สมเด็จพระเทพฯ กับพระอัจฉริยภาพตามรอย “ทูลกระหม่อมพ่อ”

Alternative Textaccount_circle
event

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระอัจฉริยภาพมากมายหลายด้าน และมักจะตามรอย “ทูลกระหม่อมพ่อ” อยู่เสมอ จึงอยากจะยกพระอัจริยภาพด้านต่างๆ ของ สมเด็จพระเทพฯ มาให้ชาวไทยได้ร่วมชื่นชม

 

พระอัจฉริยภาพของ สมเด็จพระเทพฯ

 

ด้านภาษา

ทรงโปรดภาษาไทยเนื่องด้วยครั้งยังทรงพระเยาว์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ทรงสอนภาษาไทย โดยทรงอ่านวรรณคดีเรื่องต่างๆ พระราชทาน และทรงให้พระองค์ทรงคัดบทกลอนต่างๆ หลายตอน ทำให้พระองค์ทรงสนพระทัยศึกษาอย่างจริงจัง จนทรงเชี่ยวชาญทั้งด้านหลักภาษา วรรณคดี และศิลปะไทย

เมื่อทรงเข้าศึกษา ณ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พระองค์ทรงเลือกเรียนวิชาเอกสาขาประวัติศาสตร์ และวิชาโทภาษาไทย ภาษาบาลี และภาษาสันสกฤต ทำให้ทรงศึกษาวิชาภาษาไทยในระดับชั้นสูงและละเอียดลึกซึ้งยิ่งขึ้นทั้งด้านภาษาและวรรณคดี ส่วนภาษาบาลีและสันสกฤตนั้น ทรงศึกษาทั้งวิธีการแบบดั้งเดิมของไทย และแบบภาษาศาสตร์ซึ่งเป็นวิธีการตะวันตก ตั้งแต่ไวยากรณ์ขั้นพื้นฐานไปจนถึงขั้นสูง และเรียนตามวิธีการอินเดียโบราณเป็นพิเศษในระดับปริญญาโท พระปรีชาสามารถทางด้านภาษาของพระองค์นั้นเป็นที่ประจักษ์ จึงได้รับการทูลเกล้าถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ทางด้านภาษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ

นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงมีความรู้ทางด้านภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต และภาษาเขมร ทั้งยังทรงสามารถรับสั่งเป็นภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส และภาษาจีน และทรงกำลังศึกษาภาษาเยอรมันและภาษาละตินอีกด้วย

สมเด็จพระเทพฯ


ด้านพระราชนิพนธ์

ทรงโปรดการอ่านหนังสือและการเขียนมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ประกอบกับพระปรีชาสามารถทางด้านภาษา ทั้งภาษาไทยและต่างประเทศ ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง ดังนั้นจึงทรงพระราชนิพนธ์หนังสือประเภทต่างๆ ออกมามากกว่า 100 เล่ม ซึ่งมีหลายหลากประเภท ทั้งประเภทสารคดีท่องเที่ยว, ประเภทวิชาการและประวัติศาสตร์, หนังสือสำหรับเยาวชน, หนังสือที่เกี่ยวข้องกับพระบรมวงศานุวงศ์ไทย, พระราชนิพนธ์แปล และหนังสือทั่วไป

โดยพระราชนิพนธ์เรื่องต่างๆ นอกจากจะแสดงพระอารมณ์ขันแล้ว ยังทรงแสดงการวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ต่างๆ เป็นการแสดงพระมติส่วนพระองค์ ซึ่งลักษณะการเขียนค่อนข้างคล้ายคลึงกับพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕

นอกจากนี้ ยังมีพระปรีชาสามารถในการพระราชนิพนธ์เพลงอีกด้วย โดยเพลงที่เราได้ยินกันจนติดหูคือเพลง ส้มตำ

สมเด็จพระเทพฯ


ด้านดนตรี

พระองค์ทรงเครื่องดนตรีไทยได้ทุกชนิด แต่ที่โปรดทรงอยู่ประจำ คือ ระนาด ซอ และฆ้องวง โดยเฉพาะระนาดเอก พระองค์ทรงเริ่มหัดดนตรีไทย ในขณะที่ทรงศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนจิตรลดา โดยทรงเลือกหัดซอด้วงเป็นเครื่องดนตรีชิ้นแรก

ในด้านการขับร้อง พระองค์ทรงมีความสนพระทัยในด้านการขับร้องเพลงไทย โดยทรงเริ่มฝึกหัดการขับร้องด้วยพระองค์เองเมื่อครั้งยังทรงศึกษาอยู่ ณ โรงเรียนจิตรลดา และทรงเริ่มต้นเรียนการขับร้องกับ อ.เจริญใจ สุนทรวาทิน อาจารย์ประจำชมรมดนตรีไทย สโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และทรงพระราชนิพนธ์บทขับร้องเพลงไทยสำหรับพระราชทานให้แก่สถาบันการศึกษาและวงดนตรีไทยเพื่อนำไปบรรเลงและขับร้องเนื่องในโอกาสต่างๆ

นอกจากดนตรีไทยแล้ว พระองค์ยังทรงดนตรีสากลด้วย โดยทรงเริ่มเรียนเปียโนตั้งแต่พระชนมายุ 10 พรรษา และทรงฝึกเครื่องดนตรีสากล ประเภทเครื่องเป่า จากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร จนสามารถทรงทรัมเป็ตนำวงดุริยางค์ในงานคอนเสิร์ตสายใจไทย และทรงระนาดฝรั่งนำวงดุริยางค์ในงานกาชาดคอนเสิร์ต อีกทั้งยังทรงกีตาร์ได้อีกด้วย


ด้านศิลปะ

ทรงเริ่มสนพระทัยการวาดภาพจากการได้ทอดพระเนตร พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงวาดภาพสีน้ำมัน และขอพระราชทานสีที่เหลือมาทรงวาดบ้าง จากนั้นก็ได้ทรงงานด้านนี้ตามพระราชอัธยาศัย โดยมิได้ทรงฝึกฝนเป็นพิเศษ ทรงทดลองเทคนิคต่างๆ และการใช้สี ทรงสร้างงานศิลปะจากสื่อหลากชนิดและวัสดุเหลือใช้ รวมทั้งทรงใช้คอมพิวเตอร์ในการวาดภาพ นอกจากการวาดภาพ ยังสนพระทัยในด้านศิลปะเครื่องเคลือบดินเผา ได้ทรงงานปั้นไว้จำนวนไม่น้อย

ข้อมูลจาก th.wikipedia.org , www.sac.or.th
ภาพจาก m.hujiang.com , firstfiesss.blogspot.com , www.chaoprayanews.com , oknation.nationtv.tv , www.bangkokbiznews.com , www.sac.or.th
เรียบเรียง : Ploychompoo

เรื่องราวที่น่าสนใจอื่นๆ

พระอัจฉริยภาพด้านการ กีฬา ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9

ประชาชนปีติ ประมวลภาพซ้อม ริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ ตรึงตาตรึงใจ

พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ กับพระปรีชาสามารถรอบด้าน

สุดสัปดาห์

keyboard_arrow_up