ตลอด เวลาที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน “ธรรม” ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ มีพระปฐมบรมราชโองการในพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษกว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” นั้น ส่งผลให้ประเทศชาติบ้านเมืองและประชาชนเปี่ยมไปด้วยความสุข เพราะธรรมของพระองค์คือรูปธรรมที่นำมาซึ่งประโยชน์ของชาวสยามที่แท้จริง
ด้วย ทศพิธราชธรรมเช่นนี้เองที่ทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิใช่จะทรง ครองแผ่นดินเท่านั้น แต่ยังทรงครองหัวใจคนทั้งปวงเอาไว้อีกด้วย
ด้วย สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อปวงชน จึงน้อมนำ ๑๐ ธรรมที่พ่อทำ ธรรมทั้งสิบประการนี้มาเป็นมงคลชีวิต มาเป็นแบบอย่างในการครองตนเพื่อความสุขแบบพอเพียงและยั่งยืนสืบไป
๑ ทาน
การให้ การเสียสละ
หมายถึง การเสียสละพระราชทรัพย์ เพื่อบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ทั้งในด้านบำรุงพระพุทธศาสนาและบรรเทาความยากไร้ ให้ประชาชนอยู่เป็นกิจวัตร ทั้งยังทรงเป็นผู้นำในการบริจาคพระราชทรัพย์เพื่อช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก จากภัยธรรมชาติหลายต่อหลายครั้ง นอกจากทรัพย์แล้ว ทาน ของในหลวงยังหมายถึงพระราชทานความรู้ เพื่อประชาชนจะได้ใช้เป็นเครื่องมือเลี้ยงชีพได้อย่างยั่งยืน
๒ ศีล
ความประพฤติดีงาม
เป็นความดีงามของกาย วาจา ใจ ที่ประชาชนจะเห็นได้ในทุกพระราชจริยวัตรของในหลวงทั้งกาย วาจา และพระราชหฤทัยของพระองค์ท่านเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชน ทั้งยังหมายถึงศีลในการปกครอง อันได้แก่กฎหมายและนิติราชประเพณี และในทางศาสนา ที่พระองค์ทรงออกผนวชเพื่อศึกษาและปฏิบัติพระธรรมวินัย ทั้งอุทิศพระราชกุศลพระราชทานแก่ปวงชนชาวไทย
๓ ปริจจาคะ
การเสียสละความสุขส่วนตน เพื่อความสุขส่วนรวม
เสียสละความสุขส่วนพระองค์ เพื่อประชาชนมีความสุข ในพระราชกรณียกิจที่เป็นไปเพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนนั้น ในหลวงต้องเสียสละความสุขส่วนพระองค์ ต้องทนลำบากในการเดินทาง อดทนต่อความแปรปรวนของอากาศ ความร้อนหนาว ก็เพื่อสร้างความสุขให้ประชาชนทั้งสิ้น
๔ อาชชวะ
ความซื่อตรงสุจริต
สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นผ่านความแน่วแน่ต่อพระราชดำรัสที่เคยตรัสไว้อันเป็นปฐมบรมราชโองการเมื่อทรงครองราชย์ เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม ซึ่งพระองค์ทรงกระทำตามพระราชดำรัสเสมอมา รวมถึงความสุจริตต่อมิตรประเทศ พระราชวงศ์ ข้าทูลละอองธุลีพระบาท
๕ มัททวะ
ความสุภาพ อ่อนโยน
ในหลวง ทรงเป็น พระมหากษัตริย์ที่ไม่ถือพระองค์ โดยเฉพาะกับประชาชน ทรงมีสัมมาคารวะต่อพระสงฆ์ ต่อผู้เจริญโดยวัยและโดยคุณ ทรงรับฟังปัญหา คำชี้แนะ และแก้ไขด้วยเหตุผล ด้วยความเมตตาและอ่อนโยน
๖ ตบะ
ความเพียร ความอุตสาหะ
ทรงมีความอุตสาหะวิริยะในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้วยความอดทน ปราศจากความเกียจคร้าน เพื่อประโยชน์ของประชาชนและบ้านเมือง ไม่ย่อท้อ แม้บางขณะจะทรงพระประชวร แม้ในบางพื้นที่บางเหตุการณ์จะเต็มไปด้วยอันตราย ซึ่งสิ่งนี้สะท้อนให้เห็นจากพระราชนิพนธ์เรื่อง พระมหาชนก ที่พระราชทานให้ปวงชนชาวไทย
๗ อักโกธะ
ความไม่โกรธ
ทรงมีพระนิสัยที่ไม่โกรธ ทั้ง ทรงสามารถระงับความโกรธด้วยมีพระเมตตาเป็นที่ตั้ง ทำให้ทรงทอดพระเนตรเห็นปัญหาและหนทางแก้ไขปัญหานั้นได้โดยสงบ ทั้งยังไม่ทรงใช้พระราชอำนาจเพื่อมุ่งร้ายผู้อื่น แต่ทรงใช้เพื่อพระราชทานอภัยโทษตามควรแก่เหตุ
๘ อวิหิงสา
ความไม่เบียดเบียน
ด้วยพระราชอัธยาศัยที่เปี่ยมไปด้วยพระเมตตา พระองค์จึงทรงตั้งอยู่ด้วยการไม่เบียดเบียนทั้งราชวงศ์และข้าพระบาท รวมถึงประชาชน ให้ต้องเดือดร้อนด้วยเหตุอันไม่ควร
๙ ขันติ
ความอดทน
ทรงมีความอดทน ต่อความทุกข์อันเกิดจากความยากลำบากในการเข้าหาประชาชนในถิ่นทุรกันดาร ทรงอดทนต่อความไม่สบายพระวรกาย ทรงอดทนต่อทุกข์อันเกิดจากโรคภัย ไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการช่วยเหลือประชาชน
๑๐ อวิโรธนะ
ความหนักแน่น เที่ยงธรรม
ทรงรักษาความเที่ยงธรรม และความยุติธรรมไม่ให้เบี่ยงเบนไปจากความถูกต้อง ทั้งในพระราชจริยวัตรและพระราชวินิจฉัย ไม่เอนเอียงหวั่นไหว ไม่ยินดียินร้ายต่ออคติทั้งปวง ไม่ประพฤติผิดไปจากพระราชประเพณี