ฌอห์ณ จินดาโชติ ค้นพบ “ความสุขที่พอดี” ในมูลนิธิเพื่อนช้าง

Alternative Textaccount_circle
event

 

“…ความพอเพียงนั้น อยู่ที่ตัวเรานี่แหละ ถ้าเรารู้จักมีความสุขกับสิ่งที่มี สิ่งที่ทำ และแบ่งปันไปให้คนอื่น ก็จะเกิดเป็น ‘ความสุขที่พอดี’ ซึ่งเป็นสโลแกนเดียวกับที่คุณครูโซและทุกคนที่นี่ทำอยู่ พวกเขารู้ว่าตัวเองมีความสุขกับสิ่งไหน และรู้จักแบ่งปันความสุขนั้นไปให้คนอื่น เมื่อสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวมีความสุข เราก็จะยิ่งสุขมากกว่า นั่นคือความพอเพียงที่พอดีสำหรับผม…” ถ้อยคำสะท้อนความรู้สึกของผู้ชายคนดีคนเดิม ฌอห์ณ จินดาโชติ หลังได้ทำกิจกรรมคนหล่อขอทำดีเที่ยวนี้ ทำให้ สุดฯ สรุปได้ว่า คิดไม่ผิดจริงๆ ที่ชวนเขาไปทำหน้าที่จิตอาสาให้ “มูลนิธิเพื่อนช้าง”

ใครจะเชื่อว่าระยะเวลาแค่ 1 วันจะเปลี่ยนมุมมองของผู้ชายคนหนึ่งได้ เพราะแม้จะได้ยินข่าวคราวของที่นี่มานานในฐานะโรงพยาบาลช้างแห่งแรกของประเทศไทย ที่ให้ความช่วยเหลือช้างป่วยและบาดเจ็บทุกเชือกโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ภายใต้อุดมการณ์อันยิ่งใหญ่ของผู้หญิงตัวเล็กๆ อย่าง คุณโซไรดา ซาลวาลา ผู้ก่อตั้งมูลนิธินี้ขึ้นมาด้วยความรักและความหวัง แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ฌอห์ณเข้าใจความเป็นมาและเป็นไปของมูลนิธิเพื่อนช้างเท่าไรนัก จนเมื่อได้ไปสัมผัสและคลุกคลีด้วยการทำงานจิตอาสาในนั้น 1 วันเต็ม เขาจึงได้เข้าใจอย่างแท้จริงว่า ทำไมทุกคนที่นี่ถึงได้มุ่งมั่นทำงานเพื่อช้างขนาดนั้น

MISSION 1 : เรียนรู้งานทั่วไปในโรงพยาบาลช้าง

วันที่ฌอห์ณไปทำงานอาสา มูลนิธิเพื่อนช้างมีช้างประจำอยู่ 5 เชือก คือ พังอ้วน พลายโบโบ้ โม่ชะ โม่ตาลา และพังบุญมี ซึ่งมูลนิธิได้รับบริจาคมาบ้าง หรือเจ้าของเดิมยกให้ทางมูลนิธิดูแลถาวรบ้าง นอกจากนี้ยังมีช้างที่เจ้าของส่งมารักษาตัวอีก 4 เชือก รวมเป็น 9 เชือก แต่มีคุณหมอที่คอยให้การรักษาเพียงสองท่าน คือ นสพ.ปรีชา พวงคำ และสพญ.เครือทอง ขยัน (หมอเก๋) ซึ่งต้องทำงานตลอด 24 ชั่วโมง 7 วัน จนแทบไม่ได้หยุดพัก หน้าที่ของฌอห์ณในครั้งนี้จึงไม่เพียงแค่ช่วยงานทั่วไปเท่าที่จะทำได้ แต่ยังต้องคอยติดตามเป็นลูกมือให้คุณหมอด้วย

ถึงแม้ว่าก่อนหน้าที่จะไปปฏิบัติภารกิจ คนหล่อฯ ของเราจะเพิ่งเดินทางกลับมาจากต่างประเทศและมีอาการเจ็ตแล็กเล็กน้อย แต่พอไปถึงมูลนิธิเพื่อนช้าง ฌอห์ณก็ปลุกพลัง สะกดอาการอ่อนล้าและพร้อมอาสาทันที หน้าที่แรกเริ่มจากการช่วยเจ้าหน้าที่ทั่วไปของมูลนิธิกวาดใบไม้และโกยทรายออกจากทางระบายน้ำ เพื่อให้น้ำระบายได้ดีในช่วงน้ำหลาก จากนั้นจึงขัดล้างโรงช้างให้สะอาดเอี่ยม ก่อนไปช่วยควาญโกยกองทรายสำหรับพิงนอนให้ช้างแก่ที่นอนลุกยาก ซึ่งฌอห์ณก็ขยันขันแข็งโกยทรายอย่างทะมัดทะแมงจนพี่ควาญถึงกับแซวเบาๆ ว่า “อยากมาสมัครงานที่นี่บ้างไหมครับ” ทำเอาคนหล่อฯ ของเราหัวเราะร่าเลยทีเดียว

MISSION 2 : เพิ่มพลัง (น้ำนม) ให้แม่ลูกอ่อนโม่มดโละ

หลังเรียนรู้งานของพนักงานทั่วไปเสร็จแล้ว เรื่องอาหารก็ตามมาติดๆ ด้วยความที่ช้างเป็นสัตว์บกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและต้องบริโภคอาหารถึงวันละ 10 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัว หรือโดยเฉลี่ยประมาณเชือกละ 200 กิโลกรัมต่อวัน การดูแลเรื่องอาหารให้เพียงพอต่อความต้องการของช้างหลายเชือกจึงเป็นเรื่องใหญ่

โม่มดโละและมีนา โม่มดโละถูกส่งมาให้คลอดลูกที่ “โรงคลอดช้างประชาชนของพระราชา” ในโรงพยาบาลช้าง โดยตกลูกเป็นตัวผู้เมื่อวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา จึงได้ชื่อว่า “มีนา” พ้องเสียงกับเดือนเกิดและมีคำแปลดีๆ ในภาษากะเหรี่ยงว่า “ความรัก”

 

ทางมูลนิธิจัดการเรื่องอาหารช้างด้วยการสนับสนุนให้ชาวบ้านปลูก “หญ้าบาน่า” ซึ่งอุดมด้วยสารอาหารสำหรับช้าง แล้วส่งเข้ามาขายให้มูลนิธิเป็นประจำทุกวัน วันละกว่า 1 ตัน และเมื่อรถขนหญ้ามาถึง ฌอห์ณก็ต้องช่วยขนเข้าโรงเก็บอาหารและกระจายไปให้ช้างแต่ละเชือกก่อนจะแวะไปป้อนหัวปลีเป็นอาหารเสริมน้ำนมให้ “โม่มดโละ” แม่ช้างที่เพิ่งตกลูกที่โรงคลอดช้าง ซึ่งจัดไว้สำหรับดูแลช้างท้อง ทำคลอดช้าง และบริบาลแม่และลูกช้างหลังคลอดอย่างน้อย 6 เดือน เพื่อให้แม่ช้างได้ฟื้นฟูร่างกายและอยู่กับลูก รวมถึงตัวลูกช้างก็จะได้อยู่ใกล้ชิดแม่ และได้เลียนแบบพฤติกรรมการกินและการเคลื่อนไหวต่างๆ ด้วย

งานนี้นอกจากให้อาหารเชือกแม่แล้ว คนหล่อฯ ของเรายังได้ผ่อนคลายด้วยการเล่นกับน้องช้าง อายุ 1 เดือนที่ขี้อ้อนและซนมาก เป็นการส่งท้ายงานภาคเช้าอย่างสนุกสนาน ก่อนจะพักกินข้าวเที่ยงเติมพลังไว้สู้งานต่อในภาคหน้า

To Know  

  • อายุขัย แม้จะตัวใหญ่กว่ามาก แต่ช้างเป็นสัตว์ที่มีช่วงอายุเท่ากับคน ดังนั้นโม่ซะที่อายุ 11 ปีจึงซุกซนขี้เล่นเหมือนเด็กประถม ส่วนพังอ้วนซึ่งอายุ 57 ก็จะเชื่องช้าและนิ่งประสาผู้สูงวัย
  • หญ้าบาน่าเป็นหญ้าที่มีสารอาหารเหมาะกับช้างปกติแล้วชาวบ้านจะนำมาขายให้มูลนิธิกิโลกรัมละ 2 บาท ซึ่งช้างในโรงพยาบาลช้างเกือบ 10 เชือกกินหญ้ารวมกันวันละประมาณ 1 ตัน เท่ากับว่าค่าอาหารของช้างตกวันละกว่า 2,000 บาทเลยทีเดียว
  • โม่ = พง เป็นภาษากะเหรี่ยง แปลว่าแม่หรือตัวเมีย ช้างตัวเมียที่มีเจ้าของเป็นชาวกะเหรี่ยงจึงมักจะมีชื่อขึ้นต้นด้วยคำว่าโม่

อ่าน Mission ที่เหลือได้ที่หน้า 2 ค่ะ

สุดสัปดาห์

keyboard_arrow_up