ในหลวงร.๙

ซึ้งใจ! วาเด็ง ปูเต๊ะ พระสหายแห่งสายบุรีของ ในหลวงร.๙

Alternative Textaccount_circle
event
ในหลวงร.๙
ในหลวงร.๙
ความสัมพันธ์ของ ในหลวงร. ๙ กับวาเด็ง ปูเต๊ะ หรือเป๊าะเด็ง เป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่ซึ้งกินใจ ตอกย้ำให้ได้รู้ว่าความรักอันยิ่งใหญ่ของพ่อที่มีต่อราษฏรนั้น น่าซาบซึ้งและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณมากเพียงใด
ในหลวงร.๙

เรื่องราวและมิตรภาพในความทรงจำของปู่วาเด็ง ชาวไทยมุสลิม จ.ปัตตานี เกิดขึ้นเมื่อปี 2535 ในหลวงร.๙ ทรงเสด็จพระราชดำเนินไปยังอำเภอ สายบุรี พื่อสอบถามเรื่องการสร้างฝายกั้นน้ำคลองน้ำจืดบ้านทุ่งเค็จ

คำว่า “พระสหาย” มีที่มาที่ไปอย่างไร บางเสียงจากคนใกล้ชิดผู้เฒ่าวาเด็ง ก็ว่า เคยได้ยินเหล่าข้าราชบริพารในพระองค์ให้สมญาปู่วาเด็งว่าเป็นบุคคลที่เสมือน “พระสหาย”

 

ในหลวงร.๙

เมื่อครั้งที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงเสด็จมาเยือน ปู่วาเด็งจะมีความสุขทุกครั้งที่นำผลไม้มาถวาย

 

จากเรื่องเล่าที่ทำให้หลายคนประทับใจมีที่มาอยู่ว่า…

วันนั้น ปู่วาเด็ง ปูเต๊ะ กำลังทำสวนอยู่กับภรรยา (นางสาลาเมาะ ปูเต๊ะ) บริเวณประตูน้ำบ้านบาเลาะ ต.ปะเสยะวอ ซึ่งเป็นป่าทึบ มีข้าราชบริพาตรคนหนึ่งมาบอกว่า ในหลวงต้องการพบตัว แต่ภรรยาไม่กล้าไปพบ จนปู่กลับมาจากเลี้ยงโค ก็มีตำรวจมาตามอีกครั้ง ทำให้ตกใจมากว่าตำรวจมาตามเรื่องอะไร กระทั่งสื่อสารกันเข้าใจว่า ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ต้องการมาสร้างฝายกั้นน้ำคลองน้ำจืด บ้านทุ่งเค็จ ต.แป้น อ.สายบุรี เพื่อช่วยเหลือเรื่องแหล่งน้ำแก่ชาวบ้านในการทำการเกษตร ถึงกล้าไปพบ แต่ตอนนั้นก็ยังไม่ค่อยเชื่อว่าพระองค์จะเข้ามาอยู่ในป่าในเขาแบบนี้ จนต้องแอบหยิบเงินใบละ 100 บาท กับใบละ 20 บาทขึ้นมาเทียบดู จึงแน่ใจว่าเป็นพระองค์เสด็จฯ มาจริง

 

ในหลวงร.๙

ชายชรานุ่งโสร่ง ไม่ใส่เสื้อ ที่พูดตอบคำถามกับในหลวง รัชกาลที่๙ จนพระองค์มีความพอพระราชหฤทัย และทรงเรียกเขาว่าพระสหายแห่งสายบุรี” 

 

ตอนแรกที่พบในหลวงปู่วาเด็งไม่กล้าเข้าไปใกล้ เพราะตอนนั้นนุ่งโสร่งตัวเดียว เสื้อก็ไม่ได้ใส่ แต่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ตรัสเป็นภาษามลายูกลางว่า จะสร้างคลองชลประทานให้ หลังจากนั้นจึงทรงตรัสถามถึงเส้นทางการขุดคลองสายทุ่งเค็จว่ามีอาณาเขตติดต่อที่ไหนบ้าง เขาจึงได้เล่าให้ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงทราบว่า คลองเส้นนี้อยู่ติดกับอาณาเขตตรงไหนบ้าง และหากออกไปทางทะเลจะมีเกาะ 4 เกาะ เมื่อในหลวงรัชกาลที่่ ๙ ทรงนำแผนที่ที่ติดตัวมาดูก็ตรัสชมว่า เป็นคนรู้พื้นที่จริง เหมือนกับชาวบ้านอีกหลายพื้นที่ที่พระองค์เคยเข้าไปช่วยเหลือมาแล้ว พระองค์ยังตรัสด้วยว่า “ไม่ว่าจะไปช่วยใครที่ไหนก็ต้องถามเจ้าของพื้นที่ก่อน เพราะชาวบ้านจะรู้จริงกว่าคนอื่น”

ในหลวงร.๙

วันรุ่งขึ้นข้าราชการที่มารับเสด็จก็ต้องตกตะลึงไปตาม ๆ กัน เมื่อพระองค์ทรงรับสั่งให้เขาพายเรือให้พระองค์เพื่อทำการสำรวจคลองสายทุ่งเค็จ พระองค์มีพระราชดำรัสถาม พร้อมเปิดแผนที่เพื่อให้รู้ว่าจะสร้างแหล่งชลประทานอย่างไร ตอนพายเรืออยู่ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ตรัสด้วยว่า “ให้วาเด็งทำตัวให้สบาย มีอะไรที่ชาวบ้านเดือดร้อนก็ให้เล่ามาตามความจริง”

อีกเรื่องที่ทำให้ปู่ประทับใจและตราตรึงใจ คือ ช่วงที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงลองใจ ทรงตรัสถามขอที่ดินเพื่อทำโครงการพระราชดำริ ด้วยความปลาบปลื้ม ปู่วาเด็งจึงยกที่ดินถวายให้พระองค์ พร้อมเครื่องสูบน้ำเครื่องใหม่ พระองค์ทรงแย้มพระสรวล และมีพระราชดำรัสว่าให้ วาเด็ง ปูเต๊ะ เป็น “พระสหายสายบุรี” ตั้งแต่ตอนนั้นเป็นต้นมา

ในหลวงร.๙

ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงตรัสถึงเรื่องนี้ว่า “วาเด็งเป็นคนซื่อตรงจึงขอแต่งตั้งให้วาเด็งเป็นเพื่อนของในหลวง” พร้อมทรงชวนให้เขาและภรรยาเดินทางไปเที่ยวกรุงเทพฯ และสามารถเข้ามาเฝ้าพระองค์ที่พระตำหนักสวนจิตรลดาได้เสมอ และเมื่อพระองค์เสด็จฯ มา 3 จังหวัดชายแดนใต้ ก็จะโปรดฯ ให้ปู่วาเด็งเข้าเฝ้าที่พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ทุกครั้ง โดยครั้งหนึ่งพระองค์ท่านทรงตรัสให้หยุดทำงานได้แล้ว เพราะแก่แล้ว อายุมากแล้ว ทรงเป็นห่วงสุขภาพ กลัวว่าทำงานหนักจะไม่สบาย

ปู่วาเด็งเล่าว่า สมัยที่ยังไม่มีทีวีดู เวลาคิดถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 ก็จะหยิบแบงค์มาดูพอให้หายคิดถึง จนเมื่อมีทีวีแล้วก็จะเฝ้ารอดูข่าวในพระราชสำนักทุกๆ วัน

ในหลวงร.๙

เมื่อครั้งที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระประชวร ประทับอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช ปู่วาเด็งได้เดินทางจาก จ.ปัตตานี มาเข้าเฝ้าถวายพระพร เมื่อปี 2552 ใช้วิธีลงนามถวายพระพรด้วยการพิมพ์นิ้วโป้งขวาลงบนสมุดลงนามฯ แล้วให้หลานชายเขียนชื่อ “วาเด็ง” กำกับอีกครั้ง เนื่องจากไม่สามารถเขียนภาษาไทยได้

ในหลวงร.๙

ณ ตอนนี้ ปู่วาเด็ง ได้เสียชีวิตแล้วอย่างสงบที่บ้านพัก ในวันที่ 7 สิงหาคม 2555 ในวัย 96 ปี หลังเข้ารักษาอาการป่วยด้วยโรคหัวใจและโรคไตที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยก่อนสิ้นใจได้ฝากผู้ใกล้ชิดให้ดูแลต้นจำปาดะหลังบ้านที่มีอายุกว่า 100 ปี ให้ดี และให้นำผลจำปาดะไปถวายในหลวงรัชกาลที่ ๙ ดั่งที่ครอบครัวเคยปฏิบัติทุกปี ในวันทำพิธีทางศาสนาอิสลาม ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ได้นำดินพระราชทานของในหลวงรัชกาลที่ ๙ และพระบรมวงศานุวงศ์ จำนวน 6 ห่อ วางบนหลุมศพของปู่วาเด็ง สร้างความปลื้มปีติในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้แก่ครอบครัวปูเต๊ะ

หลังจากทราบข่าวสวรรคตในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทางครอบครัวของปู่วาเด็งโศกเศร้ากับการสูญเสียในครั้งนี้เป็นอย่างยิ่ง และได้เดินทางเข้ามากราบพระบรมศพ ทั้งยังคงสานต่อเจตนารมณ์ของปู่วาเด็งในการจงรักภักดีและรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ที่ทรงมีต่อครอบครัวอย่างหาที่สุดมิได้

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ www.news.muslimthaipost.com/ chaoprayanews

Text Bhusakorn

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ
15 ศิลปิน กับ ภาพศิลป์ “พ่อหลวง” อุ่นในดวงใจ 
กษัตริย์จิกมี แห่งภูฏาน ผู้ทรงมีในหลวง ร.๙ เป็นต้นแบบ  
ตามรอยพ่อหลวง ร.๙ กับพระราชินีเสด็จประพาสน้ำตกพรหมโลก 

 

 

 

สุดสัปดาห์

keyboard_arrow_up