“กินรี เรสซิ่ง” เดินหน้าประกาศศักดาระดับเวทีโลกต่อยอดความสำเร็จอีกครั้ง ในการแข่งขัน “F1 In Schools World Finals ครั้งที่ 18”
เมื่อปีที่ผ่านมา ในการแข่งขัน The F1 in School ประเทศอังกฤษ ภายใต้ชื่อทีม “กินรี เรสซิ่ง” สามารถสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยด้วยการคว้ารางวัลสำคัญคือ “Sustainability Award” รางวัลการใช้พลังอย่างยั่งยืน พร้อมอันดับการทำความเร็วที่เหนือชั้น
ร่วมส่งแรงใจเชียร์เยาวชนไทย “กินรี เรสซิ่ง” สร้างชื่อให้ประเทศไทยอีกครั้ง ในการแข่งขัน “F1 in School World Final 2023” ณ ประเทศสิงคโปร์ ในระหว่างวันที่ 8-15 กันยายน 2566 ซึ่งมีทีมเข้าแข่งขันกว่า 68 ทีม จากตัวแทนทั่วโลก
การแข่งขันประลองความเร็วที่วัดกับที่ความรอบรู้ทางวิทยาการ
จุดเริ่มต้นของThe F1 in School ซึ่งเป็นการแข่งขันระดับนานาชาติสำหรับเยาวชนอายุ 12-19 ปี โดยเป็นการรวมกลุ่ม 3-6 คนทำงานเป็นทีม เกิดขึ้นในชั้นเรียน ซึ่งเป็นการพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ของนักเรียนเพื่อนำมาใช้ในการออกแบบและสร้างสรรค์รถแข่งขนาดเล็ก F1 ที่เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ สิ่งสำคัญหลักๆในการออกแบบและประดิษฐ์รถแข่ง F1 ก็คือการใช้ความรู้ในการคำนวณพลศาสตร์ของไหลหรือ CFD เพื่อจำลองแรงต้านของอากาศ โดยการแข่งขันมีการจัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1999 ซึ่งก็มีนักเรียนจากหลายประเทศทั่วโลกที่สร้างทีมขึ้นมาเพื่อเข้าแข่งขัน โดยในปี 2021 ทีมนักเรียนตัวแทนจากประเทศออสเตรเลียได้สร้างสถิติที่ดีที่สุดด้วยการนำรถแข่งที่ประดิษฐ์มาในการเข้าแข่งขันและคว้าอันดับที่ 1 ไปได้ด้วยความเร็ว 0.916 วินาที โดยทีมผู้ชนะเลิศได้รับทุนการศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่กรุงลอนดอนประเทศอังกฤษด้วย
กินรี เรสซิ่ง เด็กไทยที่นำความเร็วก้าวไกลในระดับโลก
เมื่อปี 2022 ที่ผ่านมา กินรี เรสซิ่ง ซึ่งเป็นเยาวชนไทยในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากโรงเรียนนานาชาติสิงคโปร์ (Singapore International School of Bangkok : SISB) และโรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรี (Shrewsbury International School) ได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทน 1 ใน 2 ของประเทศไทยในการเข้าร่วมการแข่งขันFormula 1 (F1) in Schools Challenge รอบ World Final ครั้งที่ 17 ร่วมกับทีมเยาวชนนานาชาติ 40 ทีมจาก 26 ประเทศในวันที่ 12 กรกฎาคม 2565 ณ เมืองซิลเวอร์สโตน นอร์แธมป์ตันเชอร์ ประเทศอังกฤษ โดยทางทีมได้โชว์ความสามารถในการพัฒนาการออกแบบโดยใช้คอมพิวเตอร์ช่วย (CAD) การผลิตโดยใช้คอมพิวเตอร์ช่วย (CAM) และการคำนวณพลศาสตร์ของไหลเชิงคำนวณ (CFD) เพื่อสร้างรถแข่ง F1 ขนาดเล็กให้มีความเร็วสูงสุดเท่าที่จะเป็นไปได้
นอกจากนี้ทางทีมก็ยังได้พัฒนาเว็บและการเขียนโปรแกรม เพื่อใช้ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อนำไปใช้ในการสร้างแบรนด์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการโฆษณาทีมที่มีผลทางด้านการตลาด นอกจากนี้ทางทีม กินรี เรสซิ่ง ก็ยังหาทุนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการสร้างรถแข่ง F1 รวมถึงค่าใช้จ่ายในด้านต่างๆที่จำเป็นสำหรับการเข้าแข่งขันอีกด้วย
ความคิดสร้างสรรค์สุดล้ำ ปัจจัยสำคัญในการสร้างความสำเร็จ
เมื่อปีที่แล้ว ทีม กินรี เรสซิ่ง ซึ่งประกอบไปด้วย จิรัชย์ พัวพงษ์พัน, โทนี่ แสงสุพรรณ, วรินทร์ เพชรชำลิ, ปัทเมณี จินะดิษฐ์ และ รวิพัชร์ รอดโพธิ์ทอง สร้างความฮือฮาด้วยการคว้ารางวัลสำคัญคือ Sustainability Award รางวัลการใช้พลังอย่างยั่งยืนจากการเลือกใช้วัสดุรีไซเคิลจากธรรมชาติในกระบวนการผลิต เนื่องจากมองว่าประเทศไทยมีปัญหาสิ่งแวดล้อมและการผลิตรถแข่งขนาดเล็กก็เป็นการแสดงจุดยืนและความมุ่งมั่นเชิงสัญลักษณ์ในการแก้ไขปัญหามลภาวะ โดยทางทีมกินรีใช้วิธีรีไซเคิลขวดเพื่อเป็นวัสดุหลักในการขึ้นแบบ 3 มิติและใช้ในการพิมพ์ชิ้นส่วนสำหรับรถ ส่วนสิ่งที่ถือเป็นที่สุดของความคิดสร้างสรรค์และทำให้ทีมกินรีได้รับคำชมอย่างมากก็คือการนำคาร์บอนจากท่อไอเสียรถยนต์มาผสมกับ bio-resin เพื่อผลิตชิ้นส่วนที่ช่วยลดน้ำหนักของรถและเป็นการลดลภาวะไปในตัว
ผลการแข่งขันจากการผลิตรถ F1 ขนาดเล็กที่โดดเด่นเกินวัยนี้ทำให้ทีม กินรี เรสซิ่ง รั้งอันดับที่ 3 ในหมวดเวลารวมของการแข่งรถและอยู่ในลำดับที่ 9 ในการเข้ารอบคัดเลือกและได้รับเข้ารอบน็อคเอาท์ 16 ทีมสุดท้าย ซึ่งท้ายที่สุดแล้วทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศคะแนนรวมคือทีมไฮดรอน (Hydron) จากประเทศออสเตรเลีย ส่วนในปีนี้การแข่งขันF1 In Schools World Finals ครั้งที่ 18 จะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 10 ถึง 12 กันยายนที่จะถึงนี้ โดยสถานที่ที่ใช้ในการแข่งขันคือ Resorts World Sentosa สถานที่ท่องเที่ยวและที่พักตากอากาศชื่อดังของประเทศสิงคโปร์ โดยในปีนี้มีทีมนักเรียนเยาวชนเข้าร่วมแข่งขันหลายทีม ซึ่ง กินรี เรสซิ่ง ได้เป้าเอาไว้ว่าจะคว้ารางวัลชนะเลิศมาครองให้ได้
การวางแผน ยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุดในการแข่งขัน
จิรัชย์ พัวพงษ์พันธ์ (จิจิ) ที่รับหน้าที่เป็นผู้จัดการทีมและออกแบบรถเผยว่า “ผมเป็นคนางแผนการทำงานให้กับทีม, แบ่งงาน และคอยติดตามงานจากสมาชิกภายในทีม” สิ่งที่ จิรัชย์ มองว่าสำคัญมากก็คือการช่วยดังคนอื่นที่มีเวลาเข้ามาช่วยงานในกรณ๊ที่สมขิกคนอื่นติดขัดทำงานไม่ทัน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงภาวะผู้นำของเขาได้เป็นอย่างดี “สำหรับงานออกแบบผมใช้โปรแกรมออกแบบสามมิติชื่อ fusion 360 ช่วงการออกแบบ ผมจะทำการค้นคว้างานออกแบบด้านอากาศพลศาสตร์ เพื่อนำมาใช้กับการออกแบบรถ หลังจากนั้นก็จะนำงานออกแบบรถไปทดสอบอากาศพลศาสตร์ หลังจากออกแบบซึ่งก็ต้องมีการปรับปรุงหลายครั้งจนเป็นที่พอใจแล้วก็จะส่งงานให้กับฝ่ายผลิตเพื่อไปผลิตรถจริงต่อไป” สิ่งที่ จิรัชย์ ได้รับจากการแข่งขันนอกจากการนำทักษะและความรู้จากการศึกษาไปต่อยอดแล้วก็ยังอยู่ที่การทำงานเป็นทีมด้วย “การได้เห็นความคิดสร้างสรรค์และพรสวรรค์จากทีมเยาวชนจากต่างประเทศก็ทำให้เราอยากพัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้นด้วย” เขากล่าวเสริม
จิรัชย์ แสดงความเห็นว่าในปีที่ผ่านมาทางทีมได้พัฒนาไปมาก โดยเริ่มจากการเรียนรู้ในการแบ่งงานให้ทีมมีความสมดุลที่ดีไม่ต่างจากการผลิตรถที่ความเหมาะสมลงตัวในทุกระบบคือสิ่งสำคัญที่สุดและการได้สมาชิกใหม่เพิ่มเข้ามาก็ทำให้งานออกแบบดีขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย โดยในปีนี้ทางทีม กินรี เรสซิ่ง ตั้งเป้าเอาไว้ว่าจะชนดะรางวัล Sustainability Awards อีกครั้ง รวมถึงรางวัล Fastest Car และติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลกด้วย
โทนี่ แสงสุพรรณ รับหน้าที่เป็น ดีไซน์ เอนจิเนียร์ หรือผู้ออกแบบทางด้านวิศวกรรม ซึ่งถือเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญต่อทีมเป็นอย่างมาก เนื่องจากเขามีหน้าที่ในการพัฒนาและออกแบบรถเพื่อนำไปผลิตให้ออกมาในสภาพที่สมบูรณ์แบบพร้อมลงแข่งมากที่สุด โดย โทนี่ เผยว่าเวทีนี้เป็นการแข่งขันระดับโลก ซึ่งสิ่งที่ทำให้ โทนี่ ได้เรียนรู้นอกเหนือไปจากงานออกแบบและพัฒนารถก็คือการได้เรียนรู้วัฒนธรรมของผู้เข้าแข่งขันทีมอื่น ซึ่งถือเป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกัน ส่วนการแบ่งงานก็ถือว่าสำคัญมากเพราะการทำงานเป็นทีมจะช่วยในเรื่องพัฒนาการด้านการสื่อสารของตัวเองกับหัวหน้าทีมและสมาชิกในทีม เพื่อให้มีระเบียบวินัยในการทำงานและส่งงาน การทำงานในลักษณะนี้ทำให้ โทนี่ ที่พูดไม่ค่อยเก่งพูดเก่งขึ้น ซึ่งถือเป็นผลพลอยได้ที่ดีมากๆจากการทำงานเป็นทีม
วรินทร เพชรชำลิ (ภัทร) รับหน้าที่ประกอบชิ้นส่วนรถ F1 ซึ่งถือเป็นตำแหน่งที่สำคัญและท้าทายความสามารถเป็นอย่างมาก “ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมาผมได้นำทักษะที่ผมได้เรียนรู้มาจากปีก่อนมาพัฒนาและต่อยอดในสิ่งที่ผมสนใจและผลิตรถอีกคันในปีนี้ ผมได้พัฒนาทักษะหลายๆด้านยกตัวอย่างเช่นทักษะในเรื่องการมีทีมเวิร์ครายการเข้าหาสังคมแถมยังได้พัฒนาทักษะทางวิศวะกรรมต่างๆอย่างเช่นการใช้เครื่องมือช่างต่างๆที่ทำให้รถมันออกมามีคุณภาพมากที่สุดครับ ผมยังได้เรียนรู้ว่าวัสดุต่างๆ ที่ถูกนำมาผลิตรถแต่ละแบบ มีกรรมวิธีเเละขั้นตอนอย่างไรบ้าง” นี่คือพัฒนาการทางเชิงช่างที่ ภัทร ได้พัฒนาความสามารถของตัวเองจากการเรียนรู้ระบบการทำงานและการแข่งขันเมื่อปีที่แล้ว
สมาชิกใหม่กับความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ
โจเซฟ (Jiaen Yang) เป็นสมาชิกใหม่ที่เข้ามารับผิดชอบในตำแหน่งออกแบบกราฟฟิก โดย โจเซฟ เข้ามาอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่อายุ 12 ปีจนในตอนนี้เขาอาศัยอยู่ในไทยมานาน 5 ปีแล้ว โดยเจ้าตัวมองว่าไทยเป็นประเทศที่ยังมีโอกาสที่จะแสดงศักยภาพทางด้านต่างๆได้อีกมากในเวทีโลกและการเป็นตัวแทนเยาวชนไทยของเขาก็จะเป็นการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพนั้นให้ปรากฎสู่สายตาชาวโลกได้ “ผมมีหน้าที่ในการออกแบบกราฟฟิกเพื่อให้ข้อมูลของทีมถูกนำเสนอออกมาได้ง่ายต่อการสื่อสารมากที่สุด นอกจากนี้ผมก็ยังรับหน้าที่ในส่วนของงาน pit boot ซึ่งจะตั้งอยู่ในงานแข่งขันที่ประเทศสิงคโปร์ด้วย” โจเซฟ เผย โดยเป้าหมายของเขาในตอนนี้ก็คือการทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ซึ่งเป็นความสุขของ โจเซฟ มากที่สุดแล้วไม่ว่าผลของการแข่งขันจะออกมาเป็นอย่างไรก็ตาม
จิรนุช ชัยพัฒน์ธนกิจ (จิ๊บ) เป็นสมาชิกคนใหม่ของทีม กินรี เรสซิ่ง เช่นกัน โดยหน้าที่ของ จิ๊บ ก็คือผู้จัดการฝ่ายการตลาดและฝ่าย โซเชียล มีเดีย ซึ่งถือเป็นสื่อที่จำเป็นอย่างมากในการประชาสัมพันธ์และโปรโมทผลงานรวมถึงศักยภาพของทีม “หน้าที่สำคัญของหนูก็คือการติดต่อหาสปอนเซอร์และพาร์ทเนอร์ตามบริษัทต่างๆ ส่วนการดูแลช่องทางในการพีอาร์ผ่านสื่อต่างๆก็ทำให้ผู้คนรู้จักทีมกินรีมากขึ้น” จิ๊บ พูดถึงหน้าที่ภายในทีมของเธอ โดย จิ๊บ เชื่อว่าในปีนี้ทีมจะสร้างผลงานได้ดีมากกว่าปีที่แล้ว เพราะเธอเห็นถึงความมุ่งมั่นของเพื่อนร่วมทีมที่จะคว้าชัยชนะ นอกจากนี้ทางทีมก็หวังว่าจะได้แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมไทยที่สวยงามกับชาวต่างชาติที่มาร่วมงานด้วย โดยการเรียนรู้งานก่อนเข้าทีมเพียงสองเดือน ซึ่งถือว่าสั้นมากๆทำให้ จิ๊บ เติบโตในหลายๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นการทำงานเป็นทีม, การรับผิดชอบต่องานของตัวเองและการแบกรับความกดดันจากการบริหารเวลาในการทำงานที่จำกัด
ตำแหน่งในทีมกินรีของ นันท์นภัส บัตรสมบูรณ์ หรือ มิ้น คือผู้จัดการด้านการเงินและการตลาด นอกจากนี้มีหน้าที่รับผิดชอบในการเปรียบเทียบและติดต่อร้านค้าเพื่อหาสินค้าคุณภาพที่ดีที่สุดสำหรับการผลิตของช่ำร่วย อีกทั้งยังดูแลการใช้จ่ายของทีมเพื่อให้อยู่ในงบประมาณด้วย โดย มิ้น เผยว่าก่อนเข้าทีมทาง จิจิ หัวหน้าทีมได้ทำการสัมภาษณ์เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเธอเพื่อที่จะละลายพฤติกรรมและสร้างความเป็นกันเอง “โครงงานนี้เป็นโครงงานที่ใช้ระยะเวลาเกือบ 1 ปี หนูและทุกคนในทีมทุ่มเทเป็นอย่างมาก ก็คาดหวังว่าจะได้รางวัล Sponsorship & Marketing Award หรือไม่ก็ใดรางวัลหนึ่งจากการแข่งขันครั้งนี้ นอกจากนี้ก็ยังหวังว่าจะได้เปิดโอกาสสู่โลกกว้าง ได้ประสบการ์ณดีๆ ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และ ได้เจอเพื่อนๆจากหลายประเทศอีกด้วย” มิ้น แสดงความเห็น
นอกจากการเรียนรู้ในวิชาเฉพาะทางอย่าง วิศวกรรมศาสตร์ และ ฟิสิกส์ ที่นำมาประยุกต์เพื่อสร้างรถ F1 ให้มีศักยภาพที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้แล้ว มิ้นก็ยังมีความเห็นคล้ายเพื่อนร่วมทีมที่ว่าการติดต่อสื่อสารและการทำการตลาดเพื่อหาทุนมาสานฝันด้วยตัวเองถือเป็นสิ่งที่น่าภูมิใจและสามารถนำไปใช้เป็นทักษะไปใช้ประโยชน์ในอนาคตได้ด้วย
เป้าหมายที่มากกว่าการเข้าเส้นชัยเป็นอันดับ 1 ของทีม กินรี เรสซิ่ง
แน่นอนว่าในทุกการแข่งขัน เป้าหมายที่ผู้เข้าแข่งขันทุกคนฝันอยากจะได้สัมผัสก็คือการคว้าอันดับ 1 มาครองให้ได้ แต่สิ่งนั้นอาจจะไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะการได้พัฒนาศักยภาพของตัวเอง, การนำความรู้ทางวิทยาการด้านต่างๆที่ได้จากในห้องเรียนและนอกห้องเรียนไปจนถึงการเอาชนะใจตัวเองให้ได้ถือเป็นสิ่งที่สำคัญกว่ามาก ทั้งหมดนี้คือการเรียนรู้ที่จะเติบโตทางด้านจิตใจและการรู้แพ้รู้ชนะ แต่ถึงจะอย่างไรก็ตามทางทีมกนรีก็มีจุดมุ่งหมายร่วมกันก็คือการที่จะคว้ารางวัล คือ Sustainability Award มาครองให้ได้อีกครั้ง, การได้ติด 10 อันดับแรกของรถที่วิ่งเร็วที่สุด รวมถึงการคว้าถ้วยรางวัลชนะเลิศรอบ Knock Out
ดูจากความมุ่งมั่นและความตั้งใจแล้ว เห็นได้ชัดเลยว่าความฝันและเป้าหมายที่ทางทีม กินรี เรสซิ่ง ได้วางเอาไว้อยู่ไม่ไกลจากความเป็นจริงเลย https://www.facebook.com/Kinnareeracing2023