คู่พระบารมีที่ยิ่งใหญ่ : วันแห่งความปลื้มปีติ

Alternative Textaccount_circle
event

และแล้วก็มาถึงพระราชพิธีที่ยังความปลื้มปีติมาสู่ประชาชนชาวไทย นั่นคือพระราชพิธีหมั้นและพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชกับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ถือเป็น วันแห่งความปลื้มปีติ ของปวงชนชาวไทย

คู่พระบารมีที่ยิ่งใหญ่ : วันแห่งความปลื้มปีติ

 

ทรงหมั้น

เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2492 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมเจ้านักขัตรมงคลเข้าเฝ้าฯ ที่นครโลซาน ทรงมอบหมายให้หม่อมเจ้าจักรพันธุ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ เป็นผู้ทูลเกริ่นทาบทามเรื่องที่จะทรงขอหมั้นก่อน ขณะที่พระองค์เองมีพระราชดำรัสเป็นการส่วนพระองค์กับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ล่วงหน้าแล้ว

เมื่อหม่อมเจ้านักขัตรมงคลมาถึง ได้รับสั่งเรื่องการหมั้นและกล่าวว่า สมเด็จพระราชชนนีมีพระกระแสรับสั่งว่า “ขอให้ทำกันเฉพาะภายในครอบครัวเท่านั้น เพราะเมื่อคราวฉันก็ทำอย่างนี้เหมือนกัน จะมีอะไรขัดข้องไหม” หม่อมเจ้านักขัตรมงคลตอบว่า “ตามแต่จะมีพระประสงค์”

พระราชพิธีทรงหมั้นจัดขึ้นเป็นการภายใน โรงแรมวินด์เซอร์ โรงแรมชั้นหนึ่งประจำนครโลซาน เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2492 โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงนำพระธำมรงค์เพชรที่มีหนามเตยเป็นรูปหัวใจ พระราชทานแก่หม่อมเจ้านักขัตรมงคลเป็นการหมั้นชั้นที่หนึ่ง ซึ่งพระธำมรงค์นี้เป็นองค์เดียวกับที่สมเด็จพระราชบิดาประทานแด่สมเด็จพระราชชนนี ขนาดไม่ถึง 2 กะรัต ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงให้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์เลือกองค์นี้กับอีกองค์ที่เป็นทับทิมประดับเพชรของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ซึ่งหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ได้ขอรับพระราชทานพระธำมรงค์องค์แรก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้ตรัสขณะมอบพระธำมรงค์ว่า “เป็นของมีค่ายิ่งและเป็นที่ระลึกด้วย”

วันแห่งความปลื้มปีติ

 

พสกนิกรร่วมปลื้มปีติ

ค่ำวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2492 ได้มีงานเลี้ยงที่สถานทูตไทยในกรุงลอนดอน หม่อมราชวงศืสิริกิติ์สวมชุดสีฟ้าอ่อน กระฌปรงพลีตเป็นระบายงดงาม เป็นที่จับใจแก่ผู้พบเห็น ในงานมีเพียงโต๊ะอาหารเล็กๆ ไม่กี่โต๊ะ แต่บรรยากาศอบอวลไปด้วยความสุข ผู้ที่มาในงานล้วนยินดีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงมีความสุขในรักกับกุลสตรีที่เหมาะสม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศข่าวทรงหมั้นให้คนไทยทราบ โดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเป็นผู้ประกาศ ข่าวที่เผยแพร่ออกไปนำมาซึ่งความดีใจแก่ประชาชนไทยเป็นอย่างยิ่ง ไม่เพียงแต่คนไทยที่ตื่นเต้น หากแต่สื่อมวลชนหลายสำนักทั่วโลกก็ได้นำเสนอข่าวนี้เช่นกัน

 

เสด็จนิวัตประเทศไทย

หลังพระราชพิธีหมั้นผ่านไป 7 เดือน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จนิวัตประเทศไทยทางชลมารค โดยมีหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์และครอบครัว รวมถึงเหล่าข้าราชบริพารตามเสด็จฯ ด้วยทรงเลือกที่จะเสด็จฯ ทางชลมารคเพื่อต้องการประหยัดงบประมาณแผ่นดิน เรือเทียบท่าที่เกาะสีชังเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2493 พอวันที่ 25 มีนาคม ทางรัฐบาลได้จัดพิธีสมโภชที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จนิวัตประเทศไทย

ระหว่างนี้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ได้พำนักอยูที่ตำหนักท่านพ่อที่วังเทเวศร์ ปากคลองผดุงกรุงเกษม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 โปรดที่จะเสด็จฯ มาในตอนเย็นเพื่อร่วมเสวยพระสุธารสกับพระคู่หมั้น ท่ามกลางความสงบและสายลมเย็นจากแม่น้ำเจ้าพระยา

วันแห่งความปลื้มปีติ

 

พระราชพิธีราชาภิเษกสมรส

หลังเสร็จสิ้นพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ระหว่างวันที่ 28-30 มีนาคม พ.ศ. 2493 แล้วประมาณ 1 เดือน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสขึ้นในวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2493 ณ วังสระปทุม โดยมีสมเด็จพระศรีสวรินทราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงเป็นประธาน หม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร ทรงพาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยและนามในทะเบียนสมรสตามกฎหมายดังเช่นประชาชนทั่วไป โดยมีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร ทรงลงพระนาม และจอมพล ป. พิบูลสงคราม ลงนามเป็นสักขีพยาน ท่ามกลางพระบรมวงศานุวงศ์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา ผู้แทนรัฐบาลไทย และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้มาร่วมในพระราชพิธี

จากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์เสด็จฯ ขึ้นประทับยังห้องพระราชพิธีบนตำหนัก เพื่อรับพระราชทานน้ำพระพุทธมนต์เทพมนต์จากสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าตามโบราณราชประเพณี แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อาลักษณ์อ่านสถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์เป็นสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจกัรีบรมราชวงศ์ ซึ่งเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์สูงสุดแก่สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ พระราชทานดอกพิกุลเงิน ดอกพิกุลทอง และของที่ระลึกเป็นพีบเก็บบุหรี่เวินขนาดเล็กที่มีพระปรมาภิไธยย่อ ภอ. และ สก. แก่พระประยูรญาติที่ใกล้ชิดและราชสักขี

เมื่อพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสเสร็จสิ้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานพระราชทานเลี้ยงเป็นการภายในระหว่างพระญาติสนิทและข้าราชบริพารใกล้ชิดไม่เกิน 20 คน นับเป็นพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสที่สิ้นเปลืองน้อยที่สุด

ภายหลังจากงานพระราชทานเลี้ยง มีการฉายหนังเรื่อง Return of Frankenstien ให้บรรดาแขกที่มาในงานะรัราชพืธีชม ท่านผู้กญิงเกนหลง สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ซึ่งเป็นหนึ่งในแขกของงานกล่าวว่า “อาจเป็นพระราชพิธีแบบใหม่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงค้นพบวิธีที่จะหาทางข่มขวัญเจ้าสาวให้ทรงหันเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร และยึดพระองค์เป็นที่พึ่งในวันราชาภิเษกสมรสเพราะกลัวผีก็เป็นได้ และไม่มีการส่งตัวเจ้าสาวตามประเพณีทั่วไป…”

วันต่อมาได้เสด็จฯ ไปประทับพักผ่อนพระอิริยาบถและฮันนีมูนที่พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นเวลา 3 วัน พร้อมด้วยคณะผู้ตามเสด็จโดยทางรถไฟ ตลอดเส้นทางที่เสด็จฯ นั้น มีประชาชนมาเฝ้าฯ รับเสด็จอย่างเนืองแน่น ส่วนหนึ่งต้องการยลพระสิริโฉมของพระราชินีนั่นเอง

8522

 

ตัดทอนเนื้อหาบางส่วนจาก นิตยสารสุดสัปดาห์ Vol.29 No.696 ฉบับวันที่ 1 ธันวาคม 2555

ภาพจาก dit.dru.ac.th , heartofthekingdombynamfon.blogspot.com

อนึ่ง ในเดือนตุลาคมนี้ พสกนิกรทั่วหล้า ต่างน้อมรำลึกถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 ทีมงานขออนุญาตเผยแพร่พระบรมฉายาลักษณ์ เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับพระองค์ท่านให้ดีที่สุด จึงกราบขอบพระคุณเจ้าของภาพมา ณ โอกาสนี้

 

ติดตามชมพระบารมีในข่าวอื่นๆ ได้ที่

คู่พระบารมีที่ยิ่งใหญ่ : ต้นกำเนิดความรัก ของทั้งสองพระองค์

คู่พระบารมีที่ยิ่งใหญ่ : อุบัติเหตุ (รัก)

 

สุดสัปดาห์

keyboard_arrow_up