ภารกิจพิชิตภูธร ภูมิรู้ ภูมิรัก ภูมิปัญญา ภูมิใจในเมือง “แพร่”

Alternative Textaccount_circle
event

เกาะติดภารกิจพิชิตภูธร ตอนที่ 12 : ภูมิรู้ ภูมิรัก ภูมิปัญญา ภูมิใจในเมือง “แพร่”

การเดินทางของ ภารกิจพิชิตภูธร ยิ่งเรียนรู้ยิ่งน่าตื่นตาตื่นใจ ยิ่งใกล้ยิ่งอยากไปให้ไกลยิ่งกว่า เพราะทุกที่มีเรื่องราวแห่งภูมิปัญญา สืบทอดมาด้วยความรัก สานต่อไปด้วยความรู้ เชิดชูให้แต่ละชุมชน แต่ละพื้นที่ มีเอกลักษณ์ที่สะท้อนถึงความภูมิใจในถิ่นกำเนิด

เริ่มบันทึกความประทับใจในตัวเมืองแพร่กันที่ “บ้านประทับใจ” บ้านไม้สักทองทั้งหลังที่รู้จักกันในนาม “บ้านเสาร้อยต้น” เรียกตามความโดดเด่นของเสาไม้สักทองขนาดใหญ่ 130 ต้นที่ตั้งเป็นเสาบ้าน โดยผู้เป็นเจ้าของบ้านคือ คุณพ่อกิจจา ชัยวัณณคุปต์ ซึ่งได้ถึงแก่กรรมไปแล้ว ท่านเป็นผู้ออกแบบและตกแต่งบ้านด้วยตัวเอง ภายในยังมีเครื่องเรือนและของประดับตกแต่งในครั้งอดีตที่ยังคงมนตร์ขลังและความงดงาม

บ้านประทับใจที่สร้างด้วยไม้สักทั้งหลัง
ส่วนจัดนิทรรศการภายในบ้านประทับใจ

เสกเศษไม้ให้เป็นทอง

แพร่เป็นเมืองที่ขึ้นชื่อเรื่องไม้สัก และไม้สักทองก็ได้รับการยอมรับว่าเป็นไม้เนื้อดีที่หายาก ดังนั้นแม้จะเป็นเพียงเศษไม้ก็ยังมีค่า แต่คุณค่านั้นจะส่องประกายได้อย่างไรหากไม่มีผู้สร้างสรรค์ ภารกิจในวันนี้จึงมุ่งหน้าออกจากเมืองไปราว 20 นาทีสู่อำเภอสูงเม่น เพื่อพบกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเฟอร์นิเจอร์จิ๋ว บ้านสูงเม่น

โต๊ะหมู่บูชา จิ๋วจริงนะจ๊ะ

สมัย สายทอง ประธานกลุ่มเฟอร์นิเจอร์จิ๋วเล่าว่า เดิมทีชาวบ้านในแถบนี้เมื่อหมดฤดูทำนาก็ออกไปหางานทำในต่างจังหวัด ชีวิตลูกจ้างที่หาเช้ากินค่ำแถมยังต้องห่างบ้านห่างครอบครัวนั้นทำให้เขาหันมามองหาโอกาสใหม่ๆ ให้ตัวเองด้วยประสบการณ์ในโรงงานเฟอร์นิเจอร์ ได้พบเห็นเศษไม้จากโรงงานเป็นจำนวนมาก จึงคิดทำเฟอร์นิเจอร์จิ๋วแบบต่างๆ ขึ้นมา โดยขนาดเล็กที่สุดมีความสูงประมาณ 1 นิ้ว ต้องใช้ช่างผู้ชำนาญในการผลิต นอกจากนั้นยังต่อยอดความคุ้มค่าของทรัพยากรด้วยการนำเศษไม้ที่ผ่านการเลื่อยไปแล้วไปเผาถ่าน รวมทั้งเศษผงของเนื้อไม้ก็นำไปใช้สำหรับอุดรอยแตกรั่วของเฟอร์นิเจอร์ไม้อีกด้วย

ลงมือทำเฟอร์นิเจอร์จิ๋ว

หลังจากเรียนรู้ขั้นตอนการทำเฟอร์นิเจอร์จิ๋วแล้วยังได้ทราบว่า ถ่านที่เผาจากไม้สักทองยังถูกส่งไปใช้กับการตีเหล็กในตำบลร่องฟอง อำเภอเมืองฯ ซึ่งเป็นชุมชนอีกแห่งที่ ภารกิจพิชิตภูธร จะเข้าไปเยื่ยมชมด้วย

 

ชายตีเหล็ก หญิงเย็บผ้า

ที่ตำบลร่องฟองเป็นชุมชนที่มีสโลแกนเก๋ๆ ว่า “ชายตีเหล็ก หญิงเย็บผ้า นำหน้าเศรษฐกิจ พิชิตความจน ชุมชนให้ความร่วมมือ” หมู่บ้านร่องฟองเป็นหมู่บ้านที่มีลำห้วยไหลผ่าน นับเป็นชุมชนเพื่อการท่องเที่ยวที่มีวิถีที่น่าตื่นตาตื่นใจ เพราะที่นี่คือแหล่งของการตัดเหล็กเป็นเครื่องมือการเกษตรที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีพัฒนาการด้วยการนำเครื่องจักรมาใช้ทุ่นแรงคน จากเดิมมีด 1 เล่ม จะต้องใช้แรงคนถึง 4 คนต่อวัน เมื่อมีเครื่องทุ่นแรงก็สามารถผลิตมีดได้ 100 เล่มจากแรงคนเพียง 1 คนต่อวัน แม้จะเป็นหมู่บ้านของช่างตีเหล็ก แต่ภายในหมู่บ้านก็เต็มไปด้วยความร่มรื่น โอบล้อมด้วยทุ่งนาอันเขียวชอุ่ม แถมยังมีโฮมสเตย์ ให้บริการอยู่หลายแห่ง

ชายตีเหล็กสิครับ

กำนันแอ๊ด – ชัยตุรงค์ วงศ์ศักดิ์สิทธิ์ พาเดินชมโรงตีเหล็กของหมู่บ้าน และชักชวนให้วิคเตอร์ได้ร่วมแสดงพลังกล้ามแขนด้วยการตีเหล็ก ลองโขกเหล็กไม่กี่ครั้งวิคเตอร์ก็ต้องเอ่ยปาก “ดีแล้วที่มีการคิดเครื่องมือมาช่วย”

โชว์พลังชายตีเหล็ก

“ผมเคยอ่านในหนังสือ ไม่คิดว่ายังมีอยู่จริง” หนุ่มวิคเตอร์ผู้มีความรู้พื้นฐานด้านการตีเหล็กแบบเย็นมาบ้าง พอได้เจอการตีเหล็กร้อนด้วยการเผาไฟแบบต้นตำรับจึงตื่นเต้นกันไปใหญ่ แถมยังเป็นคนชอบเรื่องอาวุธเพราะอ่านการ์ตูน จึงสนุกสนานกับภารกิจตีเหล็กเหมือนหลุดเข้าไปในโลกจินตนาการ

หญิงเย็บผ้า ตามคอนเซ็ปต์หมู่บ้าน

 

เยี่ยมคุ้มหวานแต่กาลเก่า

คุ้มวงศ์บุรี

เช้าวันใหม่ในวันที่ฟ้าชุ่มฝน เมืองแพร่ที่เงียบสงบก็ดูสดชื่นขึ้นมาอีกระดับ ขับสีสันของ “คุ้มวงศ์บุรี” ให้ดูสบายตา แต่ที่รู้สึกได้มากยิ่งกว่าคือความอบอุ่นที่ซ่อนอยู่ในประวัติอันยาวนานของบ้านหลังนี้ คุ้มวงศ์บุรีสร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2440 ตามดำริของแม่เจ้าบัวถา ชายาคนแรกในเจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ เจ้าหลวงองค์สุดท้ายของเมืองแพร่ โดยมอบหมายให้หลวงพงษ์พิบูล (เจ้าน้อยพรม) และเจ้าสุนันตา วงศ์บุรี ธิดาพระยาบุรีรัตน์น้องชายของแม่เจ้าบัวถา ซึ่งทำสัมปทานป่าไม้ในยุคนั้น จัดหาช่างฝีมือทั้งไทยและจีนมาร่วมกันก่อสร้างเรือนหลังนี้

ความสุข ความทรงจำในคุ้มวงศ์บุรี

 

บ้านไม้สักสองชั้นแบบยุโรปประยุกต์สีชมพูแสนหวาน โชว์ฝีมือฉลุลายไม้อย่างประณีต ภายในยังคงแสดงเฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้เก่าแก่ของตระกูลที่ถ่ายทอดกันมาหลายชั่วอายุ ได้แก่ เครื่องเรือน เครื่องเงิน เครื่องปั้นดินเผา เอกสารที่สำคัญ เช่น เอกสารซื้อขายทาส เป็นต้น ปัจจุบันบ้านหลังนี้ได้ตกทอดมาถึงทายาทรุ่นที่ 5 คือ คุณสหยศ วงศ์บุรี และภรรยา

หวานคุ้ม ชวนฝัน

 

DIY สไตล์มัดย้อม

บ้านป้าเหงี่ยม

หลายคนรู้จักเมืองแพร่ดีในนามของแหล่งการทำผ้ามัดย้อม นอกจากร้านรวงที่กระจายอยู่ในเมืองแล้ว ออกจากตัวเมืองไปราว 6 กิโลเมตรก็จะถึงวิสาหกิจชุมชนหม้อห้อมทุ่งเจริญย้อมสีธรรมชาติ ตำบลทุ่งโฮ้ง ร้านหม้อห้อมเรียงรายกันเป็นตับ รูปแบบหลากหลาย จะเด็ก วัยรุ่น ไปจนถึงผู้ใหญ่ก็เลือกใส่ได้ตามสไตล์ของตัวเอง

ถึงเวลาช๊อปแล้วจ้า

เพื่อให้เข้าบรรยากาศ คอสตูมของวันนี้จึงอยู่ที่ร้าน “อ่อนน้อมหม้อห้อม” หม้อห้อมสไตล์มัดย้อมรูปลักษณ์ทันสมัยสะดุดตาจนกลายเป็นสินค้าที่ถูกอกถูกใจชาวญี่ปุ่น สาวปาล์มเลือกเดรสเปิดไหล่ดูสดใสสบายตา ด้านวิคเตอร์มาในแนวกึ่งทางการสไตล์พ่อเลี้ยง เพราะชื่นชอบลายช้างบนตัวเสื้อ

 

ชุดพร้อม คนพร้อม ก็ถึงเวลาที่จะได้ลองทำหม้อห้อมมัดย้อมกันแล้ว ใกล้ๆ กันนั้นเป็นที่ตั้งของศูนย์การเรียนรู้การมัดย้อมหม้อห้อม “บ้านป้าเหงี่ยม” ประภาพรรณ ศรีตรัย ปราชญ์หม้อห้อมเมืองแพร่ ใครอยากมาเรียนรู้การทำหม้อห้อมสีธรรมชาติก็มุ่งตรงมาที่นี่ได้เลย แล้วเวลาแห่งความสนุกของน้องใหม่หัดย้อมก็เริ่มต้น เริ่มจากพบกับต้นห้อมอันเป็นพืชท้องถิ่นที่นำมาต้มเพื่อใช้ย้อมสี ก่อนจะเรียนรู้กระบวนการพับ มัด ย้อม ล้าง ตาก จนได้ผลงานของตัวเอง

DIY ผ้ามัดยอมกับผลงานหนึ่งเดียวในโลก

 

ชมคุ้มสวยที่แสนแปลก

คุ้มเจ้าหลวง

กลับเข้าตัวเมืองมาที่ “คุ้มเจ้าหลวง” เป็นคำที่ชาวบ้านใช้เรียกบ้านของเจ้าผู้ครองเมืองแพร่องค์สุดท้าย (เจ้าพิริยเทพ วงศ์) ปัจจุบันตัวบ้านมีอายุ 124 ปี รูปทรงแบบสถาปัตยกรรมไทยผสมยุโรปหรือทรงขนมปังขิง ซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยนั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เคยเสด็จมาประทับฯ เมื่อวันที่ 15 – 17 มีนาคม 2501 และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จฯ มาประทับเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2536

อาคารสีเขียวหลังนี้มีความโดดเด่นโอ่อ่าสง่างาม แต่ก็มีความแปลกที่แตกต่างจากคุ้มโดยทั่วไปซ่อนอยู่ เช่นเรื่องราวของบานประตูทั้ง 72 บานที่มีชื่อและความเชื่อกำกับ อาทิ บานประตู “จั๊นคำขา” ที่เชื่อว่าผ่านแล้วจะสวยจะหล่อขึ้นกว่าเดิม แค่ประตูแรกก็เดินวนกันจนพื้นมันวับ

บรรยากาศภายในคุ้มเจ้าหลวง

ที่แปลกต่อมาคือ ส่วนชั้นใต้ดินซึ่งเคยเป็นส่วนคุมขังนักโทษชั่วคราวที่ทำความผิดสถานเบา (ลหุโทษ) เพดานของชั้นใต้ดินจะเตี้ยมาก แหงนมองขึ้นไปจะมีช่องสี่เหลี่ยมขนาดเล็กที่เจาะทะลุส่วนพื้นของชั้น 1 เพื่อใช้สำหรับหย่อนอาหารให้นักโทษ นับเป็นคุ้มที่มีความงดงามและเรื่องราวอันน่าติดตามยิ่งนัก

บรรยากาศภายในคุ้มเจ้าหลวง
บรรยากาศภายในคุ้มเจ้าหลวง

ปิดท้ายภารกิจด้วยกิจกรรมที่สองพิธีกรตั้งตารอ ราว 1.3 กิโลเมตรจากตัวเมืองถึงศูนย์เรียนรู้โชคทวีโอสถ ชาวบ้านที่นี่ปลูกสมุนไพรเป็นอาชีพเสริมเพื่อป้อนให้ศูนย์ผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรภายใต้แบรนด์ “โชคทวีโอสถ” วันนี้ พี่กัญหา -กำทองทุ่ง ประธานกลุ่มปลูกพืชสมุนไพร อำเภอแม่ยม เตรียมสอนให้ทำ “ยาจู้” หรือลูกประคบจากสมุนไพรเกือบ 10 ชนิด ภูมิปัญญากว่า 100 ปีของบรรพบุรุษที่มีการบันทึกเป็นตำรายาโบราณซึ่งเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี เสร็จแล้วก็เปลี่ยนองค์ทรงเครื่องนั่งรอบนแคร่ สัมผัสบรรยากาศลมโชยริมชายนา รอรับการนวดประคบจากลุงๆ ป้าๆ ด้วยสีหน้าที่สุดฟิน

ทำยาจู้ที่โชคทวีโอสถ
ถึงยาจะจู้แต่ไม่อู้นะครับ

ทุกภารกิจในเมืองแพร่เปี่ยมล้นด้วยเรื่องราวอันทรงคุณค่า เพราะภูมิรัก ภูมิรู้ในภูมิปัญญา ทำให้เมืองเล็กๆ แห่งนี้เต็มไปด้วยเสน่ห์ที่รอให้ทุกคนเข้ามาภูมิใจไปด้วยกัน

 

เรื่องราวที่น่าสนใจอื่นๆ

รักจังสุพรรณบุรี…ทริปรวมพลังหญิงชวนท่องเที่ยวเมืองขุนแผน

วางแผนเที่ยว สนุกชิล สบายใจ ไร้กังวล

บุรีรัมย์ ชุมชนสามัคคีบนวิถีแห่งคนสร้างสรรค์

สุดสัปดาห์

keyboard_arrow_up