การได้มีโอกาสชื่นชมพระบารมีของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สักครั้งในชีวิตถือเป็นความฝันของคนไทยหลายคน เฉกเช่นเดียวกับ เคี้ยง – วสันต์ วณิชชากร ช่างภาพที่มีโอกาสฉายพระบรมฉายาลักษณ์ ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในงานพระราชพิธีสำคัญหลายครั้ง ซึ่งการได้ถวายงานนับเป็นการทำงานในฐานะช่างภาพที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิต
วสันต์ วณิชชากร ช่างภาพผู้ถวายงานในพระราชพิธีสำคัญ
“หลังจบปริญญาตรี ผมได้เข้าทำงานเป็นช่างภาพที่เนชั่น ถ่ายข่าวทุกประเภททุกหัวในเครือ ทำได้ 3 ปีพ่อก็เรียกกลับมาช่วยกิจการที่ปราจีนบุรี ผมเปิดร้านถ่ายรูปชื่อ ‘วิวพอยต์เอ็กซ์เพรส’ โดยระหว่างนั้นผมก็ยังรับถ่ายข่าวให้เนชั่นอยู่เรื่อยๆ จนกระทั่งมีรุ่นพี่นักข่าวที่ AP ติดต่อให้ช่วยไปถ่ายข่าวชุมนุมประท้วงปี 2549 ซึ่งทางสำนักข่าวชอบผลงานเลยให้ผมเป็นสปริงเกอร์ ประจำสำนักข่าว AP คอยถ่ายงานใหญ่ ๆ ระดับประเทศ เช่น งานพระราชพิธี งานข่าวกีฬา งานการเมือง งานคอนเสิร์ตต่างประเทศ เป็นต้น
“งานที่ผมตื้นตันและภาคภูมิใจทุกครั้งคือการได้ถวายงานให้ในหลวงรัชกาลที่9 ครั้งที่ประทับใจไม่ลืมคือ พระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีเสด็จออกมหาสมาคม ณ สีหบัญชร เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2549 ผมมองในหลวงผ่านเลนส์วันนั้น เห็นพระพักตร์ชัดมาก พระองค์แย้มพระโอษฐ์ และทอดพระเนตรประชาชนของพระองค์อย่างมีความสุข จังหวะที่ทรงโบกพระหัตถ์เหมือนพระองค์รู้ว่ากล้องอยู่จุดไหนบ้าง ท่านทอดพระเนตรและทรงโบกพระหัตถ์เป็นจุด ๆ ตั้งแต่ซ้ายไปขวาขวาไปซ้าย ช่างภาพคือได้รูปทุกคน
อีกช็อตที่ได้ในวันนั้น ที่ทั้งตัวผมและประชาชนที่เห็นภาพต่างก็ประทับใจคือ ภาพในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงหันพระพักตร์ และทอดพระเนตรไปที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ขณะทรงยื่นพระหัตถ์เพื่อจะทรงถ่ายภาพประชาชน ทั้งสองพระองค์สบพระเนตรกัน เป็นภาพที่หลายคนอยากรู้ว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 ตรัสอะไรกับสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ซึ่งเรามารู้กันทีหลังว่า ในหลวงท่านทรงดุสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
“พ่อดุเรา” ภาพประวัติศาสตร์ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงยกกล้องขึ้นมาถ่ายภาพประชาชน ทรงเคยมีรับสั่งเกี่ยวกับภาพนี้ว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงตำหนิที่พระองค์ทำตัวเหมือนเด็ก โดยตรัสต่อนักข่าวว่า “พ่อดุเรา บอกให้เราไปถ่ายที่อื่น ให้เราสำรวม และให้ไปบอกคนข้างหลังให้เงียบๆ ด้วย” ซึ่งสมเด็จพระเทพฯ ตรัสเล่า และทรงพระสรวลอย่างมีความสุข
“อีกงานที่น่าจดจำคือเสด็จออกมหาสมาคม ณ สีหบัญชร 5 ธันวาคม 2555 ให้ประชาชนได้เข้าเฝ้าฯ เป็นช่วงที่พระองค์เพิ่งหายประชวรการมองพระองค์ผ่านเลนส์ครั้งนี้พระพักตร์ดูเหนื่อย พระสุรเสียงที่ให้พระบรมราโชวาทแผ่วเบา ขาดหายเป็นช่วง ๆ จนผมน้ำตาซึม พอเสร็จพิธีเก้าอี้พระที่นั่งเลื่อนเข้าไป ม่านค่อย ๆ ปิด ตาผมยังคงไม่ทิ้งวิวไฟน์เดอร์ เพราะอยากเห็นพระองค์ให้นานที่สุด จังหวะนั้นผมเห็นพระองค์ทรงทรุดพระวรกายเอนไปกับพนักพระเก้าอี้
จนกระทั่งเมื่อวัน 14 ตุลาคม 2559 ผมมีโอกาสเข้าไปถวายงานในพระราชพิธีสรงน้ำพระบรมศพ กรมวังท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่า ชุดคลุมทองทรงเครื่องบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์พร้อมเครื่องแบบเต็มยศนั้นมีน้ำหนักถึง 20 กิโลกรัม ภาพในวันนั้นย้อนกลับมาพร้อมคำตอบ พระองค์ทรงขืนพระวรกายที่ยังไม่แข็งแรงดีหลายชั่วโมงกับเครื่องทรงที่หนักมาก ท่ามกลางแสงแดดร้อนที่สาดส่องทั่วบริเวณ เพื่อให้ประชาชนได้ชื่นชมพระบารมี นาทีนั้นผมได้แต่บอกกับตัวเองว่า ‘ผมรักในหลวงเหลือเกิน’
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร (ณ ขณะนั้น ดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร) และพระบรมวงศานุวงศ์ โดยรถยนต์พระที่นั่งจากโรงพยาบาลศิริราช เพื่อเสด็จออกมหาสมาคม ณ สีหบัญชร พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม 2555 ท่ามกลางประชาชนที่มาเฝ้ารับเสด็จ พร้อมเปล่งเสียง”ทรงพระเจริญ” ดังกึกก้องตลอดเส้นทาง
ทรงแย้มพระโอษฐ์ให้กับประชาชนของพระองค์ เมื่อรถพระที่นั่งผ่านประตูรั้วพระที่นั่งอนันตสมาคมอ
เสด็จออกมหาสมาคม ณ สีหบัญชร พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม 2555 โดยประชาชนชาวไทยกว่า 2 แสนคน ณ ที่นั้น เปล่งเสียง “ทรงพระเจริญ” กึกก้องไปทั่ว ทุกคนต่างปีติยินดี ที่ได้ชื่นชมพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร และพระบรมวงศานุวงศ์
พระเก้าอี้ที่ทรงประทับอยู่ค่อยๆ เคลื่อนถอยหลังเข้าไปด้านใน พร้อมกับม่านที่ค่อยๆ เลื่อนมาปิด พระองค์ท่านค่อยๆ ทรุดพระวรกายลงไปกับพนักพระเก้าอี้ ด้วยเพราะชุดคลุมทองทรงเครื่องบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ พร้อมเครื่องแบบเต็มยศ นั้นมีน้ำหนักถึง 20 กิโลกรัม ซึ่งพระองค์ทรงขืนพระวรกายที่ยังไม่แข็งแรงดีของพระองค์ ไว้เนิ่นนานหลายชั่วโมง ท่ามกลางแสงแดดร้อนที่สาดส่องทั่วบริเวณ เพื่อให้ประชาชนของพระองค์ได้ชื่นชมพระบารมี
13-14 ตุลาคม 2559 วันแห่งการถวายงานที่บีบหัวใจที่สุด
“ผมถูกตามตัวให้มาเตรียมถ่ายภาพทำข่าวที่ศิริราชตั้งแต่วันที่ 12 ตุลาคม 2559 ด้วยกระแสข่าวต่างๆ ตอนนั้นทำให้ใจจิตเราหดหู่มาก ผมได้แต่นอนหมดแรงอยู่บนเตียงจนห้าโมงเย็นถึงขับรถเข้ากรุงเทพฯ แล้วไปศิริราชในวันรุ่งขึ้นของวันที่ 13 ตุลาคม 2559 พอหนึ่งทุ่ม จากเสียงทรงพระเจริญที่เราเคยได้ยินกลายเป็นเสียงร้องไห้ระงม (น้ำตาคลอ) เพื่อนช่างภาพบางคนน้ำตาไหลอาบแก้ม บางคนทรุดตัวเข่าอ่อนก้มลงกราบกับพื้น ผมได้แต่กลั้นน้ำตาจนจุก ตั้งสมาธิให้อยู่กับภาพ เพราะอยากเสนอภาพความรักที่ประชาชนมีต่อในหลวงให้คนต่างชาติรับรู้ คนไทยเสียใจขนาดนี้ เขาต้องคิดกลับมาว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงทำอะไรเพื่อคนไทยบ้าง
เคี้ยง – วสันต์ วณิชชากร ช่างภาพผู้ถวายงานในพระราชพิธีสำคัญ
วันที่ 13 ตุลาคม 2559 ณ โรงพยาบาลศิริราช เสียงร่ำไห้ระงมทั่วบริเวณ หลังประชาชนทราบข่าวการเสด็จสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 9
วันที่ 13 ตุลาคม 2559 ณ โรงพยาบาลศิริราช ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคต ข่าวร้ายที่คนไทยทั้งประเทศไม่อยากให้เป็นจริง
14 ตุลาคม 2559 พระราชพิธีเคลื่อนพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
14 ตุลาคม 2559 พสกนิกรหลั่งน้ำตาแห่งความอาลัย ระหว่างพระราชพิธีเคลื่อนพระบรมศพ
“ตั้งแต่เกิดมาผมก็เห็นภาพพระบรมฉายาลักษณ์ซึ่งส่วนใหญ่พระองค์จะห้อยกล้องไว้ที่พระศอ ถือแผนที่และดินสอ คำถามแรกที่ถามแม่คือ ท่านห้อยอะไร เรียกได้ว่าผมรู้จักกล้องถ่ายรูปผ่านพระบรมฉายาลักษณ์ อยากจะถือกล้องแบบท่าน อยากจะเรียนรู้เกี่ยวกับกล้องถ่ายรูป และศาสตร์ของการถ่ายภาพคืออะไร
“ในหลวงรัชกาลที่ 9 คือแรงบันดาลใจให้ผมศึกษาเรื่องการถ่ายภาพจนมีอาชีพเป็นช่างภาพเช่นทุกวันนี้ครับ”
สัมภาษณ์: จีราวัจน์
ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก: วสันต์ วณิชชากร
เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ
วันนี้เมื่อปีที่แล้ว รัชกาลที่ 9 สวรรคต ความวิปโยคครั้งใหญ่ ของชาวไทยทั้งแผ่นดิน
วันนี้เมื่อปีที่แล้ว เพลงสรรเสริญพระบารมี เวอร์ชั่นคลาสสิกที่คนไทยฟังแล้วร้องไห้ (มีคลิป)
เรื่องเล่าจากสมเด็จพระพี่นางฯ ถึง เจ้านายเล็กๆ ครั้งทรงพระเยาว์
ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ ในหลวงรัชกาลที่ 9 หาดูยาก อยากให้คนไทยได้ดู
ปีติ พระองค์ทีฯ ทรงเป็นจิตอาสา ถวายสมเด็จปู่ ณ เยอรมนี (คลิกชมคลิป)