หลายๆ คนอาจเคยมีความฝันว่าอยากไปเที่ยวต่างประเทศสักครั้งหนึ่งในชีวิต แต่ปัจจัยหลักที่ทำให้ความฝันไม่เป็นจริงซะทีคงเป็น “เรื่องเงิน” วันนี้ ณัฐ ศักดาทร SUDSAPDA Money Guru ของเราจะมาแนะนำทริคการเก็บเงินไปเที่ยวแบบชิลๆ กัน
ก่อนที่เราจะไปเที่ยวที่สิ่งแรกที่จะต้องทำคือการวางแผนและคำนวณค่าใช้จ่าย ต้องทำยังไงบ้างมาดูกัน
1.เราอยากไปเที่ยวไหน
“แรกสุดคือต้องเลือกเลยว่าเราจะไปไหน เพราะค่าใช้จ่ายแต่ละที่มันไม่เท่ากันอยู่แล้ว แนะนำว่าที่แรกๆ อย่าเพิ่งไปไกลครับ เลือกประเทศที่มันใกล้ๆ ในเอเชียก็ได้ มันเป็นอะไรที่เราเก็บตังค์ไปได้ไม่ยาก แล้วค่อยๆ ขยับความไกลออกไปทีละนิดนะครับ”
2.คำนวณค่าใช้จ่ายระหว่างทริป
ค่าเครื่องบิน – สมมติว่าจะไปญี่ปุ่น ถ้าจองตั๋วล่วงหน้าประมาณปีหนึ่ง เราสามารถทำให้งบค่าเดินทางอยู่ภายใน 8,000 –12,000 บาทได้ อีกอย่างคือ เรื่องของวันเดินทางถ้าเราศึกษาช่วงเวลาดีๆ บางทีแค่ขยับวันเดินทางออกไป 1 อาทิตย์ค่าเดินทางก็ถูกลงไปเยอะ เพราะว่าบางทีมันไปชนกับช่วงเทศกาลของที่ๆ เราจะไป เราก็ต้องพยายามหลีกเลี่ยงมันนิดหนึ่ง จะช่วยลดค่าใช้จ่ายตรงนี้ได้
ค่าที่พัก – เดี๋ยวนี้มีแอพมีเว็บอะไรต่างๆ ที่ช่วยเราหาที่พักถูกๆ ได้ แล้วเวลาเสิร์ชเราสามารถกำหนดได้ด้วยว่าเราอยากจะตั้งงบในแต่ละคืนไว้สูงสุดที่เท่าไหร่ แต่ว่าสิ่งหนึ่งที่เราต้องคำนึงถึงคือไม่ใช่เอาแค่ราคานะ ควรดูโลเคชั่นของสถานที่นั้นให้ดีๆ ด้วย เพราะบางทีมันถูกก็จริง แต่ว่ามันอยู่ไกลกลายเป็นว่าเราไปเสียตังค์เยอะตรงค่าเดินทาง ต้องคำนึงดีๆ ครับ สมมติเราตั้งงบไว้คืนละ 1,500 บาท 5 คืน ค่าใช้จ่ายจะอยู่ที่ 7,500 บาท / ทริป
ค่าอาหาร – อันนี้ผมว่าเราสามารถจัดการให้อยู่ภายในวันละ 1,000 บาท มีทริคนิดหน่อยครับ สมมติว่าเราจองที่พักบางที่มันจะรวมค่าอาหารเช้าอยู่แล้ว แต่ว่าอันนี้ต้องดูดีๆ นะบางทีรวมค่าอาหารด้วยก็จริงแต่บวกค่าอาหารแพงมาก เราอาจจะเลือกไม่รวมอาหารเช้าดีกว่า เพราะฉะนั้นค่าใช้จ่ายจะอยู่ที่ 5,000 บาท / ทริป
ค่าเดินทาง – ญี่ปุ่นจะมีค่ารถไฟใต้ดิน ค่ารถบัส วันหนึ่งน่าจะไม่เกิน 500 บาทยิ่งถ้าเราไม่ได้เดินทางไปไกลมากๆ 500 บาทก็น่าจะอยู่นะ ค่าใช้จ่ายจะอยู่ที่ 2,500 บาท / ทริป
ค่าเข้าชมสถานที่ – ตีไว้เหลือๆ เลยนะ บางที่ก็ 200 – 300 บาทเองแต่เราตีไว้สักวันละ 500 บาทก่อน ค่าใช้จ่ายจะอยู่ที่ 2,500 บาท / ทริป
ค่าช้อปปิ้งและค่าใช้จ่ายที่คาดไม่ถึง – เราต้องเผื่อค่าช้อปปิ้งจิปาถะอะไรที่อาจจะเกิดขึ้นสักอีก 1 หมื่น เพราะบางทีมันจะมีค่าใช้จ่ายที่เรานึกไม่ถึง เช่น ค่าของฝาก สมมติเราไปถึงญี่ปุ่นแล้ว ลงรูปแล้ว อยู่ที่นี่ เช็คอินปุ๊บ อื้อหือ มาเลยไดเร็คแมสเสจจากเพื่อนๆ ทั้งหลาย อีกอันหนึ่งที่ผมว่ามันเกิดขึ้นกับตัวผมเองบ่อยคือ ค่าความต้องการที่คาดไม่ถึง อย่างของผมจะเป็นของกินที่แบบ หูย อันนี้ก็น่าซื้อมาถ่ายรูปว่ะ ที่เมืองไทยมันไม่มี นึกออกปะคือมันก็ต้องซื้อ แล้วมันก็ต้องถ่าย แล้วมันก็อร่อย แล้วยังมีค่าเน็ตและโทรศัพท์ ที่ต้องเผื่อไว้อีกนิดหนึ่ง เดี๋ยวนี้มันจะมีพวกซิมที่ถูกๆ ไว้ใช้ต่างแดนหรือ Pocket Wi-fi ก็ลองเทียบราคาดู แนะนำว่าอย่าประหยัดจนไม่มีอินเตอร์เนตใช้ เพราะมันจำเป็นเหมือนกัน เราก็ต้องใช้ Google Maps จะได้ไม่หลง
สมมติว่าจะไปญี่ปุ่น ค่าใช้จ่ายคร่าวๆ น่าจะประมาณนี้
ค่าตั๋วเครื่องบิน – 12,000 บาท
ค่าที่พัก 5 วัน – 7,500 บาท
ค่าอาหาร 5 วัน – 5,000 บาท
ค่าเดินทางต่อทริป – 2,500 บาท
ค่าเข้าชมสถานที่ต่อทริป – 2,500 บาท
ค่าช้อปปิ้งและค่าใช้จ่ายที่คาดไม่ถึง – 10,000 บาท
ยอดรวม 39,500 บาท
สำหรับตัวเลขนี้คือการสมมติว่าเราเดินทางคนเดียวนะ ก็จะแปลว่าคนหนึ่งต้องเก็บงบไว้ประมาณ 4 หมื่นสำหรับการไปญี่ปุ่น ย้ำอีกที นี่คือแบบเหลือๆ นิดหนึ่งแล้วนะ เพราะบางคนอาจจะเซฟได้กว่านี้”
เมื่อคำนวณค่าใช้จ่ายระหว่างทริปออกมาได้แล้ว ต่อไปคือขั้นตอนการเก็บเงิน หนุ่มณัฐได้นำทริคดีๆ มาฝาก
1.การคำนวณค่าใช้จ่าย
“สมมติว่าค่าใช้จ่ายเรา 4 หมื่นบาท เราตั้งใจว่าจะไปภายใน 10 เดือน หารไปเลย 4 หมื่นหาร 10 ก็แปลว่าเราต้องเซฟเงินประมาณเดือนละ 4 พัน พอดูอย่างนี้มันอาจจะดูแบบ เฮ้อ 4 พัน ฉันจะเซฟได้เหรอ หารต่อครับ 4 พันหาร 30 วัน 133 บาท เฮ้ย! 133 บาทดูง่ายแล้วใช่ไหม 133 บาทนี่คืออะไร กาแฟ 1 แก้วบวกกับอะไรอีกนิดหน่อยที่แบบใช้ไปเรื่อยในแต่ละวัน ผมว่าทุกคนทำได้อยู่แล้วไม่ยากเกินความสามารถแน่นอน”
2.สร้างบัญชีสำหรับไปเที่ยวไว้ต่างหาก
“บางธนาคารเขามีระบบอัตโนมัติเลย พอเงินเดือนเราเข้าปุ๊บ มันจะโอนอัตโนมัติไปที่บัญชีท่องเที่ยวของเรา สมมติเราต้องเก็บเดือนละ 4 พันก็หักไป 4 พันเลยก็ได้”
3.สำรวจค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันว่าส่วนไหนเป็น Needs หรือส่วนไหนเป็น Wants
“ถ้ารู้สึกว่า 4 พันโหดไป เราไม่ได้มีเยอะขนาดนั้นเราก็ต้องมาดูว่า ค่าใช้จ่ายของเราในแต่ละวันมีอะไรที่เป็น Needs เป็นความต้องการจริงๆ ความจำเป็นจริงๆ กับเป็น Wants แบบความต้องการที่ไม่ได้จำเป็นขนาดนั้น แต่เราต้องซื่อสัตย์กับตัวเองนิดหนึ่งว่าอันไหนคือสิ่งที่เรา Need จริงๆ อันไหนคือสิ่งที่เราแค่ Want ”
4.นำรูปสถานที่ที่อยากไปมาวางไว้รอบๆ ตัว
“สิ่งหนึ่งที่ผมแนะนำนะคือเอารูปที่ๆ เราอยากจะไปมาไว้ในที่ที่จะทำให้เราเห็นมันบ่อยที่สุด อาจจะตั้งเป็นวอลเปเปอร์มือถือ เปิดขึ้นมาก่อนจะซื้อกาแฟ อื้อหือ! ฟูจิอยู่ตรงนี้ มันจะรู้สึก ไม่ได้ละ รู้สึกผิดต่อฟูจิละ เหมือนเวลาเราพกรูปแฟนไว้ในกระเป๋าสตางค์มันจะทำให้เรารู้สึกว่า นอกใจไม่ได้นะ หรือเอาไปตั้งไว้ในที่ทำงานอีกสักรูป ให้มันเตือนใจเราตลอดเวลาว่านี่มันเป็นสิ่งสำคัญกับเราตอนนี้ เราต้องเก็บเงินเพื่อให้ได้สิ่งนี้นะ”
5.เลือกเก็บแบงค์
“มันจะมีทริคของบางคนที่ว่าเลือกแบงค์อะไรสักอย่างเช่น แบงค์ 50 หรือแบงค์ 100 ที่เราได้มาแต่ละวันแล้วก็เก็บ เก็บไปเรื่อยๆ ถ้าเรานึกแค่ต่อครั้งเราจะรู้สึกว่า 50 มันจะไปทำอะไรได้ แต่ถ้าเราเก็บต่อเนื่อง เอาง่ายๆ นะ 3 เดือนก็ 90 วันคูณ 50 บาทได้ 4,500 บาทละนะ เผลอๆ เราจ่ายค่าที่พักทั้งทริปได้แล้วอะ ทุกสิ่งใหญ่ๆ มันเกิดจากการที่เราเก็บสิ่งเล็กๆ มากองรวมกันแล้วมันจะใหญ่ขึ้นมามากกว่าที่เราคิดถ้าเราทำต่อเนื่องกันไปสักระยะหนึ่ง”
6.ตีตัวออกห่างจากต้นเหตุการเสียเงิน
“ถ้าคุณเป็นคนชอบช้อป พยายามหลีกเลี่ยงเส้นทางที่จะทำให้คุณต้องผ่านห้าง นอกจากสถานที่ ต้องห่างเพื่อนที่ชอบพาเราไปเสียตังค์ เพื่อนที่ชอบพาไปช้อป เพื่อนที่ชอบพาไปปาร์ตี้ ห่างไปสักแป็บหนึ่งครับ คืออาจจะไม่ได้เลิกคบนะแต่แบบว่าไปกับเขาให้น้อยลง ถ้าเรารู้ตัวว่าแบบ โห ไปกับเพื่องแก๊งนี้เมื่อไหร่เอาละ หายไปแล้วพันสองพันแบบง่ายๆ เราก็ต้องพยายามตีตัวออกห่างนิดหนึ่ง ลำดับความสำคัญแรกของเราตอนนี้มันคือฟูจิ มันคือเมียงดง มันคือเทือกเขาแอลป์”
7.นำสิ่งของที่ไม่ใช้แล้วไปขาย
“ลองเดินสำรวจดูในบ้านก็ได้ว่า เฮ้ย! ตอนนี้เรามีของอะไรที่เราไม่ใช้บ้างแล้ววะ ที่มันไม่จำเป็นแล้ว เสื้อผ้าเก่า อะไรต่างๆ อาจจะเคยซื้อจากทริปก่อนก็ได้หรือว่าที่เราเคยซื้อมานานแล้ว เนี่ยแหละ จากคลิปที่แล้ว Cost per use ที่แบบ Cost per use สูงมากเลย ไม่ค่อยได้ใช้เลย เอามันไปขายซะ ถ้ามันเก็บไว้แล้วไม่ค่อยคุ้ม รวมๆ แล้วอาจจะได้สัก 5,000 บาท”
การเก็บเงินเพื่อไปเที่ยวต่างประเทศสำหรับใครหลายคนอาจดูว่าเป็นเรื่องยาก เพราะด้วยจำนวนเงินที่เยอะ ต้องใช้เวลานานกว่าจะเก็บได้ แต่ถ้าเรารู้จักบริหารการใช้เงินและสำรวจความต้องการในชีวิตประจำวันของเราให้ดีๆ มีการวิเคราะห์ความคุ้มค่าในแต่ละครั้งก่อนการจ่ายเงินออกไป สุดฯ คิดว่าการออมเงินเพื่อเป้าหมายในอนาคตสักอย่างหนึ่งคงไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป ขอให้ได้ไปเที่ยวกันนะคะ
ติดตาม SUDSAPDA Money Guru และคลิปสนุกๆ ได้ที่ SUDSAPDA TV