งานดีงานละเอียด! ส่องคอสตูมใน รากนครา ถอดแบบมาจากยุคโบราณเป๊ะๆ

Alternative Textaccount_circle
event

เป็นอีกหนึ่งละครแห่งปีเลยก็ว่าได้สำหรับเรื่อง รากนครา เพราะนอกจากจะลงทุนทั้งฉาก สถานที่ต่างๆ ให้ตรงตามบทประพันธ์มากที่สุดแล้ว เครื่องแต่งกายของทุกตัวละครก็มีความประณีต ละเอียดลออ และตรงตามแบบโบราณเป๊ะ เราไปดูความใส่ใจกับเรื่องคอสตูมของเรื่องนี้กันเถอะ

 

ส่องคอสตูมใน รากนครา

 

คุณวสิน อุ่นจะนำ เป็นหนึ่งในผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสวยงามของเสื้อผ้าในเรื่องนี้ โดยได้ศึกษาข้อมูลและเตรียมการร่วมปี กว่าจะได้เสื้อผ้าแต่ละแบบที่สะท้อนเมืองแต่ละเมืองในอดีต

เมืองเชียงเงิน เสื้อผ้าของชาวเมืองเชียงเงินอ้างอิงจากวัฒนธรรมของเมืองเชียงตุง เพราะในบทประพันธ์ เมืองเชียงเงินอยู่ทางตอนเหนือของทางล้านนา

เสื้อผ้าของสาวๆ เมืองเชียงเงิน จะใส่เสื้อที่มีชื่อว่า “เสื้อปั๊ด” เป็นเสื้อแขนยาว สาบหน้าไขว้กันและผูกตรงช่วงใต้อกข้างใดข้างหนึ่ง ผ้าถุงนั้นจะเรียกว่า “ซิ่นไหมคำ” ผ้าซิ่นที่ใช้ในละครนี้ ทอขึ้นเลียนแบบผ้าซิ่นโบราณของชาวไทเขินและชาวไทลื้อในเขตฉาน ส่วนโทนสีของเสื้อผ้าชาวเชียงเงินจะเป็นสีโทนหวาน เพราะได้รับอิทธิพลมาจากจีน

รากนครา
เครื่องแต่งกายของเจ้ามิ่งหล้าได้รับแรงบันดาลใจจากเจ้านางจ่ายุ้นส์มหาเทวี ในเจ้าฟ้ากองไท แห่งเมืองเชียงตุง

สำหรับชุดแต่งงาน อ้างอิงจากชุดแต่งงานโบราณของเมืองเชียงตุง ตัวเสื้อเรียกว่า “เสื้อกาบคำ” ปักด้วยดิ้นเงินดิ้นทองหรือวัสดุที่มีมูลค่าเข้าในเสื้อ ส่วนผ้าซิ่นจะใช้ซิ่นไหมคำเช่นกัน ซึ่งชุดแต่งงานในเรื่องนี้ได้ต้นแบบและแรงบันดาลใจมาจากเสื้อกาบคำที่ใช้ในพิธีแต่งงานของเจ้านางเมืองเชียงตุง โดยใช้ระยะเวลาออกแบบและวางแผนการผลิตร่วม 3 เดือน และลงมือผลิตอีก 3 เดือน

รากนครา

รากนครา

สำหรับเครื่องแต่งกายของผู้ชายเมืองเชียงเงิน จะเป็นการสวมเสื้อคลุมตัวยาวกับกางเกงขายาว เสื้อคลุมจะทำจากผ้าไหม มีลักษณะคอเสื้อคล้ายเสื้อคอจีน

เมืองเชียงพระคำ จะมีเสื้อที่เรียกว่า “เสื้อแขบคำ” มักตัดเย็บจากผ้ากำมะหยี่ หรือแพรจีนสีเข้ม เช่น ดำ ม่วง น้ำเงิน เป็นต้น ความพิเศษอยู่ที่คอเสื้อ ซึ่งจะต้องปักด้วยเส้นไหมคำ เป็นลายขดสี่เหลี่ยมขนาดเล็ก

เสื้อเชียงพระคำอีกหนึ่งแบบคือ “เสื้อก๊บหลองแดง” เป็นแบบเสื้อที่ใช้กันแพร่หลายในล้านนา ใช้ใส่เพื่อป้องกันอากาศหนาว อ้างอิงจากภาพหม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล แต่งกายเลียนแบบชาวล้านนา

นอกจากนี้ยังมีการแต่งกายแบบชาวล้านนาตะวันออก ที่มีลักษณะคล้ายการนุ่งห่มสไบ อีกทั้งเมืองเชียงพระคำมีอิทธิพลของวัฒนธรรมไทลื้อและวัฒนธรรมไทยลาวเข้ามาผสมผสาน ทำให้ชุดของเมืองเชียงพระคำมีความหลากหลาย

เมืองมัณฑ์ มีพิกัดอยู่ในโซนของประเทศพม่า เครื่องแต่งกายจึงนำรูปแบบการแต่งกายของพม่า แต่มีเอกลักษณ์เด่นก็คือ “ผ้าลุนตยา” ซึ่งเป็นผ้าชนิดหนึ่งของพม่า เรียกว่าผ้าทอร้อยกระสวยและทอเป็นลายคลื่น สีสันของเสื้อผ้าเมืองมัณฑ์ค่อนข้างจะจัดจ้าน

สำหรับเครื่องประดับในเรื่องนี้มีการใช้เครื่องประดับทั้งของเก่าโบราณและของทำขึ้นใหม่ เช่นเดียวกับผ้า ที่บางผืนใช้ผ้าโบราณอายุเป็นร้อยปี แต่บางผืนก็ทอขึ้นใหม่ ซึ่งใช้ความประณีตในการทอมาก และใช้มือทำทุกขั้นตอน

เห็นแค่เสื้อผ้าและเครื่องประดับที่แสดงถึงความใส่ใจทุกขั้นตอนแบบนี้ บอกเลยว่าขนลุก เพราะถอดแบบมาจากโบราณได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่แน่นะว่างานประกาศรางวัลปีหน้า เรื่องนี้อาจจะคว้ารางวัลสาขาเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยมไปครองก็ได้

ข้อมูลและภาพจาก Facebook : ผ้าและสิ่งถักทอไท , Instagram : @tee_kanok และ www.weblakorn.com
TEXT : Ploychompoo

เรื่องราวที่น่าสนใจอื่นๆ

เทียบตัวละครรากนครา 2 เวอร์ชั่น เก่า-ใหม่ ชอบเวอร์ไหนมากกว่ากันจ๊ะ

แต้ว ณฐพร เจ้าแม่ละครภาษาถิ่น

งามหมดจดหยดย้อย เหล่าดาราสาวตบเท้า แต่งชุดไทย

สุดสัปดาห์

keyboard_arrow_up