบาลยะลา และเป็นบุคคลน่ายกย่อง ที่สุดฯ อยากพาคุณผู้อ่านไปทำความรู้จักเป็นอย่างยิ่ง

คำบอกเล่าเรียบง่าย แต่สัมผัสได้ถึงความจริงใจและทุ่มเท  ที่ พญ.นันทกา เทพาอมรเดช กล่าวในงานประกาศผลและมอบรางวัล ชูเกียรติ อุทกะพันธุ์ ปี 2562 ครั้งที่ 16 ในฐานะ “ประสาทศัลยแพทย์” หรือ หมอผ่าตัดสมอง เพียงหนึ่งเดียวของโรงพยาบาลยะลา ทำให้หลายคนที่มาร่วมในงานถึงกับน้ำตาซึม และทำให้เรารู้สึกประทับใจในสุภาพสตรีร่างเล็ก แต่หัวใจแกร่งคนนี้มากขึ้นไปอีก สำหรับเรา คุณหมอคือหนึ่งในผู้เสียสละอุทิศตน โดยมองที่ผลประโยชน์ส่วนรวม มากกว่ารายได้มหาศาลที่คุณหมอเลือกได้…แต่เธอไม่เลือก!

พญ.นันทกา เทพาอมรเดช, หมอนันทกา, หมอผ่าตัดสมอง, โรงพยาบาลยะลา, รางวัลชูเกียรติ, รางวัลชูเกียรติ อุทกะพันธุ์

 สุดสัปดาห์ ขออนุญาตตัดทอนคำกล่าวของคุณหมอบางส่วนมาเผยแพร่ ณ ที่นี้ เพื่อบอกเล่าถึงตัวตน และการทำงานของฮีโร่ของเราในวันนี้ …พญ.นันทกา เทพาอมรเดช

  • “สมัยเด็กๆ  ที่บ้านขายยา พ่อจะปลุกไปช่วยขายยาตั้งแต่ตีห้า ไม่ตื่นก็ไม่ได้ หน้าที่ของเราคือนับเม็ดยา แล้วก็ทอนเงิน” 
  • “นั่งกินข้าวอยู่ มีคนมาซื้อลูกอมบาทนึง ก็ต้องเดินไปหยิบให้ พอกลับมากินข้าวคำที่สอง ก็มีคนมาซื้อยาพาราฯ 10 เม็ดสมัยนั้นขายบาทนึง ก็ต้องลุกไปหยิบให้อีก ตั้งแต่นั้นก็จำไว้เลยว่า โตขึ้นฉันจะทำอะไรก็ได้ ขอแค่เป็นงานประจำ ที่ไม่ต้องลุกแล้วได้ครั้งละบาท!”
  •  “พอโตมาเรียนที่เตรียมอุดม เพื่อนก็ชวนว่าสอบหมอกันมั้ย ใจนึกเลยว่าดีนะ ได้เงินเป็นรายเดือนไม่ต้องลุกแล้วได้ทีละบาท แต่ตอนนี้กลายเป็นว่า นอนๆ อยู่ตีสามก็ต้องลุกไปผ่าตัด  หนักกว่าลุกแล้วได้บาทนึงซะอีก” 

พญ.นันทกา เทพาอมรเดช, หมอนันทกา, หมอผ่าตัดสมอง, โรงพยาบาลยะลา, รางวัลชูเกียรติ, รางวัลชูเกียรติ อุทกะพันธุ์

 

  • “สมัยนั้นการเรียนประสาทศัลยแพทย์ถือว่ายากมาก และไม่ค่อยรับผู้หญิง ต้องขอขอบคุณอาจารย์ประเสริฐ สนธิวัต อาจารย์หมอจากรามาฯ ที่รับเข้าเรียน  อาจารย์บอกว่า เคยรับผู้หญิงมาคนนึงแล้วเรียนไม่ได้ ทีนี้ถ้าผมรับมาแล้วเรียนไม่ได้ คุณจะยอมไปเรียนแผนกอื่นไหม ได้ค่ะ  ไม่ได้อาบน้ำสองวันวันทำได้ไหม ได้ค่ะ ชุดชัันในก็ไม่ได้เปลี่ยนด้วยนะทำได้ไหม ได้ค่ะ คือให้ทำยังไงก็ได้ขอให้ได้เรียน และสุดท้ายก็เรียนได้จนจบ”
  • “พอเรียนจบจึงกลับมาทำงานที่โรงพยาบาลยะลาอีก 3 ปี จากนั้นก็กลับมาเรียนผ่าตัดหลอดเลือดสมองที่รามาฯ ต่อ  แอบคิดว่าถ้าเรียนจบแล้วจะมาทำงานที่รามาฯเลย อยู่ได้สักอาทิตย์หนึ่งคนไข้เก่าก็โทรมาถามว่า หมอจะไปไหน ก็เลยมาคิดดูว่ารามาฯ มีคนไปสมัครเป็นอาจารย์แพทย์หลายคน ซึ่งถ้าเรากลับไปอยู่ยะลา ก็น่าจะทำประโยชน์ได้มากกว่า”

พญ.นันทกา เทพาอมรเดช, หมอนันทกา, หมอผ่าตัดสมอง, โรงพยาบาลยะลา, รางวัลชูเกียรติ, รางวัลชูเกียรติ อุทกะพันธุ์

  • “ขอบคุณทั้งพยาบาล เจ้าหน้าที่ และคนงานรพ.ยะลา ที่ทำให้หมอรู้สึกว่าเราอยุ่กันเป็นครอบครัว เวลาทำงานเหนื่อย ก็มีบ้างที่หงุดหงิดโมโหใส่พวกเค้า แต่ทุกคนก็เข้าใจว่าเราไม่ได้นอน  จนบางทีพอเห็นหมอเริ่มทำท่าหงุดหงิด พวกเค้าก็จะรีบไล่ให้ไปนอน”
  • “เคยไม่ได้นอน 1 วันเต็มๆ พออีกวันก็ถูกปลุกตอนตีสาม ให้มารักษาผู้ชายเมาเหล้ารถคว่ำเลือดออกในสมอง  ผ่าไปก็บ่นไป “ขี้เมา!!” แต่พอเค้าฟื้น จำลูกจำภรรยาได้ ก็รู้สึกดีใจไปด้วย นึกย้อนไปว่าถ้าวันนั้นเรามัวแต่ด่า แล้วไม่ลุกขึ้นมาผ่าตัด ญาติๆ เขาก็คงลำบาก”
  • “เคสหนึ่งมีคุณลุงเป็นโรคกระดูกคอเสื่อมทับเส้นประสาท มือยกไม่ขึ้น ต้องนั่งวีลแชร์ ให้ภรรยาป้อนข้าวให้ ถ้าไม่ผ่าตัดอาการจะรุนแรงจนเหลือขยับได้แค่คอในที่สุด ตอนนั้นคุณลุงนั่งวีลแชร์มาหาหมอบอกว่าจะยอมผ่าตัด แล้วอาการก็ดีขึ้นเรื่อยๆ จากนั่งรถเข็น ก็เป็นใช้วอล์คเกอร์ จนสุดท้ายเดินได้เอง แล้ววันหนึ่งคุณลุงเดินมาที่โอพีดี ถือผ้าไตรมาบอกว่า ผมเดินได้แล้วผมจะบวชให้คุณหมอ แต่ผมรู้ว่าคุณหมองานเยอะ ก็เลยถือผ้านี้มาพร้อมกับบทสวด ให้คุณหมอสวดที่โอพีดีนี่เลย”

พญ.นันทกา เทพาอมรเดช, หมอนันทกา, หมอผ่าตัดสมอง, โรงพยาบาลยะลา, รางวัลชูเกียรติ, รางวัลชูเกียรติ อุทกะพันธุ์

  • “คนไข้น่ารักมีเยอะมาก มีคุณป้าที่หายจากการผ่าตัดหลัง ซื้อส้มโชกุนกิโลประมาณเกือบสองร้อยมาให้หมอหลายลัง ดูแล้วหลายตังค์อยู่ สักพักก็มีคุณป้าอีกคนเอาห่อกระดาษหนังสือพิมพ์แอบๆ มาให้ ข้างในเป็นสละอินโดฯ บอกว่าเป็นของที่บ้าน แต่ไม่กล้าหยิบออกมาเพราะเห็นส้มโชกุนแล้วอาย หมอเลยรีบบอกว่า ดีค่ะๆ หมอกินทุกอย่างเลย”

พญ.นันทกา เทพาอมรเดช, หมอนันทกา, หมอผ่าตัดสมอง, โรงพยาบาลยะลา, รางวัลชูเกียรติ, รางวัลชูเกียรติ อุทกะพันธุ์

  • “ที่ยังทำงานได้ หมอคิดว่าพ่อแม่สร้างชีวิตเรามา พอโตดูแลชีวิตตัวเองได้แล้วก็ต้องดูแลคนอื่นได้ด้วย ไม่ว่าตั้งต้นมาจากไหน แต่สุดท้ายเวลาที่เราไปจากโลกนี้ จุดจบของทุกคนเหมือนกันหมด เหลือแต่ว่าเราจะใช้ชีวิตให้มีคุณค่าในตัวเอง อยู่อย่างมีความสุขและแบ่งปันความสุขเพื่อคนอื่น ตั้งใจว่าอยากให้น้องๆ ที่โรงพยาบาลยะลา ดูแลคนไข้ให้เหมือนกับที่แลตัวเอง ถ้าน้องหมอเราเก่ง อีกหน่อยเราก็เป็นคนป่วยเหมือนกัน เค้าก็จะรักษาเราได้ ถ้าเราดูแลคนไข้ได้ดี สุดท้ายโรงพยาบาลก็จะโต และเมื่อทุกคนมีความสุข ความไม่สงบในสามจังหวัดก็อาจจะเบาลงได้”

พญ.นันทกา เทพาอมรเดช, หมอนันทกา, หมอผ่าตัดสมอง, โรงพยาบาลยะลา, รางวัลชูเกียรติ, รางวัลชูเกียรติ อุทกะพันธุ์

  • ขอบคุณชาวบ้านในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ทำให้หมอมีกำลังใจในการผ่าตัดขอบคุณเหตุการณ์ไม่สงบ ที่ทำให้หมอแข็งแกร่ง ขอบคุณคณะกรรมการทุกท่านที่มอบรางวัลยิ่งใหญ่เกินตัวหมอมาก 

     สุดฯ พูดเลยว่า พญ.นันทกา เทพาอมรเดช คู่ควรกับรางวัลชูเกียรติ อุทกะพันธุ์ ปี 2562  นี้อย่างยิ่งแล้ว ด้วยคุณสมบัติครบถ้วน ทั้งการทำงานที่สร้างสรรค์ อุทิศตนเพื่อความกว้างหน้าในวงงานของตน ถ่ายทอดพลังงานดีๆ ต่อเพื่อนร่วมงานและสังคม รวมถึงมีผลงานอันทรงคุณค่าเป็นที่ประจักษ์แก่สังคม 

     ณ จุดนี้ ขอร่วมชื่นชมคนดี และขอนำแนวคิดของคุณหมอมาเป็นต้นแบบในการอุทิศตนเพื่องาน และช่วยเหลือสังคมรอบตัวนะคะ  

 

Text : PLP

Photo : ภาพจากหนังสือที่ระลึก งานประกาศผลและมอบรางวัล ชูเกียรติ อุทกะพันธู์ ครั้งที่ 16 ประจำปี 2562

 

อ่านเรื่องที่น่าสนใจอื่นๆ ต่อได้ที่นี่

มกุฏ อรฤดี แห่งสำนักพิมพ์ผีเสื้อ คว้ารางวัล “ชูเกียรติ อุทกะพันธุ์” ครั้งที่ 15

สุดสัปดาห์

keyboard_arrow_up