เรื่อง คุณธรรมในสังคม นั้น เป็นเรื่องที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงอยากให้ปลูกฝังกันประชาชนตั้งแต่ยังเล็ก ดังจะเห็นได้จากพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสของพระองค์ท่านในหลายๆ โอกาส เราจึงขอรวบรวม 9 พระบรมราโชวาทมาเป็นข้อคิดให้อ่านกัน
9 คำพ่อสอน : คุณธรรมในสังคม
“…ผู้ที่เป็นครูอาจารย์นั้น ใช่ว่าจะมีแต่ความรู้ในทางวิชาการ และในทางการสอนเท่านั้นก็หาไม่ จะต้องรู้จักอบรมเด็กทั้งในด้านศีลธรรมจรรยาและวัฒนธรรม รวมทั้งให้มีความสำนึกรับผิดชอบในหน้าที่ และในฐานะที่จะเป็นพลเมืองดีของชาติต่อไปข้างหน้า การให้ความรู้หรือที่เรียกว่าการสอนนั้นต่างกับการอบรม การสอนคือการให้ความรู้แก่ผู้เรียน ส่วนการอบรมเป็นการฝึกจิตใจของผู้เรียนให้ซึมซาบจนติดเป็นนิสัย ขอให้ท่านทั้งหลายจงอย่าสอนแต่อย่างเดียว ให้อบรมให้ได้รับความรู้ดังกล่าวมาแล้วด้วย…”
พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตและนักศึกษาวิทยาลัยวิชาการศึกษา วันพฤหัสบดีที่ 15 ธันวาคม 2503
“…ผู้ที่ใช้เหตุผลและได้รับอบรม คือได้รับฟังและฝึกฝนสมองของตนตั้งแต่เยาว์ ที่ว่าตั้งแต่เยาว์นี่ไม่ได้ขีดขั้นว่าเยาว์แค่ไหน ตั้งแต่เกิด ตั้งแต่ยังพูดไม่ได้ ถ้าสั่งสอนได้เราก็สั่งสอนได้ตั้งแต่พูดไม่ชัด คือยังเกือบไม่รู้เรื่องอะไร เราสั่งสอนให้มีเหตุผลตลอดขึ้นมาก็จะมีเหตุผล ถ้าไม่ได้สั่งสอนหรือบอกว่ายังเด็กเกินไป แล้วก็น่ารัก ปล่อยมันตามเรื่องตามราวหรือตามใจของพ่อแม่หรือตามใจของผู้ใหญ่ เด็กนั้นจะเสีย ซึ่งปรากฏมาแล้วว่าเด็กเสียเพราะว่าตามใจ…”
กระแสพระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระราชทานแก่คณะกรรมการสภายุวพุทธิกสมาคมแห่งชาติ ในโอกาสเข้าเฝ้าฯ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วันอังคารที่ 24 กรกฎาคม 2516
“…ถึงแม้เราจะอยู่ในท่ามกลางความเจริญรุดหน้าแห่งยุคปัจจุบันอย่างไร เราก็ทอดทิ้งการศึกษาทางด้านจิตใจและศีลธรรมจรรยาไปไม่ได้ ตรงข้าม เราควรเอาใจใส่สั่งสอนกันให้หนักแน่นทั่วถึงยิ่งขึ้น เพื่อให้มีความคิดความเข้าใจถูกต้องสอดคล้องกับสภาพการณ์แวดล้อมทั้งหลายที่วิวัฒนาไปไม่หยุดยั้ง…”
พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระราชทานเพื่อเชิญไปอ่านในพิธีเปิดสัมมนา เรื่อง “การพัฒนาสังคมในด้านศีลธรรมและจิตใจ” ซึ่งสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยจัดให้มีขึ้น ณ โรงแรมนารายณ์ กรุงเทพมหานคร วันเสาร์ที่ 15 ธันวาคม 2516
“…เรื่องการฝึกฝนกายและจิตใจให้ดีนี้ โรงเรียนได้ให้โอกาสแก่ทุกคน ให้ทำ แต่ละคนที่เป็นนักเรียนจะต้องทำด้วยตัวเอง อาศัยความฉลาดของตน ของแต่ละคนที่จะเห็นทางที่ดี ที่ชอบ มาผลักนำตัวให้ไปในทางที่ดี ที่ชอบ และรู้ว่าเป็นอย่างไร…”
พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระราชทานแก่คณะครู นักเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ในโอกาสที่ได้เข้าเฝ้าฯ กราบถวายบังคมลาไปแข่งขันรักบี้ฟุตบอลที่ประเทศมาเลเซีย ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วันศุกร์ที่ 8 สิงหาคม 2518
“…ความจริง เยาวชนที่มีพื้นจิตใจดีอยู่แล้ว และปรารถนาจะทำตัวให้ดีให้เป็นประโยชน์นั้นมีอยู่เป็นอันมาก แต่การทำความดีโดยลำพังตนเองเป็นของยาก จำเป็นต้องอาศัยหลักเกณฑ์และแบบฉบับที่ดีอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นที่ยึดเหนี่ยว จึงจะกระทำได้โดยถูกต้องเหมาะสมและไม่เปลืองเวลา พูดง่ายๆ ก็คือต้องอาศัยผู้ใหญ่เป็นที่พึ่งหรือเป็นผู้นำนั่นเอง ผู้ใหญ่จึงต้องถือเป็นหน้าที่และความจำเป็นที่จะต้องช่วยเหลือเขา…”
พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระราชทานแก่ผู้บังคับบัญชาลูกเสือในโอกาสเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทและรับพระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดี ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา วันพฤหัสบดีที่ 6 กรกฎาคม 2521
“…สังคมและบ้านเมืองใดให้การศึกษาที่ดีแก่เยาวชนได้อย่างครบถ้วนล้วนพอเหมาะกันทุกๆ ด้าน สังคมและบ้านเมืองนั้นก็จะมีพลเมืองที่มีคุณภาพ ซึ่งสามารถธำรงรักษาความเจริญมั่นคงของประเทศชาติไว้ และพัฒนาให้ก้าวหน้า ต่อไปได้โดยตลอด…ทุกฝ่ายจะต้องร่วมกันสร้างเสริมรากฐานชีวิตอันแข็งแรงสมบูรณ์ให้แก่เยาวชน ทั้งในด้านร่างกาย จิตใจ และความรู้ความฉลาด สำคัญที่สุด จะต้องฝึกฝนอบรมให้รู้จักผิดชอบชั่วดี รู้จักตัดสินใจด้วยเหตุผล และรู้จักสร้างสรรค์ตามแนวทางที่สุจริตยุติธรรม…”
พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระราชทานแก่คณะครูและนักเรียนที่ได้รับพระราชทานรางวัลฯ ณ ศาลาดุสิดาลัย วันจันทร์ที่ 27 กรกฎาคม 2524
“…ผู้ที่มีจิตใจเมตตากรุณา หมายถึงการที่จะมีจิตใจเห็นใจผู้อื่น มีจิตใจที่จะเห็นถึงความเดือดร้อน เราจะต้องช่วยเหลือ จิตใจนี้ก็เป็นจิตใจที่มีกำลังมาก ทั้งอ่อนโยนมาก จิตใจนี้เป็นปัจจัยที่ทำให้งานการทุกอย่างก้าวหน้าได้ เพราะว่าถ้าคนที่มีเมตตากรุณาในใจและเผื่อแผ่ต่อผู้อื่น หมายความว่าผู้นั้นเป็นคนฉลาด หมายความว่าคนนั้นเป็นคนที่อ่อนโยน ที่เห็นอะไรๆ ได้ชัด เมื่อคนเรามีความอ่อนโยนและมีความละเอียดอ่อน และเห็นอะไรได้ชัดก็ย่อมจะทำงานของตนที่กำลังทำด้วยความก้าวหน้านั้นสำเร็จลุล่วงไปได้…”
พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในโอกาสที่สมาคมพ่อค้าทรายเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายเงิน เพื่อโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย
ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วันศุกร์ที่ 30 ตุลาคม 2524
“…หลักของคุณธรรมคือการคิดด้วยจิตใจที่เป็นกลาง ก่อนจะพูดจะทำสิ่งใด จำเป็นต้องหยุดคิดเสียก่อน เพื่อรวบรวมสติให้ตั้งมั่น และให้จิตสว่างแจ่มใส ซึ่งเมื่อฝึกหัดจนคุ้นเคยชำนาญแล้ว จะกระทำได้อย่างคล่องแคล่ว ช่วยให้สามารถแสดงความรู้ความคิดในเรื่องต่างๆ ให้ผู้ฟังเข้าใจได้ง่าย ได้ชัด ไม่ผิด ทั้งหลักวิชาทั้งหลักคุณธรรม…”
พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันศุกร์ที่ 10 กรกฎาคม 2535
“…สมัยนี้มีเทคโนโลยีสูง ทำให้สามารถที่จะทำกิจการโรงเรียน กิจการสั่งสอนแพร่ออกไปได้มากกว่า แต่ไม่มีอะไรแทนการอบรม ไม่มีอะไรแทนการบ่มนิสัย คือการสอนนี่มีแบ่งเป็นอบรม แล้วก็บ่มนิสัย แต่ถ้าไม่มีผู้ที่อบรม ไม่มีผู้ที่บ่มนิสัย หรือผู้ที่อบรมหรือผู้ที่บ่มนิสัยเป็นคนที่คุณภาพต่ำ ผู้ที่ได้รับอบรมบ่มนิสัยย่อมคุณภาพต่ำเหมือนกัน อาจจะยิ่งร้ายกว่า แม้จะมีเทคโนโลยีชั้นสูง…”
พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้า ฯ ถวายชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต วันพุธที่ 4 ธันวาคม 2539
ที่มา : หนังสือ “คำพ่อสอน”, ประมวลพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสเกี่ยวกับความสุขในการดำเนินชีวิต โดย มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ภาพจาก Pinterest : Island Info Samui , kinnok
เรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ
9 คำสอนของพ่อ : ความสุขในชีวิต
รวม 40 เรื่องราว-400+ พระบรมฉายาลักษณ์ ในหลวง ร.9 และพระบรมวงศานุวงศ์