Thirteen Lives (สิบสามชีวิต) เล่าถึงเรื่องจริงอันน่าทึ่งของความพยายามครั้งยิ่งใหญ่ระดับโลก ในการช่วยเหลือทีมฟุตบอลไทยที่ติดอยู่ในถ้ำหลวงระหว่างเกิดพายุฝนตกกระหน่ำน้ำท่วมทะลักอย่างไม่คาดคิด เมื่อต้องเผชิญกับอุปสรรคที่ยากจะเอาชนะ ทีมนักดำน้ำที่มีทักษะและประสบการณ์มากที่สุดในโลก – ความสามารถพิเศษในการดำน้ำถ้ำที่มีความซับซ้อน เต็มไปด้วยอุโมงค์แคบ – ต้องร่วมมือกับกองทัพไทยและอาสาสมัครอีกกว่า 10,000 คน ในการทุ่มเทความพยายามเพื่อช่วยเหลือเด็กชายทั้งสิบสองและโค้ชของพวกเขาออกมาจากถ้ำให้ได้ ท่ามกลางการจับตามองของคนทั้งโลกและการเดิมพันที่สูงอย่างไม่น่าเชื่อ ทีมนักดำน้ำเริ่มภารกิจดำน้ำที่ท้าทายที่สุดของพวกเขา นี่คือปฏิบัติการที่แสดงให้เห็นถึงพลังใจที่ไร้ขอบเขตของมนุษย์
ผลงานการกำกับของ รอน ฮาวเวิร์ด (Ron Howard) จาก A Beautiful Mind, The Da Vinci Code และ Apollo 13 ผู้กำกับเจ้าของรางวัลออสการ์ บอกเล่าเรื่องราวเหตุการณ์จริงอันน่าเหลือเชื่อผ่านมุมมองของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ ด้วยมุมกล้องที่ชวนลุ้นระทึก จากผลงานการกำกับภาพของ สยมภู มุกดีพร้อม จาก Call Me By Your Name บทภาพยนตร์โดยนักเขียนบทผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ วิลเลียม นิโคลสัน (William Nicholson) จาก Gladiator เนื้อเรื่องโดย วิลเลียม นิโคลสัน (William Nicholson) และ ดอน แม็คเฟอร์สัน (Don MacPhearson) จาก The Gunman
ทีมงานระดับคุณภาพทั้งหมดนี้ รวมตัวกันเพื่อถ่ายทอดผลงานภาพยนตร์ที่เล่าถึงความพยายามของหน่วยกู้ภัย วิศวกร นักดำน้ำถ้ำ และ ผู้คนอีกมากมาย ที่ต้องเผชิญหน้ากับอุปสรรคที่เข้ามาอย่างไม่หยุดยั้งในภารกิจการกู้ภัยครั้งนี้ ไปจนถึงช่วงเวลาของการพยายามครั้งสุดท้ายจากเหล่ากลุ่มคนธรรมดา ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความพยายามที่ไม่ธรรมดา ในการช่วย “สิบสามชีวิต”
จุดเริ่มต้น
เรื่องราวที่ดึงดูดความสนใจของคนทั้งโลก กับความพยายามที่ดูเหมือนไม่มีทางเป็นไปได้ – มีเพียงความกล้าหาญ ทุ่มเท และไม่ย่อท้อ ที่จะทำภารกิจครั้งนี้ให้สำเร็จ ต้องทำ ถึงแม้จะมีเดิมพันที่น่ากังวลรออยู่
วันที่ 23 มิถุนายน 2561 สมาชิก 12 คนของทีมฟุตบอลเยาวชน “หมูป่า” อายุตั้งแต่ 11 – 16 ปี และโค้ชของพวกเขา ขี่จักรยานไปถ้ำอยู่ที่ไม่ไกลนัก ที่ชาวบ้านมักจะไปเที่ยวอยู่บ่อยๆ มีชื่อว่า “ถ้ำหลวง” ในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย โดยถ้ำหลวงนี้เป็นส่วนหนึ่งของระบบถ้ำที่อยู่ใต้ดอยนางนอน ขณะที่เด็กๆและโค้ชกำลังอยู่ภายในถ้ำ เกิดพายุฝนตกอย่างหนัก น้ำท่วมหลากอย่างรวดเร็วและท่วมขังภายในบริเวณอุโมงค์ถ้ำ ทั้งสิบสามชีวิตเลยติดอยู่ในนั้น ลึกเข้าไปหลายไมล์ ท่ามกลางความมืดมิดและเส้นทางเดินคดเคี้ยวที่จมอยู่ใต้น้ำ
เมื่อเจ้าหน้าที่อุทยานได้ทราบเหตุการณ์จึงแจ้งหน่วยซีล กองทัพเรือไทย ให้เข้าทำการช่วยเหลือ ครอบครัวของเด็กๆหมูป่าและชาวบ้านเริ่มสวดมนต์และนำเครื่องเซ่นไหว้บูชาเจ้าแม่นางนอนที่คุ้มครองถ้ำ กลุ่มอาสาสมัครพยายามค้นหาพวกเขาในเส้นทางน้ำท่วมที่มืดสนิท
เมื่อภายในถ้ำอันตรายมากขึ้น ความพยายามในการช่วยเหลือจากประเทศต่างๆก็เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน นักดำน้ำกู้ภัย ริค สแตนตัน (Rick Stanton) และ จอห์น โวลันเธน (John Volanthen) ผู้มีประสบการณ์การดำน้ำที่ไม่มีใครเหมือน เดินทางจากประเทศอังกฤษ เพื่อมาเข้าร่วมกับอาสาสมัครอีก 1,000 คน
ในที่สุดเมื่อ สแตนตัน ได้เจอกับเด็กๆและโค้ช ทั้งสิบสามคน ที่ติดอยู่ในถ้ำ เขาเริ่มตระหนักว่าโอกาสเดียวที่จะพาทั้งสิบสามออกไปจากถ้ำโดยมีชีวิตรอด นั่นก็คือ การทำสิ่งที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อนซึ่งสิ่งนั้นอันตรายอย่างเหลือเชื่อ ในขณะเดียวกันมีการคาดการณ์ว่าฤดูมรสุมกำลังใกล้เข้ามาแล้ว ฝนจะตกหนักเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ดังนั้นเวลาจึงเป็นปัจจัยสำคัญ สแตนตัน ผู้เป็นอดีตนักดับเพลิง ได้ตัดสินใจติดต่อขอความช่วยเหลือจากนายแพทย์ชาวออสเตรเลีย ริชาร์ด “แฮรี่” แฮร์ริส (Dr. Richard “Harry” Harris) เมื่อแฮร์ริสเดินทางมาถึง นักกู้ภัยและเจ้าหน้าที่ของไทยได้เริ่มปฏิบัติการสุดท้าทาย ในการช่วยชีวิตเด็กชายทั้งสิบสองและโค้ชของพวกเขา หลังจากสองสัปดาห์ของเหตุการณ์ทดสอบพลังใจอันน่าเหลือเชื่อ – และปฏิบัติการช่วยชีวิตที่น่าเหลือเชื่อยิ่งกว่านั้น
“พวกเราหลายคนมีความทรงจำที่ชัดเจนถึงอารมณ์ร่วมที่ลึกซึ้งที่มีต่อวิกฤติเหตุการณ์ครั้งนี้ และยังจำได้ดีถึงความโล่งใจและความสุขเมื่อปฏิบัติการณ์กู้ภัยสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ทั้งๆที่ดูเหมือนไม่น่าจะมีทางเป็นไปได้” โปรดิวเซอร์เจ้าของรางวัลออสการ์ ไบรอัน เกรเซอร์ (Brian Grazer) จาก A Beautiful Mind, Apollo 13 และ tick tick…BOOM! กล่าว “โอกาสที่ได้นำเรื่องราวเหล่านี้มาถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์เป็นสิ่งที่จับใจพวกเรามาก – กับการสร้างภาพยนตร์ที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์อันเต็มเปี่ยมไปด้วยอารมณ์ และการเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า อะไรที่ทำให้ภารกิจกู้ชีพอันน่าเหลือเชื่อนี้ประสบความสำเร็จได้”
ไม่เพียงแต่นักดำน้ำเท่านั้น ความพยายามของเจ้าหน้าที่ไทย ประชาชนชาวไทย ต่างก็ทำให้ภารกิจช่วยเหลือครั้งนี้เป็นไปได้ – จุดนี้คือประเด็นสำคัญที่ รอน ฮาวเวิร์ด ตั้งใจให้ถ่ายทอดออกมาในภาพยนตร์ “คนไทยช่วยชีวิตเด็กเหล่านี้ไว้” ฮาวเวิร์ด กล่าว “ชุมชนและประชาชนไทยช่วยให้เด็กๆยังรอดชีวิตและมีส่วนช่วยในการพาพวกเขาออกมาจากถ้ำ ผมรู้สึกว่าการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ต้องเคารพต่อคนไทยและวัฒนธรรมของพวกเขา”
ผู้สร้างภาพยนตร์สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้โดยถือเป็นการผลิตในระดับนานาชาติ โดยมีการร่วมงานกับผู้ดำเนินการผลิดร่วมชาวไทย ทีมงานไทย รวมไปถึงนักแสดงไทย และที่สำคัญทีมผู้ผลิต Thirteen Lives ตระหนักดีว่าการขอความช่วยเหลือ และความร่วมมือมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการผลิต จึงได้มีการประสานงานกับทั้งผู้เชี่ยวชาญ ที่ปรึกษา และหน่วยงานต่างๆ ของไทย ตลอดระหว่างการผลิตภาพยนตร์เรื่องนี้ เพื่อจะทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ใกล้เคียงความจริงมากที่สุด
ผู้ดำเนินการผลิตร่วม (Co-Producer) เรย์มอนด์ พัฒนวีรางกูล ให้ข้อมูลว่า ความถูกต้องและความเอาใจใส่ในการผลิตนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง “มีรายละเอียดมากมายที่ถูกใส่เข้ามาในภาพยนตร์เรื่องนี้” เรย์มอนด์ กล่าว “รอนกับผมมีการพูดคุยกันตลอดว่าเราต้องเพิ่มเติมอะไรเข้าไปในภาพยนตร์บ้าง ยกตัวอย่างเช่น ความสำคัญในการอธิษฐานขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำหรับชุมชนรอบๆ ตัวเด็ก และสิ่งอื่นๆ อีกมากมายที่จะทำให้หนังมีความสมจริงมากขึ้น รอนใส่ใจรายละเอียดแบบนั้นจริงๆ และเขาก็ค่อนข้างใส่ใจกับวัฒนธรรมไทย และต้องการทำให้แน่ใจว่าทุกๆ อย่างถูกนำเสนออย่างถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นการคัดเลือกนักแสดงตัวสมทบ ที่ต้องทำให้แน่ใจว่าพวกเขาดูเหมือนคนท้องถิ่นจริงๆ รวมไปถึงพระภิกษุที่แสดงในภาพยนตร์ต้องสวดมนต์อย่างถูกต้อง รายละเอียดทั้งหมดนี้สำคัญมากสำหรับภาพยนตร์”
บิลลี่ – วรกร ฤทัยวาณิชกุล อีกหนึ่งผู้ดำเนินการผลิตร่วมชาวไทย กล่าวว่า “มีแง่มุมทางวัฒนธรรมหลายๆ อย่างที่เราจำเป็นต้องทำให้ถูกต้อง ไร้ข้อผิดพลาด และหลายสิ่งหลายอย่างใน Thirteen Live ต้องถูกถ่ายทอดด้วยความเอาใจใส่ต่อวัฒนธรรมไทย เรย์มอนด์ จะทำงานจากมุมมองต่างประเทศ ในขณะที่ผมทำงานจากมุมมองความเป็นท้องถิ่นมากกว่า แต่เราทุกคนก็ทำงานกันเป็นทีม และเราก็มีความสุขที่ได้มีส่วนร่วมในภาพยนตร์เรื่องนี้”
ผู้กำกับภาพมากฝีมือชาวไทยอย่าง สยมภู มุกดีพร้อม จาก ลุงบุญมีระลึกชาติ, Call Me By You Name เป็นหนึ่งในทีมงานคนสำคัญของภาพยนตร์ Thirteen Lives เพราะเขาเข้าใจในวัฒนธรรมที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ต้องการนำเสนอ และเข้าใจทิศทางที่ รอน ฮาวเวิร์ด ต้องการถ่ายทอดมุมองและสิ่งที่อยากให้คนดูรู้สึก
“ตอนที่เหตุการณ์กู้ภัยครั้งนี้เกิดขึ้น ผมอยู่ในประเทศไทยและติดตามข่าวนี้อย่างใกล้ชิด เช่นเดียวกับผู้คนทั่วโลก” สยมภู กล่าว “ขณะที่พวกเรากำลังถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ เราพบวิธีที่จะแก้ปัญหาด้านเทคนิคที่สอดคล้องกับเรื่องราวความเป็นจริง ในตอนแรกเมื่อคุณนึกถึงการดำน้ำเข้าไปในถ้ำและช่วยชีวิตเด็กๆ คนส่วนใหญ่จะคิดว่าภาพในถ้ำต้องมืด แต่ในความเป็นจริงแล้วมันไม่ได้มืดสนิทขนาดนั้น เพราะเมื่อว่ายน้ำเข้าไปในถ้ำ คนทั่วไปมักจะนำแหล่งกำเนิดแสงติดตัวเข้าไปด้วย เช่น คบเพลิง ไฟฉาย หรือแม้แต่ไฟฉายที่ติดกับหมวกนิรภัย ดังนั้นนี่จึงเป็นแรงบันดาลใจที่จะถ่ายทอดภาพตรงหน้าให้ผู้ชมได้สัมผัสถึงสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ณ ช่วงเวลาเหล่านั้น”
“เราต้องการให้คนดูรู้สึกว่า ภาพเหล่านี้คือสิ่งที่พวกเขาเห็นด้วยตาตัวเอง ไม่ได้ถ่ายทอดผ่านกล้อง” สยมภูกล่าวเพิ่มเติม “สิ่งที่ผมพูดคุยกับรอนอยู่เสมอนั่นก็คือ เราต้องการให้ตัวละคร นำกล้อง เราอยากให้นักแสดงเคลื่อนไหวอย่างอิสระ ไม่ว่าเขาจะทำอะไร มีท่าทางแบบไหน เราอยากให้พวกเขาเป็นคนนำกล้องไปเห็นสิ่งต่างๆเหล่านั้น”
เคารพความเป็นจริง: การสร้าง Thirteen Lives ให้สมจริง
เพื่อให้แน่ใจว่าภาพยนตร์ Thirteen Lives นำเสนอเรื่องราวทุกแง่มุมตามความเป็นจริง ทีมผู้สร้างเชิญ ริค สแตนตัน (Rick Stanton) และ เจสัน มัลลินสัน (Jason Mallinson) สองนักดำน้ำชาวอังกฤษที่อยู่ในเหตุการณ์จริงมาเป็นที่ปรึกษา รวมถึงบุคคลอื่นๆที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับภารกิจกู้ภัยครั้งนี้ ยิ่งไปกว่านั้นทีมผู้สร้างยังได้สร้างสรรค์ภูมิทัศน์ของถ้ำหลวงนางนอนขึ้นมาใหม่ โดยอิงตามความเป็นจริงให้มากที่สุด โดยได้ศิลปินและช่างฝีมือต่างๆมาร่วมงานด้วย และร่วมงานกับทีมถ่ายภาพยนตร์ใต้น้ำมืออาชีพ เพื่อถ่ายทอดภารกิจสุดอันตรายในการช่วยเหลือทีมหมูป่าให้ออกมาอย่างสมจริงและสวยงาม
ทีมงานสร้างยังต้องการที่จะทำงานร่วมกับทีมงานชาวไทยที่มีประสบการณ์ในทุกขั้นตอน และต้องการแสดงออกถึงความยกย่องในความกล้าหาญและเสียสละของ จ่าแซม สมาน กุนัน ที่เสียชีวิตขณะพยายามช่วยเหลือสิบสามชีวิต “ทุกครั้งที่คุณสร้างผลงานที่อิงจากเหตุการณ์จริง สิ่งสำคัญเป็นอย่างยิ่งคือคุณต้องมีคนที่เข้าใจและรู้เรื่องราวเหตุการณ์นั้นอย่างแท้จริง – เราไม่สามารถคิดไปเองได้ว่าทีมค้นคว้าหาข้อมูลจะมีข้อมูลทุกอย่างที่ถูกต้อง” รอน กล่าว “คุณต้องการผู้คนที่สามารถบอกได้ว่าอะไรใช่อะไรไม่ใช่ ไม่ว่าจะเป็นโลกแห่งการแข่งรถ Formula One สำหรับภาพยนตร์ Rush หรือ NASA ในช่วงที่ทำ Apollo 13 แม้แต่นักการเมืองสำหรับเรื่อง Frost/Nixon – มันสำคัญมากที่เราต้องมีคนอยู่ในเหตุการณ์นั้นจริงๆ มาคอยให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับเรา และเรื่อง Thirteen Lives เราก็มีบุคคลเหล่านั้นเช่นกัน”
ริค สแตนตัน และ เจสัน มัลลินสัน ทำให้ทีมงานมั่นใจว่ารายละเอียดเกี่ยวกับการดำน้ำและการกู้ภัยนั้นได้รับการถ่ายทอดออกมาอย่างถูกต้อง “การดำน้ำในถ้ำแตกต่างจากการดำน้ำในพื้นที่เปิด” เจสัน กล่าว “แน่นอนว่าเทคนิคที่เราใช้ในการดำน้ำถ้ำนั้นเป็นเทคนิคที่เฉพาะตัวมากๆสำหรับเรา ดังนั้นเหล่านักแสดงจึงจำเป็นที่ต้องฝึกฝนอย่างหนัก หากต้องการจะเลียนแบบสิ่งที่เราสามารถทำได้ใต้น้ำ”
การออกแบบงานสร้างอันน่าประทับใจของ มอลลี่ ฮิวจ์ส (Molly Hughes) เติมเต็มรายละเอียดที่สมจริงของเส้นทางอุโมงค์ใต้น้ำในถ้ำที่เป็นโพรงคดเคี้ยวซับซ้อน ของถ้ำหลวงนางนอน สำหรับภาพยนตร์ Thirteen Lives
รอน ฮาวเวิร์ด เล่าว่า “มอลลี่สร้างภาพสามมิติของพื้นที่ส่วนใหญ่ในถ้ำเพื่อให้พวกเราใช้เป็นข้อมูล – รวมถึงห้องโถงต่างๆในถ้ำ และอุโมงค์ – ซึ่งนั่นเป็นประโยชน์ในการทำงานมากๆ เพราะพวกเราสามารถระบุได้เลยว่าพื้นที่ตรงไหนที่ ริค จอห์น และเจสัน เล่าว่าเป็นส่วนที่ยากและท้าทายที่สุดในการว่ายน้ำผ่าน เราเลือกบริเวณนั้นและสร้างมันขึ้นมาใหม่สำหรับการถ่ายทำ ”
มอลลี่ เล่าว่า “เราต้องการที่จะสร้างความรู้สึกว่า ‘อะไรจะเกิดขึ้นต่อไป’ เราจึงออกแบบถ้ำโดยให้ความรู้สึกถึงบ้านผีสิง ที่ดูน่าหวาดกลัวและไม่รู้ว่าจะมีอะไรรอเราอยู่ โถงทางเข้าด้านหน้าเหมือนกับประตูที่ผลักให้คุณก้าวเข้าไป และมีสิ่งที่ชวนหวั่นใจรอคุณอยู่ในนั้น”
ทีมงานต้องการให้คนดูรู้สึกเหมือนพวกเขากำลังอยู่ในถ้ำหลวง รู้สึกเหมือนกับที่เด็กๆหมูป่าและโค้ช รวมถึงทีมกู้ภัยได้รู้สึก ทั้งความหวาดกลัวที่แคบ ความเหนื่อยล้า ความอดทนที่พวกเขาต้องเผชิญในสถานการณ์นี้ ท่ามกลางความมืดใต้น้ำ
นักดำน้ำในภาพยนตร์ได้รับมอบหมายให้ดูแลควบคุมการซ้อมกู้ภัย ว่าจะต้องปฏิบัติอย่างถูกต้อง ระหว่างการถ่ายทำในรัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย ทีมผู้สร้างภาพยนตร์ได้เลือกประเทศออสเตรเลียเป็นโลเคชั่นหลักในการถ่ายทำ เนื่องจาก Thirteen Lives ถ่ายทำในช่วงพีคของการระบาดของ COVID-19 ทำให้ไม่สามารถถ่ายทำภาพยนตร์ทั้งหมดในประเทศไทยได้ ด้วยข้อจำกัดในการเดินทางและระเบียบการรักษาความปลอดภัย อย่างไรก็ตาม รอน ฮาวเวิร์ด ใช้วิธีกำกับจากทางไกลผ่านทีมถ่ายทำในประเทศไทยในส่วนของภาพฟุตเทจต่างๆ ที่จำเป็น – ไม่ว่าจะเป็นฉากวิวทิวทัศน์ ฉากกลุ่มทีมฟุตบอลที่ปั่นจักรยานไปที่ถ้ำ และที่สำคัญที่สุดคือ ฉากหมู่บ้านในประเทศไทยที่เกี่ยวข้องกับพ่อแม่ของเด็กๆ
ในขณะที่ความปรารถนาที่จะถ่ายทำภาพยนตร์ทั้งหมดในประเทศไทยนั้นไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่ ฉากต่างๆ ที่ รอน ฮาวเวิร์ดถ่ายทำในประเทศออสเตรเลียนั้น จึงจำเป็นต้องเพิ่มขอบเขตและความถูกต้อง เพื่อถ่ายทอดวิธีการต่างๆ ในการกู้ภัย ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วเกี่ยวข้องกับความเป็นไทย – ที่ไม่ใช่แค่เรื่องสถานที่ที่เหตุการณ์เกิดขึ้น แต่ยังเป็นเรื่องของวัฒนธรรมและผู้คนอีกด้วย
สำหรับฉากใต้น้ำนั้น ทีมงานต้องการความสมจริงอีกรูปแบบหนึ่ง นั่นเป็นจุดที่ต้องเรียกตัว แอนดรูว์ อัลเลน (Andrew Allen)เข้ามาเป็นผู้ควบคุมการดำน้ำของภาพยนตร์เรื่องนี้ อัลเลน กล่าวว่า “ผมเป็นนักดำน้ำมา 25 ปี และทำสิ่งนี้ในวงการภาพยนตร์อีกมากกว่า 20 ปี ซึ่งผมบอกได้เลยว่าการทำงานในภาพยนตร์Thirteen Lives นั้นไม่ธรรมดาเลยจริงๆ”
“ทุกสิ่งถูกทำขึ้น เพื่อให้ทุกอย่างดูสมจริงที่สุด ริค สแตนตัน และ เจสัน มาลินสัน ให้ข้อมูลกับเราว่าจริงๆ แล้วพวกเขาทำอย่างไร มีเครื่องมือ และอุปกรณ์ช่วยหายใจอะไรบ้าง ระยะเวลาที่ใช้ – ทุกๆ อย่างที่จำเป็นเลย”
“เพราะความขุ่นของน้ำและสิ่งต่างๆ ที่อยู่ในน้ำ ผมบอกได้เลยว่ามันไม่ใช่การดำน้ำที่สะอาดนัก – มีเศษขยะและเศษตะกอนจำนวนมากที่อยู่ในน้ำ” อัลเลนกล่าวเสริม “น้ำฝนที่ไหลมาจากภูเขาทำให้ทัศนวิสัยมืดมาก ในบางครั้งสามารถมองเห็นเพียงแค่มือที่อยู่ข้างหน้าของพวกเขาเท่านั้น ราวกับว่าพวกเขาดำน้ำเหมือนคนตาบอดเลยก็ว่าได้”
“การฝึกฝนของนักแสดงและนักดำน้ำสตั๊นท์ จะเน้นไปกับเรื่องการเคลื่อนที่ในถ้ำ โดยการใช้เชือกนำทางในน้ำ”
อัลเลนกล่าวว่า “นี่มันไม่ใช่แค่ภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับการดำน้ำ แต่มันเกี่ยวกับการกู้ภัย ดังนั้นเราต้องเรียนรู้การเตะตีนกบ ซึ่งมันจะต่างจากการเตะตีนกบแบบธรรมดา ในน่านน้ำเปิด – มันจะเป็นวิธีที่คุณจะเคลื่อนที่ในถ้ำ ซึ่งคุณจะต้องระวังไม่ไปกวนตะกอนขึ้นมา เรามีนักดำน้ำสตั๊นท์คู่ ที่เป็นนักดำน้ำมืออาชีพ ที่มีชื่อเสียงในประเทศออสเตรเลีย และอยู่ในวงการการดำน้ำ แต่การมีริคและเจสันถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก”
นักแสดง
- วิกโก มอร์เทนเซน (Viggo Mortensen) รับบท ริค สแตนตัน (Rick Stanton) นักดำน้ำชาวอังกฤษ
- โคลิน ฟาร์เรล (Colin Farrel) รับบท จอห์น โวลันเธน (John Volanthen) นักดำน้ำชาวอังกฤษ
- โจเอล เอ็ดเกอร์ตัน (Joel Edgerton) รับบท ริชาร์ด “แฮรี่” แฮร์ริส (Dr. Richard “Harry” Harris) นักดำน้ำและนายแพทย์ชาวออสเตรเลีย
- ทอม เบทแมน (Tom Bateman) รับบท คริส จีเวลล์ (Chris Jewell) นักดำน้ำชาวอังกฤษ
- พอล กลีสัน (Paul Gleeson) รับบท เจสัน มัลลินสัน (Jason Mallinson) นักดำน้ำชาวอังกฤษ
นักแสดงไทย
- เจมส์ – ธีรดนย์ ศุภพันธุ์ภิญโญ รับบท โค้ชเอก
- พลอย – ภัทรากร ตั้งศุภกุล รับบท บัวหอม (แม่ของชัย 1 ในทีมหมูป่าที่ติดอยู่ในถ้ำ)
- ปู – สหจักร บุญธนกิจ รับบท ผู้ว่าราชการ ณรงค์ศักดิ์
- เวียร์ – ศุกลวัฒน์ คณารศ รับบท สมาน กุนัน
- ตู่ – ภพธร สุนทรญาณกิจ รับบท หมอกานต์
- ตุ้ย – ธีรภัทร์ สัจจกุล รับบท นาวาเอก อานนท์ สุรีวงศ์ (ผู้บังคับการกรมรบพิเศษที่ 1)
- อั้ม – ถิร ชุติกุล รับบท หัวหน้าเกียรติ หน่วยซีล กองทัพเรือไทย
- อ้น – นพพันธ์ บุญใหญ่ รับบท ธเนศ นะธิศรี วิศวกรน้ำ
- ปู – วิทยา ปานศรีงาม รับบท พลเอก อนุพงษ์
- ส้ม-ณัฐวรา หงส์สุวรรณ รับบท ปรียา ผู้ช่วยผู้ว่าฯ ณรงศักดิ์
- ปีเตอร์ ไนท์ รับบท ร้อยตำรวจเอกบาส
- คาเงะ – ธีระวัฒน์ มุลวิไล รับบท สมบูรณ์ พ่อของวิต หนึ่งในทีมหมูป่า
- ชัชวาล กมลศักดิ์พิทักษ์ รับบทหัวหน้าหมู่บ้าน
- เต้ – สุผจญ กลิ่นสุวรรณ รับบท นักข่าว