จากโครงการวิ่งที่ถูกบันทึกในประวัติศาสตร์ชาติไทยโดย พี่ตูน บอดี้สแลม ว่าเป็นที่สุดของการสร้างแรงบันดาลใจและเป็นประโยชน์ต่อคนมหาศาล แต่คุณคงยิ่งตกหลุมรักเขามากขึ้นอีกหากมีโอกาสได้ฟังเสียงที่สุภาพ อ่อนโยน และความตั้งใจในการทำเพลง และประเด็นเกี่ยวกับการช่วยเหลือสังคมที่ยิ่งใหญ่
ตอนนี้พี่ตูนอยู่ในวงการเพลงมาทั้งหมด 20 ปี
“ถ้านับตั้งแต่อยู่วงละอ่อนก็ใช่ครับ ผมอยู่วงละอ่อนปี 2540 หลังจากออกอัลบั้มชุดแรกผมก็ออกจากวงมา ตอนนั้นยังอยู่จุฬาฯ เรียนหนัก ผมอยากโฟกัสเรื่องเรียนก่อน เลยเว้นเรื่องการทำเพลงไว้ แต่ก็ยังทำเพลง ทำดนตรีบ้าง ยังอยากออกอัลบั้มอีก แต่โฟกัสที่การเรียนมากกว่า”
การที่สเต็ปการทำงานเหมือนเดิมจนคาดเดาได้ พี่ตูนทำอย่างไรให้ยังรู้สึกสนุกและอยู่กับมันได้
“ถามว่าเบื่อไหม แน่นอน อะไรซ้ำๆ ทุกคนเบื่ออยู่แล้ว มันรู้ว่าวันนี้เสร็จจากนี่แล้วจะไปตรงนี้ จากตรงนี้กลับมา อาบน้ำ นอน พรุ่งนี้ก็ตื่นไปสนามบิน เช็กอินตรงนี้ ไปที่โรงแรม มีเวลาอาบน้ำล้างหน้า 1 ชั่วโมง ไปที่เวที กลับมานอน พอตื่นเช้าก็เดินทางไปอีกจังหวัดหนึ่ง มันเหมือนคาดเดาได้เสียทุกอย่าง แต่ทั้งนี้มันก็มีสิ่งที่คาดเดาไม่ได้เมื่ออยู่บนเวที เราเปลี่ยนเพลงในซองลิสต์บ้าง ทำให้ความคาดเดาได้ในกิจวัตรประจำวันไม่ใช่ปัญหา”
เล่าถึงที่มาที่ไปของคอนเสิร์ต “ M – 150 Presents Bodyslam Fest วิชาตัวเบา Live in ราชมังคลากีฬาสถาน” ในวันที่ 9 และ 10 กุมภาพันธ์นี้ให้ฟังหน่อย
“ปกติเราจะมีคอนเสิร์ตใหญ่ประจำในทุกอัลบั้มอยู่แล้ว และชุดนี้เราคิดถึงบรรยากาศในสนามราชมังคลากีฬาสถานหลังจากเคยเล่นคอนเสิร์ต “ไลฟ์ อิน คราม” ไปเมื่อ 8 – 9 ปีที่แล้ว เราไม่รู้ว่าจะได้มีแรงกระโดดโลดเต้นในคอนเสิร์ตใหญ่อีกทีเมื่อไร เลยคุยกันว่ากลับไปเล่นที่ราชมังคลาฯ กันเถอะ ทำมันให้เต็มที่อีกครั้ง เก็บภาพประทับใจของพวกเรา รวมถึงทีมงานทุกคนอีกครั้ง”
รอบเดียวว่าเหนื่อยแล้ว แต่ครั้งนี้จัดสองรอบเลย
“เราได้คุยกันว่าครั้งที่แล้วมีคนบอกว่าจองบัตรไม่ทัน ในแง่ของวง ไหนๆ เราก็ซ้อมแล้ว มีเวทีที่สวยงามที่เราช่วยกันคิดช่วยกันสร้างมาแล้ว ผมก็เลยบอกพี่ๆ ไปว่า “ถ้าคนจะมาดูเราสองรอบไหวมั้ย” ทุกคนบอกว่า “เอาดิ ถ้าจะมีคนมาดู ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว” เราจะถือโอกาสฟิตตัวเองมากขึ้นด้วย จะได้พร้อมที่สุดสำหรับโชว์ใหญ่ทั้งสองโชว์นี้”
ไม่ว่าจะอยากหรือไม่อยาก แต่ ณ วันนี้คำว่าฮีโร่ ซึ่งหมายถึงคนดี บุคคลตัวอย่าง หรือไอดอล มันได้มาวางอยู่บนบ่าแล้ว ในวันที่บ่าต้องแบกความคาดหวังจากคนอื่นอย่างนี้ พี่ตูนยังสามารถใช้ชีวิตได้เหมือนเดิมไหม
“ตอนออกไปทำ เราไปด้วยเจตนาว่าเราไม่ได้ต้องการคำสรรเสริญเยินยอ ผมออกจะเป็นคนกลัวเรื่องพวกนี้ด้วยซ้ำ กลัวการออกไปอยู่ในที่โล่งแจ้ง ที่ไม่ใช่เกี่ยวกับอาชีพของเรา ที่ทำครั้งนั้นอาจจะเรียกได้ว่าเป็นความบังเอิญ จับพลัดจับผลูหรืออะไรก็ตาม ที่มาที่ไปของการวิ่งมันเริ่มจากผมได้รับการขอความช่วยเหลือจากคุณหมอที่โรงพยาบาลบางสะพานในฐานะ พี่ตูน บอดี้สแลม ให้เข้าไปร่วมงานวิ่งที่เขาจะจัดเพื่อให้คนหันมาออกกำลังการมากขึ้น และนำรายได้จากงานนี้ไปซื้ออุปกรณ์ที่ทางโรงพยาบาลต้องการ ผมชอบวิ่งอยู่แล้ว ก็รู้สึกว่าอยากช่วยเต็มที่ในแบบที่เราทำได้ แต่พอได้ลงไปสัมผัสจริงๆ เห็นคุณหมอและพยาบาลที่เดือดร้อนก็รู้สึกว่า เราอยากช่วยมากกว่านี้ จากที่จะเป็นแค่ตัวช่วยดึงคนมางานให้มากขึ้น แต่เรากลับเอาตัวเรามาเป็นต้นทุนของโครงการ ไม่ต้องถามเรื่องหน้าที่ว่ามันใช่หน้าที่ไหม มันอาจจะไม่ใช่หน้าที่ของเรา แต่ถ้ามีคนมาขอความช่วยเหลือ ถ้าเราทำได้ เราควรทำ มันเหมือนสิ่งที่เราช่วยได้ แล้วทำไมจะไม่ช่วย สุดท้ายเราจะปล่อยให้หมอและพยาบาลที่เขาทำงานหนักต้องมาทำโครงการเพื่อหาเงินมารักษาพวกเราอีกเหรอ คิดว่าถ้าตัวเราทำประโยชน์ได้ก็อยากทำในแบบของเรา ทั้งนี้สิ่งที่เป็นกฎเกณฑ์ในใจผมคือ ผมต้องมีแรงบันดาลใจ มีความสุข และสนุกที่จะได้ทำด้วย
“ระหว่างทางวิ่งผมรู้สึกว่าไม่สบายตัวกับสิ่งที่คนได้ยกยอปอปั้นเกินเหตุ ผมไม่ได้ไปสู้รบปรบมือกับใคร ผมแค่วิ่ง ถ้าจะมีคนใดคนหนึ่งถูกยกยอปอปั้นให้เป็นฮีโร่ ก็ต้องยกให้คนที่เสียสละอยู่ในโรงพยาบาลที่ทำเพื่อทุกคน อดหลับอดนอน ควงเวรควงกะกัน หมอหลายคนสามารถย้ายไปอยู่โรงพยาบาลเอกชนมีเงินเดือนหลายแสนได้ แต่เขาก็เลือกที่จะอยู่โรงพยาบาลรัฐ ยอมลำบาก คนนี้เหล่านี้ต่างหากคือฮีโร่ คนเหล่านี้ต่างหากคือคนที่ควรได้รับสปอตไลต์ส่องถึง เพื่อให้ได้รับกำลังใจและเชิดชู
“จากคำถามว่าชีวิตเปลี่ยนไปไหม ผมยังใช้ชีวิตปกติ มีความสุขขึ้นด้วยซ้ำ มีความสุขจากการที่เราได้ทำประโยชน์จากสิ่งที่เราเป็น มันสร้างเงินบริจาคจำนวนมากจากที่ผู้คนช่วยกันคนละเล็กละน้อยไปต่อชีวิต ต่อลมหายใจ และสุดท้ายสิ่งที่มีความหมายและคุณค่ามากกว่าเงินคือการที่คนออกกำลังกายกันมากขึ้น คนที่มีศักยภาพในแต่ละจังหวัดของตัวเอง แล้วทำโครงการขึ้นมาเพื่อดูแลโรงพยาบาลในจังหวัดตัวเอง รู้สึกว่านี่แหละคือสิ่งที่ผมดีใจที่มันเกิดขึ้น”
ตอนนี้มีการวางแผนอะไรเกี่ยวกับการวิ่งครั้งหน้าไว้บ้างครับ
“ปีหน้าผมอยากทำเรื่องที่เกี่ยวกับการศึกษาของเด็ก เนื่องด้วยมีกองทุนความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เข้ามาขอความเห็น อยากให้ผมทำอะไรสักโปรเจ็กต์ ช่วยให้คนได้มองเรื่องการศึกษาว่าเป็นปัญหาที่เราควรช่วยกันทำให้มันดีขึ้น ผมว่าสิ่งที่ดีในประเทศมาจากการที่คนในประเทศมีพื้นฐานการศึกษาที่ดีและมีปริมาณมากพอ”
อยู่กับวงการเพลงมาก็นาน ด้วยประสบการณ์ในการทำงาน เคยคิดอยากเป็นเจ้าของค่ายเพลงบ้างไหมครับ
“ไม่เคยเลย การเป็นเจ้าของค่ายเพลง เป็นโปรดิวเซอร์ เป็นคนเบื้องหลังนี่ไม่เคยคิดเลยครับ ถ้าจะอยู่กับเพลงผมอยากเป็นคนร้องเพลงมากกว่า ผมอยากมีความสุขกับดนตรี อยากกระโดดเต้นแร้งเต้นกา อยากถ่ายทอดความรู้สึก หลงใหลไปกับเพลง เราไม่มีความสามารถพอในด้านการบริหารหรือแม้กระทั่งโปรดิวเซอร์ เอาเป็นว่าเรามีความสุขก็แล้วกันที่เป็นแบบนี้ และเราก็จะทำสิ่งที่มีความสุขนั้นต่อไป”
“ผมคงไม่สามารถดำรงสถานะศิลปินได้อีกต่อไป หากว่าวันหนึ่ง…” ช่วยเติมคำในช่องว่างหน่อยสิครับ
“ก่อนเติมคำในช่องว่างผมขอแก้ไขตรงคำว่า “ศิลปิน” ก่อน ผมไม่ใช้คำว่าศิลปินกับตัวเอง แต่ใช้คำว่า “นักร้อง” ซึ่งต่างกัน สำหรับผมศิลปินคือ คนที่ทำคุณประโยชน์ในแง่ศิลปะ สร้างงานที่จรรโลงโลก จรรโลงสังคม จรรโลงวัฒนธรรม หรือทำงานในแขนงที่ถนัดมานาน ได้รับการพิสูจน์จากกาลเวลาและสังคม แต่ผมเป็นแค่นักร้องครับ “ผมคงไม่สามารถดำรงสถานะนักร้องได้อีกต่อไป หากว่าวันหนึ่ง…ผมตาย” ผมมีความใฝ่ฝันว่าอยากร้องเพลงจนวันตายครับ”
บทความจาก สุดสัปดาห์ ฉบับ 1 มกราคม 2561
ติดตามข่าวที่น่าสนใจได้ที่นี่ค่ะ