พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงมีคุณูปการต่อวัฒนธรรมไทยมากมายหลายแขนง เนื่องจากทรงต้องการอนุรักษ์และให้ประชาชนสืบสานประเพณีอันดีงามไว้ วัฒนธรรมแขนงต่างๆ ที่พระองค์ทรงมีคุณูปการ มีดังนี้
คุณูปการที่ในหลวง รัชกาลที่ ๙ ทรงมีต่อ วัฒนธรรมแขนงต่างๆ
ประเพณีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารคใหญ่
ทรงฟื้นฟูประเพณีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารคใหญ่ โดยทรงเสด็จทอดผ้าพระกฐินที่วัดอรุณราชวรารามฯ ตั้งแต่ปี 2502 เป็นต้นมา เนื่องด้วยได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังโรงเก็บเรือพระราชพิธีที่คลองบางกอกน้อย ทอดพระเนตรเห็นเรืออยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม จึงมีพระราชดำริว่า ถ้ามีการฟื้นฟูการเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินโดยกระบวนพยุหยาตราชลมารคขึ้น คงไม่สิ้นเปลืองอะไรมากนัก เพราะกำลังคนสามารถใช้คนของทหารเรือ เสื้อผ้า เครื่องแต่งกายทำขึ้นครั้งเดียวก็สามารถใช้ได้แรมปี ส่วนประโยชน์ที่ได้รับนั้นมีมากมายหลายประการ เช่น เรือพระราชพิธีต่างๆ อันสวยงามและทรงคุณค่าในทางศิลปะเหล่านี้ จะได้รับการดูแลรักษาให้อยู่ในสภาพที่ดีอยู่เสมอ
พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟูพระราชพิธีนี้รวมเป็นงานเดียวกับรัฐพิธีพืชมงคล เพื่อรักษาโบราณราชประเพณีอันเป็นมิ่งขวัญแก่เกษตรกรไว้สืบไป โดยพระราชพิธีนี้เคยมีต่อเนื่องตั้งแต่รัชสมัยรัชกาลที่ ๑ จนถึง พ.ศ. 2479 และได้เว้นว่างไป ต่อมา พ.ศ. 2483 ทางรัฐบาลสั่งให้กำหนดมีการพระราชพิธีเฉพาะแต่พืชมงคล ที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตามราชประเพณีที่เคยปฏิบัติมา และในหลวง รัชกาลที่ ๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รือฟื้นราชประเพณีดั้งเดิมในปี พ.ศ. 2503
นาฏศิลป์ต่างๆ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ศิลปินของกรมศิลปากรถ่ายทอดท่ารำต่าง ๆ เช่น ท่ารำพระพิราพ อันเป็นศิลปะท่ารำชั้นครู ท่ารำมโนห์รา และให้ถ่ายภาพยนตร์บันทึกท่ารำ รวมทั้งเพลงหน้าพาทย์สำคัญ ๆ เอาไว้ด้วย เพื่อเป็นแบบแผนแก่อนุชนรุ่นหลัง
ดนตรีไทย
ทรงโปรดเกล้าฯ ให้กรมศิลปากรจัดทำโน๊ตเพลงไทยตามระบบสากลและจัดพิมพ์ขึ้นด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ โปรดเกล้าฯ ให้อาจารย์และนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิจัยหาระดับเฉลี่ยมาตรฐานของเครื่องดนตรีไทย ทั้งยังทรงสนับสนุนให้มีการจัดตั้งสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทย
แพทย์แผนไทย
เมื่อปี พ.ศ. 2494 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) ในครั้งนั้นได้ทรงมีพระราชปรารภว่า วัดพระเชตุพนฯ เป็นแหล่งรวบรวมตำราแพทย์แผนไทยอยู่แล้ว ทำไมไม่จัดให้มีการสอนการแพทย์แผนไทย ในวิชาเวชกรรม ผดุงครรภ์ หัตถเวช และเภสัชกรรม เพื่อเป็นวิทยาทานให้แก่ผู้สนใจได้ศึกษา
จากพระราชปรารภครั้งนั้น ทำให้คณะกรรมการวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านการแพทย์แผนไทยที่ยังหลงเหลืออยู่ ได้รับสนองพระราชปรารภของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ. 2498 โดยได้จัดทำหลักสูตรโรงเรียนแพทย์แผนโบราณขึ้น และเป็นผลทำให้สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณสมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณณสิริ) ได้ก่อตั้งโรงเรียนแพทย์แผนโบราณขึ้น เพื่อเป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้ด้านการแพทย์แผนโบราณ มีการสอนทั้งวิชาเภสัชกรรม เวชกรรม การผดุงครรภ์ไทย และการนวดแผนโบราณ
ข้อมูลจาก www.manager.co.th , www.tnews.co.th , thai.culture.go.th , oknation.nationtv.tv
ภาพจาก www.dhammajak.net , www.krobkruakao.com , art2.culture.go.th , www.aumareemusicschool.ac.th , www.hfocus.org
เรียบเรียง Ploychompoo
เรื่องราวที่น่าสนใจอื่นๆ
ในหลวง รัชกาลที่ ๙ พระผู้ทรงมีคุณูปการต่อ วงการกีฬาไทย