Waste Side Story : ชื่อนี้มีดีที่ไม่ขยะ
เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2561 เป็นอีกหนึ่งอีเว้นท์ดีๆ ที่สุดฯ อยากชวนให้ทุกคนออกไปชมงานสร้างสรรค์ที่เต็มไปด้วยไอเดียเจ๋งๆ จากนักออกแบบสัญชาติไทย และหนึ่งในโปรเจคท์ที่สุดฯ ได้ไปชมมาแล้วอดทึ่งไม่ได้ก็คือ Waste Side Story by PTTGC พาวิลเลียนจัดแสดงงานออกแบบจากขยะพลาสติก ณ ลานหน้าอาคารไปรษณีย์กลาง บางรัก
ขยะพลาสติก เป็นอะไรได้มากกว่าที่คิด
Waste Side Story by PTTGC เกิดจากความร่วมมือระหว่าง บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) และกลุ่มนักวิจัยออกแบบ ที่ได้ร่วมกันระดมไอเดีย สร้างสรรค์พาวิลเลียนจากพลาสติกรีไซเคิล งานสถาปัตยกรรมที่วัสดุก่อสร้างสามารถรื้อถอนและเคลื่อนย้ายได้ โดยพาวิลเลียนนี้ใช้เป็นพื้นที่จัดแสดงผลงานการออกแบบมากมาย ตั้งแต่ของใช้ในชีวิตประจำวัน ไปจนถึงสินค้าแฟชั่น และไฮไลท์คือ ทั้งหมดนั้นทำจากขยะพลาสติก
แค่ไปยืนอยู่ด้านหน้าพาวิลเลียน สุดฯ ก็ต้องร้อง “ว้าว!” กับโครงสร้างหลัก ซึ่งเป็นผนังสีสดใส ที่ได้สถาปนิกจาก Cloud-Floor Studio เป็นผู้คิดค้นและออกแบบ ผนังนี้ทำจากเม็ดพลาสติกรีไซเคิลเป็นส่วนผสมหลัก ผ่านกระบวนการออกแบบชิ้นส่วนพลาสติก (Mold) จำนวน 6 แบบ ก่อนจะนำมาต่อกันบนโครงเหล็ก เพื่อประกอบให้เป็นพาวิลเลียนขนาด 180 ตารางเมตร สูง 4.5 เมตร ได้ฟีลเหมือนก่ออิฐบล็อค แต่ ณ จุดนี้เก๋ตรงที่ บล็อคทั้งหมดทำมาจากขยะพลาสติก และยังสามารถรื้อถอนได้ด้วย โดยเมื่อถอดแบบออกมา จะได้ชิ้นส่วนกว่า 4,388 ชิ้น สามารถนำไปก่อสร้างพาวิลเลียนได้ใหม่ ปรับขนาดได้ตามความเหมาะสม จะทำเป็นพาวิลเลียนที่เล็กกว่านี้ก็ได้ หรือนำไปปรับให้เป็นเก้าอี้นั่งก็ได้ ส่วนมุ้งไนลอนสีขาวนั้น ก็จะนำไปตัดเย็บเป็นกระเป๋าได้ด้ขขวย
นี่แค่โครงสร้างสถาปัตยกรรมภายนอกนะ ยังน่าตื่นตะลึง ทึ่ง อึ้งขนาดนี้ ขอบอกว่าข้างในก็เริ่ดไม่แพ้กันค่ะ
โครงสร้างของพาวิลเลียนเป็นผนังสีชมพูสดใส ส่วนสีขาวเป็นมุ้งไนลอน ทั้งหมดทำมาจากขยะพลาสติก
แบบชิ้นส่วนพลาสติกนำมาต่อกันบนโครงเหล็ก จนเป็นผนังใหญ่
เมื่อถอดผนังออกมา สามารถปรับเปลี่ยนทำเป็นเก้าอี้ได้ด้วย
ตื่นตาตื่นใจ ภายในพาวิลเลียน
เมื่อเดินข้างมาด้านในพาวิลเลียน จะเป็นพื้นที่จัดแสดงผลงานของกลุ่มนักออกแบบมากมาย ที่เห็นแล้วสุดฯต้องชื่นชมในฝีมือ และไอเดีย คือแต่ละชิ้นสวย และยังใช้งานได้จริง จนแทบไม่น่าเชื่อเลยว่า เสื้อผ้า เครื่องประดับ รองเท้ากระเป๋าที่อยู่เห็นอยู่นี้จะทำมาจากขยะพลาสติกทั้งสิ้น และต่อไปนี้คือ ผลงานอันโดดเด่น พร้อมคอนเซปท์การออกแบบที่เราอยากแชร์
แฟชั่นจากสิ่งของเครื่องใช้ / Fashion From Waste
ชุดแฟชั่นลำลองนี้ผลิตจากสิ่งของเหลือใช้ Ecoalf จากสเปน นำขวดพลาสติก แห และอวน มาแปรรูปให้กลายเป็นผืนผ้า และออกแบบจนได้เป็นเสื้อแฟชั่น ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เป็นการช่วยลดปริมาณขยะ และใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า
ชุดแฟชั่นลำลอง ผลิตจากสิ่งของเหลือใช้ จาก Ecoalf ประเทศสเปน
แปลงร่าง (ซ้ำซ้อน) / Multiple Transformations
เมื่ออาจารย์นักออกแบบ จารุพัชร อาชวะสมิต และดีไซเนอร์ชื่อดัง ประภากาศ อังศุสิงห์ นักออกแบบสิ่งทอและแฟชั่น จับมือกันเนรมิตผ้าขาวที่ทอจากพลาสติกรีไซเคิล 100 % จำนวน 200 หลา ให้กลายเป็นชุดแฟชั่นขนาดใหญ่ แล้วให้ผู้ชมได้ลองเข้าไปสวมใส่ ก็กลายเป็นงานดีไซน์เชิงทดลอง ที่สร้างประสบการณ์สนุกๆ ในการเข้าชมชุดแฟชั่น และดูอลังการเก๋ไก๋ใช่เล่น
ชุดแฟชั่นขนาดใหญ่ ที่ผู้เข้าชมสามารถเข้าไปสวมใส่ได้ ถ่ายรูปเก๋ๆ สนุกๆ
Rethink and Reverse
เดรสสีขาวสวยที่เห็นอยู่นี้ ทำจากวัสดุหลักคือ ผ้าฝ้ายทอขึ้นใหม่ และนำพลาสติกรีไซเคิลมาเป็นส่วนผสม 40 % ผลงานของแบรนด์ทีแอนด์ที ( T AND T ) สุดฯ อยากจะบอกว่า ชุดสวยมาก ใช้ได้จริง เหมาะกับงานหลากหลายโอกาส สามารถเป็นชุดถ่ายพรีเวดดิ้ง ชุดแต่งงานก็ยังได้เลยนะ
After Party
แบรนด์แฟชั่นชื่อดังอย่าง III by Flynow III ก็ต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการรณรงค์สร้างจิตสำนึก ด้วยการนำผ้าฝ้ายผสมวัสดุรีไซเคิล 40% มาตัดเย็บและพิมพ์ลาย กลายเป็นชุด Cocktail Dress สุดชิค สำหรับสาวๆ ที่อยากจะสนับสนุนแฟชั่นแบบรักษ์โลก
Translucency
นี่ก็เป็นอีกหนึ่งผลงานที่อเมซิ่งมาก พูดเลย เมื่อดีไซเนอร์รุ่นใหม่ อย่าง อาภาวรรณ กุลตวนิช สร้างสรรค์เครื่องประดับสวย แปลก และดูแพง มาจาก “หลอดพลาสติก” ที่มีน้ำหนักเบา แข็งแรง คงทน และยังสะดุดตาเวลาแสงทะลุผ่านชิ้นงาน เลอค่า น่ามีไว้ในครอบครองจริงๆ
Saw Breaker Guitar
เห็นผลงานชิ้นนี้แล้วอด “ว้าว!” ไม่ได้เลยค่ะคุณ ใครจะคิดว่ากีตาร์ไฟฟ้าจะใช้พลาสติกแทนไม้ก็ได้นะ ซึ่งเป็นการผลิตแบบ Neck Through Unibody นี่ก็เป็นอีกงานที่หาไม่ได้ง่าย ๆ เช่นกัน
Double Recycle
เกิดจากการทดลองใช้วัสดุใหม่ในการทำงานร่วมกัน ระหว่างผู้เชี่ยวด้านนวัตกรรมวัสดุพอลิเมอร์ Sonite Innovative Surfaces และ PIN Metal Art นักออกแบบที่ทำงานกับโครงสร้างของโคมไฟระย้า สร้างมูลค่าให้กับเศษเหล็กและพลาสติก กลายเป็นโคมไฟระย้า ซึ่งถอดประกอบได้ทุกชิ้น สะดวกในการเคลื่อนย้ายและติดตั้ง
เบญจรงค์ย่อยสลายได้ / Biodegradable Benjarong Cups
เป็นอีกหนึ่งทางเลือกใหม่ในการผลิตแก้วน้ำย่อยสลายได้ เมื่อ PTTGC จับมือ Prompt Design นำลวดลายเบญจรงค์มาแต่งแต้มบนแก้วกระดาษ เคลือบฟิล์มพลาสติกชีวภาพ ย่อยสลายได้ 100% ภายใน 180 วัน ไอเดียดี ใช้ได้จริง ปรบมือสิคะ รออะไร !
งานดีงานสร้างสรรค์แบบนี้ สุดฯ อยากให้ทุกคนได้ไปเห็นด้วยตาตัวเอง แล้วคุณจะอึ้งกับคุณค่าของพลาสติก ว่ามันสามารถสร้างสรรค์ เป็นงานออกแบบที่มีคุณค่าได้มากมาย และทึ่งกับไอเดีย ตลอดจนฝีมือของนักออกแบบทุกคน ที่บอกได้คำเดียวว่า ไม่ธรรมดา
ผู้สนใจ อยากเติมไอเดียให้ชีวิต สามารถเข้าชมนิทรรศการ Waste Sลานหน้า ณ ไปรษณีย์กลางบางรัก ตั้งแต่วันนี้-4 กุมภาพันธ์ หรือจะแอบไปส่องความเจ๋งจากในคลิปวันเปิดงานก่อนก็ได้ค่ะ https://www.youtube.com/watch?v=ZxQb-GF383k
เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ
รีวิว Nusa My Ozone Khao Yai มาแล้วชีวิตดี อยู่ต่อเลยได้มั้ย