ปิยะ อัจฉริยศรีพงศ์ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ “เจมส์ พาวิลเลี่ยน” กับปรัชญา ลูกค้าต้องได้รับสิ่งที่ดีที่สุด

Alternative Textaccount_circle
event

อยากอัพเลเวล ซื้ออัญมณีเหรือเครื่องประดับอัญมณีมาเก็บสะสมตั้งแต่เพิ่งเริ่มทำงานใหม่ ๆ ตอนนี้คือจังหวะที่ดีไหม จะใช่โมเมนต์หรือยัง ต้องฟังตัวจริงอย่าง ‘คุณท็อป-ปิยะ อัจฉริยศรีพงศ์’ ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาด แบรนด์ “เจมส์ พาวิลเลี่ยน” พร้อมล้วงลึกเรื่องเล่าอินไซด์ของคนในแวดวงอัญมณีและเครื่องประดับ ที่ฟังแล้วยิ่งเชื่อมั่นว่า ฝีมือคนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลกเลยแม๊ !

ปิยะ อัจฉริยศรีพงศ์

ป.ล. และเร็ว ๆ นี้กำลังจะมีงาน Bangkok Gems and Jewelry Fair ครั้งที่ 67 ที่ขนาดเจ้าพ่อแห่งวงการอัญมณีและเครื่องประดับอย่างคุณท็อปคอนเฟิร์มว่า ถ้ารักจะเริ่มลงทุน หรืออัปเดตเทรนด์จิวเวลรี่ หรืออยากได้เครื่องประดับชิ้นใหม่ ก็ต้องไปเจอกันที่งานนี้ให้ได้!  

ใช้งานได้ – ไม่เสื่อม – เพิ่มมูลค่า

 “ถึงตอนนี้ดูเหมือนว่าสถานการณ์ทุกอย่างกำลังจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวหลังโควิด แต่การจัดงานเลี้ยง หรืองานใหญ่ ๆ  ที่มีการสวมใส่จิวเวลรี่เป็นเซตสำหรับออกงาน เริ่มกลับมา แต่ยังไม่มากนัก ซึ่งตอนนี้ จิวเวลรี่ที่คนส่วนใหญ่สนใจจึงเน้นไปที่เครื่องประดับที่ใส่ชีวิตประจำวันได้ โดยเฉพาะต่างหูที่ขายดีขึ้นมาก อาจเพราะต้องใส่แมสก์ แต่งหน้าสวยก็ไม่มีใครเห็น ต่างหูจึงช่วย Complete Look ได้ ส่วนผู้ชายก็นิยมใส่ Ear cuff มากขึ้นตามเทรนด์ที่ศิลปินชื่นชอบ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่เกินความคาดหมายอยู่เหมือนกัน”

“เคยมีคนถามผมว่า ทองกับเพชรอะไรดีกว่ากัน สำหรับผมก็ต้องบอกว่า จริง ๆ แล้วเพชรมีโอกาสได้ใช้งานมากกว่า และถือเป็นวิธีการเริ่มต้นลงทุนกับเครื่องประดับที่ตอบโจทย์อยู่หลายเรื่อง อย่างแรกคือ เราเก็บสะสมได้โดยไม่ต้องใช้สถานที่เยอะ ไม่ต้องบำรุงรักษา ไม่ต้องห่วงว่าจะสึกหรอ”

ปิยะ อัจฉริยศรีพงศ์

“คนที่เพิ่งเริ่มซื้อแนะนำว่าควรเลือกแบบที่เราจะใช้งานได้บ่อย ๆ จะได้รู้สึกว่าคุ้มค่าและสามารถส่งต่อไปถึงอีกรุ่นได้ด้วย ส่วนเรื่องมูลค่าที่เพิ่มขึ้น อันนี้ต้องมองในระยะยาว 5-10 ปีขึ้นไป”

“อีกเรื่องที่เคยมีลูกค้าแชร์ให้ผมฟังคือ การได้เป็นเจ้าของเพชรหรือจิวเวลรี่คุณภาพดี เป็นความสุขทางใจ ให้ความรู้สึกมั่นคงในชีวิต มีหลายคนจะหยิบมาชื่นชมก่อนนอน หรือมีลูกค้าบางคนชอบซื้อ แต่ไม่ได้ใส่เองนะ ชอบซื้อไปให้คนอื่น ซึ่งแรก ๆ ผมก็ไม่ค่อยเข้าใจ จนตัวเองได้ซื้อต่างหูให้ลูกสาว จึงเข้าใจความสุขของลูกค้า ว่าเวลาเห็นคนที่เรารัก ใส่เครื่องประดับที่เราซื้อให้ มันช่างสวยงาม มองแล้วฟิน ซึ่งก็ถือเป็นความสุขส่วนตัวในอีกรูปแบบหนึ่ง” (ยิ้ม)

ซื้อกับแบรนด์ที่มั่นใจได้จริง

“ปรัชญาการทำงานของผมคือ ไม่ดีไม่ได้ ไม่สวยไม่ทำ ถึง “เจมส์ พาวิลเลี่ยน” จะปรับเปลี่ยนรูปแบบการตลาดให้เป็นไปตามยุคสมัยอยู่ตลอด แต่เราก็ยึดมั่นใน 3 องค์ประกอบสำคัญที่ทำให้รักษาความเป็นแบรนด์ High Jewelry ไว้ได้ นั่นคือ การดีไซน์ วัสดุคุณภาพและทักษะฝีมือการผลิต

“มีเรื่องที่อยากนำมาแชร์กัน คือ ผมเคยไปอ่านบทความที่มีพนักงานให้สัมภาษณ์ไว้ในวารสารภายในบริษัท เขาบอกว่าปรัชญาการทำงานแบบ “ไม่ดีไม่ได้ ไม่สวยไม่ทำ” ไม่ได้มีเฉพาะผู้บริหาร แต่มีกับพวกเราทุกคนเช่นกัน (ยิ้ม) สรุปว่าพวกเราเป็น Perfectionist จนบางทีก็มีเรื่องมีราว อย่างผมเองเคยมีประสบการณ์ที่ฝ่ายขายไปตามแหวนแต่งงานกับฝ่ายผลิต แต่เขาไม่ยอมส่งงานให้เพราะรู้สึกว่าชิ้นงานยังไม่สมบูรณ์ (และไม่รู้ว่าแหวนวงนี้คือแหวนแต่งงาน) จนผมต้องไปคุยกับลูกค้าให้ว่า จริง ๆ แล้วคุณจะได้รับแหวนที่ได้ทั้งคุณภาพและมาตรฐานจากเราแน่นอน แต่ตอนนี้เรายังเห็นบางอย่างที่ควรต้องปรับอีก และคิดว่าแหวนวงนี้จะสมบูรณ์แบบที่สุดอย่างแน่นอน ส่วนทางลูกค้าก็บอกว่าไม่เห็นว่ามีตรงไหนที่ยังต้องแก้และคิดว่าไม่เป็นไร แต่สุดท้าย ทางเราก็ให้ลูกค้านำแหวนวงนั้นไปเข้าพิธีวิวาห์ก่อน และนำกลับมาหาเราอีกครั้ง เพื่อทำให้แหวนวงนี้ออกมาสมบูรณ์แบบตามมาตรฐานของเรา อย่างที่บอกเลย ลูกค้าบางคนอาจจะมองว่านี่คือเรื่องเล็ก เป็นจุดเล็ก ๆ ที่ไม่ได้ซีเรียส ซึ่งจริงๆ แล้ว ถึงจะเป็นจุดเล็กน้อยมาก ๆ แต่พวกเราก็ดูออก แล้วคิดว่าลูกค้าควรจะต้องได้รับของที่ดีที่สุดจากเราครับ”

“อีกทั้งควรซื้อจากร้านหรือแบรนด์ที่มั่นใจในคุณภาพ และผ่านการการตรวจสอบจากสถาบัน GIT (The Gem and Jewelry Institute of Thailand) ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ที่มีเครื่องมือทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และมีนักอัญมณีศาสตร์ที่มีประสบการณ์สูง  ได้รับการรับรองจากสมาพันธ์อัญมณีโลก หรือกรณีคนทั่วไป ก็สามารถส่งอัญมณี เพชรและเครื่องประดับที่มีอยู่ให้ทาง GIT ตรวจสอบ เพื่อความมั่นใจในการเก็บสะสมหรือซื้อ-ขายต่อไปได้เช่นกัน”

พาส่องวงการอัญมณีและเครื่องประดับไทย

“ต้องยอมรับว่าตั้งแต่โควิด ทำให้ผู้ประกอบการทุกคนเจอปัญหาใหญ่มาก อย่างเรื่องวัตถุดิบ ทำให้ของหายากขึ้น จึงได้รับผลกระทบและต่างต้องปรับกลยุทธ์การตลาดกันอยู่ตลาดเวลา”

“เรื่องปรับกลยุทธ์การตลาด ที่เมื่อก่อนเคยคุยกันว่าทุกอย่างต้องมองให้ครบ 360 องศา เรียกว่าเป็นช่วงที่คนในวงการธุรกิจอัญมณีเหนื่อยมาก แต่ยังโชคดีที่เร็ว ๆ นี้ จะมีงานสำคัญที่สุดของวงการอัญมณีและเครื่องประดับของเมืองไทยอย่าง Bangkok Gems and Jewelry Fair ที่เว้นช่วงจัดงานมาถึง 2 ปี ได้ประกาศจัดงานครั้งที่ 67 ถือเป็นโอกาสที่ดีในตอนนี้ ของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับเลยทีเดียว”

“งานนี้จะทำให้คนในวงการอัญมณีและเครื่องประดับทั้งในและต่างประเทศ ได้กลับมาพูดคุยธุรกิจ มาอัปเดตเทรนด์ในแวดวงกันอีกครั้ง ผมเองก็ตั้งใจจะไปดูความเคลื่อนไหวของตลาดว่าจะคึกคักมากน้อยแค่ไหน ถือเป็นโอกาสดี ๆ หลังวิกฤตครั้งสำคัญ ซึ่งก็ต้องขอขอบคุณผู้จัดงานครั้งนี้ด้วยเช่นกัน”

ปิยะ อัจฉริยศรีพงศ์

อยากเข้าสู่จักรวาลอัญมณีและเครื่องประดับ ต้องไปเช็อิน Bangkok Gems and Jewelry Fair  ครั้งที่ 67

ว่าแต่งาน Bangkok Gems and Jewelry Fair ที่คุณท็อปพูดว่าเป็น “ตำนานของแวดวงอัญมณีและเครื่องประดับไทย” นั้นเป็นอย่างไร มีไฮไลท์อะไรบ้าง สุดสัปดาห์ ขออาสาเล่าให้ฟังทั้งหมด!

Bangkok Gems and Jewelry Fair หรือที่คนในวงการเรียกกันว่า “BGJF” เป็นงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่สำคัญติดอันดับ  1 ใน 5 ของโลก จัดมาอย่างต่อเนื่องกว่า 30 ปี โดยการจัดงานครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 67 ระหว่างวันที่ 7-11 กันยายน 2565 ที่ ชาเลนเจอร์ฮอลล์ 1-3  อิมแพ็ค เมืองทองธานี ถือเป็นการจัดงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับอย่างเต็มรูปแบบครั้งแรก หลังจากว่างเว้นมา 2 ปี จากผลกระทบของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

การจัดงานครั้งนี้เป็นการผนึกกำลังกันระหว่าง กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) และ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT สองหน่วยงานภายใต้กระทรวงพาณิชย์ โดยมีผู้เข้าร่วมงานแสดงสินค้ากว่า 1,000 ราย รวมกว่า 2,000 คูหา คาดว่าผู้ชมงานไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นราย ตั้งเป้าเจรจาซื้อขายไม่ต่ำกว่า 1,200 ล้านบาท

เกาะติดทุกไฮไลท์
จุดไหนต้องไปเช็อิน

  • Networking Reception งานเลี้ยงรับรองผู้ประกอบการที่จัดแสดงสินค้า พร้อมโชว์พิเศษ ‘Wonders of Thai Jewels’ ที่นำเสนอมุมมองร่วมสมัยของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย
  • The Jewel Wonders นิทรรศการมหัศจรรย์อัญมณีและเครื่องประดับนำเสนอเทรนด์เครื่องประดับล่าสุด และสินค้าไฮไลต์จากผู้แสดงสินค้า
  • The Jewellers ส่วนจัดแสดงนำเสนอผลงานของนักออกแบบเครื่องประดับรุ่นใหม่จากโครงการ  Designers’ room
  • Gems Treasure Exhibition นิทรรศการเครื่องประดับที่รวบรวมผลงานการพัฒนาศักยภาพการออกแบบของผู้ประกอบการจากโครงการ มาเหนือ ที่ออกแบบและพัฒนาอัตลักษณ์ความเป็นไทย บนเครื่องประดับได้อย่างน่าสนใจที่บูธทางเข้า ชาเลนเจอร์ฮอลล์ 2
  • คูหาพิเศษภายใต้โครงการ The New Faces รวบรวมผู้ประกอบการ SMEs ชั้นนำทั่วไทย
  • กิจกรรมเสวนาให้ความรู้ พร้อมเวิร์กช็อปสุดเพลิดเพลินตลอดทั้ง 5 วัน
  • กิจกรรม Business Matching โดย Thaitrade.com
  • บริการตรวจสอบคุณภาพอัญมณีและเครื่องประดับจาก GIT ในราคาเริ่มต้นเพียง 300 บาท และรู้ผลภายใน 24 ชั่วโมง

ย้ำอีกครั้งว่า งานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ครั้งที่ 67 กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-11 กันยายน 2565 โดยวันที่ 7-9 กันยายน 2565 เวลา 10.00-18.00 น. จะเป็นวันเจรจาธุรกิจ และจะเปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าชมได้วันที่ 10 กันยายน เวลา 10.00-18.00 น. และ 11 กันยายน 2565 เวลา 10.00-17.00 น. ณ ชาเลนเจอร์ฮอลล์ 1-3  อิมแพ็ค เมืองทองธานี กรุงเทพฯ ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.bkkgems.com หรือทาง facebook.com/Bangkokgemsofficial อย่าลืมไปพบกัน

keyboard_arrow_up