“โรงเรียน-โรงพยาบาลแห่งแรกในเชียงใหม่” 2 สถานที่ประวัติศาสตร์มีอยู่จริงใน กลิ่นกาสะลอง

Alternative Textaccount_circle
event

กลิ่นกาสะลอง ละครพีเรียดดราม่าเข้มข้น น่าติดตามทุกอีพี ตอนนี้ทำเอาแฟนละครติดกันงอมแงม นอกจากความสนุกแล้ว ละครเรื่องนี้ยังแฝงขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมล้านนาที่งดงามไว้ตลอดทั้งเรื่อง รวมถึงสถานที่ทางประวัติศาสตร์ที่มีอยู่จริง อย่าง โรงเรียนดาราวิทยาลัย โรงเรียนแห่งแรงในเชียงใหม่ และโรงพยาบาลแมคคอร์มิค โรงพยาบาลเอกชนแห่งแรกในเชียงใหม่

บัวเกี๋ยงไปโฮงเฮียน

โรงเรียนของบัวเกี๋ยง และที่กาสะลองและช้องปิบ เคยเรียนนั้นมีอยู่จริง นั่นก็คือ โรงเรียนดาราวิทยาลัย ซึ่งมีอายุกว่า ๑๔๑ปี โรงเรียนแห่งแรกและเก่าแก่ที่สุดในล้านนา โดยการก่อตั้งของแม่ครูหลวง (มิสโซเฟีย บรัดเลย์ แมคกิลวารี) ในการอุปถัมภ์ของเจ้าดารารัศมี พระราชชายา บนที่ดินของพระเจ้ากาวิโรรสสุริยะวงศ์ เป็นผู้ประทานให้ และได้รับพระราชทานนามโรงเรียนจาก ล้นเกล้าฯรัชกาลที่ ๕ ว่า “โรงเรียนสตรีพระราชชายา”

 

เจ้าดารารัศมี พระราชชายา
แม่ครูหลวง  นางโซเฟีย บรัดเลย์ แมคกิลวารี

กำเนิดโรงเรียนดาราวิทยาลัย

การที่พ่อครูหลวง ศาสนาจารย์ เดเนียล แมคกิลวารี และแม่ครูหลวง  นางโซเฟีย บรัดเลย์ แมคกิลวารี (บุตรสาวของหมอบรัดเลย์)  ได้เห็นถึงความไม่เสมอภาคในด้านการศึกษาของผู้หญิงพื้นเมืองเชียงใหม่ ทั้งสองจึงวางโครงการเปิดการสอนหนังสือภาษาไทยให้แก่เด็กผู้หญิงที่เป็นลูกหลานคริสเตียน เพื่อต้องการให้ผู้หญิงมีสิทธิเท่าเทียมกับผู้ชายในการเรียนหนังสือ

ในปี พ.ศ.๒๔๑๘ ได้มีการรับเด็กหญิง ๔-๘ คน มาเรียนและอยู่กินนอนที่บ้านพักของท่าน โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ อีกทั้งยังแจกเสื้อผ้าเครื่องนุ่มห่มให้อีกด้วย โดยเรียนอ่านเขียนหนังสือภาษาไทยและพระคัมภีร์ควบคู่ไปด้วย นอกจากนี้ยังสอนการเล่นดนตรีออร์แกน-เปียโน สอนร้องเพลงนมัสการ และอบรมวิชาแม่บ้านการเรือนเย็บปักถักร้อยให้แก่เด็กนักเรียนหญิงอายุ ๑๒-๑๔ ปี นักเรียนรุ่นแรกมีเพียง ๔-๕ คน เมื่อการสอนหนังสือให้แก่เด็กผู้หญิงได้รับความสนใจจากคนพื้นเมืองที่เป็นคริสเตียนและไม่เป็นคริสเตียนมากขึ้น

ในปี พ.ศ.๒๔๕๒ พระราชชายาเจ้าดารารัศมี ได้เสด็จฯเยี่ยมโรงเรียนนี้ และผู้บริหารโรงเรียนได้ทูลขอพระราชทานชื่อของโรงเรียน วันที่ ๕ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๕๒ จึงได้เรียกชื่อโรงเรียนผู้หญิงแห่งนี้ว่า “โรงเรียนพระราชชายา” พ.ศ.๒๔๕๙ Miss Jullia Hatch (มิส จูเลีย แฮทซ์) ได้ดำรงตำแหน่งผู้จัดการโรงเรียนพระราชชยาโดยมี ครูสุดา อินทราวุธ เป็นครูใหญ่ การจัดการศึกษาของโรงเรียนในขณะนั้นต่อมากิจการโรงเรียนได้เจริญขึ้น ทำให้มีนักเรียนจำนวนมาก โรงเรียนเริ่มคับแคบและไม่สามารถขยายต่อได้ จึงได้จัดซื้อที่ดินที่ตำบลหนองเส้ง จำนวน ไร่ ๗๗ไร่

พ.ศ. ๒๔๖๑ Miss Julia A. Hatch ผู้จัดการและครูใหญ่ของโรงเรียนพระราชชายา ได้ทำหนังสือถึงเสนาบดีกระทรวงศึกษาธิการขออนุญาตเปลี่ยนชื่อ “โรงเรียนพระราชายา” เป็น “โรงเรียนดาราวิทยาลัย แผนกประถม” เสนาบดีกระทรวงศึกษาธิการ ตอบรับทราบเมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน ค.ศ.1924 (พ.ศ. ๒๔๖๖)

และมีประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม ค.ศ.1924 (พ.ศ.๒๔๖๖) อีกฉบับขอตั้งโรงเรียนอีกแห่งหนึ่งที่มีชื่อเรียกว่า โรงเรียนดาราวิทยาลัย โดยมี Miss Julia A. Hatch เป็นผู้จัดการ และมี Miss Lucy Niblock เป็นครูใหญ่ ตั้งอยู่ที่บ้านหมู่ที่ ๑ ถนนแก้วนวรัฐ ตำบลวัดเกต อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

กลิ่นกาสะลอง

โรงพยาบาลแมคคอร์มิค ที่ทำงานของอ้ายหมอทรัพย์

โฮงยาหรือโรงพยาบาล ที่อ้ายหมอทรัพย์ทำงานนั้นก็มี อยู่จริงๆ ปัจจุบันก็ยังคงรักษาคนไข้อยู่ นั่นก็คือ โรงพยาบาลแมคคอร์มิค McCormick Hospital  โรงพยาบาลเก่าแก่อายุ 131 ปี ซึ่งถือเป็นโรงพยาบาลเอกชนแห่งแรกของจังหวัดเชียงใหม่ โรงพยาบาลแมคคอร์มิค” ถือเป็น “โรงพยาบาลแห่งแรกในจังหวัดเชียงใหม่” 

อาคารสองหลังแรกของโรงพยาบาลแมคคอร์มิค

เมื่อพ.ศ.2410 “ศาสตราจารย์ดานิเอล แมคกิลวารี” มิชชันนารีชาวอเมริกัน ได้เดินทางมาที่ภาคเหนือของประเทศไทยเพื่อเผยแพร่ศาสนาคริสต์ที่จังหวัดเชียงใหม่ และได้พบผู้เจ็บป่วยมากมาย จึงแบ่งปันยารักษาโรคที่นำติดตัวมาแจกจ่ายให้แก่ชาวบ้านที่เจ็บป่วย พร้อมทั้งแนะนำความรู้ด้านสาธารณสุขแก่ชาวบ้าน

ก่อนที่ “คณะเพรสไบทีเรียน” ได้ส่งแพทย์มิชชันนารีหลายท่านมาในพ.ศ.2415 ได้แก่ “นายแพทย์วรูแมน”“นายแพทย์ชีค”“นายแพทย์แครี่” ฯลฯ เพื่อให้บริการรักษาพยาบาลแก่ผู้เจ็บป่วย โดย “ศาสตราจารย์แมคกิลวารี” ได้เปิดสถานจำหน่ายยาแผนปัจจุบันขึ้นบริเวณฝั่งขวาของแม่น้ำปิง ซึ่งเป็นที่ตั้งของ “สถานีกาชาดจังหวัดเชียงใหม่” ในปัจจุบัน

นายแพทย์ อี. ซี. คอร์ท ขณะทำการรักษาผู้ป่วย

ถัดมาปีพ.ศ.2430 “คณะกรรมการกลางเพรสไบทีเรียน” ในประเทศสหรัฐอเมริกาได้อนุมัติเงินจำนวน 10,000 เหรียญสหรัฐ เพื่อก่อสร้าง “โรงพยาบาลที่จังหวัดเชียงใหม่” โดยปรับปรุงบริเวณสถานที่จำหน่ายยาดังกล่าวให้เป็นสถานพยาบาลที่มีเตียงรับผู้ป่วยไว้ค้างคืนด้วย โดยใช้ชื่อว่า “โรงพยาบาลอเมริกันมิชชั่น” ซึ่งถือเป็นต้นกำเนิดของ “โรงพยาบาลแมคคอร์มิค

พ.ศ.2432 “นายแพทย์แมคเคน” แพทย์มิชชั่นนารีชาวอเมริกันได้เดินทางมาทำงานประจำที่โรงพยาบาล และในปี พ.ศ. 2451 “นายแพทย์ อี. ซี. คอร์ท” (Dr.Edwin Charles Cort) แพทย์มิชชั่นนารีผู้ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อ “โรงพยาบาลแมคคอร์มิค” ได้เดินทางมาประจำที่โรงพยาบาลแห่งนี้ และนายแพทย์แมคเคนได้แยกไปสร้าง “นิคมโรคเรื้อนแมคเคน” (McKean Leprosy Asylum) ที่บริเวณเกาะกลาง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้การรักษาผู้ป่วยโรคเรื้อนซึ่งมีเป็นจำนวนมาก

 

นายแพทย์ อี. ซี. คอร์ท หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “พ่อเลี้ยงคอร์ท” หรือ “หมอคอร์ท”

โรงพยาบาลแห่งแรกในเชียงใหม่

ในเวลานั้น “นายแพทย์ อี. ซี. คอร์ท” หรือที่ชาวบ้านเรียกขานว่า “พ่อเลี้ยงคอร์ท” ได้ทำงานพันธกิจการบำบัดรักษาโดยมีใจรักในการบริการ ทุ่มเทในการรักษาอย่างมาก จึงเป็นที่รักที่เคารพยกย่องนับถือของทุกคนในแถบนี้เป็นอย่างยิ่ง ทำให้มีผู้มารับการรักษาพยาบาลเป็นจำนวนมาก ทว่าโรงพยาบาลมีสถานที่ไม่เพียงพอ

หลังจาก “นายแพทย์ อี. ซี. คอร์ท” เดินทางกลับไปพักผ่อนที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ก็ได้มีโอกาสได้พบกับ “นางไซรัส แมคคอร์มิค” (Mrs.Cyrus McCormick) มหาเศรษฐีนีในวงการอุตสาหกรรม และเกษตรกรรม ซึ่งได้บริจาคเงินจำนวน 30,000 เหรียญสหรัฐ เพื่อเป็นทุนในการก่อสร้างโรงพยาบาลแห่งใหม่ “นายแพทย์ อี. ซี. คอร์ท” จึงก่อสร้างโรงพยาบาลแห่งใหม่ขึ้นกลางผืนนาทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำปิง ซึ่งเป็นที่ตั้งของ “โรงพยาบาลแมคคอร์มิค” ในปัจจุบัน

 

นาง ไซรัส แมคคอร์มิค ผู้สนับสนุนเงินทุนในการสร้างโรงพยาบาลแมคคอร์มิค

และให้ชื่อโรงพยาบาลที่สร้างใหม่นี้ว่า “โรงพยาบาลแมคคอร์มิค” (McCormick Hospital) เพื่อเป็นเกียรติแก่ “นางไซรัส แมคคอร์มิค” โดย “พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงอดิศรอุดมเดช” เป็นผู้ทำพิธีวางศิลาหัวมุม (Corner Stone) เมื่อปี พ.ศ.2463 ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 4 ปีนับว่าเป็นโรงพยาบาลที่ทันสมัยที่สุด และมีอุปกรณ์การแพทย์ทันสมัยจากสหรัฐอเมริกา เป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ซึ่งมีจำนวนเตียงรับผู้ป่วยไว้ค้างคืนได้ 100 เตียง

 

โรงพยาบาลแมคคอร์มิคเมื่อ ปี 2468

ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ปี พ.ศ.2485 ถึง พ.ศ.2489 รัฐบาลไทยได้เข้าควบคุมกิจการของโรงพยาบาลแมคคอร์มิค และเปลี่ยนชื่อเป็น “โรงพยาบาลเสรีเริงฤทธิ์” ใช้เป็นโรงพยาบาลสนาม เมื่อสงครามโลกสงบลง รัฐบาลไทยจึงส่งมอบโรงพยาบาลคืนให้กับคณะมิชชั่นนารีดำเนินการต่อไปเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2489 และใช้ชื่อ “โรงพยาบาลแมคคอร์มิค” ดังเดิม

เนื่องจากทำงานอยู่ในแผ่นดินล้านนาเป็นเวลานานกว่า 40 ปี ในปี พ.ศ.2492 “นายแพทย์ อี. ซี. คอร์ท” พร้อมทั้งครอบครัว จึงเกษียณอายุการทำงาน และเดินทางกลับประเทศสหรัฐอเมริกา “คณะมิชชั่นนารีเพรสไบทีเรียน” จึงมอบ “โรงพยาบาลแมคคอร์มิค” และกิจการทั้งหมดให้แก่ “มูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทย” เป็นผู้ดูแลต่อนับแต่นั้นเป็นต้นมา “โรงพยาบาลแมคคอร์มิค” จึงอยู่ภายใต้การรับผิดชอบของคนไทยมาจนปัจจุบัน

นอกจากนี้ โรงพยาบาลแห่งนี้ยังเป็นโรงพยาบาลแห่งเดียวที่ สมเด็จพระบรมอัยกาธิบดี (สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก) เคยเสด็จพระราชดำเนินมาทรงงานเป็นแพทย์ รักษาประชาชนที่นี่กว่า 20 วัน ที่นี่มีห้องทรงงานของพระองค์ท่าน และอุปกรณ์ทางการแพทย์เก่าแก่ เช่นเครื่องบดยา เครื่องเอ็กซเรย์ 

 

ที่มา : บทความเรื่อง “แม่ครูหลวง แม่ยิงล้านนาเรียนหนังสือเมืองกับคณะมิชชันนารี” ในหนังสือ “นพีสีเชียงใหม่”โดย : วิจิตร ไชยวัณณ์
ที่มา: ข้อมูล และภาพ โรงพยาบาล แมคคอร์มิค จากเว็บไซด์ http://newanugul.blogspot.com/2012/09/

ที่มา: ข้อมูล และภาพ โรงพยาบาล แมคคอร์มิค “เชียงใหม่นิวส์” /  เว็บไซต์ www.mccormick.in.th
(เครดิต : 📷/📖 คัดบางส่วนของบทความเรียบเรียงโดย : ชั้นหนังสือสีขาว/ละคร #กลิ่นกาสะลอง )

(เครดิต : 📷 และ 📖เรื่องราวดีดีโดย ครูณัฏฐพัฒน์ สอนศิลปะ /คลิบวีดิทัศน์จากละครชุด กลิ่นกาสะลอง)

ขอบคุณ IG: khunchaiyod9t / วิกิพีเดีย

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

สุดสัปดาห์

keyboard_arrow_up