ย้อนกลับไปช่วงเดือนกันยายน ปี 2020 มีสารคดีเรื่องหนึ่งได้ปล่อยให้ชมผ่านทาง Netflix นั่นก็คือเรื่อง Hope Frozen ที่ตีแผ่เรื่องจริงของครอบครัวชาวไทย ที่ตัดสินใจพาลูกสาววัยสองขวบที่
ไพลิน วีเด็ลพา Hope Frozen ไปคว้ารางวัลใหญ่อย่างรางวัลชนะเลิศภาพยนตร์สารคดี
บทสัมภาษณ์ ไพลิน วีเด็ล ผู้กำกับจากสารคดี Hope Frozen ทาง Netflix
Hope Frozen สารคดีจากฝีมือผู้กำกับหญิงไทย
ช่วยเล่าเรื่องราวของสารคดี Hope Frozen ว่าเป็นสารคดีแบบไหน
“Hope Frozen เป็นสารคดีที่เป็น Observational Documentary คือจะเป็นสารคดีที่เราได้ยืมทักษะและกลยุทธ์ในการตัดต่อและการทำงานจากภาพยนตร์ในการเล่าเรื่องของเรา โดยเป็นเรื่องราวของครอบครัวที่ตัดสินใจใช้วิทยาการแช่แข็ง ไครออนิกส์ (Cryonics) เมื่อพบว่าลูกสาว คือน้องไอนส์ (Einz) ป่วยด้วยโรคมะเร็ง ด้วยความหวังว่าสักวันวงการแพทย์จะค้นพบวิธีรักษาได้สำเร็จ และจะทำให้น้องไอนส์ได้มีโอกาสเกิดใหม่อีกครั้ง โดยน้องไอนส์ มีอายุเพียงสองขวบ และได้กลายเป็นบุคคลที่อายุน้อยที่สุดในโลก ที่ได้รับการเก็บรักษาด้วยวิธีการไครออนิกส์”
ทราบมาว่าสารคดี Hope Frozen เป็นภาพยนตร์ที่คุณไพลินลงทุนด้วยตัวเอง และได้รับทุนจากการประกวดในเวทีต่างประเทศ ทำไมคุณไพลินถึงตัดสินลงทุนทำเรื่องนี้ขึ้นมา
“จุดเริ่มต้นแรกเราอยากทำข่าวเกี่ยวกับครอบครัวนี้ ยังไม่คิดไปถึงขั้นสารคดี แต่พอได้ไปพบ ไปสัมภาษณ์ ก็ประทับใจกับความรักที่ครอบครัวนี้มีให้น้องไอนส์ และก็ประทับใจกับวิธีคิดของครอบครัวนี้เกี่ยวกับความหมายของความเป็นความตาย วิธีการที่เทคโนโลยีกำลังจะเปลี่ยนแปลงวิธีคิดของมนุษย์ และครอบครัวนี้ทั้งคุณพ่อคุณแม่จบปริญญาเอกเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ทั้งสองคน เพราะฉะนั้นเป็นครอบครัวที่รู้ดีว่าความเป็นจริงของวิทยาศาสตร์มันถึงไหนแล้ว พอจากที่ตั้งใจทำข่าว กลายไปเป็นหนังสารคดีก็เลยจำเป็นต้องใช้ทุนเพิ่มขึ้น”
“มาถึงคำถามว่าทำไมถึงตัดสินใจลงทุน ต้องตอบว่ามันไม่ได้มีวันใดวันหนึ่งที่เราตื่นขึ้นมาแล้วบอกว่าเราอยากลงทุน คือมันเกิดขึ้นตามความสงสัยของเราที่เพิ่มขึ้น เราอยากจะทำงานให้เต็มที่ แล้ววิธีการเดียวที่เราสามารถทำงานให้เต็มที่ได้ก็คือเราต้องทุ่มเทเวลา รวมไปถึงค่าใช้จ่ายต่างๆ เพื่อให้งานออกมาสำเร็จ เราต้องทำงานให้ดี และเราต้องทำงานให้จบ จะให้งานเราสะดุดแค่เพราะเราไม่มีเงินลงทุนไม่ได้”
ทำไมถึงสนใจสารคดีที่มุ่งเน้นเรื่องความเชื่อ บาดแผลในใจ และการปรับตัวให้เข้ากับความทันสมัยของโลก
“สามประเด็นนี้คือสามประเด็นที่คิดว่ามนุษย์ทุกคนต้องเผชิญในชีวิตนี้ มันคือ Universal Theme ประเภทหนึ่ง เกี่ยวกับปรัชญา มนุษย์ทุกคนบนโลกนี้พอเกิดขึ้นมาทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือคนต่างชาติ ชนชั้นไหนก็มี Moment ที่หลายๆ คนถามคำถามพวกนี้ คือเราชอบทำหนังที่ทุกคนมีความเข้าถึงได้ง่าย มีความเข้าถึงได้แบบพอชมแล้วอิน เพราะฉะนั้นเราทำงานเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะเราคิดว่ามันคือความเป็นมนุษย์มากกว่า”
รู้สึกยังไงบ้างที่ผลงานเรื่อง Hope Frozen ได้รับรางวัลในต่างประเทศเยอะมาก แถมจะได้เข้าชิงออสการ์ และหนังได้ปล่อยสตรีมมิ่งทั่วโลกใน Netflix
“รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไม่ได้คาดไว้เลยค่ะ เราได้รับรางวัล INTERNATIONAL DOCUMENTARY WINNER (2019) จากเทศกาล Hot Docs ที่แคนาดา ซึ่งเป็นเทศกาลหนังสารคดีที่ใหญ่ที่สุดในโลก และผู้ชนะรางวัลนี้จะมีสิทธิ์เข้าชิงรางวัลออสการ์ในสาขาภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยม โดยไม่ต้องนำภาพยนตร์ไปฉายในโรงภาพยนตร์ที่อเมริกา จนถึงตอนนี้ยังอึ้งอยู่เลย เพราะตอนเริ่มต้น เราไม่ได้คาดหวังอะไรเลย แต่ละขั้นตอนมันยากมากจนนึกว่าจะทำไม่ได้ แต่เราก็พยายามไปเรื่อยๆ จนมาถึงจุดนี้”
“หลังจากนั้น Netflix ก็ติดต่อเข้ามาเพื่อซื้อและตัดต่อใหม่ให้เป็นเวอร์ชั่นสำหรับฉายใน Netflix เราแบบ โอ้โห! ภูมิใจมาก เพราะเป็นโอกาสที่ดีที่คนทั่วไปจะได้ดูผลงานของเราจริงๆ ไม่จำกัดเฉพาะแค่คนที่มาร่วมงานเทศกาล คนอยู่ที่บ้านก็ดูหนังสารคดีของเราได้ รู้สึกภูมิใจกับทีมงานและอยากขอบคุณครอบครัวน้องไอนส์เจ้าของเรื่องมากๆ ที่อนุญาตให้เราไปถ่ายซ้ำแล้วซ้ำเล่าโดยไม่เคยบอกว่าเบื่อ และก็เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวอะไรบางอย่างเยอะแยะมากมายที่ทำให้เรื่องนี้ผู้ชมมีความรู้สึกร่วมไปกับครอบครัวได้ค่ะ”
เรื่องราวใน Hope Frozen จะเล่าเกี่ยวกับครอบครัวที่เชื่อในหลักการวิทยาศาสตร์ และตัวคุณไพลินมีความเชื่อในวิทยาศาสตร์หรือไม่ จากการทำสารคดีเรื่องนี้ทำให้คุณได้รู้จักวิทยาศาสตร์มากขึ้นไหมและอย่างไร
“ถ้าในทางวิทยาศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์เค้าไม่คิดว่านี่เป็นความเชื่อ แต่มันคือความจริง ไพลินเองก็จบชีวะมา เราชอบตั้งคำถาม ชอบสงสัย ถามว่าเรามีความเป็นนักวิทยาศาสตร์มั้ย เราก็มีในหัวใจเรา แต่ว่าพื้นฐานของมันคือเราเป็นนักสงสัยมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นทางวิทยาศาสตร์หรือว่าทางศาสนา หรือว่าอะไรก็แล้วแต่ที่เราเห็นรอบตัวเรา”
“แต่สิ่งที่ทำให้เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์มากขึ้นจากการทำหนังสารดีเรื่องนี้ คือการเจาะลึกในทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นของอนาคต เพราะเราต้องค้นคว้าหาข้อมูลและต้องเข้าใจว่า Cryonics มันมีความเป็นมายังไงบ้าง มันมีใครศึกษาบ้าง มันไปถึงไหนแล้ว มีใครค้าน มีใครชอบ มีใครสนับสนุน ประมาณนี้ค่ะ เราก็จะมีการเจาะลึกหน่อย เรียกว่า Futurism ก็คือคนที่ศึกษาหรือคนที่เชื่อวิทยาศาสตร์ของอนาคตค่ะ”
คุณได้เรียนรู้อะไรจากการกำกับเรื่องนี้
“สิ่งที่เรียนรู้ก็คือ เราไม่ควรที่จะตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องอะไรก็แล้วแต่ ก่อนที่เราจะเข้าใจมันเองจริงๆ ค่ะ เพราะตอนแรกก่อนที่จะเข้าไปสัมผัสกับครอบครัวนี้ ก็อาจจะเหมือนหลายๆ คนที่ได้ดูข่าวมา อาจจะมีความรู้สึกว่า เค้าต้องทำถึงขนาดนี้เลยเหรอ แต่พอได้ใช้เวลากับครอบครัวน้องไอนส์มากขึ้น ก็จะเข้าใจมุมมอง เข้าใจวิธีคิด คือเรื่องอะไรก็แล้วแต่ ก่อนที่เราจะเข้าใจมันเองจริงๆ ยังไม่ควรไปตัดสินว่าอะไรเป็นยังไง”
อยากให้เล่าถึงบรรยากาศและความรู้สึกในการถ่ายทำสารคดีเรื่อง Hope Frozen
“การทำงานจะเป็นทีมเล็กมากๆ ค่ะ จะมีแค่เรากับช่างภาพ 2 คน การที่เรามีทีมงานเล็กๆ มันก็จะช่วยให้เข้าถึงครอบครัวน้องไอนส์ได้ดีด้วยค่ะ เราก็จะถ่ายช่วงเวลาที่มีความรู้สึก มี Emotion เยอะหน่อย พอเราไปถ่ายบ่อยๆ ครอบครัวก็เริ่มลืมว่ามีกล้องอยู่ในห้องด้วยก็เริ่มเป็นตัวของตัวเองค่ะ”
“สิ่งที่ประทับใจก็จะเป็นน้องเมทริกซ์ (ลูกชายของครอบครัวในเรื่อง พี่ชายของน้องไอนส์) เพราะว่าตอนแรกเราไม่คิดเลยว่าน้องเค้าจะเป็นคาแร็กเตอร์ในหนังสารคดีนี้ ตอนที่เจอครั้งแรกน้องอายุ 13-14 เองค่ะ พอถ่ายไปถ่ายมาน้องก็โตขึ้น และก็พออายุ 15 น้องเค้าเริ่มมีความคิดและก็เป็นตัวของตัวเอง มีความใฝ่ฝันว่าเค้าอยากจะเป็นคนที่สามารถที่จะนำน้องสาวของเค้ากลับมาบนโลกนี้ได้ ก็เลยประทับใจกับน้องเมทริกซ์”
“และตอนแรกเราเข้าไปหาครอบครัว ตอนที่น้องไอนส์เพิ่งเสียไปไม่นาน บรรยากาศโดยรวมของครอบครัวยังเศร้าอยู่ แต่พอเราถ่ายไปสองปี ความเศร้านั้นก็คลี่คลายออกมาระดับหนึ่ง และก็ความใฝ่ฝันของน้องเมทริกซ์ก็เพิ่มความหวังให้กับครอบครัว มันเป็นการเยียวยาระดับหนึ่งสำหรับครอบครัว”
เหตุผลที่ต้องชมสารคดีเรื่อง Hope Frozen
“ถ้าคุณเคยคิดว่าเราเกิดมาเพื่ออะไร หรือว่าคนตาย คนที่เสียชีวิตเนี่ยเค้าไปไหน เราควรที่จะคิดถึงคนที่ไม่อยู่บนโลกนี้ยังไง เราควรที่จะรับมือยังไง ความหวังคืออะไร นี่คือคำถามที่คิดว่าหลายคนคงมี คิดว่าคุณควรจะชมเผื่อบางทีหนังสารคดีเรื่องนี้จะช่วยให้คุณตั้งคำถาม และตามหาคำตอบด้วยตัวคุณเอง”
คิดว่าคนดูจะได้รับอะไรจากการชมเรื่องนี้ และตัวคุณคาดหวังว่าคนดูจะได้เรียนรู้อะไร
“ตอนข่าวของครอบครัวนี้ออกมาก็จะมีหลายคนที่วิจารณ์ครอบครัวนี้เยอะ สิ่งที่เราคาดหวังก็คือ หนังสารคดีเรื่องนี้จะช่วยเพิ่มความเข้าใจให้กับครอบครัวน้องไอนส์ หรือใครก็ตามที่เราอาจจะคิดไม่เหมือนเค้า”
“นอกจากนี้อยากให้ทุกคนตั้งคำถามกับตัวเอง คือมันไม่มีคำตอบที่ผิดหรือถูก แต่ว่าอยากให้ทุกคนเข้าใจตัวเองมากขึ้น ว่าตกลงตัวเองมีความศรัทธากับอะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นศาสนาหรือวิทยาศาสตร์ เราคิดอะไรบ้างกับเวลาที่เรามีอยู่บนโลกนี้ อะไรทำให้เราเป็นเรา มันคือความทรงจำหรือว่ามันคือบุคลิกหรือว่ามันคืออะไร อะไรทำให้เราเป็นมนุษย์ นี่คือคำถามที่อยากให้ทุกคนตั้งกับตัวเอง คือสไตล์ของเราจะไม่ชอบให้คำตอบ เพราะมันไม่มีคำตอบไหนที่ผิดหรือถูก มันเกี่ยวกับว่าเราถูกเลี้ยงมายังไง ประสบการณ์ชีวิตของเราคืออะไร คำตอบก็จะไม่เหมือนกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่สวยงามค่ะ”
คุณอยากบอกอะไรกับครอบครัวที่เผชิญเหตุการณ์เดียวกับครอบครัวในสารคดี
“เราไม่เคยมีลูก ไม่เคยเสียลูก หรือเผชิญความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ อาจจะไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญที่สามารถให้คำปรึกษาได้ แต่จากการไปเรียนรู้และสังเกตครอบครัวนี้ ถ้าคุณสูญเสียถึงขนาดนี้เราคิดคุณมีสิทธิ์ที่จะเยียวยาความรู้สึกของคุณในวิธีไหนก็แล้วแต่นะคะ ที่จะช่วยสร้างความหวังและให้คนที่เหลือไปต่อได้”
เส้นทางการก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้กำกับของ ไพลิน วีเด็ล
อยากให้ช่วยเล่าเส้นทางอาชีพก่อนจะมาเป็นผู้กำกับหน่อยค่ะ
“เราก็จบชีวะจากมหาวิทยาลัยนะคะ แต่ว่าพอประมาณปีสามเราก็เริ่มรู้แล้วว่าการทำวิจัยไม่ใช่ เราก็เลยเริ่มศึกษาเกี่ยวกับการถ่ายภาพข่าว แล้วก็กลายเป็นช่างภาพข่าวที่อเมริกา และก็ถ่ายวีดีโอข่าวด้วย ลงเว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์ และก็ย้ายกลับมาอยู่เมืองไทยประมาณสิบสามปีแล้วค่ะ กลับมาก็เป็นนักข่าวเหมือนเดิม แต่พอทำงานข่าวเยอะๆ เราก็เริ่มมีความอึดอัดที่ใช้เวลาน้อยในการเข้าใจประเด็นข่าว เราก็เลยออกมา และก็เริ่มทำสารคดี จากนั้นเราก็เริ่มได้งานข่าวสารคดีของ Al Jazeera ก็เริ่มเป็นนักข่าวหน้ากล้อง และก็ไป Produce สารคดีข่าวเจาะลึกไม่ว่าจะเกี่ยวกับกระบวนการขายยาบ้า จนถึงไปทริปผู้หญิงที่เกาหลี จนถึงสิทธิ์หรือไม่ก็การต่อสู้ระหว่างคน Muslim กับคนพุทธที่พม่าประมาณนี้ ก็จะเป็นประเด็นข่าวที่เรานำมาทำเป็นสารคดีให้กับช่องต่างประเทศ”
“แล้วก็ในที่สุดก็ไปเจอครอบครัวเนาวรัตน์พงษ์ (ครอบครัวน้องไอนส์) ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เราคิดว่ามันไม่มีช่องไหนที่สามารถที่จะรองรับวิธีการทำงานที่เราอยากจะทำ ถ้าเราขายสารคดีให้กับช่องข่าวมันก็ต้องเป็น Format ตามช่องเค้าทีนี้ Hope Frozen เราอยากจะใช้เวลานาน และก็ใช้วิธีถ่ายที่ไม่เหมือนกับการถ่ายข่าวเพราะฉะนั้น Hope Frozen ก็จะเป็นเรื่องแรกที่ได้ทำออกมาเป็น Feature Length”
ทำไมถึงหันมาเป็นผู้กำกับสารคดี
“เราอยากมีเวลาในการเล่าเรื่องสิ่งที่ตั้งใจนำเสนอ ถ้าเล่าในเชิงข่าวอย่างเดียว มันจะสั้นไป และมันจะเป็นข้อเท็จจริง แต่ถ้าสารคดีมันจะมีหลายอย่างให้ผู้ชมได้เรียนรู้และรู้สึกไปกับมัน”
เสน่ห์ของสารคดีคืออะไร
“เสน่ห์ของสารคดีก็คือมันคือความจริงค่ะ มันคือชีวิตจริง คือหลายๆ คนจะบอกว่า Hope Frozen จะเหมือนหนัง Sci-Fi แต่เป็นสารคดี ซึ่งเราคิดว่าความจริงมีอิทธิพลในการปรับมุมมองของคนได้มากกว่าหนัง Fiction เพราะเกิดขึ้นจริง มันก็เลยรู้สึกว่าใกล้ตัวมากกว่าค่ะ”
คุณคิดว่ามุมมองไหนเกี่ยวกับเรื่องราวในประเทศไทยที่อยากหยิบมาเล่าเป็นสารคดี
“ถ้าเป็นงานที่คนอื่นเสนอเข้ามาก็จะหลากหลายแล้วแต่คนจ้าง แต่ถ้าสารคดีที่อยากทำเอง เราต้องรอเจอคนที่ใช่ค่ะ วิธีการทำงานของเราไม่ใช่ว่าเราจะคิดขึ้นมาว่า เราอยากจะทำสารคดีเกี่ยวกับเรื่องนี้หรือเรื่องนั้น คือการทำสารคดีถ้าเป็นสารคดีแบบ Character-driven ก็คือเราต้องเน้นตัว Character เราต้องเจอคนที่ใช่ค่ะ คนที่จะสามารถทำให้เราเข้าใจเรื่องราวของเค้าได้อย่างลึกซึ้ง ต้องเป็นคนที่มีเรื่องราวในชีวิตของเค้า มีประเด็นที่สามารถยกขึ้นมาเล่าได้มากกว่า 60 นาที และต้องมีทั้งความพิเศษและความ Universal คือพิเศษที่จะทำให้คนสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ Universal พอที่จะทำให้คนเข้าใจ เพราะฉะนั้นเราวางแผนไม่ได้เลยค่ะว่าอยากทำอะไร”
มีสารคดีหรือผลงานอะไรที่อยากสร้างเพื่อให้ผู้คนทั่วโลกได้ชม หรืออยากนำเสนอผลงานในมุมมองไหนออกมา
“พอเราทำงานข่าวเยอะๆ เราหดหู่เกี่ยวกับโลกใบนี้ ซึ่งตอนนี้และที่ผ่านมามันมีเรื่องหดหู่เยอะมากเลย เพราะฉะนั้นสารคดีที่เราอยากจะทำเรื่องต่อไปหรือเรื่องในอนาคตก็อาจจะเป็นสารคดีที่ให้ความหวัง หรือเป็นการเข้าใจว่าความหวังมันมาจากไหน ซึ่งมันก็จะคล้ายๆ กับ Hope Frozen ค่ะ”
“เราเป็นคนที่คิดมากเกี่ยวกับปัญหาของโลกอยู่แล้ว พออ่านข่าวมันก็มีปัญหาโลกร้อน ไหนจะเรื่องของอากาศ ฝุ่น น้ำ เราก็เป็นคนคิดมากกังวลเกี่ยวกับปัญหาโลก เราเลยอยากทำหนังสารคดีที่ให้คนได้เข้าใจและเห็นว่าในสถานการณ์ต่างๆ ความหวังมันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร และอะไรที่จะหล่อเลี้ยงมันไว้ได้ อย่างน้อยเราคนเดียวอาจจะแก้ปัญหาของโลกไม่ได้ แต่เป็นพลังใจให้คนบนโลกมีความหวังที่จะอยู่ต่อและก้าวต่อไปได้ก็ยังดี”
ตอนนี้มีความตั้งใจหรือมอง next step ของตัวเองยังไงบ้าง ความฝันเล็กๆ หรือว่าความหวังว่าอยากจะทำอะไรต่อ มีเป้าใหม่หรือ goal ใหม่มั้ยคะ
“เราเป็นคนที่ไม่ค่อยชอบตั้งเป้าไว้เยอะ เพราะชีวิตจะมีความน่ารักที่ว่า ทุกอย่างมันไม่แน่นอน เราก็ไม่ทราบว่างานต่อไปมันจะเจอคนที่ใช่เมื่อไหร่ หรือเราจะมี Topic ไหนที่จะจุดประกายในใจของเรา ที่จะมาโดนหัวใจของเรา มาสะกิดหัวใจของเรา เราก็เลยวางแผนไม่ค่อยได้ แต่ถ้าถามว่าหวังอะไรไว้บ้างมั้ย เราหวังว่าหลังจากที่เราเริ่มมีผลงานเป็นที่รู้จักแล้ว เราจะสามารถโฟกัสที่งานกำกับได้อย่างเดียว ไม่ต้องไปดูแลหรือคิดเรื่องการหาทุน”
ส่งต่อแรงบันดาลใจให้กับผู้หญิง
คุณคิดว่าข้อดีของผู้กำกับหญิงคืออะไร หรือการเป็นผู้กำกับหญิงมีความยากอย่างไร และคิดว่าตัวเองมีจุดเด่นอะไรที่แตกต่างจากผู้กำกับคนอื่นๆ
“ไม่ถึงกับเป็นข้อดีชัดเจน แต่ก็พอจะมีอยู่บ้าง อย่างเช่น เราสามารถที่จะเข้าไปในพื้นที่ที่ผู้ชายเข้าไม่ได้ เช่น ถ้าไปถ่ายสารคดีต่างประเทศไปถ่ายคนมุสลิม ถ้าเราจะถ่ายผู้หญิงมุสลิมตอนเค้าเตรียมตัวแต่งตัว จะเข้าไปทำงานได้เฉพาะผู้หญิง ถ้าเป็นผู้ชายเค้าจะห้าม”
“เอาจริงๆ การที่เราเป็นผู้กำกับหญิงมันมีความลำบากมากกว่า เพราะต้องพิสูจน์ตัวเองมากกว่า เราจะเข้าใจความลำบากและความที่สังคมให้โอกาสไม่เท่าเทียมกันระดับหนึ่ง แต่ไม่ใช่ว่าผู้ชายทุกคนจะไม่เข้าใจความลำบากนะคะ ประเด็นนี้ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคนด้วย แต่ด้วยความยากลำบากและโอกาสที่ไม่เปิดกว้างในไทย ลองไปเสิร์ชดูผู้กำกับหญิงในไทยมีน้อยมาก ไม่ถึง 10 คน ถ้าจะให้อธิบายคือ คนส่วนใหญ่ในวงการภาพยนตร์อาจจะมีความไว้วางใจทีมงานผู้ชายมากกว่า อาจจะด้วยลักษณะงานที่ต้องลุย ต้องอดทน”
“และอีกอย่างเวลาจะจ้างทีมงาน ก็มักจะจ้างทีมงานที่คุ้นเคยหรือเคยทำงานด้วยกันมาก่อน ก็จะกลายเป็นต่อยอดให้กับคนเก่าๆ ที่เคยทำงานด้วยกันมาก่อนแล้ว หรือมีผลงานมาก่อน ทำให้ไม่เพียงแต่ผู้หญิง แต่ถ้าเป็นหน้าใหม่ในวงการ อาจจะมีโอกาสหรือมีพื้นที่ให้เข้ามาพิสูจน์ความสามารถได้ยากนิดนึง ก็จะมีความไม่เท่าเทียมกันแฝงอยู่ เพราะคนส่วนใหญ่ไม่อยากรับกับความเสี่ยง”
“ถ้าถามถึงจุดเด่นที่ทำให้เราแตกต่างจากผู้กำกับหนังสารคดีคนอื่น คือ เราจะเน้นการไม่ให้คำตอบ สารคดีของเราเหมือนเป็นการถามคำถามมากกว่าการให้คำตอบ เราอยากให้ทุกคนตั้งคำถามให้กับตัวเองและก็สังคม การตั้งคำถามเนี่ยเราคิดว่ามันเป็นสิ่งที่สวยงามเพราะมันเป็นจุดเริ่มต้นของบทสนทนา ทำให้คนเริ่มเข้าใจกัน และทำให้สังคมพัฒนาได้”
คุณคิดว่าอะไรคือสิ่งที่สร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ที่อยากเป็นผู้กำกับ
“คิดว่าคนที่อยากเป็นผู้กำกับน่าจะมี passion มีแรงบันดาลใจอยู่ในตัวเองกันอยู่แล้ว แต่ถ้าคนที่อยากเป็นผู้กำกับแล้วรู้สึกว่าเริ่มท้อเราอยากแนะนำว่า ลองถามตัวเองก่อนว่านี่คือสิ่งที่เราอยากทุ่มเททำมันจริงๆ หรือเปล่า ถ้าเราตื่นขึ้นมา ความคิดไอเดียแรกที่เรามีคือการทำสารคดีหรือกำกับหนัง และความคิดสุดท้ายก่อนนอนก็คือสิ่งนี้อีก เราก็ควรที่จะมีความพยายามไปเรื่อยๆ แต่ถ้าเราเริ่มไม่แน่ใจ อาจจะต้องลองทบทวนตัวเอง ว่าเราพร้อมจะไปต่อกับมันมั้ย เพราะมันเรียกร้องเวลาและหลายสิ่งหลายอย่างจากเราเยอะเหมือนกัน อยากให้รู้สึกว่ารักในสิ่งที่เราทำจริงๆ เพราะถึงจะท้อ ก็จะยังอยากกลับมาลุยต่อ”
“อีกอย่างคือให้หาคนที่เข้าใจเราและงานของเรา อาจจะเป็นครอบครัว เพื่อนสนิท อย่าให้เค้าอยู่ห่าง คนรอบตัวที่สนิทกับตัวเรานี่แหละจะเป็นคนที่จะชูเราให้เดินต่อได้ รวมไปถึงคนที่ทำงานหนังด้วยกัน เราจะได้สร้างชุมชนทำหนังคือเราก็จะเข้าใจอุปสรรคของกันและกันและช่วยให้คำปรึกษาได้ เราไม่ควรที่จะท้ออยู่คนเดียว หา Network ของเราแล้วมันจะช่วยชูให้เราเดินต่อไปได้ค่ะ และอีกอย่างที่คิดว่าคนทำหนังทุกคนต้องการ คือการสนับสนุนจากรัฐบาลทั้งในแง่ของทุนและโอกาส”
คุณคิดว่าพลังของผู้หญิงจะสามารถมีส่วนช่วยเปลี่ยนแปลงโลกได้อย่างไรหรือในรูปแบบใด
“ถ้าสังคมให้โอกาส เปิดโอกาสให้ผู้หญิงมากขึ้นแล้วก็มีความเท่าเทียมกันมากขึ้น มันจะมีประโยชน์เยอะมากเลยค่ะ ไม่ว่าจะเป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจเพราะว่ามีคนทำงานมากขึ้นเค้าก็มีรายได้มากขึ้น มันก็จะมีภาษีที่รัฐบาลใช้ได้มากขึ้น”
“ดูสถิติของโลกเลยค่ะว่าประเทศไหนที่เหยียดผู้หญิง เศรษฐกิจของเค้าจะมีคนทำงานไม่ได้เกือบครึ่งหนึ่งน่ะ มันก็จะมีการช่วยเอาเงินเข้า Economy ของเค้าไม่พอ เพราะฉะนั้นการทำให้สังคมเท่าเทียมกัน หนึ่ง…จะมีผลประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ สอง…มันจะมีความหลากหลายในการเสนอเรื่องราวของโลกนี้มากขึ้น คือลองคิดดูสิคะว่าหนังส่วนใหญ่ที่ได้ทำขึ้นมาไม่ว่าจะเป็นหนัง Fiction หรือหนังสารคดี มุมมองการใช้กล้องคือผู้กำกับทีมงานเป็นผู้ชายหมดเลย เพราะฉะนั้นมุมมองที่เกิดขึ้นและวิธีการดูหนังมันคือมุมมองของผู้ชายเป็นส่วนใหญ่ คนก็จะเห็นตัวนำเรื่อง คนก็จะเข้าใจโลกนี้โดยการใช้มุมมองของผู้ชาย ถ้ามีทีมงานผู้หญิงมากขึ้น ก็จะเพิ่มความหลากหลายในการมองโลกนี้นะคะ สาม…และเมื่อมีการนำเสนอมุมมองที่หลากหลาย ก็จะเพิ่มความเข้าใจมากขึ้น ความขัดแย้งก็จะน้อยลง โลกสงบมากขึ้น”
ก้าวต่อไปของคุณในฐานะผู้กำกับหญิงคืออะไร และอยากฝากผลงานอะไรกับผู้อ่านสุดสัปดาห์
“ก็ขอฝากให้ทุกคนที่ยังไม่ได้ดู เข้าไปใน Netflix ดู Hope Frozen มันจะเป็นเรื่องที่หลายๆ คนมาบอกว่าเป็นเรื่องที่ทำให้เค้าคิด และก็ตั้งคำถามให้กับตัวเองมาก และจะเป็นเรื่องที่ไม่ใช่ว่าดูจบแล้วก็ไม่นึกถึงอีกเลย นอกจาก Hope Frozen แล้ว Netflix ยังมีคอนเทนต์ที่น่าสนใจอีกมากมาย และยิ่งช่วงที่เป็นวันสตรีสากล (International Women’s Day) ก็อยากจะชวนทุกคนลองเข้าไปดูหนังหรือคอนเทนต์ต่างๆ ที่ช่วยให้แรงบันดาลใจเกี่ยวกับพลังของผู้หญิงเราได้ค่ะ ถึงแม้เป็นผู้ชายก็เข้าไปดูได้ จะได้สร้างความเข้าใจต่อกันมากขึ้น”
TEXT : ImJinah
PHOTO : Netflix
SOURCE : Netflix
เรื่องซีรี่ย์เกาหลีต้องที่สุดสัปดาห์
Kingdom 3 ไม่มาในปี 2021 แต่ได้เจอแบดูนาบนจอ Netflix ประกบกงยู พร้อมซูมดู 4 เรื่องบิ๊กที่ไม่ควรพลาด!
ไลน์อัพออริจินัลคอนเทนต์ Netflix ปี 2021 มาเต็ม จัดครบซีรี่ย์ หนัง และรายการ!
Netflix ส่งสัญญาณ ปี 2021 จัดเต็มแน่ เตรียมปล่อยออริจินัลซีรี่ย์เกาหลีแน่นทั้งปี
รวมออริจินัลซีรี่ย์เกาหลีจาก Netflix ปี 2020 ก่อน Sweet Home เตรียมออนแอร์! พร้อมด้วยรายการและสารคดี
7 ซีรี่ย์เกาหลีใน Netflix ที่ยืนทนอยู่นานบน TOP10 ประจำวันของไทย!
Kingdom 2 นำทัพคอนเทนต์เกาหลีติดอันดับคนไทยชมใน Netflix มากที่สุดของปี 2020!