ความสามัคคี

9 คำพ่อสอน : ความสามัคคี

Alternative Textaccount_circle
event
ความสามัคคี
ความสามัคคี

เคยได้ยินประโยคนี้กันมั้ยคะ “พ่อไม่ได้สอนให้เรารักพ่อ แต่พ่อสอนให้เรารักกัน” เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงเล็งเห็นว่า ความสามัคคี เป็นรากฐานของความมั่นคงในประเทศ พระองค์จึงทรงมีพระบรมราโชวาทในเรื่องความสามัคคีอยู่บ่อยครั้ง เราจึงขอรวบรวมมาให้เป็นข้อคิดเตือนใจกันค่ะ

9 คำพ่อสอน : ความสามัคคี

 

“…ความสามัคคีนั้นอาจหมายความถึงเห็นชอบเห็นพ้องกันโดยไม่แย้งกัน ความจริงงานทุกอย่างหรือการอยู่เป็นสังคมย่อมต้องมีความแย้งกัน ความคิดต่างกัน ซึ่งไม่เสียหาย แต่อยู่ที่จิตใจของเรา ถ้าเราใช้หลักวิชาและความปรองดอง ด้วยการใช้ปัญญา การแย้งต่างๆ ย่อมเป็นประโยชน์ ถ้ามีรากฐานของความคิดอย่างเดียวกัน รากฐานของความคิดนั้น คือแต่ละคนจะต้องทำให้บ้านเมืองมีความสุขมีความปึกแผ่น…”

พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระราชทานแก่ผู้เข้าเฝ้า ฯ รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสายสะพาย ณ ศาลาดุสิดาลัย วันอังคารที่ 29 ตุลาคม 2517

 

“…เราต้องทำในสิ่งที่ดีที่ชอบตลอดไปเป็นเวลานานอาจน่าเบื่อ แต่แม้กระนั้นอย่าเพิ่งท้อใจ แม้กระนั้น บางทีเราทำตลอดชีวิตแล้วก็ยังไม่พอ แต่ทำไมเมืองไทยอยู่ได้ ก็เพราะว่าบรรพบุรุษของเราทำมาเป็นแรมปีเป็นร้อยๆ ปี ทำมาด้วยความสุจริตใจ…”

พระราชดำรัส พระราชทานแก่นักศึกษา พ่อค้า ประชาชน มูลนิธิ องค์การต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 5 ธันวาคม 2518 ณ ศาลาดุสิดาลัย พระราชวังดุสิต วันพฤหัสบดีที่ 4 ธันวาคม 2518

 

“…เราประเทศไทยถ้าสามัคคีกันดี ช่วยเหลือซึ่งกันและกันในทางที่มีเหตุผล เราเองจะเป็นที่ตั้งของความมั่นคงผาสุขของราษฎรที่เป็นประชากรแห่งประเทศนี้ เป็นตัวอย่างแก่มวลมนุษย์ มวลมนุษย์ก็มนุษยชาตินี่เอง และประเทศอื่นก็อาจเอาอย่างบ้าง ก็เกิดความไม่เบียดเบียนขึ้น ความอยู่ในโลกนี้อย่างสบายพอสมควร คือไม่ใช่หรูหรา ประเทศไทยเราจะอยู่ไม่ใช่อย่างทุกคนอยู่มีบ้านหรูหรากันทุกคน และร่ำรวยกันทุกคน แต่ว่าทุกคนก็พอมีพอกิน…”

พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระราชทานแก่คณะกรรมการอำนวยการสันนิบาตมูลนิธิแห่งประเทศไทย ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วันศุกร์ที่ 19 ธันวาคม 2518

ความสามัคคี

 

“…คนเราอยู่คนเดียวไม่ได้ จะต้องอยู่เป็นหมู่เป็นคณะ และถ้าหมู่คณะนั้นมีความสามัคคี คือเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน ช่วยเหลือในทุกเมื่อ ช่วยกันคิดว่าสิ่งใดสมควร สิ่งใดไม่สมควร สิ่งใดที่จะทำให้นำมาสู่ความเจริญ ความมั่นคง ความสุขก็ทำ สิ่งใดที่นำมาซึ่งหายนะหรือเสียหายก็เว้น และช่วยกันปฏิบัติทั้งหน้าที่ทางกาย ทั้งหน้าที่ทางใจ…”

พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระราชทานในพิธีพระราชทานธงประจำรุ่นลูกเสือชาวบ้าน จังหวัดสระบุรี ณ วัดหนองเขื่อนช้าง อำเภอเมืองสระบุรี จังหวัดสระบุรี วันศุกร์ที่ 16 เมษายน 2519

 

“…ชาติของเรานั้นมีผืนแผ่นดินและประชากรอันรวมกันอยู่เป็นส่วนร่างกาย มีศิลปวิทยา มีธรรมเนียมประเพณี มีความเชื่อถือและความคิดจิตใจที่จะสามัคคีกันอยู่เป็นปึกแผ่น ซึ่งรวมเรียกว่า “ความเป็นไทย” เป็นส่วนจิตใจ ชาติไทยเราดำรงมั่นคงอยู่ก็เพราะยังมีทั้งบ้านเมืองและความเป็นไทยพร้อมบริบูรณ์ แต่ถ้าความเป็นไทยของเรามีอันเป็นต้องเสื่อมสลายไปด้วยประการใดแล้ว ชาติก็ต้องสิ้นสูญ เพราะถึงหากบ้านเมืองและผู้คนจะยังอยู่ ก็ไม่มีสิ่งใดประสานยึดเหนี่ยวให้รวมกันอยู่ได้ จะต้องแตกแยกจากกันไปในที่สุด เหมือนส่วนต่างๆ ของร่างกายที่ต้องแตกจากกันเมื่อสิ้นชีวิต…”

พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี วันศุกร์ที่ 22 กันยายน 2521

 

“…ทางที่เราจะช่วยกันได้ ก็คือการทำความคิดความเห็นให้ถูก และแน่วแน่ ในอันที่จะยึดถือประโยชน์ของชาติบ้านเมืองเป็นที่หมาย ต้องเพลาการคิดถึงประโยชน์เฉพาะตัวและความขัดแย้งกันในสิ่งที่มิใช่สาระลงให้ได้ ผู้ใดมีภาระหน้าที่อันใดอยู่ ก็เร่งกระทำให้สำเร็จลุล่วงไปโดยเต็มกำลังความรู้ ความคิด และความสามารถ ด้วยความจริงใจ ด้วยความเมตตาปรองดอง และความมุ่งดีปรารถนาดีต่อกัน ผลงานของทุกคนจักได้ประมวลกันขึ้นเป็นประโยชน์สุข ความมั่นคง และความวัฒนาถาวรของประเทศชาติ ซึ่งเป็นจุดหมายอันสูงสุดของเรา…”

พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระราชทานแก่ประชาชนชาวไทย ในโอกาสขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช 2537 วันศุกร์ที่ 31 ธันวาคม 2536

ความสามัคคี

 

“…การที่ในประเทศใด มีประชาชนทั้งหมดอยู่ร่วมกันโดยสันติ ก็เป็นสิ่งที่ปรารถนาของทุกคน ไม่มีใครอยากให้มีความวุ่นวายในหมู่คณะ ในประเทศชาติ เพราะว่าถ้ามีความวุ่นวายนั้น เป็นความทุกข์ ทุกคนต้องการความสุข หากความสุขนั้นก็จะมาจากความปรองดอง และความที่ทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นไปโดยยุติธรรม…”

พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในโอกาสที่รองประธานศาลฎีกา นำผู้พิพากษาประจำกระทรวงเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณตนก่อนเข้ารับหน้าที่ครั้งแรก ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วันพุธที่ 21 ธันวาคม 2537

 

“…สังคมใดก็ตาม ถ้ามีความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน ด้วยความมุ่งดีมุ่งเจริญต่อกัน สังคมนั้นย่อมเต็มไปด้วยไมตรีจิตมิตรภาพ มีความร่มเย็นเป็นสุข น่าอยู่…”

พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9  พระราชทานเพื่อเชิญลงพิมพ์ในนิตยสารที่ระลึกครบ 36 ปี ของสโมสรไลออนส์แห่งกรุงเทพ ฯ ในพระบรมราชูปถัมภ์ วันศุกร์ที่ 31 มีนาคม 2538

 

“…ประเทศไทยเราอาจไม่เป็นประเทศที่รุ่งเรืองที่สุดในโลก หรือรวยที่สุดในโลก หรือฟู่ฟ่าที่สุดในโลก แต่ก็ขอให้เมืองไทยเป็นประเทศที่มีความมั่นคง มีความสงบได้ เพราะว่าในโลกนี้หายากแล้ว เราทำเป็นประเทศที่สงบ ประเทศที่มีคนที่ช่วยเหลือซึ่งกันและกันจริงๆ เราจะเป็นที่หนึ่งในโลกในข้อนี้ แล้วรู้สึกว่าที่หนึ่งในโลกในข้อนี้จะดีกว่าผู้อื่น จะดีกว่าคนที่รวยที่สุดในโลก จะดีกว่าคนที่เก่งในทางอะไรก็ตามที่สุดในโลก ถ้าเรามีความสงบ แล้วมีความสบาย ความมั่นคงที่สุดในโลกนั้น รู้สึกจะไม่มีใครสู้เราได้…”

พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในโอกาสที่ประธานมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ นำคณะกรรมการบริหารมูลนิธิฯ และนักเรียนทุนพระราชทาน เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคลในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ณ ศาลาดุสิดาลัย วันจันทร์ที่ 22 เมษายน 2539

ความสามัคคี

 

ที่มา : หนังสือ “คำพ่อสอน”, ประมวลพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสเกี่ยวกับความสุขในการดำเนินชีวิต โดย มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ภาพจาก Pinterest : Sirilak Mukasa , royalroyalty , Aum Boonyakunt , Island Info Samui , Wal Chirachaisakul , LUKPLA sptry.

 

เรื่องราวจากพ่อ

9 คำพ่อสอน : คุณธรรมในสังคม

9 คำพ่อสอน : รักษาสุขภาพจิต

6 คำพ่อสอน : การทำความดี

สุดสัปดาห์

keyboard_arrow_up